รัฐบาล สปป.ลาว จัดให้คำปรึกษาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยคาร์บอนเครดิต

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (MoNRE) สปป.ลาว สถาบันการเติบโตสีเขียวระดับโลก (GGGI) และรัฐบาลออสเตรเลีย จัดการหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายเกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยคาร์บอนเครดิตในประเทศลาว งานนี้เป็นการรวมตัวของผู้แทนพันธมิตรด้านการพัฒนา องค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานภาคเอกชนที่มีความสนใจในประโยชน์ของคาร์บอนเครดิตและตลาด เพื่อสนับสนุน สปป. ลาว ในการกำหนดการมีส่วนร่วมที่กำหนดในระดับชาติและความทะเยอทะยานด้านสภาพภูมิอากาศโลก รัฐบาล สปป.ลาว ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 เพื่อเตรียมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยคาร์บอนเครดิต ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีในการควบคุมการจัดการและการค้าในลาว GGGI ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่รัฐบาล สปป.ลาว ภายใต้โครงการสำหรับตลาดคาร์บอนแบบเปิดและยั่งยืน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_90_Government_y24.php

รัฐบาล สปป.ลาว และภาคเอกชน เดินหน้าโครงการเครดิตคาร์บอนจากป่าไม้

รัฐบาล สปป.ลาว ร่วมมือกับบริษัทเอกชน ริเริ่มโครงการคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า โครงการนี้จะครอบคลุมพื้นที่ป่าไม้ 8 แห่ง มีพื้นที่รวมประมาณ 1.4 ล้านเฮกตาร์ ภายใต้ข้อตกลงระหว่างกระทรวงเกษตรและป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ AIDC Green Forest จะมีการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เพื่อความก้าวหน้าในการซื้อและการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต นายเพชรสภา ภูมิมาศักดิ์ ประธานโครงการ AIDC Green Forest กล่าวว่า โครงการริเริ่มดังกล่าวจะช่วยปกป้องและฟื้นฟูป่าไม้ ในขณะเดียวกันก็ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศและการพัฒนาสังคมโดยรวม นอกจากนี้ยังจะเป็นก้าวสำคัญในการช่วยให้ลาวสามารถซื้อและขายคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ตามกลไกตลาดของลาวและต่างประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_86_Govt_y24.php

‘เวียดนาม’ รับเงินจากการขายคาร์บอนเครดิตให้กับเวิลด์แบงก์ 51.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม (MARD) เปิดเผยว่าเวียดนามได้รับเงินจากการขายคาร์บอนเครดิตให้กับธนาคารโลก (WB) มูลค่า 51.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการลดคาร์บอนไดออกไซด์ 10.3 ล้านตันในช่วงปี 2561-2567 นาย เจิ่นกวางบ๋าว รองอธิบดีกรมป่าไม้ของกระทรวงฯ กล่าวว่าพื้นที่ที่มีการจัดเก็บคาร์บอนส่วนใหญ่ 80% อยู่ใน 6 จังหวัดที่ตั้งอยู่ในชายฝั่งตอนกลางเหนือ และ 20% อยู่ในส่วนของท้องถิ่น โดยในส่วนของท้องถิ่นจะมีการจัดสรรเงินให้กับคนในชุมชนที่ลงนามในสัญญาโครงการปกป้องป่าไม้

นอกจากนี้ เวียดนามเริ่มขายคาร์บอนเครดิตเป็นครั้งแรกในปีที่แล้ว จำนวนมากกว่า 10 ล้านคาร์บอนเครดิต มูลค่ากว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดอันดับ 1 ใน 60 ประเทศทั่วโลกที่มียอดการค้าคาร์บอนเครดิตสูงสุด

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/vietnam-receives-usd51-5m-from-world-bank-for-carbon-credits/

