ส่องแผน PDP 8 ของเวียดนาม อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าไทย

โดย นพมาศ ฮวบเจริญ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

เมื่อกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทางการเวียดนามเพิ่งประกาศแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (Power Development Plan VIII: PDP 8) แม้ว่าจะมีความล่าช้าไปกว่า 2 ปี แต่ก็ถือว่าเป็นแนวทางหลักของการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในเวียดนาม รวมถึงแนวทางของส่วนผสมพลังงานเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า (Energy mixed)

5 ข้อสรุปสำคัญของ PDP 8 ได้แก่

  • กำลังการผลิตในปี 2030 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2020 ที่ 69 GW เป็น 150 GW ในปี 2030
  • ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าราว 1.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และพัฒนาสายส่งอีก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • แหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าและมีการเติบโตสูง คือ ก๊าซธรรมชาติและพลังงานลม โดยปี 2030 มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 43% ของกำลังการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2020 ทั้งนี้ผลจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่มากขึ้น มีผลให้เวียดนามต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากขึ้น จากเดิมที่ใช้แต่ก๊าซธรรมชาติในประเทศ ในส่วนของการพึ่งพาพลังงานลม ถือว่าสอดคล้องไปกับศักยภาพของภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีพื้นที่ชายฝั่งที่ยาวถึง 3,000 กิโลเมตร และมีกำลังลมเฉลี่ยสูงกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนลดลงจาก 24% ในปี 2020 เป็น 13% ในปี 2030 ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนระบบสายส่งที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตจากพลังงานลม อย่างไรก็ตาม ทางการเวียดนามกลับมีแผนสนับสนุนให้ติดตั้ง Solar rooftop หรือ Solar farm เพื่อการใช้ด้วยตัวเอง (Self-consumption) ซึ่งมีเป้าหมายติดตั้งถึง 10 GW ภายในปี 2030 ด้วยการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 15.5 GWh
  • การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แม้สัดส่วนต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดลดลง (เหลือ 20% ในปี 2030 จาก 31% ในปี 2020) แต่กำลังการผลิตปี 2030 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น 41% เทียบกับ 10 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2050 เวียดนามมีเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า

 

เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

แม้ก๊าซธรรมชาติจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญในช่วงทศวรรษที่จะเกิดขึ้น แต่เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy : RE) โดยตั้งเป้าว่าการผลิตไฟฟ้าจาก RE จะมีสูงถึง 30.9-39.2% ภายในปี 2030 และ 67.5-71.5% ในปี 2050 โดยการพึ่งพิงพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ เป็นเพียงแหล่งพลังงานที่ใช้ทดแทนถ่านหินในช่วงเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน (Energy transition) เพราะในท้ายที่สุดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติก็จะลดบทบาทลงเหลือเพียง 7-8% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2050 นอกจากนี้ ในการผลิตไฟฟ้าจาก RE เวียดนามถือว่าเป็นตลาดสำคัญของ ASEAN ด้วยสัดส่วนมากถึงราว 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก RE ที่มีใน ASEAN ทั้งหมด

 

นัยของแผน PDP 8 ต่อไทย

เม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางการเวียดนามมองว่า ต้องอาศัยเงินลงทุนจากต่างชาติด้วย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยที่จะขยายการลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการลงทุนในตลาดเวียดนามอยู่แล้ว เพื่อเข้าไปรับประโยชน์จากแผนการขยายกำลังการผลิตในช่วง 10 ปีที่จะเกิดขึ้นนี้ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสำคัญ แต่จากแผนใหม่ที่เกิดขึ้น ที่ลดความสำคัญของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง ทำให้กลุ่มทุนไทยอาจจะต้องหันมาพิจารณาโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมมากขึ้น เนื่องจากทางการเวียดนามให้การสนับสนุนและกำลังการผลิตมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด (จากกำลังการผลิตที่ 1 GW ในปี 2020 เป็น 28 GW ในปี 2030)

ในส่วนของโรงไฟฟ้าจาก Fossil fuel อาจจะเหมาะสมกับกลุ่มทุนที่มีความได้เปรียบในเชิง Scale ที่ใหญ่เพียงพอ เพื่อสร้างความได้เปรียบได้การจัดหาแหล่งวัตถุดิบในราคาต่ำ ทั้งนี้กลุ่มก๊าซธรรมชาติ ที่แม้ความต้องการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้ายังสูงในช่วง 10 ปี แต่การพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ทำให้อาจเป็นข้อจำกัดในการจัดหา LNG ในราคาที่เหมาะสม ขณะที่กลุ่มถ่านหิน หากพิจารณาที่ปริมาณกำลังการผลิตที่เวียดนามต้องการยังคงมีมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตตามเศรษฐกิจ แต่แนวโน้มตลาดที่โตต่ำเมื่อเทียบกับพลังงานกลุ่มอื่น ๆ อาจทำให้ความน่าสนใจมีน้อยลง

แม้ว่า PDP 8 ที่เพิ่งออกมา จะสร้างโอกาสในการลงทุนของโรงไฟฟ้าไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจโรงไฟฟ้าในเวียดนาม ยังคงขึ้นอยู่กับนโยบายของทางการเป็นสำคัญ ทำให้ต้องติดตามรายละเอียดของการเปิดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่จะเกิดขึ้นจากแผน PDP 8 รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และพยายามปิดความเสี่ยง เพื่อจะได้รับประโยชน์จากโอกาสในตลาดโรงไฟฟ้าของเวียดนามที่เติบโต เช่น กรณีที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้าไม่เสร็จทันตามสัญญา ทำให้เมื่อก่อสร้างเสร็จ ยังไม่สามารถดำเนินการขายไฟฟ้าให้กับทางการเวียดนามได้ เนื่องจากติดปัญหาการกำหนด FiT ใหม่ ดังนั้น สำหรับในโครงการใหม่ที่จะเข้าไปลงทุน อาจต้องมีแผนสำรองในความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวลง เป็นต้น

