การลาออกของประธานาธิบดีเวียดนาม คาดไม่ส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในระยะยาว

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์การลาออกของประธานาธิบดีเวียดนาม ว่า กระแสการปราบปรามการคอร์รัปชั่นในเวียดนามส่งผลให้ประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง ยื่นใบลาออก หลังดำรงตำแหน่งเพียง 1 ปี และนับเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ที่ถูกกดดันให้ลาออกในช่วงปีที่ผ่านมา

การลาออกของประธานาธิบดีเวียดนาม คาดไม่ส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในระยะยาว

  • กระแสการปราบปรามการคอร์รัปชันในเวียดนามส่งผลให้ประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง ยื่นใบลาออก หลังดำรงตำแหน่งเพียง 1 ปี และนับเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ที่ถูกกดดันให้ลาออกในช่วงปีที่ผ่านมา
  • การลาออกของประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง อาจส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองและบรรยากาศในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในระยะสั้น แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานและการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะยาว

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Vietnam-Econ-21-03-2024.aspx

เศรษฐกิจเวียดนามปีนี้คาดจะเติบโต 4.8-5.0% ต่ำกว่าเป้าหมายอัตราการเติบโตใหม่ 6.0% ที่รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าไว้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 4 จะเติบโตอยู่ที่ระดับ 6.3-7.0% และส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอยู่ที่ระดับ 4.8-5.0% ในปีนี้ โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 4 คือภาคการส่งออกที่เริ่มขยายตัว และการเร่งการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการต่ออายุหุ้นกู้เดิมในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนามไปจนถึงปลายปี 2567

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธนาคารกลางเวียดนามจะคงดอกเบี้ยนโยบายไปอีก 3 เดือน ท่ามกลางวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ยังไม่สิ้นสุด แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเวียดนามจะลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย 4.5% แต่แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะส่งผลให้เกิดสถานการณ์เงินทุนไหลออกและเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินดองอ่อนค่า จึงมองว่าธนาคารกลางเวียดนามจะรอดูสถานการณ์ต่อไปและจะยังไม่ปรับดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะ 3 เดือน ข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าการส่งออกไทยไปเวียดนามจะขยายตัวขึ้น 2.7%YoY ในไตรมาสที่ 4 และส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 หดตัว -11.7%YoY โดยการขยายตัวของการส่งออกในไตรมาสที่ 4 จะเป็นผลพวงจากฐานต่ำและราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส ซึ่งน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 2 ของไทยไปเวียดนาม

นอกจากนี้ ปัจจัยกดดันการส่งออกไทยไปเวียดนามในไตรมาสที่ 4 ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทไทยไปลงทุนในโครงการปิโตรคอมเพล็กซ์เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกในเวียดนาม ซึ่งจะเริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้ และคาดว่าจะทำให้การส่งออกเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 4 ของไทยไปเวียดนาม หดตัวอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-EB4020-12-10-2023.aspx

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ขยายตัวต่อเนื่องจากแรงส่งการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว แม้มีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความเสี่ยงเฉพาะประเทศ

โดย ปัณณ์ พัฒนศิริ และ ดร.ฐิติมา ชูเชิด จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2023

โดยประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 5.9% สปป.ลาว 4.0% เมียนมา 3.0% และเวียดนาม 5.0% ตามลำดับ จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศของจีน ทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน ตลอดจนการบริโภคภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นตามตลาดแรงงานและแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV จะขยายตัวค่อยเป็นค่อยไปและยังต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 ในปีนี้ ส่วนหนึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยฟื้นตัวแต่ยังต่ำกว่าระดับก่อน COVID-19 การส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ค่อนข้างซบเซาตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลง และปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศ

.

ปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวรายประเทศไม่เหมือนกัน

ประเทศที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง เช่น กัมพูชา มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้นในปีนี้ ช่วยลดทอนผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลงต่อการส่งออกได้ ขณะที่สปป.ลาวได้ประโยชน์จากโครงการโลจิสติกส์ต่าง ๆ อาทิ รถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาว และจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าท่าแห้งท่านาแล้ง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและการขนส่งภายในภูมิภาค แม้อัตราเงินเฟ้อสูงยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจอยู่ สำหรับเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมาก เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ อีกทั้ง ยังเผชิญภาวะการเงินในประเทศตึงตัวขึ้นมาก ส่งผลให้ธุรกิจบางกลุ่ม โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ ระดมทุนได้ยาก ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชนไประยะหนึ่ง

.

ความเปราะบางเชิงโครงสร้างกดดันให้เศรษฐกิจ CLMV บางประเทศขยายตัวต่ำกว่าอดีต

ในระยะปานกลาง SCB EIC คาดว่า กัมพูชาและเวียดนามจะสามารถกลับมาขยายตัวใกล้ค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในปีนี้เป็นปัจจัยชั่วคราวและคาดว่าจะทยอยคลี่คลายได้ แต่สปป.ลาวและเมียนมามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตไปอีกระยะ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยสปป.ลาวมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพภาคต่างประเทศและภาคการคลัง จากระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่ไม่สูงนักในภาวะเงินกีบอ่อนค่าเร็ว และหนี้สาธารณะสูง ส่งผลให้ภาครัฐต้องใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังตึงตัวมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินและอาจพิจารณาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ สำหรับเมียนมาความไม่สงบทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ ส่งผลให้ฟื้นความเชี่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคได้ยาก ขณะที่ชาติตะวันตกขยายมาตรการคว่ำบาตรให้ครอบคลุมบุคคลและนิติบุคคลเพิ่มเติม ส่งผลให้สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในเมียนมาไม่เอื้อต่อการลงทุน และกดดันให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวต่ำในระยะปานกลาง

.

