‘เวียดนาม’ เผยดัชนี CPI ปรับขึ้น 4.4% เหตุราคาน้ำมันพุ่ง

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน เม.ย.67 เพิ่มขึ้น 0.07% และเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องมาจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันในประเทศที่เพิ่มขึ้น 4.78% และราคาน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 2.01% ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งและบริการ เพิ่มขึ้น 1.95% โดยเฉพาะค่าขนส่งทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก 10.42% มาจากความต้องการเดินทางแออัดในช่วงวันหยุดยาว 5 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. ในขณะเดียวกัน ราคายาและค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์ เพิ่มขึ้น 0.92% เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้มีผู้ป่วยมากขึ้น ทั้งจากการติดเชื้อโรคปอดบวม อีสุกอีใสและโรคมือเท้าปากเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนต้องซื้อยา เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 0.17% จากเดือนก่อน และ 2.79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/cpi-in-april-rises-44-year-on-year-on-petroleum-price-hike-post1092103.vov

‘เวียดนาม’ คงรักษาอัตราเงินเฟ้อต่ำ ปี 67

จากการประชุมของรัฐบาลที่เมืองฮานอย โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เล มินห์ ไค เป็นประธาน ทางกระทรวงการคลังกล่าวในที่ประชุมว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 0.26 -0.39% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ 4.0-4.5% ในปี 2567 และยังได้กล่าวชี้ให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงดิ้นร้นฟื้นตัวและความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์โลก รวมถึงความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ พลังงานและทองคำ

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.31%YoY เดือน ม.ค. และ 1.04%YoY เดือน ก.พ. ขณะที่เดือน มี.ค. ลดลง 0.23% ทำให้ดัชนี CPI เฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี เพิ่มขึ้น 3.77%YoY

อย่างไรก็ดี รองนายกรัฐมนตรี เล มินห์ ไค ได้สั่งให้กระทรวงและหน่วยงานของรัฐฯ ติดตามสถานการณ์ตลาดและเตรียมแนวทางแก้ไข เพื่อเข้าแทรกแซงเมื่อจำเป็นเพื่อรักษาระดับเงินเฟ้อ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1654489/keeping-cpi-low-key-to-inflation-control-this-year.html

‘ธนาคารโลก’ คาด GDP เวียดนามปี 67 โต 5.5%

ธนาคารโลก (WB) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.5% ในปีนี้ และเศรษฐกิจจะค่อยๆ ขยายตัว 6% ในปี 2568 และ 6.5% ในปี 2569 จากการหนุนของอุปสงค์ต่างประเทศและการลงทุนของภาคเอกชนที่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น โดยเป็นการตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าการส่งออกภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวในระดับปานกลางในปีนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/66 ขยายตัว 8.5%YoY และเศรษฐกิจจะขยายตัวในไตรมาสแรกของปีนี้ 17.2%YoY

ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจาก 3.2% ในปี 2566 ขึ้นมาอยู่ที่ 3.5% ในปีนี้ เนื่องมาจากต้นทุนทางด้านการศึกษาและค่าบริการด้านสุขภาพ

อย่างไรก็ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีความขัดแย้งทางการทหารในยูเครนและตะวันออกกลาง แต่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์กลับจะทยอยลดลง ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) คาดว่าจะอยู่ที่ 3% ในปี 2568 และปี 2569 โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานที่มีเสถียรภาพ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-gdp-to-grow-5-5-this-year-wb/

‘เวียดนาม’ เผยตัวเลขเงินเฟ้อ ม.ค. เพิ่มขึ้น 3.37%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน ม.ค. 2567 เพิ่มขึ้น 3.37% เมื่อเทียบเป็นรายปี และปรับตัวขึ้น 0.31% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2566 ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.67 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากมาจากราคายาและค่าบริการด้านสุขภาพที่ 1.02% ตามมาด้วยที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้าง 0.56% ค่าบริการขนส่ง 0.41% กลุ่มสินค้าและบริการอื่นๆ 0.4% อาหารและบริการจัดเลี้ยง 0.21% ในขณะที่กลุ่มสินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ไปรษณีย์และโทรคมนาคม (0.05%) และการศึกษา (0.12%)

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ม.ค.67 เพิ่มขึ้น 2.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/consumer-price-index-rises-337-in-january/276934.vnp