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/PDP8-Vietnam-120623

ครบรอบ 1 ปี รถไฟจีน-สปป.ลาว … การค้าผ่านแดนไทยไปจีนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

แม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทยไปจีนช่วง 10 เดือนแรกปี 2565 ในรูปเงินบาทจะเติบโตช้าที่ 2.8% และการส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงเดียวกันก็หดตัวถึง 27.3% (YoY) มีมูลค่าส่งออกที่ 1.26 แสนล้านบาท แต่การส่งออกผ่านแดนบางเส้นทางยังคงเติบโตได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการขนส่งไปยังมณฑลหยุนหนานทั้งการขนส่งด้วยรถบรรทุกและการขนส่งผ่านรถไฟจีน-สปป.ลาว ที่เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2564 ผ่านมาครบ 1 ปี การขนส่งผ่านแดนยังคงมีสัญญาณบวกเติบโตได้อีกในระยะข้างหน้า ดังนี้

– ในช่วงโควิด-19 ระบาดการขนส่งผ่านแดนเป็นตัวช่วยสำคัญในการส่งสินค้าเข้าสู่จีน โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นรวดเร็วเป็น 17% ของมูลค่าการส่งออกทุกช่องทางไปจีนในปี 2564 (จากเคยอยู่ที่ 12.4% ในปี 2562)

– ปัจจุบันการขนส่งผ่านแดนระหว่างไทยกับจีนมี 4 เส้นทาง ซึ่งสามารถส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ถึงจีนด้วยระยะเวลาเพียง 2-5 วัน และเส้นทางเหล่านี้จะยิ่งคึกคักขึ้นจากการเตรียมเปิดเส้นทางขนส่งช่องทางที่ 5

– กำลังซื้อที่มาจากจีนตอนใต้ มณฑลหยุนหนานและเขตปกครองตนเองกว่างซียังมีโอกาสเติบโตในระยะข้างหน้า โดยในเวลานี้การส่งออกไปยังพื้นที่จีนตอนใต้เติบโตสวนกระแสการหดตัวของการส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในภาพรวม ทั้งการส่งออกผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 จ.เชียงราย ไปยังมณฑลหยุนหนานยังขยายตัวถึง 27.9% (YoY) เช่นเดียวกับช่องทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวที่เปิดใช้งานมา 1 ปี มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 1,569 ล้านบาท เบื้องต้นมีสัดส่วน 1.3% ของการส่งออกผ่านแดนไปจีน จากที่ไม่เคยมีการขนส่งด้วยช่องทางนี้มาก่อน สินค้าที่น่าจับตา ได้แก่ ผลไม้ เครื่องสำอาง น้ำพริกปรุงรส เครื่องแกง มันสำปะหลัง ถั่ว ของแต่งบ้าน รวมถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกใหม่ที่น่าจับตา

– การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนตอนใต้สามารถส่งต่อสินค้าไปยังภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนได้อย่างรวดเร็วด้วยเครือข่ายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพของจีน โดยเฉพาะสินค้าเพื่อการบริโภคที่จีนผลิตไม่ได้และเป็นสินค้าที่เป็นจุดเด่นของไทย รวมถึงสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตในกลุ่มสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบสำคัญของไทยอย่างยางพาราและเม็ดพลาสติก สามารถนำไปต่อยอดผลิตในมณฑลฉงชิ่งและเมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งของพื้นที่ตอนในเชื่อมโยงการขนส่งทั่วจีน และเชื่อมการขนส่งสินค้าไปยุโรป

อย่างไรก็ดี จากมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดของจีนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และด้วยฐานการส่งออกที่สูงในปีก่อนหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปี 2565 แม้จะมีแรงส่งจากกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปลายปี แต่ด้วยการส่งออกที่อ่อนแรงในช่วงที่ผ่านมาทำให้ทั้งปี 2565 การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนหดตัวที่ 25% มีมูลค่า 145,000 ล้านบาท

ในระยะต่อไปต้องจับตา การผ่อนปรนมาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่เริ่มส่งสัญญาณบวก และแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่หันมาพึ่งพิงการบริโภคในประเทศมากขึ้น ท่ามกลางการส่งออกในภาพรวมไปจีนที่ไม่สดใสนัก แต่การกระจายการขนส่งไปยังเส้นทางการค้าผ่านแดนทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทยเพื่อส่งไปยังจีนตอนใต้น่าจะเป็นอีกช่องทางที่สร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปจีนยังพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ตอนในประเทศของจีนมากขึ้น

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Thai-China-lao-FB-13-12-2022.aspx

