“จีน” ยังคงเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของกัมพูชา

นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายนปีนี้ สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุนไปแล้ว 191 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์ โดยจีนยังคงรักษาตำแหน่งผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในกัมพูชา สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ CDC อนุมัติโครงการลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น 41 โครงการ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับเป็นเม็ดเงินลงทุนของจีนในกัมพูชามากกว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด รองลงมาเป็นการลงทุนจากนักลงทุนในท้องถิ่นชาวกัมพูชาอยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 12 โดยในเดือนกันยายน CDC อนุมัติโครงการใหม่ 27 โครงการด้วยเงินลงทุนรวม 1.6 พันล้านดอลลาร์ สร้างโอกาสในการจ้างานให้กับคนในท้องถิ่นมากกว่า 30,000 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการลงทุนเกี่ยวกับระบบการขนส่ง การผลิตไฟฟ้า ผลิตเหล็ก และภาคส่วนอื่นๆ ด้านกัมพูชากำลังเร่งจัดทำกลยุทธ์เพื่อหวังดึงดูดนักลงทุนชาวจีนผ่านการเข้าร่วมโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501373387/china-remains-largest-investor-in-cambodia/

FDI ในกัมพูชาพุ่งแตะ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของกัมพูชา ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 พุ่งแตะ 4.58 หมื่นล้านดอลลาร์ รายงานโดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ซึ่งเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากจีนคิดเป็นกว่าร้อยละ 45 ของการลงทุนทั้งหมด ตามมาด้วยเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และสหราชอาณาจักร ขณะเดียวกัน FDI ที่ไหลเข้ามายังกัมพูชาครอบคลุมภาคส่วนสำคัญต่างๆ เช่น ภาคการเงิน อุตสาหกรรมการผลิต อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม รีสอร์ต เกษตรกรรม และภาคการก่อสร้าง เป็นสำคัญ โดยภาคการผลิตมีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 31.6 ของการลงทุนทั้งหมด ด้าน Heng Sokkung เลขาธิการแห่งรัฐและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รายงานเสริมว่า ภายใต้กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ รวมถึงการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ ของกัมพูชา จะเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูด FDI ในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501324951/cambodia-fdi-registered-capital-at-45-billion/

“ภาคการลงทุนจากต่างประเทศ” – เครื่องยนต์สำคัญของการเติบโตทางศก.เวียดนาม

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน กล่าวว่าจำนวนโครงการและเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ผลักดันให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนาม และด้วยนโยบายที่เปิดกว้างและบรรยากาศการลงทุนที่เอื้ออำนวยในการทำธุรกิจ ตลอดจนเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพ ทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำและประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ทั้งนี้ ตามข้อมูล ณ เดือน เม.ย. พบว่าเวียดนามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศกว่า 446 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่เวียดนามยังคงเป็น 1 ใน 20 ประเทศที่ได้รับการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุดในปี 2563 และสิ่งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเวียดนามประสบความสำเร็จในการดึงดูดทรัพยากรจากต่างประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-likely-to-be-impacted-by-eu-carbon-tax-post1017645.vov

