World Bank มอบเงินช่วยเหลือตลาดแรงงานกัมพูชา 1.2 พันล้านดอลลาร์

ธนาคารโลก (World Bank) ระบุในรายงานล่าสุดว่าโครงการช่วยเหลือทางสังคมที่มอบเงินให้แก่กัมพูชาในการช่วยเหลือตลาดแรงงานกัมพูชาภายใต้โครงการจัดสรรเงินโอนสู่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถือเป็นโครงการที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชา ซึ่งกรอบความช่วยเหลือนับตั้งแต่ในช่วงเดือนมิถุนายน 2020 จนถึงเดือนกันยายน 2022 คิดเป็นวงเงินรวม 1.2 พันล้านดอลลาร์ โดยในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการป้องกันเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมถึงข้อจำกัดการเดินทาง ข้อจำกัดการรวมตัวของคนจำนวนมาก และการปิดเมืองอย่างเข้มงวด แม้ว่าวิธีดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส แต่ก็ส่งผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ด้านธนาคารโลกยังกล่าวอีกว่า การสนับสนุนทางการเงินแก่คนงานที่ถูกเลิกจ้างยังช่วยในตลาดแรงงานของกัมพูชา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าที่ซบเซา งานในภาคการผลิต (ข้อมูลทางการ) ลดลงจาก 1.05 ล้านตำแหน่ง ในเดือนกรกฎาคม 2022 เหลือเพียง 1.0 ล้านตำแหน่ง ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2023 ก่อนที่จะฟื้นตัวบางส่วนเป็น 1.02 ล้านตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2023 ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อตลาดแรงในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501478392/covid-19-cash-assistance-of-1-2b-helped-labour-market/

‘ธนาคารโลก’ คาด GDP เวียดนามปี 67 โต 5.5%

ธนาคารโลก (WB) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.5% ในปีนี้ และเศรษฐกิจจะค่อยๆ ขยายตัว 6% ในปี 2568 และ 6.5% ในปี 2569 จากการหนุนของอุปสงค์ต่างประเทศและการลงทุนของภาคเอกชนที่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น โดยเป็นการตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าการส่งออกภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวในระดับปานกลางในปีนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/66 ขยายตัว 8.5%YoY และเศรษฐกิจจะขยายตัวในไตรมาสแรกของปีนี้ 17.2%YoY

ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจาก 3.2% ในปี 2566 ขึ้นมาอยู่ที่ 3.5% ในปีนี้ เนื่องมาจากต้นทุนทางด้านการศึกษาและค่าบริการด้านสุขภาพ

อย่างไรก็ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีความขัดแย้งทางการทหารในยูเครนและตะวันออกกลาง แต่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์กลับจะทยอยลดลง ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) คาดว่าจะอยู่ที่ 3% ในปี 2568 และปี 2569 โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานที่มีเสถียรภาพ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-gdp-to-grow-5-5-this-year-wb/

‘เวียดนาม’ เตรียมกู้เงินจากธนาคารโลก 380 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นทุนสนับสนุนโครงการปลูกข้าวคุณภาพสูง

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (MARD) เตรียมกู้เงินจากธนาคารโลก มูลค่ากว่า 360 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9 ล้านล้านดอง เพื่อดำเนินโครงการที่ตั้งเป้าเพาะปลูกข้าวคุณภาพสูง 1 ล้านเฮกตาร์ โดยการหารือเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวจะทำการประชุมกับคณะกรรมการบริหารโครงการของกระทรวงฯ ในวันที่ 8 เม.ย.

ขณะที่นายหลี่ กัว (Li Guo) ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของธนาคารโลก กล่าวว่าโครงการดังกล่าวจะอยู่ภายใต้โครงการปฏิรูปเกษตรกรรมยั่งยืนของเวียดนาม (VnSAT) และมองว่าเวียดนามจะเป็นผู้นำทางด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตสินค้าทางการเกษตรของโลก ตลอดจนธนาคารโลกจะร่วมมือกับกระทรวงฯ อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ โครงการการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมข้าวเวียดนามได้อย่างยั่งยืน ยกระดับรายได้ของเกษตรกร พร้อมกับปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-seeks-us360-million-loan-from-wb-for-high-quality-rice-project/