10 ธุรกิจเด่น ครึ่งปีหลัง 2565

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมสภา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ร่วมกับ อาจารย์วชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าผลสำรวจ การจัดอันดับ 10 ธุรกิจดาวรุ่ง ครึ่งปีหลัง 2565
10 ธุรกิจที่มาแรงสุดคือ
1.ธุรกิจการแพทย์และความงาม และธุรกิจ e-commerce (ธุรกิที่ทำการซื้อขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์)ยังคงเป็นธุรกิจดาวรุ่งต่อเนื่อง
2.ธุรกิจ แพลตฟอร์ม (ธุรกิจตัวกลางหรือตลาดกลางด้าน อิเล็กทรอนิกส์)และธุรกิจโลจิสติกส์ delivery และคลังสินค้ำ
3.ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต และธุรกิจอาหารเสริมและสุขภาพ
4.ธุรกิจ E-Sports และธุรกิจ Social Media และ Online Entertainment
5.ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ธุรกิจ youtuber influencer และการรีวิวสินค้าและ ธุรกิจ Media ธุรกิจสื่อโฆษณา
6.ธุรกิจเวชภัณฑ์ยา ธุรกิจการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และ ทางการแพทย์ และธุรกิจธุรกิจด้าน fintech และการชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี และธุรกิจงานคอนเสิร์ต มหกรรมจัดแสดงสินค้ำ ธุรกิจ event
7.ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ และธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน
8.ธุรกิจ Modern Trade/ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจสมุนไพรไทย เช่น กัญชง กัญชา ใบกระท่อม
9.ธุรกิจสถานบันเทิงและธุรกิจยานยนต์
10.ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์แนวราบและธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ทัวร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
ส่วน 10 ธุรกิจดาวร่วงนั้นนำโดย
1.ธุรกิจผลิตโทรศัพท์พื้นฐานและครื่องโทรสาร
2.ธุรกิจฟอกย้อม
3.ธุรกิจหัตถกรรมที่ไม่มีการออกแบบและราคาถูก
4.ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และวารสาร
5.ธุรกิจรับส่งสื่อสิ่งพิมพ์ตามบ้านและสถานที่ทำงาน
6.ธุรกิจโรงพิมพ์/การพิมพ์ เช่น หนังสือ แผ่นพับ
7.ธุรกิจคนกลางและธุรกิจผลิตและขายต้นไม้/ดอกไม้ประดิษฐ์
8.ธุรกิจ call center และธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา และเซรามิก
9.ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ไร้ฝีมือ หรือเสื้อผ้าโหล
10.ธุรกิจร้านเช่าหนังสือ ขายหนังสือ และธุรกิจร้านถ่ายรูป
สำหรับการจัดอันดับของธุรกิจดังกล่าวนำข้อมูลมาจากจากข้อมูลปฐมภูมิ ด้วยการสำรวจผู้ประกอบการรายสาขา สถานภาพธุรกิจไทย ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ รวมถึงข้อมูลทุติยภูมิต่างๆ เช่น ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก, ข้อมูลสินเชื่อธนาคารพาณิชย์, ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ได้มีเกณฑ์การให้คะแนนธุรกิจใน 5 ด้านรวม 100 คะแนน ประกอบด้วย ยอดขาย ต้นทุน กำไรสุทธิ ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและการแข่งขัน ความต้องการ-กระแสนิยม
ที่มา: https://bit.ly/3OweGUg

ทิศทางการส่งออกไทยในปี 2022 ท่ามกลางความเสี่ยงจากภาวะสงคราม

โดย วิชาญ กุลาตี I ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

ตัวเลขการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงสองเดือนแรกของปี 2022 สะท้อนถึงโมเมนตัมการขยายตัวที่ดีต่อเนื่อง จากการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าโลก ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของนานาประเทศ รวมถึงการผลิตเพื่อส่งออกกลับมาได้อย่างเป็นปกติมากยิ่งขึ้น หลังจากที่โรงงานบางส่วนต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราวเพื่อควบคุมโรคในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา

 

อย่างไรก็ตาม สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม และคาดว่าผลกระทบทั้งทางตรงจากการส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน และทางอ้อมจากสถานการณ์สงครามที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงนั้น จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นในระยะถัดไป แต่ EIC มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวก็ยังสร้างโอกาสต่อธุรกิจส่งออกไทยในบางด้านด้วยเช่นกัน

 

ผลกระทบทางตรงมีอยู่จำกัด

การส่งออกไปรัสเซียและยูเครนหดตัวมากถึง 73% และ 77.8% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า และอาจรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้าตามช่องทางการค้า การชำระเงิน และการขนส่งที่ถูกปิดกั้นมากขึ้น

แต่ผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยจากการส่งออกยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากไทยส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนเป็นสัดส่วนน้อยและไม่ได้มีสินค้าส่งออกสำคัญใดที่พึ่งพาตลาดรัสเซียและยูเครนมากเป็นพิเศษ โดยในปี 2021 มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปรัสเซียและยูเครนอยู่ที่ราว 1,028 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.38% และ 0.05% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย ตามลำดับ

 

แต่ผลกระทบทางอ้อมรุนแรงกว่า

แม้ผลกระทบทางตรงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะมีอยู่อย่างจำกัดจากที่ได้กล่าวมา แต่อาจสร้างผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกสินค้าของไทยได้ โดยมี 2 ช่องทางที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาคอขวดอุปทาน

ช่องทางแรก ภาวะสงครามจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปที่อยู่ประชิดด่านหน้าของความขัดแย้ง โดย EIC คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกและยุโรปจะขยายตัวได้เพียง 3.4% และ 2.7% ตามลำดับ ต่ำกว่าประมาณการเดิมในช่วงก่อนสงคราม

ช่องทางที่สอง ปัญหาอุปทานคอขวดอาจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในภาคส่งออกหลักของไทยที่พึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

สงครามในยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่มีอยู่เดิมจากวิกฤติโควิดมีแนวโน้มคลี่คลายช้าลงกว่าที่คาด เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกแร่ธาตุ โลหะอุตสาหกรรม และโภคภัณฑ์หลักของโลก โดยเฉพาะวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่างก๊าซนีออนและแพลเลเดียม

 

การส่งออกของไทยบางส่วนได้รับอานิสงส์จากสงคราม

ท่ามกลางผลกระทบจากภาวะสงคราม ส่งออกไทยได้รับอานิสงส์สนับสนุนการขยายตัวของส่งออกในปี 2022 อย่างน้อยจาก 3 ปัจจัย ซึ่งอาจสามารถชดเชยผลกระทบในทางลบได้ โดยเฉพาะจากปัจจัยทางด้านราคาสินค้าส่งออก

ปัจจัยแรก ราคาสินค้าส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นและสามารถชดเชยการชะลอตัวในด้านปริมาณ ภาวะสงครามและมาตรการคว่ำบาตรทำให้รัสเซียและยูเครนไม่สามารถส่งออกพลังงานและโภคภัณฑ์ทางการเกษตรหลายชนิด เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด น้ำมันทานตะวัน ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยโพแทสเซียม ที่ตนเองเป็นผู้ส่งออกหลักของโลก ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าต่าง ๆ ในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น สินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร จึงมีแนวโน้มจะเติบโตดีในด้านราคาส่งออกเป็นสำคัญ

ปัจจัยที่ที่สอง สินค้าส่งออกไทยบางประเภทสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้ จากการทดแทนสินค้าส่งออกของรัสเซียและยูเครนในตลาดโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่สินค้าส่งออกไทยหลายประเภทมีส่วนแบ่งตลาดในยุโรปในระดับที่ดีและแข่งขันได้ เช่น ยางสังเคราะห์ ไม้อัด ปลาแช่แข็ง ฟอสฟิเนต รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์โบไฮเดรตที่อาจนำมาทดแทนข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพดของรัสเซียและยูเครน เป็นต้น

ปัจจัยสุดท้าย เงินบาทที่อ่อนค่าสนับสนุนรายได้ของผู้ส่งออกไทยและอาจช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน นับตั้งแต่เกิดสงครามค่าเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค โดย EIC คาดเงินบาทในระยะสั้นจะเผชิญแรงกดดันจากความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงที่ลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ยของหลายประเทศสำคัญทั่วโลก ก่อนจะกลับมาแข็งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ภาคส่งออกไทยจึงจะได้รับประโยชน์จากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ซึ่งจะแปรเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจส่งออกไทย

 

ในภาพรวม EIC ยังคงคาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2022 ยังขยายตัวได้ดีที่ 6.1% แต่การขยายตัวเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุน โดยเฉพาะในหมวดพลังงานเป็นหลักและมากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งตัวกว่ามากที่ 13.2%

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/8248

ผลกระทบของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากมีการจัดเก็บ 100% ต่อภาคธุรกิจไทย ครั้งที่ 2

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจผลกระทบของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ครั้งที่ 2 หากมีการจัดเก็บ 100% ต่อภาคธุรกิจไทย จากกลุ่มตัวอย่างหอการค้าจังหวัดและสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ ผลการศึกษา พบว่า

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า หากมีการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างิ ในอัตราปกติ (100%) ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 90.6) ส่งผลให้ต้องเสียภาษีโดยรวมต่ำกว่า 1 แสนบาท (ร้อยละ 32.) และเมื่อพิจารณาภาษีที่ถูกจัดเก็บ คิดเป็นสัดส่วน 1-20% เมื่อเทียบกับรายได้ของธุรกิจ (ร้อยละ 73.7) โดยมีค่าฉลี่ยอยู่ที่ 15.2%

ด้านแนวทางในการรับมือหรือปรับตัวหากภาครัฐจะกลับมาเก็บภาษีฯ ในอัตราปกติ (100%) คือ

  • ควบคุมและลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ อาทิเช่น ลดการจ้างงาน ลดต้นทุนในการผลิตลง ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
  • พิจารณาปรับเพิ่มราคาสินค้า/บริการให้สอดรับกับต้นทุนที่อาจจะเพิ่มขึ้น
  • ปรับแผนการในการดำเนินธุรกิจ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
  • ชะลอการขยายธุรกิจ การลงทุน ในระยะสั้นไปก่อน และอาจจะพิจารณาเลิกกิจการหรือปิดกิจการเป็นการชั่วคราว l

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ คือ

  • ขยายการลดหย่อนภาษีออกไปอีก 1-2 ปี หรือจนกว่าเศรษฐกิจและธุรกิจจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
  • ปรับปรุงเงื่อนไขในการจัดเก็บภาษี โดยพิจารณาอ้างอิงจากประเภทธุรกิจ รวมถึงรายได้ของธุรกิจมาคำนวณในการจัดเก็บ เพื่อความเป็นธรรม
  • อยากให้จัดเก็บเป็นรูปแบบขั้นบันได ให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น ทยอยเก็บเพิ่มขึ้นปีละ 5-10%
  • ออกนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการ โรงแรม/บ้านเช่า/หอ/อพาร์ตเมนต์ ที่อยู่ในวงจรธุรกิจให้เช่าที่พักอาศัย
  • ไม่ควรจัดเก็บหรือทำการปรับขึ้นในสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย                                                        เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3fNBRNJ

ผลกระทบของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากมีการจัดเก็บ 100% ต่อภาคธุรกิจไทย ครั้งที่ 1