‘เวียดนาม’ เผยแรงกดดันเงินเฟ้อผ่อนคลายลง ส่งสัญญาณชะลอตัว

จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่จัดขึ้นโดยสถาบันการเงินและเศรษฐกิจ นาย Nguyen Duc Do รองผู้อำนวยการสถาบัน อธิบายว่าถึงภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีนที่มีทิศทางชะลอตัวลงในปีนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเวียดนาม ในขณะที่ตลาดอสังหาฯ เผชิญกับความท้าทายและอุปสรรค นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศและทำให้การเติบโตต่ำลงในปีนี้ นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ราว 2.5% – 3.5% ทางด้านรองศาสตราจารย์ ดร. โง ตรี กล่าวเน้นย้ำว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐสภาอนุมัติไว้ที่ 4% – 4.5% น่าจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากความสามารถของรัฐบาลในการควบคุมราคาสินค้า รวมถึงกับอุปสงค์โดยรวมที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/inflationary-pressure-to-ease-in-2024-economists-2235656.html

‘เวียดนาม’ เผย CPI พ.ย.66 เพิ่ม 3.45%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพฤศจิกายน ปรับตัวขึ้น 0.25% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และ 3.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเวียดนามปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ต้นทุนการให้บริการด้านสุขภาพและค่าเล่าเรียนที่สูงขึ้นในส่วนของท้องถิ่น รวมถึงราคาข้าวในประเทศที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ปรับตัวขึ้น 3.22% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 4.27% โดยสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อของเวียดนามตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับตัวขึ้นมาจากต้นทุนของสายการบินและความต้องการในการเดินทางที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดฤดูร้อน ตามมาด้วยค่าเล่าเรียน อาหารและค่าไฟฟ้าของภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้น 7.35%, 6.67% และ 4.55% ตามลำดับ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1637260/november-s-cpi-grows-3-45-per-cent.html

CPI เวียดนาม เดือน ก.ย. พุ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี

สำนักงานสถิติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเวียดนามในเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้น 1.08% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้น ราคาข้าวที่สูงขึ้น ค่าก๊าซและเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาจากราคาตั๋วเครื่องบินพุ่ง 71.56% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-cpi-in-sept-rises-to-five-year-high/

เงินเฟ้อ ‘เวียดนาม’ เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 0.01%

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคของเวียดนาม (CPI) เดือนพฤษภาคม ปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.01% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 2.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากราคาอาหาร ค่าไฟฟ้าและน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานฯ ระบุว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อตั้งแต่ต้นปีนี้มีทิศทางที่ชะลอตัวลง โดยในเดือน ม.ค. อยู่ที่ 4.89%, เดือน ก.พ. 4.31%, เดือน มี.ค. 3.35%, เดือน เม.ย. 2.81% และเดือนพ.ค. 2.43%

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนพฤษภาคม ปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.27% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 4.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 4.83% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของดัชนีราคาผู้บริโภค 3.55%

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/cpi-increases-by-001-in-may/253788.vnp

“เวียดนาม” เผย CPI ไตรมาสแรกปี 66 พุ่ง 4.3%

กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนี CPI ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาจากราคาที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น 7.2% และราคาอาหาร เพิ่มขึ้น 4.5% โดยราคาที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากค่าเช่าและต้นทุนปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ได้แก่ ปูนซีเมนต์ เหล็กและทราย เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ความต้องการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้นและยังทำให้ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 1% นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้ประเมินสถานการณ์ของภาวะเงินเฟ้อไว้ 3 สถานการณ์ (Scenarios) ในช่วงไตรมาสที่ 2 และในช่วงที่เหลือของปี 2566 ตลอดจนคาดการณ์ว่าดัชนี CPI เฉลี่ยในปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.9% – 4.8%

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-cpi-inches-up-in-q1-2125534.html

“เงินเฟ้อเวียดนาม” คาดพุ่งสูง 4.8% ปี 2566

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน มี.ค. ลดลง 0.1-0.2% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. แต่เพิ่มขึ้น 3.4-3.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และคาดการณ์ว่าแนวโน้มเงินเฟ้อของเวียดนามจะเพิ่มสูงขึ้น 3.9-4.8% ในปี 2566 ใกล้เคียงกับระดับเป้าหมายของเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ที่ 4.5% เนื่องจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อยังคงสูงในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้ชี้แจ้งกับที่ประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลราคาสินค้า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เลมิงค้าย เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เพื่อพิจารณาผลของการคำนวณราคาที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ขั้นต้น ได้แก่ ปิโตรเลียม ธัญพืช อาหาร อัตราค่าไฟฟ้าในครัวเรือน วัสดุการก่อสร้าง การศึกษา การดูแลสุขภาพและค่าเช่าที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ รองนายกฯ ยังได้แนะนำให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการทบทวนและวิเคราะห์ปัจจัยหรือสาเหตุที่มีผลกระทบต่อวัตถุดิบและผลผลิต เพื่อนำไปปรับปรุงการจัดการด้านราคา

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-inflation-forecast-to-reach-4-8-in-2023/