‘บ.เกาหลีใต้’ เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดเวียดนาม เหตุจากการเข้ามาของทุนจีน

สำนักข่าวญี่ปุ่น นิคเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) เผยแพร่บทความบอกเล่าถึงบริษัทเกาหลีใต้รายใหญ่ของโลกที่ทำธุรกิจในเวียดนาม เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งจากจีน ในขณะที่ตามรายงานของหอการค้าและอุตสาหกรรมเกาหลี (KCCI) เปิดเผยว่าบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้รายใหญ่ ได้แก่ บริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ (Samsung Electronics) และบริษัทแอลจี (LG) เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามาหลายปี ส่งผลให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และนักลงทุนเกาหลีใต้เป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 1 ของประเทศ มูลค่า 85.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ แซงสิงคโปร์และญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี คู่แข่งจากจีนเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น สาเหตุมาจากการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังเวียดนาม รวมถึงค่าแรงงานที่ถูกกว่า จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้นทุนแรงงานจะเพิ่มขึ้นในเวียดนามเช่นกัน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/korean-firms-in-vietnam-face-growing-competition-from-china-post1087897.vov

สปป.ลาว ไทย และจีน หารือเส้นทางการบินใหม่เพื่อรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น

เส้นทางการบินใหม่อยู่ระหว่างการหารือระหว่างไทย จีน และ สปป.ลาว เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด และเพื่อตอบสนองต่อการคาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอีก 100,000 เที่ยวในน่านฟ้าประเทศไทย สปป.ลาว และจีน โดยเส้นทางคู่ขนานที่นำเสนอนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาความแออัดในเส้นทางการบินที่มีอยู่ซึ่งกำหนดโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยเฉพาะทางตะวันตกเฉียงเหนือของลาว แผนเหล่านี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่จะวางตำแหน่งประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค ความต้องการเดินทางจากจีนมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยจำนวนเที่ยวบินสูงถึงประมาณ 80% ของระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด โดยอินเดียมองว่าเป็นตลาดที่กำลังเติบโตและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีเที่ยวบินเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 900,000 เที่ยวบินในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 800,000 เที่ยวบินในปี 2566 และภายในปี 2568 ปริมาณเที่ยวบินจะดีดตัวกลับไปสู่ระดับ 1 ล้านเที่ยวบิน

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/04/01/thailand-laos-china-in-talks-for-new-aviation-routes-to-handle-surge-in-flights/

แนวโน้มการท่องเที่ยวไทยเป็นบวก ภายหลังการยกเว้นวีซ่าร่วมกับจีนมีผลบังคับใช้

หนึ่งเดือนแรกนับตั้งแต่ข้อตกลงยกเว้นวีซ่าระหว่างไทยและจีนมีผลใช้บังคับ นายวิชัย มงคลชัยชวัน รองประธานหอการค้าไทย-จีน มองว่าแนวโน้มเป็นบวก ในช่วงที่นำไปสู่การเริ่มต้นโครงการ “จำนวนการค้นหาการท่องเที่ยวประเทศไทยบนเว็บไซต์ Baidu ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2567 เพิ่มขึ้น 48%” การค้นหาเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากผู้ใช้ในกวางตุ้ง เจ้อเจียง หูหนาน เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง อย่างไรก็ตาม ประธาน TCJA กล่าวว่า สายการบินและโรงแรมจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวไทยยังคงต้องรับมือกับการฟื้นตัวหลังโควิด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวชาวจีนไว้ที่ 8 ล้านคนในปีนี้ ทั้งนี้ ข้อตกลงกับประเทศไทยอนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางไทยแบบธรรมดา หนังสือเดินทางจีนเพื่อกิจการสาธารณะ และหนังสือเดินทางจีนแบบธรรมดาสามารถเดินทางได้ 30 วัน และยังอนุญาตให้เข้าออกประเทศได้หลายครั้ง แต่การเข้าพักสะสมต้องไม่เกิน 90 วันในช่วง 180 วัน

ที่มา : https://www.thaipbsworld.com/positive-outlook-for-thai-tourism-a-month-after-mutual-visa-exemption-with-china-came-into-force/

