‘นายกฯ เวียดนาม’ ตั้งเป้า GDP ปี 68 โต 8.3% – 8.5%

นายฝั่ม มิงห์ จิ๋งห์ (Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวในที่ประชุมรัฐบาลว่าเวียดนามจะสร้างรากฐานที่มั่งคงสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวสองหลัก ในช่วงปี 2569-2573 โดยได้ตั้งเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 8.3% – 8.5% ในปีนี้ ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ความตึงเครียดทางการค้า การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่าเวียดนามจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม เช่น การบริโภคภายในประเทศ การส่งออก และการลงทุน ควบคู่ไปกับการนำปัจจัยขับเคลื่อนใหม่ๆ มาใช้ รวมถึงการเติบโตสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล

ที่มา : https://www.reuters.com/world/asia-pacific/vietnam-pm-says-targeting-83-85-gdp-growth-this-year-2025-07-16/

GDP เวียดนามไตรมาสที่ 2/2568 โตเร่งขึ้นที่ 7.96%YoY คาดครึ่งหลังของปีจะโตชะลอจากผลภาษี reciprocal 20%

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

​เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 2/2568 โตเร่งขึ้นที่ 7.96%YoY โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออก การลงทุนภาครัฐ และการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

  • การส่งออกเติบโตเร่งขึ้นมาที่ 18.0%YoY โดยหลัก ๆ คือ การเร่งส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ก่อนสิ้นสุดช่วงระงับภาษี 90 วัน และก่อนทราบผลว่าเวียดนามได้ดีลจะถูกสหรัฐฯ เก็บภาษี reciprocal 20% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 46% (รูปที่ 3)
  • การลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ 20.1%YoY จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ สนามบินนานาชาติ Long Thanh และทางหลวงเชื่อมเวียดนามเหนือ-ใต้ (North-South Expressway)
  • ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวที่ 10.3%YoY สะท้อนการเร่งการผลิตเพื่อตอบโจทย์การส่งออกและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยการผลิตที่เร่งตัวขึ้นอยู่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปเหล็ก อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมการผลิตซีเมนต์.

ทั้งปี 2568 เศรษฐกิจเวียดนามคาดเติบโตที่ 6.7% โดยจะโตชะลอลงในครึ่งหลังของปีจากครึ่งแรกที่เติบโต 7.52%YoY ซึ่งมีปัจจัยฉุดดังนี้

  • การส่งออกชะลอตัวจากการที่สหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้ภาษี reciprocal 20% โดยมองว่าการส่งออกเวียดนามจะชะลอตัวลงอย่างมากในครึ่งหลังของปี ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ คาดหดตัวลง เนื่องจากผู้นำเข้าส่วนใหญ่ได้สต๊อกสินค้าเอาไว้แล้วในช่วงไตรมาสที่ 2 นอกจากนี้ ยังประเด็นเกี่ยวกับสินค้าที่ประเทศอื่นส่งออกผ่านเวียดนาม (transshipped goods) ที่จะถูกเก็บภาษีสูงถึง 40% ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนถึง 29% ของการส่งออกรวม
  • การเกินดุลการค้าลดลงจากการเปิดตลาดสินค้าให้กับสหรัฐฯ รวมทั้งการเซ็น MOU ซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มูลค่า 2-3 พันล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ การเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นปัจจัยหลักหนุนการเกินดุลการค้าของเวียดนามในภาพรวม

นอกจากนี้ เศรษฐกิจเวียดนามยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายปัจจัย ได้แก่

  • ทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอง หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศบรรลุความตกลงกับเวียดนาม ค่าเงินดองก็อ่อนค่าเป็นประวัติการณ์มาที่ระดับ 26,195 ดองต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ เป็นเพราะดีลนี้ทำให้เวียดนามมีแนวโน้มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงจากการเกินดุลการค้าที่ลดลง นอกจากนี้ เวียดนามยังเผชิญกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
  • ปัญหาเสียในระบบธนาคารยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยสัดส่วน NPL อยู่ที่ระดับ 78% ณ เดือน มี.ค. 2567 และยังไม่มีการประกาศข้อมูลสัดส่วน NPL ในปีนี้ ทั้งนี้ หนี้เสียในระบบธนาคารเวียดนามมีปัจจัยหลักมาจากปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2565