สปป.ลาว เดินหน้าร่างกฎหมายคาร์บอนเครดิต

กรมจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ร่วมกับพันธมิตรด้านการพัฒนาได้พูดคุยถึงรายละเอียดของพระราชกำหนด รวมถึงกระบวนการในการซื้อและขายคาร์บอนเครดิตในตลาดต่างประเทศ โดยร่างกฎหมายนี้มุ่งเน้นไปที่การคำนวณและรับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการแบ่งปันผลประโยชน์ ภาษีเงินได้ ค่าธรรมเนียมและค่าบริการที่เกี่ยวข้องกับการซื้อและการขายคาร์บอนเครดิต เจ้าหน้าที่จากกรมการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จะส่งเสริมการลงทุนในการลดก๊าซเรือนกระจกและทำให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้รับการจัดการผ่านระบบรวมศูนย์ ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าตลาดคาร์บอนของ สปป.ลาว มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน และจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมและจำหน่ายคาร์บอนเครดิตทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_67_Govtmakes_y24.php

กรมพัฒน์ฯ ดัน ‘คาร์บอนเครดิต’ เป็นหลักประกันทางธุรกิจ

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันนานาประเทศให้ความสำคัญต่อการสร้างความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อชดเชยระบบนิเวศน์ที่ถูกทำลายไป ‘คาร์บอนเครดิต’ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและลดปัญหาโลกร้อน มีมูลค่าที่สามารถนำออกขายให้ภาคธุรกิจหรือหน่วยงานที่มีกระบวนการทำงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าเป้าหมายที่ควบคุม โดยสามารถซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตได้ในตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับประเทศไทย ภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญเรื่องคาร์บอนเครดิตมากขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับกระแสการลดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกต้องเผชิญกับสถานการณ์ภาวะโลกร้อน และเป็นหนทางที่จะนำพาธุรกิจสู่ความยั่งยืน ล่าสุด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาคเอกชน ผลักดันให้ ‘คาร์บอนเครดิต’ เป็นหลักประกันทางธุรกิจ โดยทุกหน่วยงานต่างเห็นพ้องให้การสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว แต่ควรดำเนินการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนประกอบการพิจารณาออกเป็นกฎหมายเพื่อรองรับต่อไป

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/375275/

กัมพูชาประสบความสำเร็จในการขาย คาร์บอนเครดิต

กัมพูชาประสบความสำเร็จในการขายคาร์บอนเครดิต โดยมีรายได้จากการขายอยู่ที่ 11.6 ล้านดอลลาร์ ในระหว่างปี 2016-2020 ด้านรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชา กล่าวว่า กัมพูชาได้ขายโครงการคาร์บอนเครดิตจำนวน 3 โครงการ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแก้วเซมา ในจังหวัดมณฑลคีรี, โครงการ REDD+ ณ อุทยานแห่งชาติกระวานใต้ ในจังหวัดเกาะกง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเปรยลังใน จังหวัดสตึงแตรง ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่ที่ได้ทำการซื้อคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนทั่วโลกยกตัวอย่างเช่น บริษัท Disney และ Gucci โดยมีจุดมุ่งหวังที่จะสร้างสันติภาพ เสถียรภาพทางการเมือง และการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คน รวมไปถึงเพื่อการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนมีเพียงกัมพูชาและอินโดนีเซียที่มีการขายคาร์บอนเครดิตให้กับตลาดโลก

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501122664/cambodia-successfully-sells-carbon-credits-in-global-voluntary-carbon-market/

สปป.ลาวจะมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในปีหน้า

รัฐบาลคาดว่าจะมีรายได้ก้อนแรกจากการขายคาร์บอนเครดิตในปีหน้าหลังจากลงนามในข้อตกลงกับธนาคารโลก รองอธิบดีกรมป่าไม้กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า “รัฐบาลได้ลงนามในข้อตกลงกับธนาคารโลกในการขายคาร์บอนเครดิตจากพื้นที่ป่าที่กำหนดใน 6 แขวงทางตอนเหนือของสปป.ลาว และคาดว่าจะได้รับเงินประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐจากการขายคาร์บอนเครดิตในปี 2565” ธนาคารโลกระบุว่าสถาบันการเงินระหว่างประเทศได้กำหนดงบประมาณภายใต้ Forest Carbon Partnership Facility ประมาณ 42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อซื้อคาร์บอนเครดิตจากสปป.ลาวในปี 2563 ถึง 2568 ความคิดริเริ่มของธนาคารโลกมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนและรูปแบบสภาพอากาศที่รุนแรงทั่วโลก ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาประเทศที่พัฒนาแล้วและ บริษัท รายใหญ่ได้ตกลงที่จะซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศต่างๆเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบทางธุรกิจเพื่อสังคมของตน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos20.php