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของ CLMV

แม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง ทิศทางนโยบายการเงินยังขึ้นกับบริบทเศรษฐกิจรายประเทศ อัตราเงินเฟ้อทยอยชะลอตัวในทุกประเทศตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง แต่ทิศทางนโยบายการเงินจะคำนึงถึงบริบทเศรษฐกิจการเงินในประเทศนั้น ๆ เช่น เวียดนามปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ตึงตัวขึ้นมาก โดย SCB EIC คาดว่านโยบายการเงินเวียดนามจะผ่อนคลายต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ และภาคอสังหาฯ ยังคงอ่อนแอคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะก่อนจะทยอยฟื้นตัวได้ ขณะที่นโยบายการเงินสปป.ลาวมีแนวโน้มตึงตัวต่อไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงแม้จะเริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งเป็นผลจากเงินกีบอ่อนค่า ทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นมาก ธนาคารกลางสปป.ลาวจึงต้องเน้นดูแลเสถียรภาพด้านราคาในปีนี้

.

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV ยังคงซบเซาในปีนี้ สอดคล้องกับการชะลอตัวของการค้าภายในภูมิภาคและความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกไทยไป CLMV จะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจ CLMV จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นและฐานส่งออกปีก่อนต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปี สำหรับการลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV ยังคงมีแนวโน้มซบเซาจากหลายปัจจัย อาทิ ต้นทุนการระดมทุนในประเทศสูงขึ้น เศรษฐกิจ CLMV ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในบางประเทศไม่เอื้อต่อการลงทุนและขยายกิจการ ในระยะต่อไป SCB EIC ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV โดยมองว่า ยังเป็นตลาดสำคัญของธุรกิจไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านจำนวนแรงงานและค่าแรง ตลาดในประเทศเติบโตต่อเนื่อง การเข้าร่วมสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และทำเลที่ตั้งซึ่งสามารถเชื่อมไทยไปยังตลาดสำคัญในภูมิภาคได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-190723

ส่องแผน PDP 8 ของเวียดนาม อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าไทย

โดย นพมาศ ฮวบเจริญ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

เมื่อกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทางการเวียดนามเพิ่งประกาศแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (Power Development Plan VIII: PDP 8) แม้ว่าจะมีความล่าช้าไปกว่า 2 ปี แต่ก็ถือว่าเป็นแนวทางหลักของการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในเวียดนาม รวมถึงแนวทางของส่วนผสมพลังงานเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า (Energy mixed)

5 ข้อสรุปสำคัญของ PDP 8 ได้แก่

  • กำลังการผลิตในปี 2030 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2020 ที่ 69 GW เป็น 150 GW ในปี 2030
  • ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าราว 1.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และพัฒนาสายส่งอีก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • แหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าและมีการเติบโตสูง คือ ก๊าซธรรมชาติและพลังงานลม โดยปี 2030 มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 43% ของกำลังการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2020 ทั้งนี้ผลจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่มากขึ้น มีผลให้เวียดนามต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากขึ้น จากเดิมที่ใช้แต่ก๊าซธรรมชาติในประเทศ ในส่วนของการพึ่งพาพลังงานลม ถือว่าสอดคล้องไปกับศักยภาพของภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีพื้นที่ชายฝั่งที่ยาวถึง 3,000 กิโลเมตร และมีกำลังลมเฉลี่ยสูงกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนลดลงจาก 24% ในปี 2020 เป็น 13% ในปี 2030 ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนระบบสายส่งที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตจากพลังงานลม อย่างไรก็ตาม ทางการเวียดนามกลับมีแผนสนับสนุนให้ติดตั้ง Solar rooftop หรือ Solar farm เพื่อการใช้ด้วยตัวเอง (Self-consumption) ซึ่งมีเป้าหมายติดตั้งถึง 10 GW ภายในปี 2030 ด้วยการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 15.5 GWh
  • การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แม้สัดส่วนต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดลดลง (เหลือ 20% ในปี 2030 จาก 31% ในปี 2020) แต่กำลังการผลิตปี 2030 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น 41% เทียบกับ 10 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2050 เวียดนามมีเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า

 

เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

แม้ก๊าซธรรมชาติจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญในช่วงทศวรรษที่จะเกิดขึ้น แต่เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy : RE) โดยตั้งเป้าว่าการผลิตไฟฟ้าจาก RE จะมีสูงถึง 30.9-39.2% ภายในปี 2030 และ 67.5-71.5% ในปี 2050 โดยการพึ่งพิงพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ เป็นเพียงแหล่งพลังงานที่ใช้ทดแทนถ่านหินในช่วงเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน (Energy transition) เพราะในท้ายที่สุดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติก็จะลดบทบาทลงเหลือเพียง 7-8% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2050 นอกจากนี้ ในการผลิตไฟฟ้าจาก RE เวียดนามถือว่าเป็นตลาดสำคัญของ ASEAN ด้วยสัดส่วนมากถึงราว 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก RE ที่มีใน ASEAN ทั้งหมด

