‘เวียดนาม’ คงรักษาอัตราเงินเฟ้อต่ำ ปี 67

จากการประชุมของรัฐบาลที่เมืองฮานอย โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เล มินห์ ไค เป็นประธาน ทางกระทรวงการคลังกล่าวในที่ประชุมว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 0.26 -0.39% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ 4.0-4.5% ในปี 2567 และยังได้กล่าวชี้ให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงดิ้นร้นฟื้นตัวและความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์โลก รวมถึงความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ พลังงานและทองคำ

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.31%YoY เดือน ม.ค. และ 1.04%YoY เดือน ก.พ. ขณะที่เดือน มี.ค. ลดลง 0.23% ทำให้ดัชนี CPI เฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี เพิ่มขึ้น 3.77%YoY

อย่างไรก็ดี รองนายกรัฐมนตรี เล มินห์ ไค ได้สั่งให้กระทรวงและหน่วยงานของรัฐฯ ติดตามสถานการณ์ตลาดและเตรียมแนวทางแก้ไข เพื่อเข้าแทรกแซงเมื่อจำเป็นเพื่อรักษาระดับเงินเฟ้อ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1654489/keeping-cpi-low-key-to-inflation-control-this-year.html

‘ธนาคารโลก’ คาด GDP เวียดนามปี 67 โต 5.5%

ธนาคารโลก (WB) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.5% ในปีนี้ และเศรษฐกิจจะค่อยๆ ขยายตัว 6% ในปี 2568 และ 6.5% ในปี 2569 จากการหนุนของอุปสงค์ต่างประเทศและการลงทุนของภาคเอกชนที่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น โดยเป็นการตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าการส่งออกภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวในระดับปานกลางในปีนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/66 ขยายตัว 8.5%YoY และเศรษฐกิจจะขยายตัวในไตรมาสแรกของปีนี้ 17.2%YoY

ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจาก 3.2% ในปี 2566 ขึ้นมาอยู่ที่ 3.5% ในปีนี้ เนื่องมาจากต้นทุนทางด้านการศึกษาและค่าบริการด้านสุขภาพ

อย่างไรก็ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีความขัดแย้งทางการทหารในยูเครนและตะวันออกกลาง แต่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์กลับจะทยอยลดลง ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) คาดว่าจะอยู่ที่ 3% ในปี 2568 และปี 2569 โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานที่มีเสถียรภาพ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-gdp-to-grow-5-5-this-year-wb/

อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น

จากดัชนีราคาผู้บริโภคที่พุ่งสูงขึ้น ราคาอาหารเ เช่น Monhinga (ก๋วยเตี๋ยวปลาแบบดั้งเดิมพร้อมเครื่องเสริม) แป้งทอด ขนมปัง แป้งนาน และอื่นๆ มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่งในปีนี้ โดยราคาส่วนผสมที่สูง (ข้าวสาลี ไข่ ข้าว น้ำมัน และอื่นๆ) ในการทำอาหารเหล่านั้น กระตุ้นให้ผู้ขายต้องขึ้นราคาอาหารจากเดิมอย่างน้อย 300–500 จ๊าด ในทำนองเดียวกัน ราคาข้าวสาลีขยับขึ้นเป็น 155,000 จ๊าดต่อถุง จากเดิม 145,000 จ๊าดต่อถุง รวมทั้งราคาขายปลีกน้ำตาลก็เพิ่มขึ้นเป็น 4,300 จ๊าดต่อviss และราคาแป้งยังเพิ่มขึ้นเป็น 5,200-5,400 จ๊าดต่อviss จาก 4,800 จ๊าดต่อviss  อย่างไรก็ดี เนื่องจากราคาของชำในครัว ซึ่งรวมถึงข้าว ปลา เนื้อสัตว์ และผัก พุ่งสูงขึ้น ร้านแผงลอยริมถนนบางแห่งที่เสิร์ฟข้าวแกงพม่าก็ขึ้นราคาอาหารหนึ่งมื้อเป็น 3,000 จ๊าด ซึ่งส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/rising-inflation-sends-breakfast-costs-soaring/#article-title

‘IMF’ ชี้แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนาม ขยายตัวสูง

นายเปาโล เมดาส หัวหน้าฝ่ายการคลังของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำประเทศเวียดนาม ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ‘Dau Tu’ บอกถึงข้อสังเกตของทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถส่งเสริมการบริโภคและการผลิต ขณะที่เร่งการเบิกจ่ายจากงบประมาณการลงทุนภาครัฐได้อีกด้วย และแนวโน้มชองเศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวได้ดี

ทั้งนี้ ธนาคารกลางควบคุมอัตราเงินเฟ้อของประเทศและบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยไม่สูญเสียทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ดีในปัจจุบันยังไม่เห็นช่องทางในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

นอกจากนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.8% ในปี 2567 เนื่องมาจากได้แรงหนุนจากการส่งออก แต่สิ่งสำคัญที่เวียดนามต้องเร่งแก้ไขอย่างรวดเร็ว คือ ภาคอสังหาฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อตลาดตราสารหนี้ขององค์กร

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-likely-to-maintain-high-economic-growth-in-medium-term-imf-expert-2251714.html

‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ชี้ปี 67แรงกดดันเงินเฟ้อของเวียดนามอยู่ภายใต้การควบคุม