‘เวียดนาม’ รับเงินจากการขายคาร์บอนเครดิตให้กับเวิลด์แบงก์ 51.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม (MARD) เปิดเผยว่าเวียดนามได้รับเงินจากการขายคาร์บอนเครดิตให้กับธนาคารโลก (WB) มูลค่า 51.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการลดคาร์บอนไดออกไซด์ 10.3 ล้านตันในช่วงปี 2561-2567 นาย เจิ่นกวางบ๋าว รองอธิบดีกรมป่าไม้ของกระทรวงฯ กล่าวว่าพื้นที่ที่มีการจัดเก็บคาร์บอนส่วนใหญ่ 80% อยู่ใน 6 จังหวัดที่ตั้งอยู่ในชายฝั่งตอนกลางเหนือ และ 20% อยู่ในส่วนของท้องถิ่น โดยในส่วนของท้องถิ่นจะมีการจัดสรรเงินให้กับคนในชุมชนที่ลงนามในสัญญาโครงการปกป้องป่าไม้

นอกจากนี้ เวียดนามเริ่มขายคาร์บอนเครดิตเป็นครั้งแรกในปีที่แล้ว จำนวนมากกว่า 10 ล้านคาร์บอนเครดิต มูลค่ากว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดอันดับ 1 ใน 60 ประเทศทั่วโลกที่มียอดการค้าคาร์บอนเครดิตสูงสุด

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/vietnam-receives-usd51-5m-from-world-bank-for-carbon-credits/

นายกฯนั่งหัวโต๊ะเตรียมเจ้าภาพจัดประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกปี 69

นายพรชัย  ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในวันนี้(7ก.พ.)ได้มีการประชุมคณะกรรมการระดับชาติครั้งแรกเพื่อเตรียมการจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (คณะกรรมการฯ) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในปี 2569 โดยมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการจัดประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์สำหรับการประชุมประจำปีฯ เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมการดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีฯ ของไทยให้กับคนในประเทศและนานาชาติได้ทราบ นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินการเตรียมการจัดการประชุมประจำปีฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสำเร็จลุล่วงด้วยดี คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านสารัตถะ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายกฤษฎา  จีนะวิจารณะ) เป็นประธานอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการ ด้านพิธีการและอำนวยการ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์) เป็นประธานอนุกรรมการ และคณะอนุกรรมการด้านการรักษาความปลอดภัย การจราจร และสาธารณสุข มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธานอนุกรรมการ อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีได้มีดำริให้มีการรายงานความคืบหน้าและประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีฯ ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตลอดปี โดยการประชุมประจำปีฯ เป็นการประชุมระดับโลกที่จัดขึ้นนอกสหรัฐอเมริกาเพียงครั้งเดียวทุก 3 ปี โดยการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยในปี 2569 จะเป็นเพียงครั้งที่ 2 ต่อจากการประชุมประจำปีฯ 2534 ที่ไทยจะได้รับโอกาสในการแสดงศักยภาพและความสามัคคีของทุกภาคส่วนในการร่วมเตรียมความพร้อมและต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารกลาง และผู้บริหารของสถาบันการเงินที่สำคัญและคณะเดินทางของประเทศสมาชิกของธนาคารโลกทั้ง 189 ประเทศอีกด้วย

ที่มาภาพจาก : เว็ปไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1112177

‘เวียดนาม’ ทำรายได้จากการขายคาร์บอนเดรติคป่าไม้ ทะลุ 51.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม กล่าวว่าในปี 2566 นับเป็นก้าวครั้งสำคัญของภาคป่าไม้ของประเทศ เนื่องจากเวียดนามประสบความสำเร็จจากการขายคาร์บอนเครดิตป่าไม้เป็นครั้งแรก (Forest Carbon Credit) จำนวน 10.3 ล้านคาร์บอนเครดิตให้กับธนาคารโลก (World Bank) คิดเป็นมูลค่า 51.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการขายครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงสัญญาการซื้อขายก๊าซเรือนกระจก (ERPA) ที่ลงนามเมื่อวันที่ 22 ต.ค.63

นอกจากนี้ จากรายงานของสำนักงานป่าไม้เวียดนาม ระบุว่าเวียดนามปลูกป่าในปีที่แล้ว ประมาณ 250,000 เฮกตาร์ สูงกว่าแผนที่ตั้งเป้าไว้ และพื้นที่ป่าไม้มีสัดส่วน 42.02% ในขณะที่รายได้จากการให้บริการทางด้านสิ่งแวดล้อมของป่าไม้ มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นมากกว่า 4.1 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 169 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-earns-515-million-usd-from-first-forest-carbon-credit-sale/275994.vnp