 

นัยของแผน PDP 8 ต่อไทย

เม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางการเวียดนามมองว่า ต้องอาศัยเงินลงทุนจากต่างชาติด้วย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยที่จะขยายการลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการลงทุนในตลาดเวียดนามอยู่แล้ว เพื่อเข้าไปรับประโยชน์จากแผนการขยายกำลังการผลิตในช่วง 10 ปีที่จะเกิดขึ้นนี้ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสำคัญ แต่จากแผนใหม่ที่เกิดขึ้น ที่ลดความสำคัญของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง ทำให้กลุ่มทุนไทยอาจจะต้องหันมาพิจารณาโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมมากขึ้น เนื่องจากทางการเวียดนามให้การสนับสนุนและกำลังการผลิตมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด (จากกำลังการผลิตที่ 1 GW ในปี 2020 เป็น 28 GW ในปี 2030)

ในส่วนของโรงไฟฟ้าจาก Fossil fuel อาจจะเหมาะสมกับกลุ่มทุนที่มีความได้เปรียบในเชิง Scale ที่ใหญ่เพียงพอ เพื่อสร้างความได้เปรียบได้การจัดหาแหล่งวัตถุดิบในราคาต่ำ ทั้งนี้กลุ่มก๊าซธรรมชาติ ที่แม้ความต้องการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้ายังสูงในช่วง 10 ปี แต่การพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ทำให้อาจเป็นข้อจำกัดในการจัดหา LNG ในราคาที่เหมาะสม ขณะที่กลุ่มถ่านหิน หากพิจารณาที่ปริมาณกำลังการผลิตที่เวียดนามต้องการยังคงมีมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตตามเศรษฐกิจ แต่แนวโน้มตลาดที่โตต่ำเมื่อเทียบกับพลังงานกลุ่มอื่น ๆ อาจทำให้ความน่าสนใจมีน้อยลง

แม้ว่า PDP 8 ที่เพิ่งออกมา จะสร้างโอกาสในการลงทุนของโรงไฟฟ้าไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจโรงไฟฟ้าในเวียดนาม ยังคงขึ้นอยู่กับนโยบายของทางการเป็นสำคัญ ทำให้ต้องติดตามรายละเอียดของการเปิดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่จะเกิดขึ้นจากแผน PDP 8 รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และพยายามปิดความเสี่ยง เพื่อจะได้รับประโยชน์จากโอกาสในตลาดโรงไฟฟ้าของเวียดนามที่เติบโต เช่น กรณีที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้าไม่เสร็จทันตามสัญญา ทำให้เมื่อก่อสร้างเสร็จ ยังไม่สามารถดำเนินการขายไฟฟ้าให้กับทางการเวียดนามได้ เนื่องจากติดปัญหาการกำหนด FiT ใหม่ ดังนั้น สำหรับในโครงการใหม่ที่จะเข้าไปลงทุน อาจต้องมีแผนสำรองในความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวลง เป็นต้น

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/PDP8-Vietnam-120623

วิเคราะห์โอกาสของการเติบโตการส่งออก ระหว่างไทยกับเวียดนามในอนาคต

โดย อลงกรณ์ ธนศรีธัญญากุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เวียดนามสามารถสร้าง Growth Story ของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะลำดับการส่งออกในตลาดโลก  ในปัจจุบัน เวียดนามสามารถแซงหน้าทั้งมาเลเซียและไทยไปแล้ว  ในปี 2020 เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 19 ของโลก ขณะที่ไทยและมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 22 และ 23 ของโลก  หลายฝ่ายจึงกังวลว่า ไทยจะสามารถแข่งขันในการส่งออกกับเวียดนามในอนาคตได้อีกหรือไม่  เพื่อตอบคำถามดังกล่าว บทความนี้จะลองวิเคราะห์ 3 ประเด็นสำคัญคือ ส่วนแรก Growth Story ของไทยและเวียดนามแตกต่างกันหรือไม่ ส่วนที่สอง โครงสร้างภาพรวมของการส่งออกระหว่างไทยและเวียดนามเป็นอย่างไร และส่วนสุดท้าย พัฒนาการของการส่งออกของไทยและเวียดนาม รวมถึงโอกาสการแข่งขันของไทยในอนาคต

Growth Story ของไทยและเวียดนามแตกต่างกันหรือไม่

หากมองเปรียบเทียบระหว่างไทยกับเวียดนาม ความสำเร็จของการส่งออกของประเทศทั้งสองแทบไม่แตกต่างกัน เนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นปัจจัยให้เกิด Growth Story อย่างก้าวกระโดดในไทยและเวียดนาม  โดย Growth Story ของไทยเกิดขึ้นก่อนในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 ขณะที่ Growth Story ของเวียดนามเกิดขึ้นในทศวรรษ 2010 อันเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน และการย้ายฐานการลงทุนระหว่างประเทศที่ผลักดันการส่งออกของเวียดนามให้เพิ่มขึ้น จนทำให้เวียดนามกลายเป็นส่วนหนึ่งของการผงาดขึ้นของเอเชีย (Rise of Asia) อย่างชัดเจน