นาย Nguyen Duc Do รองผู้อํานวยการสถาบันเศรษฐกิจและการเงิน กล่าวว่าแรงกดดันเงินเฟ้อของเวียดนามไม่น่าจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องมาจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัว ถึงแม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะมีทิศทางที่ชะลอตัว และมีผลให้การส่งออกของเวียดนามในปีนี้ขยายตัวอย่างค่อนเป็นค่อยไป ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้างและเศรษฐกิจโดยรวมจะได้รับผลกระทบและคาดว่าจะขยายตัวในระดับต่ำในปีนี้ ตลอดจนตลาดอสังหาฯ ของเวียดนามที่ยังคงอยู่ในภาวะซบเซา

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่าเวียดนามควรจับตามองปัจจัยต่างๆ ของภาวะเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเบิกจ่ายโครงการลงทุนภาครัฐ และสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-inflationary-pressure-under-control-this-year-say-experts-post1077608.vov

‘เวียดนาม’ เผยตัวเลขเงินเฟ้อ ม.ค. เพิ่มขึ้น 3.37%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน ม.ค. 2567 เพิ่มขึ้น 3.37% เมื่อเทียบเป็นรายปี และปรับตัวขึ้น 0.31% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2566 ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.67 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากมาจากราคายาและค่าบริการด้านสุขภาพที่ 1.02% ตามมาด้วยที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้าง 0.56% ค่าบริการขนส่ง 0.41% กลุ่มสินค้าและบริการอื่นๆ 0.4% อาหารและบริการจัดเลี้ยง 0.21% ในขณะที่กลุ่มสินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ไปรษณีย์และโทรคมนาคม (0.05%) และการศึกษา (0.12%)

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ม.ค.67 เพิ่มขึ้น 2.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/consumer-price-index-rises-337-in-january/276934.vnp

‘เวียดนาม’ เกินดุลการค้ากับสหภาพยุโรป 34.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการค้าระหว่างเวียดนาม-สหภาพยุโรปในปีที่แล้ว อยู่ที่ 72.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.3% ส่งผลให้เกินดุลการค้าราว 34.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายที่หดตัวลงมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงมาตรการรัดเข็มขัดในสหภาพยุโรปจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่คงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าในปี 2567 เผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกอย่างมากที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าส่งออกของเวียดนาม โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของเวียดนาม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-enjoys-us343-billion-trade-surplus-with-eu-post1072454.vov

‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ มีแนวโน้มขยายตัว 6.48% หนุนนำนวัตกรรมและปฏิรูปขับเคลื่อนประเทศ

สถาบันกลางเพื่อการจัดการเศรษฐกิจ (CIEM) เปิดเผยว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะขยายตัว 6.48% ในปี 2567 ที่ได้รับแรงหนุนจากนวัตกรรม การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการปฏิรูปหน่วยงานหรือสถาบัน โดยทางสถาบัน CIEM ได้นำแบบจำลองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไว้ 2 สถานการณ์ ในสถานการณ์แรกจะเป็นการที่เศรษฐกิจโลกค่อยๆกลับมาฟื้นตัวที่ 2.9% และอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.13% ตามมาด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ 3.9% การส่งออก 4.02% และเกินดุลการค้า 5.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่สถานการณ์ที่สอง คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ 3.2% เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.48% ตามมาด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ 3.72% และการส่งออก 5.19%

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1639269/2024-gdp-growth-might-reach-6-48-driven-by-innovation-reforms.html

‘เวียดนาม’ เผยแรงกดดันเงินเฟ้อผ่อนคลายลง ส่งสัญญาณชะลอตัว

จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่จัดขึ้นโดยสถาบันการเงินและเศรษฐกิจ นาย Nguyen Duc Do รองผู้อำนวยการสถาบัน อธิบายว่าถึงภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีนที่มีทิศทางชะลอตัวลงในปีนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเวียดนาม ในขณะที่ตลาดอสังหาฯ เผชิญกับความท้าทายและอุปสรรค นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศและทำให้การเติบโตต่ำลงในปีนี้ นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ราว 2.5% – 3.5% ทางด้านรองศาสตราจารย์ ดร. โง ตรี กล่าวเน้นย้ำว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐสภาอนุมัติไว้ที่ 4% – 4.5% น่าจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากความสามารถของรัฐบาลในการควบคุมราคาสินค้า รวมถึงกับอุปสงค์โดยรวมที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/inflationary-pressure-to-ease-in-2024-economists-2235656.html

‘ADB’ คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามปี 67 โต 6%

จากรายงานแนวโน้มการพัฒนาเอเชีย (ADO) ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในปี 2567 ขยายตัว 6% ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารฯ มองว่าจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอเกินกว่าที่คาดไว้ ยังคงเป็นอุปสรรคต่อภาคอุตสาหกรรมและบริการ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินเชิงรุกและมีความรอบคอบ เพื่อที่จะควบคุมราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า อาหาร การดูแลสุขภาพ การศึกษา ล้วนมีผลทำให้เกิดเงินเฟ้อ ด้วยเหตุนี้ เงินเฟ้อของเวียดนามคาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% ในปีนี้ ก่อนที่จะปรับตัวสูงขึ้น 4% ในปีหน้า

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/adb-projects-6-gdp-growth-for-vietnam-next-year-post1065201.vov