‘ธุรกิจยุโรป’ มีมุมมองที่ดีต่อสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในเวียดนาม

สภาหอการค้าสหภาพยุโรป (EuroCham) กล่าวว่าธุรกิจยุโรปมองในแง่ดีต่อสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในเวียดนาม หลังจากยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์และการค้า การลงทุนกลับเข้าสู่สภาวะปกติใหม่ ตามรายงานของดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจ (BCI) ในไตรมาสสามของปีนี้ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 18.3 จุด ถือเป็นการขยับเพิ่มขึ้นสามจุดจากที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ระดับ 15 จุด ในช่วงการเกิดการระบาดระลอกที่ 4 จากโควิด-19 เดือน ก.ย. ถึงแม้ว่าดัชนียังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ดัชนี BCI มีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเศรษฐกิจเวียดนาม ทั้งนี้ ตามผลการสำรวจ พบว่าสมาชิกหอฯส่วนใหญ่ 49% คาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสหน้าและมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม สมาชิหอฯ ยังคงกังวลต่อการลงทุนและผลกำไรในอนาคต

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/european-businesses-optimistic-about-vietnams-business-environment/

นิคเคอิ ชี้เวียดนามเป็นผู้นำการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำนักข่าวนิคเคอิของญี่ปุ่น รายงานว่าซัพพลายเชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในช่วงเร่งการฟื้นตัวอย่างเต็มกำลัง หลังจากหลายเดือนที่ผ่านมาได้ปิดโรงงานและลดกำลังการผลิตลง รวมถึงเวียดนามกำลังจะกลับมาฟื้นตัวเข้าสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว โดยโรงงานประมาณ 200 แห่งที่ดำเนินสัญญาว่าจ้างผลิตชุดกีฬาให้กับบริษัทไนกี้ “Nike” ได้กลับมาดำเนินกิจการแล้ว ขณะที่ในส่วนของผู้บริหารเขตอุตสาหกรรมในโฮจิมินห์อ้างว่าให้ความช่วยเหลือโรงงานทั้งสองบริษัท ซัมซุงอิเล็กทรอนิกและอินเทล ให้กลับมาผลิตเต็มรูปแบบในเดือนนี้ ทั้งนี้ Furukawa Electric บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น คาดว่าจะกลับมาดำเนินการผลิตในเวียดนาม ด้วยโรงงาน 3 แห่ง ผลิตสายรัดสำหรับรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเวียดนามที่มีโรงงานผลิตชุดสายไฟ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/10745002-nikkei-vietnam-leads-recovery-in-southeast-asia-supply-chains.html

‘คมนาคม’ ยื่นข้อเสนอเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศ 15 ประเทศ

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. กระทรวงคมนาคมยื่นข้อเสนอถึงนากยรัฐมนตรีเกี่ยวกับการเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศ จำนวน 15 ประเทศทั่วโลก ระยะเวลา 3 เฟส ซึ่งได้กำหนดตลาดเป้าหมาย ประกอบไปด้วยจีน ฮ่อกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย สหราขอาณาจักรและออสเตรเลีย วัตถุประสงค์ของการกลับมาเปิดเที่ยวบินเพื่อที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฟสแรก เริ่มตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีหน้า ผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงาน ยกเว้นกรณีขาเข้า-ขาออก และเงื่อนไขทางด้านสุขภาพ ส่วนเฟสสอง ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/65 ผู้โดยสารที่จะเดินทางมายังเวียดนามในเที่ยวบินปกติ หากมีวัคซีนพาสปอร์ตจะไม่ถูกกักตัว ส่วนสุดท้ายเฟสสาม จะเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศตามปกติ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และอัตราการฉีดวัคซีนในเวียดนามและทั่วโลก

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/ministry-proposes-resumption-of-intl-flights-to-15-countries-and-territories/214131.vnp

‘เวียดนาม’ เร่งแผนหาเงินทุน 17.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ เหตุพัฒนาสนามบินปี 2030

กระทรวงคมนาคมยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลว่ามีแผนที่จะจัดหาเงินทุน 400 ล้านล้านดอง (17.56 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อพัฒนาสนามบินในปัจจุบันจนถึงปี 2030 โดยจะเริ่มพัฒนาสนามบินที่มีความสำคัญของประเทศ ได้แก่ สนามบินนานาชาติโหน่ยบ่าย, สนามบินนานาชาติเตินเซินเญิ้ตและสนามบินนานาชาติลองแถ่ง นอกจากนี้ ยังมีสนามบินอีก 22 แห่งทั่วประเทศที่จะได้รับการพัฒนาครั้งใหญ่ ในขณะที่สนามบินใหม่อีก 6 แห่งที่อยู่ในช่วงก่อสร้าง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นท่าอากาศยานที่สามารถรองรับผู้โดยสาร 278 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนหรืองบประมาณดังกล่าว (400 ล้านล้านดอง) คิดเป็น 1 ใน 4 ของงบลงทุนอุตสาหกรรมทั้งหมดปี 2030 ที่มาจากงบประมาณของภาครัฐและแหล่งเงินทุนอื่นๆ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1075541/viet-nam-needs-some-1765b-to-upgrade-airports-by-2030.html

‘สแตนชาร์ต’ มองเวียดนามเป็นจุดหมายที่มีศักยภาพเติบโตสูงสุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

นาย Jose Vinals ประธานธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเวียดนามถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางทางด้านเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เนื่องจากมีศักยภาพในการพัฒนาและชูนโยบายเปิดประเทศ (open-door policy) ขณะที่ นาย เหงวียน ฮ่ง เญียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าเวียดนามได้ก่อตั้งสถาบัน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งเศรษฐกิจในประเทศและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการเวียดนาม ตลอดจนช่วยธุรกิจในการใช้ประโยชน์ของการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ กระทรวงฯ จะเดินหน้าเร่งกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในทุกด้านการผลิตและการค้า ในขณะเดียวกันก็ดำเนินการตามรูปแบบการส่งเสริมอย่างยั่งยืน การวางนโยบายอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/standard-chartered-vietnam-a-priority-destination-among-emerging-economies-903554.vov

 

‘เวียดนาม’ เผยกิจการ 96% ในเขตอุตสาหกรรมโฮจมินห์ กลับมาดำเนินกิจการอีกครั้ง หลังผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

การนิคมอุตสาหกรรมและการแปรรูปเพื่อการส่งออกนครโฮจิมินห์ (HEPZA) รายงานว่ากิจการราว 96% ใน 17 เขตอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปเมืองโฮจิมินห์ กลับมาดำเนินกิจการอีกครั้ง หลังจากยกเลิกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมไปแล้ว 1 เดือน โดยคนงานมากกว่า 230,500 คน หรือ 80% ของคนงานรวมทั้งหมด ได้กลับมาทำงาน ทั้งนี้ Hua Quoc Hung ผู้อำนวยการของหน่วยงานบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษ กล่าวว่ากิจการเตรียมประกาศรับสมัครแรงงานมากขึ้น เนื่องจากโรงงานเร่งจัดการยอดคำสั่งซื้อที่มาจากในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะช่วยสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ แรงงานที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับการเข้าฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สูงถึง 94.4% ชี้ให้เห็นว่าแรงงานมีความพร้อมในการดำเนินงานแบบวิถีชีวิตใหม่

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/nearly-96-percent-of-firms-in-hcm-citys-ips-resume-operations-after-social-distancing/214060.vnp

 