ในสามปีที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกสินค้าของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 252 พันล้านเหรียญในปี 2018 เหลือ 231 พันล้านเหรียญในปี 2020 (ลดลงร้อยละ 8.3) ขณะที่เวียดนามสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 244 พันล้านเหรียญในปี 2018 เป็น 281 พันล้านเหรียญในปี 2020 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1)  ด้วยข้อมูลการส่งออกข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนกังวลว่าไทยกำลังเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศไป  อย่างไรก็ดี ความกังวลดังกล่าวยังไม่ได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจน เพราะช่วงที่ผ่านมา สิงคโปร์และมาเลเซียก็ประสบปัญหาการส่งออกถดถอยเช่นเดียวกัน และลำดับการส่งออกของไทยในตลาดโลกก็ไม่ได้ลดลงมากนัก (ตารางที่ 1)

โครงสร้างภาพรวมของการส่งออกระหว่างไทยและเวียดนามเป็นอย่างไร

โครงสร้างรายการสินค้าส่งออกสำคัญระหว่างไทยกับเวียดนามมีความน่าสนใจหลายประการ  อย่างแรก ไทยและเวียดนามต่างส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเหมือนกัน แต่รายการสินค้าส่งออกสำคัญของไทยจะประกอบไปด้วย HDD แผงวงจรรวม และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่เวียดนามจะส่งออกรายการสินค้าโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบของมือถือ แผงวงจรรวม และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค  ประการถัดมา ไทยและเวียดนามต่างก้าวไปเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ในรายการสินค้าที่แตกต่างกัน เช่น ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลกในสินค้า HDD และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่เวียดนามเป็นผู้ส่งออกโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลก เป็นต้น  นอกจากนี้ ไทยและเวียดนามยังมีสินค้าเกษตรกรรมในสินค้าส่งออกสำคัญ 10 ลำดับแรกเหมือนกัน นั่นคือ ข้าว (ไทย) และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ (เวียดนาม) (ตารางที่ 2)

ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งคือ โครงสร้างการส่งออกของไทยจะกระจายตัวสูงกว่าเวียดนาม โดยรายการสินค้าส่งออกสำคัญ 10 ลำดับแรกของไทยและเวียดนาม จะมีสัดส่วนมูลค่าส่งออกเป็นร้อยละ 21.6 และ 34.2  ตามลำดับ  หากสังเกตให้ดีแล้ว เวียดนามพึ่งพาการส่งออกโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบอย่างมาก(ร้อยละ 19.7)  อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ไทยและเวียดนามต่างมีระดับการกระจุกตัวของการส่งออกค่อนข้างสูง  จากรายการสินค้าตามระบบฮาร์โมไนซ์ (HS) จำนวนสิ้น 5,388 รายการ มูลค่าสินค้าส่งออกใน 100 ลำดับแรกของไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 60.1 และ 69.2 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าส่งออกลำดับรายการที่ 101 เป็นต้นไป แต่ละรายการมีสัดส่วนมูลค่าไม่ถึงร้อยละ 0.2 เท่านั้น

พัฒนาการการส่งออกของไทยและเวียดนาม โอกาสการแข่งขันของไทยในอนาคต

ในบริบทของพัฒนาการการส่งออก ไทยสามารถพัฒนาการส่งออกของประเทศได้อย่างมากแม้ต้องเผชิญปัจจัยทางลบหลายประการ และสามารถยกระดับผู้ผลิตคนไทยบางส่วนให้กลายเป็นผู้ส่งออกในหลาย ๆ รายการสินค้า หรืออาจกล่าวได้ว่าแม้ว่าการเติบโตของการส่งออกไทยจะถดถอย แต่ไทยก็ยังพื้นฐานของการส่งออกที่ดี นั่นคือ ไทยมีรายการสินค้าส่งออกสูงถึง 4,620 รายการ และมีตลาดส่งออกมากถึง 194 ประเทศ ขณะที่เวียดนามเองก็มีรายการสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีสินค้าส่งออกจำนวน 4,127 รายการ แต่กลับมีตลาดส่งออกเพียง 97 ประเทศเท่านั้น (WITS Database) [1]

แม้ช่วงที่ผ่านมาไทยจะประสบปัญหาค่าจ้างแรงงานที่สูงอย่างต่อเนื่องและไม่มีแต้มต่อทางภาษีศุลกากรจากเขตการค้าเสรีในบางตลาดเหมือนดังกรณีเวียดนาม (EU-Vietnam FTA, CPTPP)  แต่ความล้มเหลวของรายการสินค้าส่งออกก็เกิดขึ้นในระดับต่ำ  งานศึกษาเกี่ยวกับความอยู่รอดของการส่งออกในไทยและประเทศคู่แข่งในภูมิภาคพบว่า จีนมีอัตราความอยู่รอดของการส่งออกสูงที่สุด และไทยยังมีอัตราความอยู่รอดของการส่งออกสูงกว่าเวียดนามในทุกรายการสินค้า หรือนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีจำนวนรายการสินค้าส่งออกที่สามารถอยู่รอดมาโดยตลอดของไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.2 และ 27.9 ของรายการสินค้าที่ส่งออกไปตลาดต่าง ๆ ในโลก (อลงกรณ์, 2564)

หากเรามองความสามารถในการแข่งขันจากเกณฑ์การเติบโตของการส่งออกเพียงอย่างเดียว ก็คงสรุปได้ว่า ไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกเมื่อเทียบกับเวียดนาม แต่บริบทของการพัฒนาการส่งออกข้างต้นจึงไม่สามารถสรุปได้ง่าย ๆ แบบนั้นได้  และที่สำคัญ เวียดนามก็ยังเผชิญปัญหาการส่งออกบางประการเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาการกระจุกตัวของการส่งออกที่สูงเกินไปในบางรายการ และอัตราความอยู่รอดของสินค้าส่งออกที่ต่ำกว่าไทย เรื่องดังกล่าวคงเป็นปัจจัยการเติบโตของการส่งออกของเวียดนามในอนาคต