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจผลกระทบของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ครั้งที่ 1 หากมีการจัดเก็บ 100% ต่อภาคธุรกิจไทย จากกลุ่มตัวอย่างภาคธุรกิจทั่วประเทศ จำนวน 1,252 ราย ผลการศึกษา พบว่า

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลยกเลิกการลดหย่อน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่อัตรา 90% ในปี 2565 ( ร้อยละ 84.1)  หากมีการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างิ ในอัตราปกติ (100%) จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 88.1) เมื่อรัฐบาลมีการยกเลิกการลดหย่อนภาษีฯ จะส่งผลกระทบโดยรวมต่อธุรกิจโดยรวมต่ำกว่า 5 แสนบาท (ร้อยละ 69.5) จากสถานการณ์ปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างคิดว่าไม่เหมาะสมที่ภาครัฐจะดำเนินการจัดเก็บภาษีฯ ในอัตราปกติ (100%) (ร้อยละ 92.2) เหตุเพราะว่าสภาวะเศรษฐกิจยังไม่กลับสู่ภาวะปกติและมีความเปราะบาง(ร้อยละ 44.2) ส่วนเวลาที่เหมาะสมแก่การที่ภาครัฐจะกลับมาเก็บภาษีฯ ในอัตราปกติ (100%) พบว่าไม่สามารถคาดการณ์ได้ (ร้อยละ 62.8) ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน มาตรการหรือความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ต้องการได้รับมากที่สุดคือ ขยายกรอบระยะเวลาการลดหย่อนภาษีฯ  (ร้อยละ 30.2) หากภาครัฐขยายกรอบระยะเวลาในการยกเว้นการจัดเก็บภาษีฯ ออกไปในปี 2565-66 กลุ่มตัวอย่างจะนำเงินในส่วนที่จะต้องชำระภาษี ไปใช้รักษาสภาพคล่องของธุรกิจ (ร้อยละ 27.5) สิ่งที่อยากให้ภาครัฐดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขในกระบวน การจัดเก็บภาษีฯ  คือ หลักเกณฑ์ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน (ร้อยละ 23.0) หากจำเป็นต้องปรับอัตราภาษีฯ ในอัตราปกติ (100%) กลุ่มตัวอย่างเห็นว่ารัฐบาลควรลดอัตราภาษีลง เพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ (ร้อยละ 32.0) และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีฯ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ คือ ลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระแก่ธุรกิจ (ร้อยละ 40.4)

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย                                 เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3MfXiTD

 

 

คว้าโอกาสให้การค้าไทย จากรถไฟจีน-ลาว

โดย ศุทธาภา นพวิญญูวงศ์ สิรีธร จารุธัญลักษณ์ และอภิชญาณ์ จึงตระกูล

สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกบทความ “คว้าโอกาสให้การค้าไทย จากรถไฟจีน-ลาว” โดยให้มองว่า รถไฟจีน-ลาวที่ได้เปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน 4 ด้าน ได้แก่ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการขนส่ง1 ทั้งนี้ การค้าจะเป็นด้านแรกที่ได้รับโอกาสและผลกระทบ จากการทะลักของสินค้าขาเข้าได้ทันที

นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะทำให้การขนส่งสินค้าข้ามแดนไทย-จีนผ่านภาคอีสานทางบกมีบทบาทสำคัญมากขึ้น จากเดิมการขนสินค้าผ่านทางถนนก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่แล้ว จากประมาณร้อยละ 8 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 12 ในปี 25642 และหากมีเส้นทางรถไฟเข้ามาจะทำให้การขนส่งสินค้าเร็วกว่าทางถนนมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นทางเลือกที่ช่วยกระจายความเสี่ยงด้านการขนส่งได้

ดังนั้น เส้นทางรถไฟนับว่าเป็นการเปิดประตูการขนส่งเส้นทางใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดโอกาสของการค้าข้ามแดนระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย-ลาว-จีน มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับมณฑลยูนนาน บทความนี้นำเสนอการวิเคราะห์ผลกระทบของการเปิดเส้นทางการขนส่งใหม่เส้นนี้ต่อภาคการค้าของไทยกับจีน รวมถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ในการแข่งขันบนเส้นทางที่ท้าทายนี้

โอกาสและความท้าทาย : เบื้องต้นไทยจะเผชิญกับความท้าทายของสินค้านำเข้าจากจีน แต่ในทางกลับกันไทยก็มีโอกาสในการขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดมายังมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นปลายทางรถไฟ จากเดิมที่สินค้าไทยส่วนใหญ่จะนิยมขนส่งไปทางจีนตะวันออกผ่านเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางถนน รวมถึงมณฑลกวางตุ้งและอื่น ๆ ทางเรือ

ด้านการนำเข้า : ไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากสินค้านำเข้าของจีนที่จะมีมากกว่าสินค้าส่งออกจากไทย ซึ่งสินค้าจากจีนจะเข้ามาไทยผ่านทางรางเพิ่มขึ้น จากที่ไม่เคยขนส่งผ่านทางรางมาก่อน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มวัตถุดิบต่าง ๆ และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ

อย่างไรก็ดี ไทยสามารถคว้าโอกาสจากการเข้ามาของสินค้ากลุ่มนี้ได้ เนื่องจากการขนส่งผ่านทางรางทำให้ต้นทุนทั้งระยะเวลาและค่าขนส่งถูกลง ดังนี้ กลุ่มวัตถุดิบต่าง ๆ และกลุ่มผลผลิตทางการเกษตร และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ

ด้านการส่งออก : ไทยมีโอกาสในการส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดไปยังมณฑลยูนนาน รวมทั้งมณฑลใกล้เคียง โดยระยะแรกคาดว่าสินค้าส่งออก จะเป็นสินค้าเดิมที่เคยส่งออกไปมณฑลยูนนาน หรือสินค้าที่มีการขนส่งทางถนนอยู่เดิม

 

โดยสรุปแล้ว การเปิดให้บริการรถไฟจีน-ลาว ส่งผลกระทบต่อภาคการค้าของไทย ทั้งการนำเข้าและส่งออกสินค้า เช่น วัถตุดิบ ผลผลิตทางการเกษตร และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ อย่างไรก็ตาม การขนส่งสินค้าในช่วงแรกยังไม่สามารถดำเนินการได้สะดวก เนื่องจากยังมีการปิดพรมแดนทั้ง สปป. ลาว และจีน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่

1.โครงสร้างพื้นฐานใน สปป. ลาว อาทิ Vientiane Logistics Park (VLP) ซึ่งเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าใน สปป. ลาว และด่านรถไฟโม่ฮานในจีนที่ยังดำเนินการได้ไม่สมบูรณ์

2.มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของจีน เช่น ความเข้มงวดด้านการนำเข้าสินค้าของจีน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโคโรน่าไวรัส โดยเฉพาะอาหารสดและผลไม้ และ

3.มาตรการกีดกันทางการค้าด้านภาษีศุลกากร อาทิ ระเบียบพิธีการด้านการขนส่งทั้งใน สปป.ลาว และจีน อย่างไรก็ดี ข้อตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 1 ม.ค. 2565 จะมีส่วนช่วยบรรเทาข้อจำกัดด้านภาษีศุลกากรได้บ้าง และควรมีการหารือเรื่องการขนส่งร่วมกันระหว่าง สปป. ลาว และจีนเพิ่มเติม เพื่อให้การขนส่งไปจีนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

อ่านต่อ : https://thaipublica.org/2022/01/bot-regional-letter-china-lao-train/

เรื่องที่ SME ไทยควรรู้ เมื่อ RCEP มีผลบังคับใช้เป็นทางการ

เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา เป็นดีเดย์ที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) หรือ ‘อาร์เซ็ป’ ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจะเริ่มมีผลบังคับใช้ด้วย

ซึ่ง 15 ประเทศที่ร่วมลงนามความตกลง RCEP ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์  ไทย บรูไน เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

จุดมุ่งหมายของความตกลงดังกล่าว คือสลายอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมการลงทุน เพื่อช่วยให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก้าวทันประเทศอื่นในโลก ความตกลง RCEP เป็นความตกลงที่ทันสมัย ครอบคลุม คุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจากเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า

 

สินค้าประเทศไทยที่ได้รับประโยชน์จาก RCEP

1.หมวดสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง เป็นต้น

2.หมวดอาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่น ๆ

3.หมวดสินค้าอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย รวมทั้งจักรยานยนต์

4.หมวดบริการ หมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง แอนิเมชัน

5.การค้าปลีก

 

โดยสมาชิก RCEP จะยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น

 

ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมตัวอย่างไร?

สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ควรให้ความสำคัญในการทำการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันก็คือ การสร้างโอกาสและแต้มต่อจากการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA รวมถึงความตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้ โดยผู้ประกอบการควรเร่งเตรียมความพร้อมเรียนรู้ทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้าต่างๆ ของความตกลง RCEP อาทิ การเปิดตลาดการค้าสินค้า อัตราภาษีศุลกากร กฎเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า และสิทธิประโยชน์ รวมทั้งศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดประเทศสมาชิก RCEP

เพื่อเตรียมวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจและพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้าและบริการมากขึ้น จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ สอดรับกับสถานการณ์ใหม่แบบ New Normal’ สร้างความเชื่อมั่น – ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าและบริการ ของตน ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/sme-thai-should-know-rcep

แหล่งอ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

วิเคราะห์โอกาสของการเติบโตการส่งออก ระหว่างไทยกับเวียดนามในอนาคต

โดย อลงกรณ์ ธนศรีธัญญากุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เวียดนามสามารถสร้าง Growth Story ของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะลำดับการส่งออกในตลาดโลก  ในปัจจุบัน เวียดนามสามารถแซงหน้าทั้งมาเลเซียและไทยไปแล้ว  ในปี 2020 เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 19 ของโลก ขณะที่ไทยและมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 22 และ 23 ของโลก  หลายฝ่ายจึงกังวลว่า ไทยจะสามารถแข่งขันในการส่งออกกับเวียดนามในอนาคตได้อีกหรือไม่  เพื่อตอบคำถามดังกล่าว บทความนี้จะลองวิเคราะห์ 3 ประเด็นสำคัญคือ ส่วนแรก Growth Story ของไทยและเวียดนามแตกต่างกันหรือไม่ ส่วนที่สอง โครงสร้างภาพรวมของการส่งออกระหว่างไทยและเวียดนามเป็นอย่างไร และส่วนสุดท้าย พัฒนาการของการส่งออกของไทยและเวียดนาม รวมถึงโอกาสการแข่งขันของไทยในอนาคต