สปป.ลาว-จีน ร่วมมือเพื่อพัฒนาการแพทย์แผนโบราณ

ยาแผนโบราณใน สปป.ลาว พร้อมที่จะได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้นในฐานะองค์กรเภสัชกรรมที่ดำเนินการโดยรัฐ ร่วมมือกับหน่วยงานของจีน 3 แห่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาของยาแผนโบราณในประเทศ มุ่งส่งเสริมการวิจัยด้านการแพทย์แผนโบราณในประเทศลาว โรงงานเภสัชกรรมรัฐวิสาหกิจแห่งที่ 3 ได้ร่วมมือกับ Kmoeba (Zhuhai Hengqin) Biomedical Co., Ltd. ของจีน, Guangdong Engineering Center for Traditional Chinese Medicine และมหาวิทยาลัยชีหนาน ผู้ผลิตยาแผนโบราณใน สปป.ลาว ยังได้พัฒนาแคปซูลสมุนไพรเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยใช้การวิจัยและพัฒนาจากพืชสมุนไพรในท้องถิ่น เช่น ฟ้าทะลายโจร เป็นตัวยาสำคัญ ทั้งนี้ แม้ว่าการแพทย์แผนโบราณต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ แต่รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการใช้ยาแผนโบราณและเพิ่มขีดความสามารถผ่านความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/03/22/laos-china-collaborate-to-advance-traditional-medicine/

‘จีน’ ตลาดส่งออกไม้สับรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม

เวียดนามส่งออกไม้สับ (Wood Chip) ไปยังตลาดต่างประเทศ 13 แห่งในปี 2566 โดยตลาดจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ นับว่าเป็นตลาดส่งออกไม้สับสำคัญของเวียดนาม และจากข้อมูลทางสถิติแสดงให้เห็นว่าในปี 2566 เวียดนามส่งออกไม้สับไปยังจีน มากกว่า 9.38 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.43 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ราคาส่งออกไม้สับเฉลี่ยปรับตัวลดลงจาก 183-185 เหรียญสหรัฐต่อตันในปีที่แล้ว เหลืออยู่ที่ 140 เหรียญสหรัฐต่อตันในช่วงกลางปีนี้ ทั้งนี้ สมาคมไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าไม้เวียดนาม เปิดเผยว่าความต้องการนำเข้าไม้สับจากตลาดจีนมีแนวโน้มที่จะลดลง ส่งผลให้ราคาส่งออกไม้สับปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมไม้สับจะยังคงแข่งขันทางด้านวัตถุดิบกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด โดยเฉพาะภาคเหนือ เนื่องจากเป็นแหล่งพื้นที่ปลูกไม้สำคัญของทั้งสองอุตสาหกรรม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1652219/china-as-viet-nam-s-largest-wood-chip-export-market.html

รถไฟลาว-จีน ขนส่งผู้โดยสารแล้วกว่า 30 ล้านคน จีนตั้งเป้าหมายขนส่งให้มากขึ้นกว่านี้

รถไฟลาว-จีน ขนส่งผู้โดยสารแล้วกว่า 30.2 ล้านคน และขนส่งสินค้า 34.24 ล้านตัน ณ วันที่ 12 มีนาคม 2567 และทางการรถไฟของจีนให้คำมั่นว่าจะเพิ่มปริมาณทั้งผู้โดยสารและสินค้าให้มากกว่านี้ โดยสินค้าที่ขนส่ง ประกอบด้วย สินค้าข้ามพรมแดนมากกว่า 7.8 ล้านตัน ซึ่งหมายความว่าทางรถไฟกำลังมีบทบาทโดดเด่นมากขึ้นตามลำดับ และจำนวนการเดินทางโดยรถไฟโดยเฉลี่ยต่อวันของผู้โดยสารบนเส้นทางรถไฟของจีนเพิ่มขึ้นจาก 35 ล้านคนในช่วงแรก เพิ่มมาเป็น 51 ล้านคนในปัจจุบัน ในขณะที่จำนวนผู้โดยสารที่ขนส่งทุกวันเพิ่มขึ้นจาก 20,000 คนเป็นสูงสุด 103,000 คน ในส่วนการรถไฟของ สปป.ลาว จำนวนรถไฟโดยสารโดยเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 4 ขบวนเป็น 12 ขบวน ในขณะที่จำนวนรถไฟโดยสารความเร็วธรรมดาเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 10 ขบวน จำนวนผู้โดยสารที่บรรทุกในแต่ละวันเพิ่มขึ้นจาก 720 คน เป็นสูงสุด 12,808 คน ทั้งนี้ เส้นทางรถไฟสายนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาโลจิสติกส์ การพาณิชย์ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่นๆ ควบคู่ไปกับเส้นทางดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_56_Laos_China_y24.php

ผู้ผลิตรถยนต์จีนจะต้องเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ประเทศไทยในปีนี้