นายกฯ สปป.ลาว เล็งดึงเม็ดเงินลงทุนเพิ่มจากจีน

นายกฯ สปป.ลาว ได้ร้องขอความร่วมมือจากผู้นำมณฑลยูนนาน ในการส่งเสริมให้บริษัทสัญชาติจีนเข้ามาลงทุนใน สปป.ลาว มากขึ้น โดยกล่าวขึ้นในระหว่างการประชุมที่จัดขึ้น ณ เวียงจันทน์ ซึ่งคาดหวังที่จะใช้ประโยชน์จากทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ในการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าระหว่างระหว่างประเทศ ซึ่งตลาดจีนถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของ สปป.ลาว เนื่องจากมีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน โดย สปป.ลาว มีศักยภาพในการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงโค-กระบือ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดจีน ซึ่งในปี 2021 มีบริษัทจีนกว่า 300 แห่ง แสดงความสนใจที่จะลงทุนในภาคการเกษตรและป่าไม้ใน สปป.ลาว โดยคาดว่าเงินลงทุนรวมจะสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ จากปัจจัยสนับสนุนในด้านต่างๆ ขณะที่ภาคการค้าระหว่างประเทศ จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของ สปป.ลาว นับตั้งแต่ปี 2018-2022 มีมูลค่ารวมถึง 1.59 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15.63 ต่อปี ในแง่ของการลงทุนระหว่างประเทศจีนก็ยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว ด้วยมูลค่าการลงทุนของจีนในเขตสัมปทานและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีมูลค่าถึง 13.67 พันล้านดอลลาร์ กระจายอยู่ใน 921 โครงการ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten64_PM_y23.php

CDC อนุมัติโครงการการลงทุนใหม่ในกัมพูชามูลค่าเกือบ 24 ล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการการลงทุนใหม่ 4 โครงการ ด้วยเงินลงทุนรวมเกือบ 24 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการแรก ได้แก่ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของทางบริษัท Golden Sun Fashion Accessory Co, Ltd. ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 5 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสามารถสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นได้จำนวน 926 ตำแหน่ง ส่วนโครงการลำดับที่ 2 คือ AMTO CHEMICAL TECHNOLOGY CO., LTD. ด้วยเงินลงทุน 1.7 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสร้างงานได้ประมาณ 150 ตำแหน่ง ลำดับที่ 3 ได้แก่ Kai Feng Wood Products (Cambodia) Co., Ltd. ด้วยเงินลงทุน 6.6 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสร้างงานให้กับท้องถิ่น 300 ตำแหน่ง และลำดับสุดท้าย MEI AN LEATHERWARE (CAMBODIA) CO., LTD ด้วยเงินลงทุน 10.5 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสร้างงานจำนวน 1,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501093977/projects-worth-nearly-24-million-approved-by-cdc/

เดือนเม.ย.66 ของงบฯ 65-66 เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมาทะลุ! 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

คณะกรรมการบริษัทแห่งการบริหารการลงทุนและบริษัท (DICA)  เปิดเผยว่า ในเดือนเม.ย. 2565 เมียนมามีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเกือบ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการลงทุนของจีน 2.782 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยไต้หวัน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ฮ่องกง 1.215 ล้านดอลลาร์ และประเทศอื่นๆ รวมเป็น 5.997 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในช่วงหกเดือนของงบประมาณย่อยปี  2564-2565 พบว่าประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ในเมียนมา คือ สิงคโปร์ 297.349 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามด้วย จีน 142.137 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ฮ่องกง  109.140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ,  เกาหลีใต้ 62.693 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ใต้หวัน 8.641 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนไทย 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ฯลฯ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/us6-mln-foreign-investment-flows-in-april-this-2022-2023fy/

คู่ค้ารายใหญ่โลก “อาเซียน-จีน” ร่วมลงทุน 3 แสนล้านดอลลาร์

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (ASEAN) ได้กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการลงทุนขาออกที่สำคัญของจีนและแหล่งที่มาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายได้ก่อตั้งความสัมพันธ์จีน-อาเซียน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ด้วยการลงทุนร่วมกันเกิน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างทั้งสองฝ่าย นักลงทุนในอาเซียนได้เห็นโอกาสในจีน ซึ่งในปี 2020 การลงทุนของวิสาหกิจจีนในกลุ่มประเทศอาเซียนสูงถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 1.059 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน การลงทุนของกลุ่มอาเซียนในจีนแผ่นดินใหญ่ก็มีการลงทุนมูลค่าสูงถึง 7.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบเป็นรายปี สำหรับช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ การลงทุนจากอาเซียนเพิ่มขึ้น 39% สู่ระดับ 7.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (2021) ปริมาณการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 7.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 30% และคาดว่าตัวเลขปีนี้จะกลายเป็นสถิติสูงสุดครั้งใหม่

ที่มา : https://www.banmuang.co.th/news/inter/259800