Growth Story ของไทยและเวียดนามแตกต่างกันหรือไม่

หากมองเปรียบเทียบระหว่างไทยกับเวียดนาม ความสำเร็จของการส่งออกของประเทศทั้งสองแทบไม่แตกต่างกัน เนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นปัจจัยให้เกิด Growth Story อย่างก้าวกระโดดในไทยและเวียดนาม  โดย Growth Story ของไทยเกิดขึ้นก่อนในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 ขณะที่ Growth Story ของเวียดนามเกิดขึ้นในทศวรรษ 2010 อันเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน และการย้ายฐานการลงทุนระหว่างประเทศที่ผลักดันการส่งออกของเวียดนามให้เพิ่มขึ้น จนทำให้เวียดนามกลายเป็นส่วนหนึ่งของการผงาดขึ้นของเอเชีย (Rise of Asia) อย่างชัดเจน

ในสามปีที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกสินค้าของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 252 พันล้านเหรียญในปี 2018 เหลือ 231 พันล้านเหรียญในปี 2020 (ลดลงร้อยละ 8.3) ขณะที่เวียดนามสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 244 พันล้านเหรียญในปี 2018 เป็น 281 พันล้านเหรียญในปี 2020 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1)  ด้วยข้อมูลการส่งออกข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนกังวลว่าไทยกำลังเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศไป  อย่างไรก็ดี ความกังวลดังกล่าวยังไม่ได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจน เพราะช่วงที่ผ่านมา สิงคโปร์และมาเลเซียก็ประสบปัญหาการส่งออกถดถอยเช่นเดียวกัน และลำดับการส่งออกของไทยในตลาดโลกก็ไม่ได้ลดลงมากนัก (ตารางที่ 1)

โครงสร้างภาพรวมของการส่งออกระหว่างไทยและเวียดนามเป็นอย่างไร

โครงสร้างรายการสินค้าส่งออกสำคัญระหว่างไทยกับเวียดนามมีความน่าสนใจหลายประการ  อย่างแรก ไทยและเวียดนามต่างส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเหมือนกัน แต่รายการสินค้าส่งออกสำคัญของไทยจะประกอบไปด้วย HDD แผงวงจรรวม และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่เวียดนามจะส่งออกรายการสินค้าโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบของมือถือ แผงวงจรรวม และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค  ประการถัดมา ไทยและเวียดนามต่างก้าวไปเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ในรายการสินค้าที่แตกต่างกัน เช่น ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลกในสินค้า HDD และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่เวียดนามเป็นผู้ส่งออกโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลก เป็นต้น  นอกจากนี้ ไทยและเวียดนามยังมีสินค้าเกษตรกรรมในสินค้าส่งออกสำคัญ 10 ลำดับแรกเหมือนกัน นั่นคือ ข้าว (ไทย) และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ (เวียดนาม) (ตารางที่ 2)

ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งคือ โครงสร้างการส่งออกของไทยจะกระจายตัวสูงกว่าเวียดนาม โดยรายการสินค้าส่งออกสำคัญ 10 ลำดับแรกของไทยและเวียดนาม จะมีสัดส่วนมูลค่าส่งออกเป็นร้อยละ 21.6 และ 34.2  ตามลำดับ  หากสังเกตให้ดีแล้ว เวียดนามพึ่งพาการส่งออกโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบอย่างมาก(ร้อยละ 19.7)  อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ไทยและเวียดนามต่างมีระดับการกระจุกตัวของการส่งออกค่อนข้างสูง  จากรายการสินค้าตามระบบฮาร์โมไนซ์ (HS) จำนวนสิ้น 5,388 รายการ มูลค่าสินค้าส่งออกใน 100 ลำดับแรกของไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 60.1 และ 69.2 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าส่งออกลำดับรายการที่ 101 เป็นต้นไป แต่ละรายการมีสัดส่วนมูลค่าไม่ถึงร้อยละ 0.2 เท่านั้น

พัฒนาการการส่งออกของไทยและเวียดนาม โอกาสการแข่งขันของไทยในอนาคต

ในบริบทของพัฒนาการการส่งออก ไทยสามารถพัฒนาการส่งออกของประเทศได้อย่างมากแม้ต้องเผชิญปัจจัยทางลบหลายประการ และสามารถยกระดับผู้ผลิตคนไทยบางส่วนให้กลายเป็นผู้ส่งออกในหลาย ๆ รายการสินค้า หรืออาจกล่าวได้ว่าแม้ว่าการเติบโตของการส่งออกไทยจะถดถอย แต่ไทยก็ยังพื้นฐานของการส่งออกที่ดี นั่นคือ ไทยมีรายการสินค้าส่งออกสูงถึง 4,620 รายการ และมีตลาดส่งออกมากถึง 194 ประเทศ ขณะที่เวียดนามเองก็มีรายการสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีสินค้าส่งออกจำนวน 4,127 รายการ แต่กลับมีตลาดส่งออกเพียง 97 ประเทศเท่านั้น (WITS Database) [1]

แม้ช่วงที่ผ่านมาไทยจะประสบปัญหาค่าจ้างแรงงานที่สูงอย่างต่อเนื่องและไม่มีแต้มต่อทางภาษีศุลกากรจากเขตการค้าเสรีในบางตลาดเหมือนดังกรณีเวียดนาม (EU-Vietnam FTA, CPTPP)  แต่ความล้มเหลวของรายการสินค้าส่งออกก็เกิดขึ้นในระดับต่ำ  งานศึกษาเกี่ยวกับความอยู่รอดของการส่งออกในไทยและประเทศคู่แข่งในภูมิภาคพบว่า จีนมีอัตราความอยู่รอดของการส่งออกสูงที่สุด และไทยยังมีอัตราความอยู่รอดของการส่งออกสูงกว่าเวียดนามในทุกรายการสินค้า หรือนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีจำนวนรายการสินค้าส่งออกที่สามารถอยู่รอดมาโดยตลอดของไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.2 และ 27.9 ของรายการสินค้าที่ส่งออกไปตลาดต่าง ๆ ในโลก (อลงกรณ์, 2564)