อ่านต่อ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Vietnam-Reciprocal-EBR4170-FB-07-07-2025.aspx

‘เวียดนาม’ เผย GDP ไตรมาส 2 โตแรง รับอานิสงค์ส่งออกพุ่ง ปิดดีลเจรจาสหรัฐฯ

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ของปี 2568 ขยายตัว 7.96% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขยายตัวดีขึ้นจาก 6.93% ในไตรมาสแรก ซึ่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ทั้งปีที่ 8% โดยจากการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีทิศทางในเชิงบวกและอยู่ในระดับใกล้เคียงที่ตั้งเป้าไว้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจระดับโลกและระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ ภาคการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ โดยมีอัตราการขยายตัว 18% มูลค่ากว่า 116.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และเมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะจัดเก็บภาษีสินค้าเวียดนามหลายรายการในอัตราภาษีที่ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี

ที่มา : https://news.tuoitre.vn/vietnam-q2-gdp-growth-quickens-on-strong-exports-us-trade-deal-brightens-outlook-10325070510514147.htm

เวียดนามได้ดีลถูกเก็บภาษี reciprocal 20% ลดลงจากเดิมที่ 46% คาดหนุน GDP เวียดนามปีนี้โต 6.7%

  • เวียดนามบรรลุข้อตกลงให้สหรัฐฯ เก็บภาษี 20% สำหรับสินค้าเวียดนามและ 40% สำหรับสินค้าที่ประเทศอื่นส่งออกผ่านเวียดนาม
  • การบรรลุข้อตกลงนี้คาดหนุนเศรษฐกิจเวียดนามโต 6.7% ในปี 2025
  • ไทยเจอโจทย์ยากที่ต้องบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ก่อนเส้นตาย โดยที่ไทยไม่เสียเปรียบสหรัฐฯ มากเกินไป และต้องได้อัตราภาษีที่ไม่สูงกว่าคู่แข่งในอาเซียน

อ่านต่อ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-Reciprocal-EBR4169-KR-03-07-2025.aspx

‘UOB’ คงคาดการณ์ GDP เวียดนามปี 68 โต 6% แม้เผชิญอุปสรรคการค้า

ธนาคารยูโอบี (UOB) ประเมินเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2568 โดยคงคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6% และปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามในปีหน้า จะขยายตัวที่ 6.3% ถึงแม้ว่าจะคงตัวเลขเศรษฐกิจ แต่ทางธนาคารประเมินว่าเศรษฐกิจจะยังคงเผชิญกับความเสี่ยงในหลายด้าน โดยเฉพาะความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศ สะท้อนจากเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ ชะลอตัวลงเหลือ 6.93% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่ธนาคารประมาณการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ขยายตัว 7.1% และ 7.55% โดยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ มีสาเหตุบางส่วนมาจากวันหยุดตรุษจีน แต่ได้รับการบรรเทาการด้วยกิจกรรมการค้าและการลงทุนที่ยืดหยุ่น อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของตลาดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีความกังวลอย่างมากต่อการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้านำเข้าจากเวียดนามที่ได้รับอัตราภาษีสูงถึง 46% ส่งผลให้นักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนาม แต่หลังจากที่สหรัฐฯ ชะลอการเจรจาเป็นระยะเวลา 90 วัน ทางการเวียดนามเดินหน้าเจรจาอย่างต่อเนื่องกับสหรัฐฯ รวมถึงเดินหน้าส่งเสริมการค้าในระยะสั้น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/uob-maintains-vietnams-2025-gdp-growth-forecast-at-6-despite-trade-headwinds-post1205947.vov

‘เวียดนาม’ เผย 5 เดือนแรก เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ พุ่ง 51%

หน่วยงานการลงทุนต่างประเทศ (FIA) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้ามาประเทศเวียดนามในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าราว 18.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) และจากยอดเงินลงทุนรวม จำแนกออกเป็นเงินลงทุนที่มาจากโครงการใหม่ 1,549 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 7.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่เงินลงทุนที่มาจากการเพิ่มทุนในโครงการเดิม 8,510 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังคงเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 56.5% ของเงินทุนจดทะเบียนทั้งหมด และนักลงทุนชาวสิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วน 23.8% ของเงินลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด

นอกจากนี้ ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่าการลงทุนจากต่างประเทศ มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ผ่านช่องทางหลัก 3 ช่องทาง ได้แก่ การสะสมทุนที่เพิ่มขึ้น การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการผลิต

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1718935/foreign-investment-in-viet-nam-surges-in-five-months.html

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าลงทุน 18 พันล้านเหรียญฯ ลุยแผนพัฒนาพลังงานจนถึงปี 2035

ตามข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าเวียดนามจำเป็นที่จะต้องใช้งบลงทุนประจำปี สูงถึง 16 – 18 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2035 ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (PDP VIII) ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานฉบับใหม่ ได้รับการอนุมัติภายใต้มติที่ 768/QĐ-TTg ว่าด้วยการสร้างความมั่งคงด้านพลังงาน และการตอบสนองความต้องการของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเวียดนามตั้งเป้าที่จะจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เฉลี่ยที่ 10% ต่อปี ในช่วงปี 2026 – 2030 และจะขยายตัว 7.5% ต่อปี ในช่วงปี 2031 – 2050 นอกจากนี้ เวียดนามตั้งเป้าที่จะเป็น 1 ใน 4 ประเทศอาเซียนที่มีความมั่งคงด้านพลังงานไฟฟ้ามากที่สุด และอยู่ใน 3 อันดับแรกในด้านการเข้าถึงแหล่งไฟฟ้าได้ง่าย

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1716817/viet-nam-eyes-us-18-billion-a-year-for-power-plan-through-2035.html

‘ธนาคารโลก’ หั่น GDP เวียดนามปี 68 โตลดลง 5.8%

ธนาคารโลก (WB) ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของเวียดนามในปี 2568 เหลือโต 5.8% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 6.8% เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่ขยายตัว 4% ก็ตาม

ทั้งนี้ จากรายงาน East Asia and Pacific Economic Update ระบุว่าเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หลังจากเศรษฐกิจในปี 2566 อยู่ในภาวะซบเซา และกลับมาฟื้นตัวขึ้นในปี 2567 จากแรงหนุนทางด้านอุปสงค์ภายนอกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการ ขยายตัว 15.5% รวมถึงภาคอสังหาฯ ที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเวียดนามจะยังคงเผชิญกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ เช่น ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบลงทุน ความผันผวนของการค้าโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความไม่แน่นอนของนโยบาย เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/wb-revises-down-vietnams-2025-gdp-forecast-to-5-8/

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าเศรษฐกิจโต 8% แม้หวั่นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ

รัฐบาลเวียดนามยังคงตั้งเป้าหมายการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวที่ 8% ในปี 2568 ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าไม่เพียงแต่มองเศรษฐกิจในเชิงบวก แต่เวียดนามมีความพร้อมในการรับมือจากปัจจัยภายนอกผ่านการประสานนโยบายและนโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่น ทั้งนี้ จากสถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เพิ่มขึ้น ข้อพิพาททางการค้า การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และเวียดนามยังคงต้องเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว รวมถึงภาวะเงินเฟ้อ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะแรงกดดันภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บภาษีสูงถึง 46% ด้วยเหตุนี้ ทางรัฐบาลได้เรียกร้องให้กระทรวง ภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมรับมือกับความท้าทายอย่างตรงไปตรงมา และคว้าโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-stays-on-course-for-8-growth-despite-tariff-risks-post317714.vnp

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 1/2568 โตชะลอที่ 6.93%YoY คาด Reciprocal Tariffs กระทบเชิงลบต่อ GDP 1.5% แต่มีปัจจัยบวกหากการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ สำเร็จ

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/2568 เติบโตอยู่ที่ระดับ 6.93%YoY ชะลอจากไตรมาสที่ 4/2567 ที่ 7.55%YoY เนื่องจากการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นถึง 16.9%YoY ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้น หลังพายุไต้ฝุ่นยางิสร้างความเสียหายให้กับฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรม

เวียดนามเป็นประเทศที่ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ในอัตรา 46% และเสี่ยงส่งผลกระทบเชิงลบต่อ GDP สูงถึง 1.5%จากการที่เศรษฐกิจเวียดนามพึ่งพาการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดสหรัฐฯ ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ

ในเบื้องต้น Reciprocal Tariffs คาดส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตชะลอลงมาที่ 5.3% แต่ยังมีปัจจัยบวกหากการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ประสบผลสำเร็จ

อ่านต่อ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-GDP-EBR4144-KR-08-04-2025.aspx