เมื่อพิจารณาโอกาสการเติบโตของการส่งออกไทย ไทยยังคงมีพื้นฐานของการส่งออกที่ดี และสามารถต่อยอดความสำเร็จของการส่งออกในอดีตได้ เนื่องจากโครงสร้างการส่งออกไทยมีจำนวนสินค้าและตลาดส่งออกหลากหลาย ดังนั้นโอกาสการเติบโตของไทยคงต้องมุ่งกระจายการส่งออกไปยังสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพเหมาะสมกับต้นทุนการผลิตและศักยภาพของผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงกระจายการส่งออกไปตลาดส่งออกต่าง ๆ เพื่อช่วยประคองรายได้จากการส่งออกจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน  นอกจากนั้น ไทยยังมีโอกาสเชื่อมโยงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศเข้าไปกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า หรือสินค้าอื่น ๆ เนื่องจากไทยมีความพร้อมของการเป็นฐานการผลิตสินค้าเหล่านั้นอยู่แล้ว เรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสของ Growth Story ใหม่ของไทยในอนาคตได้

ที่มา : http://www.setthasarn.econ.tu.ac.th/blog/detail/571

เจาะโอกาสส่งออกผักและผลไม้แปรรูปของเวียดนาม

โดย SME Go Inter I ธ.กรุงเทพ
Vietnam Industry and Trade Information Centre คาดการณ์ว่าผักและผลไม้แปรรูปจะมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะความสะดวกและมีระยะเวลาในการเก็บรักษาที่ยาวนาน
ในช่วงปี 2559-2563 การส่งออกผักและผลไม้แปรรูปของเวียดนามเติบโตขึ้นถึงเลขสองหลักต่อปี โดยในปี 2562 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 41.2% yoy ก่อนจะตกลงสู่ระดับ 11.1% ในปี 2563
จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อ ทำให้การส่งออกผักและผลไม้แปรรูปสามารถทำรายได้ ได้มากถึง 653.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สำหรับตลาดส่งออกผักและผลไม้แปรรูปที่สำคัญของเวียดนาม ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียรัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนการส่งออกของเวียดนามไปยังจีนเติบโตขึ้น 24.8% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562
นอกจากนี้ คาดว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะไม่ส่งผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมผักและผลไม้แปรรูปทั่วโลก ในทางตรงข้ามอุปทานของผักและผลไม้แปรรูปจะเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าหรือสินค้าแช่แข็งจะลดลง เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้ผลิตสินค้า
ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ทำลายห่วงโซ่อุปทานการขนส่ง และทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้นเนื่องจากมีจำนวนเรือและเครื่องบินจำกัด ประกอบกับการเกิดเหตุการณ์ที่เรือบรรทุกสินค้าขวางคลองสุเอซเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่ทำให้ต้องขยายเวลาในการขนส่งผักและผลไม้สดออกไป
จากบริบทข้างต้นทำให้ผักและผลไม้สดที่ไม่สามารถส่งออกได้ถูกนำส่งไปยังโรงงานแปรรูปในท้องถิ่นต่างๆ และจากราคาวัตถุดิบที่ถูกลงนี้จะช่วยให้โรงงานแปรรูปสามารถขยายกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกได้
เมื่อความต้องการและความพยายามในการขยายการผลิตของโรงงานแปรรูปในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ทำให้ผักและผลไม้แปรรูปในปัจจุบันมีสัดส่วน ถึง 25-30% ของมูลค่าการส่งออกผักและผลไม้รวมทั้งหมดของประเทศ โดยก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะอยู่ที่ประมาณ 10%
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้ของเวียดนามยังคงเผชิญหน้ากับข้อจำกัดหลายประการ โดยหนึ่งในปัญหาดังกล่าวคือ สินค้าเวียดนามในปัจจุบันส่งออกภายใต้ชื่อแบรนด์ที่แตกต่างกันแต่ยังไม่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งในระดับประเทศ อีกทั้งยังขาดความเข้าใจในรสนิยมของผู้บริโภคและยังต้องปรับปรุงการสร้างห่วงโซ่อุปทานในตลาดต่างประเทศด้วย
โดยสรุปแล้ว อุตสาหกรรมแปรรูปของเวียดนามยังคิดเป็นเพียง 8-10% ของผลผลิตผักและผลไม้ที่ได้ในแต่ละปี การบริโภคก็ยังคงอยู่ในรูปแบบของสินค้าสดหรือการถนอมอาหารเบื้องต้นเพียงเท่านั้น ซึ่งความเสียหายจากการเก็บเกี่ยวยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินไปที่ประมาณ 20% ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามจึงมองว่ายังคงมีพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการให้สามารถเข้ามาลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการส่งออกเพื่อรองรับอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นได้

ที่มา :
1/ https://www.bangkokbanksme.com/en/export-processed-vegetables-and-fruits-of-vietnam
2/ https://the-japan-news.com/news/article/0008042350

บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้า-รองเท้าแบรนด์ดังกระทบหนัก หลัง “เวียดนาม” ปิดโรงงานล็อคดาวน์โควิดยาวนาน