หากเรามองความสามารถในการแข่งขันจากเกณฑ์การเติบโตของการส่งออกเพียงอย่างเดียว ก็คงสรุปได้ว่า ไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกเมื่อเทียบกับเวียดนาม แต่บริบทของการพัฒนาการส่งออกข้างต้นจึงไม่สามารถสรุปได้ง่าย ๆ แบบนั้นได้  และที่สำคัญ เวียดนามก็ยังเผชิญปัญหาการส่งออกบางประการเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาการกระจุกตัวของการส่งออกที่สูงเกินไปในบางรายการ และอัตราความอยู่รอดของสินค้าส่งออกที่ต่ำกว่าไทย เรื่องดังกล่าวคงเป็นปัจจัยการเติบโตของการส่งออกของเวียดนามในอนาคต

เมื่อพิจารณาโอกาสการเติบโตของการส่งออกไทย ไทยยังคงมีพื้นฐานของการส่งออกที่ดี และสามารถต่อยอดความสำเร็จของการส่งออกในอดีตได้ เนื่องจากโครงสร้างการส่งออกไทยมีจำนวนสินค้าและตลาดส่งออกหลากหลาย ดังนั้นโอกาสการเติบโตของไทยคงต้องมุ่งกระจายการส่งออกไปยังสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพเหมาะสมกับต้นทุนการผลิตและศักยภาพของผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงกระจายการส่งออกไปตลาดส่งออกต่าง ๆ เพื่อช่วยประคองรายได้จากการส่งออกจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน  นอกจากนั้น ไทยยังมีโอกาสเชื่อมโยงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศเข้าไปกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า หรือสินค้าอื่น ๆ เนื่องจากไทยมีความพร้อมของการเป็นฐานการผลิตสินค้าเหล่านั้นอยู่แล้ว เรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสของ Growth Story ใหม่ของไทยในอนาคตได้

ที่มา : http://www.setthasarn.econ.tu.ac.th/blog/detail/571

รถไฟจีน-สปป.ลาว” มองโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทย

โดย Marketeer Team

รถไฟจีน-สปป.ลาว จะเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 โดยรถไฟสายนี้เชื่อมคุนหมิงของจีนกับเวียงจันทน์ของ สปป. ลาวเข้าด้วยกัน และอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) มีระยะทาง 1,020 กิโลเมตร (แบ่งเป็นระยะทาง 598 กิโลเมตรในจีน และ 422 กิโลเมตรใน สปป. ลาว) สามารถวิ่งทำความเร็วขนส่งผู้โดยสารได้ถึง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสำหรับการบรรทุกสินค้าสามารถวิ่งได้ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยจะเน้นการขนส่งสินค้าเป็นหลัก สะท้อนจากจำนวนขบวนขนส่งสินค้าต่อวันที่สูงกว่าขบวนขนส่งผู้โดยสาร

การค้าระหว่างไทยกับจีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกของไทยไปยังจีนผ่านทางถนนซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 20 ของการส่งออกไปยังจีนทั้งหมด มีการขยายตัวขึ้นอย่างน่าจับตาในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ มิติใหม่ของการขนส่งด้วยรถไฟไปจีนผ่านช่องทาง จ. หนองคาย จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับสินค้าไทยด้วยความสามารถในการช่วยลดระยะเวลา และต้นทุนการขนส่งสินค้าไปยังนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน จึงนับว่ารถไฟที่เกิดขึ้นสายนี้เป็นเสมือนช่องทางขนส่งใหม่อีกทางที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟยังบรรจบกับเส้นทางหลักของไทยที่ใช้ขนส่งสินค้าไปยังนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ซึ่งก็คือ เส้นทาง R3A ผ่านทาง จ. เชียงราย ที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา สปป. ลาว ดังนั้น รถไฟสายใหม่นี้จึงน่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าไทยผ่านช่องทางดังกล่าวขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ ในระยะเวลาอันใกล้ รถไฟจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการส่งออกของไทยไปยังจีน ด้วยรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ซึ่งจะขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศไทยและจีนให้เร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ยูนนานจะเป็นประตูที่เปิดโอกาสสำหรับสินค้าไทยสู่จีนตะวันตก โดยเฉพาะไปยังนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตใหม่ (New Production Hub) และรัฐบาลจีนตั้งเป้าให้เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายการพัฒนาความเป็นเมือง นอกจากนี้ ยูนนานยังสามารถเชื่อมต่อกับเมืองใหญ่หลายแห่งในจีนด้วยรถไฟความเร็วสูง

ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันจีนมีเส้นทางขนส่งสินค้าทางรางไปยังเอเชียกลาง รัสเซีย และยุโรป ดังนั้น ในระยะข้างหน้า การขนส่งทางรางจะเป็นโหมดการขนส่งศักยภาพของสินค้าไทยไปยังตลาดสำคัญอย่างยุโรปซึ่งเดิมมีการขนส่งทางเรือเป็นหลักเท่านั้น และอาจจะเป็นช่องทางในการแสวงตลาดใหม่อย่างเอเชียกลางได้ในอนาคต

ที่มา : https://marketeeronline.co/archives/239559