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกรายงานการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย เน้นการส่งเสริมการลงทุนที่แข็งแกร่งในปี 2567 ตามมาตรการ EV 3.0 มาตรการเหล่านี้กำหนดให้บริษัทที่นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อขายในประเทศไทยต้องเริ่มการผลิตในปีนี้ จากรายงานของ สศช. เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 มีเนื้อหาส่วนที่เน้นแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยในปี 2566 จำนวนการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ใหม่สูงถึง 76,538 คัน เพิ่มขึ้น 695.9% เมื่อเทียบกับการจดทะเบียน 9,617 คันในปี 2565 การจดทะเบียนใหม่สำหรับรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมอยู่ที่ 481,609 คัน ลดลง 11.3% จาก 543,072 คัน ในปี 2565 ส่งผลให้สัดส่วนการจดทะเบียนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าใหม่ต่อยอดจดทะเบียนรถยนต์ทั้งหมดอยู่ที่ 11.6% ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 1.5% ในปี 2565 สำหรับปี 2566 การจดทะเบียนใหม่สำหรับแบรนด์รถยนต์ EV คือ BYD (จีน) 30,467 คัน Neta (จีน) 12,777 คัน MG (จีน) 12,462 คัน เทสลา (สหรัฐอเมริกา) 8,206 คัน และ GWM (ORA) (จีน) 6,746 คัน ทั้งนี้ ค่ายรถยนต์เหล่านี้ ต้องเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยภายในปีนี้ โดยข้อมูลกำลังการผลิตรถยนต์ EVs ในประเทศไทยทั้งหมดมาจากผู้ผลิตรถยนต์จีน โดยแยกตามยี่ห้อ Neta 200,000 คัน, Changan: 100,000-200,000 คัน (กำลังการผลิตเริ่มต้น 100,000 คัน), BYD 150,000 คัน MG 100,000 คัน และ GWM 80,000 คัน หากกำลังการผลิตของโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่จัดตั้งขึ้นโดยประเทศต่างๆ สามารถเป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรการจูงใจได้ ก็จะช่วยส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและส่วนประกอบไฟฟ้าที่สำคัญทั่วโลก

ที่มา : https://www.nationthailand.com/thailand/policies/40036474

‘เวียดนาม’ ส่งออกสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก

หนังสือพิมพ์เดอะ ฮินดู (The Hindu) รายงานว่าส่วนแบ่งการส่งออกสมาร์ทโฟนของเวียดนามในปี 2565 สูงถึง 12% ของตลาดสมาร์ทโฟนโลก ในขณะเดียวกัน อินเดียเป็นคู่แข่งของเวียดนามในตลาดสมาร์ทโฟนและอยู่ในอันดับที่ 7 ของโลก ด้วยส่วนแบ่งการส่งออกมากกว่า 2.5% อย่างไรก็ดีจีนยังคงครองส่วนแบ่งการส่งออกสมาร์ทโฟนกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดโลก

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมศุลกากร เปิดเผยว่าการส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วนของเวียดนามในเดือน ม.ค. มีมูลค่ามากกว่า 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี และจากรายงานของธนาคาร HSBC แสดงให้เห็นว่าเวียดนามครองส่วนแบ่งทางการตลาดสมาร์ทโฟนโลกถึง 13% ในปี 2564 โดยเป็นผู้ส่งออกสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก

ที่มา : https://www.nationthailand.com/world/asean/40036303

ทุเรียนกลายเป็น ‘ผลไม้ทอง’ ส่งออกของเวียดนาม

จากข้อมูลทางสถิติของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) เปิดเผยว่าเวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนมากกว่า 110,000 เฮคเตอร์ และผลผลิตประมาณ 850,000 ตันต่อปี โดยส่วนใหญ่เพาะปลูกอยู่ในพื้นที่ราบสูงตอนกลาง คิดเป็นสัดส่วนราว 47% ของพื้นที่ทั้งหมด และสาเหตุที่ทำให้เวียดนามผลักดันการส่งออกทุเรียน เนื่องมาจากมีความได้เปรียบทางด้านการตั้งราคาขายสูงและความต้องการนำเข้าของตลาดต่างประเทศ ทำให้ทุเรียนเวียดนามกลายมาเป็นผลไม้สำคัญเมื่อเทียบกับผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่นๆ ด้วยเหตุนี้พื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นประมาณ 25% ต่อปี

นอกจากนี้ จากตัวเลขสถิติแสดงให้เห็นว่าทุเรียนของเวียดนามส่วนใหญ่ส่งออกไปยังตลาดจีน มีสัดส่วนกว่า 99% ของการส่งออกผลไม้รวม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1651246/durian-emerging-as-golden-fruit-among-viet-nam-s-exports.html

‘จีน’ ยังคงครองอันดีบหนึ่ง ซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าจีนยังเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในกลุ่มตลาดนำเข้ารายใหญ่ 7 แห่ง มีมูลค่าการค้ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือน ม.ค. โดยเฉพาะมูลค่าการนำเข้าของเวียดนามจากตลาดจีน อยู่ที่ 11.88 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่สินค้าที่มีการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ เครื่องจักรและชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเหล็กกล้า

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/china-maintains-place-as-largest-provider-of-goods-to-vietnam-post1078990.vov