‘เวียดนาม’ เผยยอดขาดดุลการค้า เดือน ต.ค. ลดลงเหลือ 1.45 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าเดือน ต.ค. เวียดนามมียอดเกินดุลการค้า 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ทั้งปีเวียดนามขาดดุลการค้าเหลือ 1.45 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ยอดการส่งออกเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีมูลค่ากว่า 267.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมาจากธุรกิจต่างชาติ 198.16 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่ามากกว่า 76 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบเป็นรายปี รองลงมาจีน สหภาพยุโรป อาเซียนและญี่ปุ่น ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน จีนยังคงเป็นซัพพลายเออร์สินค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่าราว 89.43 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเกาหลีใต้ อาเซียน ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/trade-deficit-falls-to-1-45-bln-after-surplus-in-october-4382190.html

 

ราคาส่งออกข้าวเวียดนาม แซงหน้าไทย

ราคาส่งออกข้าวหัก 5% ของเวียดนามปรับตัวพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แซงหน้าผู้ส่งออกข้าวไทยและประเทศในแถบเอเชีย ได้แก่ อินเดียและปากีสถาน โดยเฉพาะราคาส่งออกข้าวหัก 5% ของเวียดนามมีมูลค่า 438 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในขณะที่ราคาข้าวประเภทเดียวกันที่มาจากไทย อินเดียและปากีสถาน มีราคาอยู่ที่ 373, 358 และ 363 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ ทั้งนี้ Tran Chi Hung อธิบดีกรมวิชาการเกษตรและการพัฒนาชนบทประจำจังหวัดเหิ่วซาง กล่าวว่าราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นและคาดว่าราคาจะแตะอยู่ในระดับสูงในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ธุรกิจเวียดนามทำการส่งออกข้าวกว่า 5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-rice-export-price-outstrips-thailands-903279.vov

 

‘สิงคโปร์’ ก้าวเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ในเวียดนาม ในช่วง 10 ด.

กระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ นักลงทุนสิงคโปร์ลงทุนในเวียดนาม มีมูลค่ากว่า 6.77 พันล้านเหรียญสหรัฐ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำลงทุนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองลงมาเกาหลีใต้ ด้วยทุนจดทะเบียน 4.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ และญี่ปุ่น 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. พบว่านักการเงินอัดฉีดเม็ดเงิน 23.74 พันล้านเหรียญสหรัฐไปยังเวียดนาม เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป มีมูลค่า 12.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 53.7% ของเงินทุนจดทะเบียน นอกจากนี้ สำนักงานการลงทุนต่างประเทศ กล่าวว่าปัจจุบัน การระบาดของโควิด-19 ค่อยๆ อยู่ภายใต้การควบคุม และรัฐบาลได้ใช้นโยบายต่างๆ เพื่อขจัดอุปสรรคการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนช่วยฟื้นฟูการผลิตและกิจกรรมทางธุรกิจในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/singapore-leads-foreign-investment-in-vietnam-in-10-months-37296.html

‘เวียดนาม’ เผย 10 ด. ปีนี้ การเบิกจ่ายโครงการลงทุนภาครัฐ แตะ 55.8%

กระทรวงการคลัง รายงานว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนสาธารณะ ณ เดือน ต.ค. มีมูลค่ากว่า 257.3 ล้านล้านดอง (11.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) หรือคิดเป็น 55.8% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตัวเลขข้างต้นนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (67.25%) ทั้งนี้ ตามตัวเลขสถิติชี้ว่ากระทรวงจำนวน 7 แห่งและหน่วยงานท้องถิ่น 20 แห่ง มีการเบิกจ่ายงบกว่า 65% อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการจัดหาวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะปัญหาการนำเข้า ขาดแคลนแรงงานก่อสร้างและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ล้วนส่งผลกระทบต่อการประเมินโครงการ ตลอดจนปัญหาราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ เพื่อเร่งการเบิกจ่าย ทางกระทรวงจึงขอให้หน่วยงานปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลที่ 63 ฉบับที่ 7036/CD-VPCP เกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสและการเร่งเบิกจ่ายลงทุนภาครัฐฯ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/public-investment-capital-disbursement-reaches-558-percent-in-10-months/211896.vnp