โดย Money & Banking (การเงินการธนาคาร)

นักวิเคราะห์จาก BofA Securities เป็นธนาคารเพื่อการลงทุนข้ามชาติของอเมริกาภายใต้การดูแลของ Bank of America ระบุว่า ผลกระทบของการปิดโรงงานที่ยืดเยื้อเป็นเวลานานในเวียดนาม มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากกับผู้ค้าปลีดเสื้อผ้าและรองเท้าหลายรายที่วางแผนไว้สำหรับปี 2565

โดย BofA Securities มองถึงเหตุผลหลายประการสำหรับการคาดการณ์นี้ รวมข้อเท็จจริงที่ว่าการกลับมาของเศรษฐกิจในเวียดนามตอนใต้ ซึ่งมีผู้ผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าจำนวนมาก มีการเคลื่อนไหวช้ากว่าทางตอนเหนือมาก

เนื่องจากเวียดนามประสบกับจำนวนผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรงในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ส่งผลให้มีการล็อคดาวน์ในพื้นที่อีกครั้ง การผลิตต้องหยุดชั่วคราวและส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างๆ เช่น Adidas และ Nike ที่ต้องพึ่งพาภูมิภาคนี้เป็นอย่างมากในการผลิตรองเท้าผ้าใบและเสื้อผ้ากีฬา โดย BofA ตั้งข้อสังเกตว่าธุรกิจต่างๆ ได้เริ่มเปิดทำการอีกครั้งแล้ว แต่อัตราการฉีดวัคซีนยังคงต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

Mohamed Faiz Nagutha นักเศรษฐศาสตร์ของ BofA กล่าวว่า แม้ว่ากิจกรรมการผลิตจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปีที่แล้วหลังจากการหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโควิดในช่วงสั้นๆ พร้อมเสริมว่า แต่กฎการดำเนินงานโรงงานในปัจจุบันในเวียดนามยังคงเข้มงวดและซับซ้อนมาก ซึ่งอาจขัดขวางความสามารถของพนักงานในการกลับไปทำงานได้

“โดยรวมแล้ว เราคาดว่าการแพร่ระบาดจะส่งผลกระทบต่อความคาดหวังในการกลับมาดำเนินกิจกรรมการผลิตใหม่อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ยังคงมีอยู่ ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในส่วนอื่นๆ ของเอเชีย

ด้าน Puma ได้เตือนแล้วว่าปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในเวียดนาม จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทขาดแคลนในปีหน้า ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Adidas ปรับลดแนวโน้มในปี 2564

ที่มา : https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/vietnam-factory-effect-retail-market-161164

อ้างอิง : https://www.cnbc.com/2021/11/15/factory-shutdowns-in-vietnam-to-have-longer-impact-for-retailers-bofa.html

เวียดนามอันดับ 1 ประเทศที่ยอมรับเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) มากที่สุดในโลก

โดย TNN ONLINE

“ในช่วงเดือนมกราคม 2020 ถึงเดือนมกราคม 2021 ทั่วโลกมีจำนวนการสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัล (Crypto Wallets) เพิ่มขึ้นกว่า 45% ประมาณ 66 ล้านกระเป๋า อัตราการยอมรับเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น 880%”

รายงานบทวิเคราะห์ Geography of Cryptocurrency ปี 2021 จัดทำโดย Chainalysis บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มข้อมูลบล็อกเชนและการทำวิจัยด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ทั่วโลกพบว่าในช่วงเดือนมกราคม 2020 ถึงเดือนมกราคม 2021 มีจำนวนการสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัล (Crypto Wallets) เพิ่มขึ้นกว่า 45% ประมาณ 66 ล้านกระเป๋า อัตราการยอมรับเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น 880% หรือเกือบเท่ากับประชากรไทยทั้งประเทศโดยประมาณ

ดัชนีการยอมรับเงินดิจิทัลทั่วโลก (Global Crypto Adoption Index) วัดผลจากการใช้งานในประเทศต่าง ๆ ตามปริมาณธุรกรรมการเงินที่เกิดขึ้น โดยเน้นธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าน้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์ โดยผู้ใช้งานที่เป็นบุคคลธรรมดามากกว่าร้านค้าหรือบริษัทขนาดใหญ่ ใน 158 ประเทศและนำค่าเฉลี่ยมาทำการจัดอันดับร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ พบว่าประเทศเวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีการยอมรับเงินดิจิทัลมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีประเทศอินเดีย ปากีสถานอยู่ในลำดับถัดไป ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12 นอกจากนี้ยังพบกว่าใน 20 อันดับแรกเป็นประเทศในแอฟริกามากถึง 6 ประเทศ

วงการเงินดิจิทัลในประเทศเวียดนามมีความโดดเด่น เนื่องจากมีประมาณธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลที่สูงในช่วงปี 2020 ถึง 2021 โดยมีบริษัทที่ให้บริการเป็นตลาดซื้อขายเงินดิจิทัล (Crypto Exchange) ที่ได้รับการยอมรับเปิดให้บริการในประเทศประมาณ 9 แห่ง นอกจากนี้ยังมีบริษัทดาวเด่นที่เปิดให้บริการเกมออนไลน์ Axie Infinity ในรูปแบบ NFTs Game พัฒนาบนเครือข่ายบล็อกเชนของ Ethereum ที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลกมีผู้เล่น Active Users กว่า 2 ล้านคนต่อวันและส่งผลให้มูลค่าของเงินดิจิทัลสกุล AXS หรือเหรียญ AXS ที่ถูกใช้งานภายในเกมมีมูลค่าในตลาดซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นเป็น 156 ดอลลาร์ต่อเหรียญหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 7,300% เมื่อเทียบกับมูลค่าเหรียญในช่วงต้นปี 2021 ส่งผลให้บริษัทผู้พัฒนาเกมออนไลน์ Axie Infinity สามารถระดมทุนจากนักลงทุนจำนวนมากและอาจกลายเป็นบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นตัวใหม่ของประเทศเวียดนาม

ปัจจุบันเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เป็นพื้นฐานสำคัญของเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ได้รับการยอมรับกำลังก้าวขึ้นมาเป็นคลื่นลูกใหม่ของเศรษฐกิจโลกกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้หยุดแค่การซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัลสกุลต่าง ๆ แต่สามารถพัฒนาเป็นรูปแบบ ๆ อื่น เช่น การซื้อขายแลกเปลี่ยนผลงานศิลปะ กราฟิก วิดีโอ ภาพ 3 มิติในรูปแบบของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถสร้างใหม่ทดแทนได้ (NFT หรือ Non-Fungible Token) รวมไปถึงเกมออนไลน์ที่มีเนื้อหาวิธีการเล่นเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ความเข้าใจในเทคโนโลยีบล็อกเชนมุมมองใหม่ที่เปิดรับเกี่ยวกับเงินดิจิทัลจากหน่วยงานรัฐบาลและประชาชนทั่วไปอาจเป็นสิ่งสำคัญและเร่งด่วนเพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีของโลก

ที่มา : https://www.tnnthailand.com/news/tech/93193/

ข้อมูลจาก coindesk.com , forbes.com , economywatch.com

ภาพจาก chainalysis.com

อะไรทำให้ ‘เวียดนาม’ เนื้อหอม ดึงดูดนักลงทุน ก้าวสู่ฐานการผลิตโลก สวนทาง ‘ไทย’ ที่กำลังโดนทิ้ง

โดย รุ่งนภา พิมมะศรี I กองบรรณาธิการสายเศรษฐกิจ ไทยรัฐพลัส

ความสามารถในการแข่งขันของไทยลด และกำลังโดนทิ้ง

ความกังวลที่ว่านักลงทุนรายใหม่จะไม่เข้ามา และนักลงทุนรายเดิมจะหนีไป เกิดขึ้นจริงแล้ว ดังที่มีข่าว ข้อมูล และตัวเลขต่างๆ-บริษัทต่างชาติปิดบริษัท บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิต แรงงานร่ำไห้หน้าโรงงานในวันทำงานวันสุดท้าย คือเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่เรื่อยมา และข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่อาจจะฟังดูเศร้าๆ คือ บริษัทสัญชาติไทยเองก็ไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนในไทยเลย เพียงแต่ตัวเลขจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนใน 3 ปีหลังลดลง และมูลค่าไม่สูงเท่าประเทศคู่แข่งรายสำคัญอย่างเวียดนาม

เมื่อช่วงกลางปี 2564 ที่เพิ่งผ่านมา มีข่าวอันลือลั่นจากรายงานของ KKP Research ที่ว่าโลกกำลังจะทิ้งไทย ซึ่งข้อมูลในรายงานบอกว่า เมื่อเทียบการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ พบว่าสัดส่วนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยมีสัดส่วนอยู่มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2547-2550 แต่ในช่วงปี 2559-2562 ลดเหลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันอ่อนแอลง

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ว่าสถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

เวียดนามดึงดูดนักลงทุนเก่ง สวนทางกับไทย

กราฟเทียบมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยกับเวียดนาม จากคลังข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ช่วยให้เห็นภาพความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนของเวียดนามชัดขึ้น

ปี 2563 ข้อมูลจากกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ประเทศเวียดนาม ระบุว่า 11 เดือนแรกของปี 2563 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนามมีมูลค่า 17,200 ล้านดอลลาร์ โดยภาคการผลิตและการแปรรูปดึงดูดการลงทุนมากที่สุด ส่วนประเทศที่เข้าไปลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง

“ยังมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ ไว้วางใจ และมีความจำเป็นต้องลงทุนในเวียดนามเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้การเดินทางของนักลงทุน ตลอดจนการตัดสินใจลงทุนครั้งใหม่ และการขยายขนาดโครงการโดยตรงจากต่างประเทศยังคงได้รับผลกระทบ” ข้อมูลจากทางการเวียดนาม

และในปี 2564 นี้ นับถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 มูลค่าเงินทุนจากโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนาม อยู่ที่ประมาณ 9,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 306,832 ล้านบาท มากกว่าของไทยในช่วงเวลาเดียวกันที่มีมูลค่า 278,658 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 6.8 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ปัจจัยเด่นของเวียดนามที่โดนใจบริษัทต่างชาติ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าอะไรเป็นเหตุผล เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้บริษัทต่างชาตินิยมเลือกเวียดนามเป็นฐานการผลิต? ไม่ว่าจะสำหรับการขยายฐานการผลิตเพิ่มเติม หรือย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศอื่น

ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียน สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เคยวิเคราะห์ปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ว่ามี 6 ปัจจัย ดังนี้

