‘เวียดนาม’ เผยดัชนี CPI ช่วง 6 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 3.27%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (NSO) เปิดเผยว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 3.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุที่ทำให้ดัชนี CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และค่าบริการด้านสุขภาพ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสาขารายการของดัชนี CPI พบว่าราคาอาหารและบริการจัดเลี้ยง เพิ่มขึ้นอย่างมาก 3.69% โดยเฉพาะราคาเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 12.75% เนื่องจากผลผลิตมีจำกัด ในขณะที่ค่าที่อยู่อาศัย ไฟฟ้า น้ำ เชื้อเพลิง และวัสดุก่อสร้าง พุ่งขึ้น 5.73% โดยค่าไฟฟ้าในครัวเรือนที่สูงขึ้นและต้นทุนวัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 1.08% โดยเฉพาะค่าบริการด้านสุขภาพและเวชภัณฑ์ พุ่งขึ้น 13.87% นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://en.vneconomy.vn/vietnams-cpi-in-six-months-up-3-27.htm

‘เวียดนาม’ เผยผลผลิตอุตสาหกรรม Q3/68 แนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (NSO) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 43.5% มองว่าผลการดำเนินงาน มีแนวโน้มเหมือนเดิม ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2568 ตามมาด้วย 37.3% มองว่าผลประกอบการจะดีขึ้น และ 19.2% มองว่ายังคงมีปัญหาต่างๆ จะยังคงเกิดขึ้น ในขณะที่วิสาหกิจ FDI ยังคงมีมุมมองเชิงบวก โดยผู้ประกอบการ 81% คาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานจะเหมือนเดิมหรือดีขึ้น

ทั้งนี้ ยังได้มีการสำรวจสถานประกอบการที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 41.8% คาดว่าการผลิตและการดำเนินงานจะมีเสถียรภาพในไตรมาสที่ 3 ในขณะที่ 33.7% คาดว่าจะมีการปรับปรุง นอกจากนี้ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะขยายตัว 10.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนามในเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 48.9 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ 50 เป็นเดือนที่สามติดต่อกัน เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/production-projected-to-rebound-in-q3-post322244.vnp

ต้นทุนเฉลี่ยของสินค้ากลุ่มอาหารพื้นฐานลดลง 5.1% ในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.

จากรายงาน Quarterly Market Monitoring Update for Cambodia ของ World Food Programme (WFP) ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (3 ก.ค.) ถึงต้นทุนเฉลี่ยของ Basic Food Basket (BFB) ลดลงร้อยละ 5.1 ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม โดย WFP ใช้ BFB เพื่อติดตามภาวะเงินเฟ้อด้านอาหารในประเทศที่องค์กรดำเนินการอยู่ ซึ่งแสดงถึงรายการอาหารที่บริโภคกันทั่วไปในพื้นที่เฉพาะ และมีการติดตามต้นทุนเพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงราคาและผลกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของผู้คน การลดลงของต้นทุนเฉลี่ย BFB ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดลงของราคาอาหารบางรายการ โดยเฉพาะข้าวผสม ซึ่งชดเชยการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันพืชและเนื้อหมูติดมัน ในช่วงไตรมาสนี้ ตลาดในเมืองมีการลดลงที่สูงกว่าตลาดในชนบทเล็กน้อย แต่ความแตกต่างโดยรวมยังคงไม่มากนัก ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2025 ต้นทุนเฉลี่ยของ BFB อยู่ที่ประมาณ 105,000 เรียลต่อคนต่อเดือน หรือเทียบเท่ากับ 25.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแสดงถึงการลดลงร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501712791/average-cost-of-basic-food-basket-down-5-1-in-march-may-period/

การจราจรทางอากาศของกัมพูชาพุ่งสูงขึ้นในครึ่งแรกของปี 2025

ภาคการขนส่งทางอากาศของกัมพูชากำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 16 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 แตะที่ประมาณ 3.42 ล้านคน ซึ่งเป็นรายงานของสำนักเลขาธิการการบินพลเรือน (SSCA) เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (6 ก.ค.) รายงาน Mid-Year Economic Assessment ของ SSCA เน้นย้ำถึงการเติบโตของภาคการบิน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจากประเทศจีนและความต้องการในภูมิภาค บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของความต้องการเดินทางทางอากาศที่ดี ทั้งจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศและในประเทศ ต่างมีส่วนสนับสนุนแนวโน้มเชิงบวกนี้ แม้จะมีแนวโน้มที่ดี แต่ภาคส่วนนี้ยังคงเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญหลายประการ เช่น ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของสนามบิน ซึ่งรวมถึงการก่อสร้าง Techo Airport ให้แล้วเสร็จ การขยาย Sihanoukville และ Siem Reap Angkor International Airport ความผันผวนของราคาน้ำมันทั่วโลก ต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น และความไม่แน่นอนทางภูมิภาค/ภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ความตึงเครียดบริเวณชายแดน

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501712785/air-passenger-traffic-jumps-to-3-42-million-in-h1/

สวนทุเรียน 112 แห่ง ของกัมพูชาได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดไปยังจีน

กัมพูชาได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการจาก General Administration of Customs of China (GACC) ให้ส่งออกทุเรียนสดไปยังตลาดจีนได้โดยตรง หลังจากมีการลงนามในพิธีสารเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา การตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นหลังจาก GACC ได้ประเมินและอนุมัติการขึ้นทะเบียนฟาร์มทุเรียน 112 แห่ง และโรงบรรจุ 30 แห่ง ที่เป็นไปตามมาตรฐาน Good Agricultural Practices (GAP) ข้อกำหนดด้านสุขอนามัยพืช และมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารของจีน ด้านกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) ได้เร่งรัดให้เจ้าของฟาร์มและโรงบรรจุที่ได้รับอนุมัติทั้งหมดปฏิบัติตามข้อกำหนดของพิธีสารอย่างเคร่งครัด รวมถึงการปลอดจากสารอันตราย ยาฆ่าแมลง และสารเคมีต้องห้าม นอกจากนี้ กระทรวงยังเรียกร้องให้ฟาร์มและโรงบรรจุอื่นๆ ที่ต้องการส่งออกทุเรียนยื่นขอขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเพื่อประเมินผลโดยเร็ว

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501712773/112-cambodian-farms-get-green-light-to-export-fresh-durian-to-china/