ธนาคารโลกมอบเงินทุนสนับสนุนในการจัดหาน้ำและสุขาภิบาลในกัมพูชา

ธนาคารโลก (World Bank: WB) อนุมัติงบประมาณมูลค่า 163 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนโครงการการจัดหาน้ำประปาสะอาดและคุณภาพทางด้านสุขาภิบาล ใน 4 จังหวัดสำคัญของกัมพูชาอย่างจังหวัด พระตะบอง โพธิสัตว์ มณฑลคีรี และกันดาล ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่มากกว่า 175,000 คน แม้ปัจจุบันหลายพื้นที่ในกัมพูชามีการเข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคและสุขาภิบาลที่ดีขึ้น แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) 6 ของสหประชาชาติ (UN) ภายในปี 2030 โดยรัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการน้ำเสียและกากตะกอน ดังนั้น การสนับสนุนการลงทุนในระบบสุขาภิบาลภายใต้โครงการดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับความยั่งยืนทางด้านสุขอนามัยของคนในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501396471/wb-approves-163m-for-safe-water-supply-and-sanitation-in-cambodia/

วิกฤตขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในเวียดนาม ทรุดตัวต่อเนื่องจนถึงปี 2050

คณะกรรมการกำกับดูแลของสมัชชาแห่งชาติ รายงานว่าแหล่งทรัพยากรพลังงานปฐมภูมิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติกำลังจะหมดไป เนื่องจากไฟฟ้าพลังน้ำถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว รวมไปถึงปริมาณน้ำมันและก๊าซจากแหล่งพลังงานหลักลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่จากรายงานของธนาคารโลก ประจำเดือน ส.ค. มีการประเมินความสูญเสียของเวียดนาม พบว่าเวียดนามสูญเสียรายได้จากวิกฤตพลังงานไฟฟ้าขาดแคลนประมาณ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.3% ของ GDP

โดยผู้เชี่ยวชาญได้เตือนถึงการขาดแคลนไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องในภาคเหนือของประเทศ ทำให้จะไม่มีการจัดตั้งโรงงานใหม่เกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจำเป็นที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และอาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าได้จนถึงปี 2050

ที่มา : https://www.retailnews.asia/power-shortage-in-vietnam-looms-until-2050/

‘ธนาคารโลก’ หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามเหลือ 4.7% ปีนี้

จากรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคและสถานการณ์ความยากจนในเวียดนามของธนาคารโลก เปิดเผยว่าได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ ชะลอตัวลงเหลือเพียง 4.7% และกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นที่ 5.5% ในปี 2567 และ 6.0% ในปี 2568 โดยธนาคารโลกมองว่าเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง เป็นผลมาจากการบริโภคของภาคเอกชนที่ลดลง ตลาดอสังหาฯ ตกต่ำ และอุปสงค์ภายนอกที่ชะลอตัวลงอย่างมาก นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% เนื่องจากเงินเดือนข้าราชการเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/wb-projects-vietnam-s-economic-growth-to-slow-to-4-7-this-year-2197044.html

ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนใน สปป.ลาว

ด้วยสถานการณ์รายได้ภาคครัวเรือนส่วนใหญ่ของคน สปป.ลาว ไม่สามารถสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลทำให้ภาคครัวเรือนจำเป็นต้องลดการใช้จ่ายด้านอาหาร สุขภาพ และการศึกษา ตามการสำรวจครั้งล่าสุดของธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมถึงความไม่มั่นคงทางอาหารในประเทศ

สำหรับการสำรวจของธนาคารโลกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม พบว่ากว่าร้อยละ 87 ของครัวเรือน กล่าวว่า ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และเพื่อเป็นการรับมือส่วนใหญ่ภาคครัวเรือนได้มีการเพาะปลูก รวมถึงเปลี่ยนไปกินอาหารราคาถูกลง หรือลดปริมาณในการบริโภคลง ไปจนถึงจำเป็นต้องขายทรัพย์สิน หรือกู้ยืมเงินมากขึ้น โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวใช้จ่ายด้านการศึกษาลดลง และมากกว่าร้อยละ 14 ของเด็กวัยเรียนจำเป็นต้องพักการเรียนลง จากผลกระทบดังกล่าว แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันจะเริ่มผ่อนคลายลงนับตั้งแต่ต้นปี 2023 แต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังคงสูง ซึ่งเมื่อเทียบเป็นรายปีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 36 และเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ธนาคารโลกแนะนำให้เลิกใช้มาตรการลดหย่อนภาษี และการยกเว้นภาษี รวมถึงปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ปรับปรุงคุณภาพการลงทุนภาครัฐและสัมปทาน เสริมสร้างการกำกับดูแลของภาคธนาคาร ไปจนถึงทำการเจรจาหนี้ และสร้างกฎเกณฑ์สำหรับการลงทุนภาคเอกชนให้ง่ายขึ้น เพื่อหวังดึงอัตราเงินเฟ้อลง

ที่มา : https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2023/09/19/food-prices-affect-families-in-lao-pdr-despite-easing-inflation