  1. ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล

เวียดนามปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดแนวทางการบริหารประเทศทุกด้าน ทําให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น และนโยบายต่างๆ ได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้นำประเทศมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการบริหารประเทศ และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในเวียดนาม

  1. ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์

เวียดนามมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะพลังงาน และแร่ธาตุ เช่น มีแหล่งน้ำมันดิบกระจายอยู่ทั่วทุกภาค เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายสำคัญอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย, มีปริมาณเชื้อเพลิงสำรอง เช่น ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม และถ่านหินอยู่มาก รวมทั้งแร่ธาตุสําคัญ คือ บอกไซต์ โปแตสเซียม และเหล็ก นอกจากนี้ ยังมีป่าไม้ มีทรัพยากรดินและน้ำอย่างเพียงพอทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเอื้อต่อการเพาะปลูก

  1. เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ

เวียดนามมีประชากรมากถึง 90 ล้านคน ชาวเวียดนามเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และชาวเวียดนามโพ้นทะเลหรือที่เรียกว่า ‘เวียดกิว’ ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคน โอนเงินกลับประเทศปีละประมาณ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพดีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปี

  1. เน้นนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ

เวียดนามให้ความสำคัญกับมิตรประเทศ รวมถึงนโยบายด้านความปลอดภัย ทําให้เวียดนามไม่เคยตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย และแทบไม่มีปัญหาอาชญากรรมขั้นร้ายแรง ประกอบกับเวียดนามมีกฎหมายที่เข้มงวดและมีบทลงโทษรุนแรง ส่งผลให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจเข้าไปลงทุน

  1. เวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง

มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ตลอดจน สาธารณูปโภคต่างๆ ให้มีความสะดวกและทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC)

  1. ความได้เปรียบด้านแรงงาน

ชาวเวียดนาม 48 ล้านคน หรือคิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรเวียดนามทั้งหมดอยู่ในวัยทำงาน มีอายุระหว่าง 15-64 ปี และอัตราการรู้หนังสือของชาวเวียดนามสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ทำให้เวียดนามมีแรงงานคุณภาพจำนวนมาก อัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ และยังสามารถหาแรงงานได้ง่าย นายจ้างสามารถรับสมัครแรงงานได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านกระทรวงแรงงานของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน ชาวเวียดนามก็มีความสนใจสมัครงานโดยเฉพาะกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นจุดแข็งของตลาดแรงงานในเวียดนาม

อ่านต่อ : https://plus.thairath.co.th/topic/money/100479

7 หุ้น โรงไฟฟ้าใหญ่ไทย กำลังเติบโตในเวียดนาม

โดย Maratronman I Wealthy Thai

เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ เพราะขนาดเศรษฐกิจของประเทศกำลังขยายใหญ่โตขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากประชากรที่เพิ่มตัวขึ้นปีละหลายล้านคน รวมถึงประชากรกำลังอยู่ในวัยคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นวัยที่มีส่วนจะช่วยผลักดันความก้าวหน้าของประเทศ

การลงทุนจากต่างประเทศทยอยการลงทุนเข้ามาในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากผู้ประกอบการค่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงใช้ประเทศเวียดนามเป็นฐานการผลิตโทรศัพท์มือถือ รวมถึงนักลงทุนจากสหรัฐที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเวียดนาม

ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเวียดนามเองนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องรังสรรค์โครงสร้างพื้นฐานประเทศไว้รองรับสิ่งใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ประเทศ และเศรษฐกิจเดินหน้าต่อแบบไม่ชะงัก แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 แต่เวียดนามก็ไม่หวั่นตั้งเป้าปี 64 จีดีพีจะกลับมาเติบโตในระดับ 6.5% จากในปี 63 ที่โตแบบสะดุด

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ เพื่อรองรับการเติบโต และอุตสาหกรรมที่กำลังรุ่งเรืองคงจะหนีไม่พ้นโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า ซึ่งกระแสไฟฟ้ามีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยเวียดนามคาดการณ์ว่าจะมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากถึง 80,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573

โดยแหล่งพลังงานหลักยังคงเป็นถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 30,000 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังงานลมในพื้นที่ชายฝั่งและพลังงานลมก็คาดว่าจะมีการขยายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 50,000 เมกะวัตต์ ซึ่งอัตราการเติบโตของการใช้พลังงานในปี 2021-2030 ยังอยู่ในระดับสูง จาก 8.6 % ในปี 2021-2025 และ 7.2 % ในปี 2026-2030 แผนพัฒนาพลังงานของเวียดนามคาดการณ์ว่าจะมีการใช้พลังงานสูงสุด 138,000 เมกะวัตต์ ในปี 2030 และ 302,000 เมกะวัตต์ ในปี 2045

เมื่อเห็นแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศเวียดนามแบบนี้แล้ว นักลงทุนคงจะพอเดากันได้แล้วใช่มั้ยว่า มีบริษัทหลักทรัพย์ของไทยที่ไหนบ้าง ถ้าเดาไม่ออก งั้น Wealthy Thai จะเล่าให้ฟัง มีบริษัทในตลาดหุ้นไทยที่ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุน มีทั้งสิ้น 7 บริษัท ประกอบด้วย

1.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF

2.บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM

3.บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH

4.บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP

5.บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG

6.บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER

7.บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL

ที่มา : https://www.wealthythai.com/en/updates/stock/stock-of-the-day/1496