เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/67 ชะลอตัวที่ 5.66%YoY คาดทั้งปี 67 เติบโต 5.8-6.0% หนุนโดยการส่งออก

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/67 ชะลอตัวที่ 5.66%YoY คาดทั้งปี 67 เติบโต 5.8-6.0% หนุนโดยการส่งออก

  • เศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาส 1/2567 เติบโตชะลอตัวลง จากการชะลอตัวของการลงทุนในภาพรวม
  • การส่งออกยังเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 1/2567 โดยมูลค่าการส่งออกเติบโตเร่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2%YoY ในไตรมาสที่ 1/2567
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ทั้งปี 2567 เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตอยู่ที่ระดับ 8-6.0% จากแรงหนุนของการส่งออก

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-GDP-EBR4050-29-03-2024.aspx

การลาออกของประธานาธิบดีเวียดนาม คาดไม่ส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในระยะยาว

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์การลาออกของประธานาธิบดีเวียดนาม ว่า กระแสการปราบปรามการคอร์รัปชั่นในเวียดนามส่งผลให้ประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง ยื่นใบลาออก หลังดำรงตำแหน่งเพียง 1 ปี และนับเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ที่ถูกกดดันให้ลาออกในช่วงปีที่ผ่านมา

การลาออกของประธานาธิบดีเวียดนาม คาดไม่ส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในระยะยาว

  • กระแสการปราบปรามการคอร์รัปชันในเวียดนามส่งผลให้ประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง ยื่นใบลาออก หลังดำรงตำแหน่งเพียง 1 ปี และนับเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ที่ถูกกดดันให้ลาออกในช่วงปีที่ผ่านมา
  • การลาออกของประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง อาจส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองและบรรยากาศในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในระยะสั้น แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานและการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะยาว

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Vietnam-Econ-21-03-2024.aspx

กสิกรไทย คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 3.7% จับตาการค้าโลกไม่สดใสกดดันส่งออกไทยเสี่ยงโตต่ำคาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2565 ที่ผ่านมา ขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 1.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2.6% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3.2% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ตัวเลขการเติบโตจีดีพีของไทยในไตรมาส 4/2565 มีปัจจัยกดดันหลักมาจากส่งออกสินค้าที่หดตัวถึง -10.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามโมเมนตัมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง

นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐก็หดตัวลง ขณะที่การลงทุนภาครัฐก็ขยายตัวต่ำกว่าคาด เนื่องจากการใช้จ่ายและลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโควิดนั้นลดลงอย่างมาก

ด้านปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2565 การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้การส่งออกในภาคบริการนั้นขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ 94.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวก็ได้ส่งผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงาน รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ดีที่ 5.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาส 4/2565 แม้จะชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ถึง 9.1%

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ 3.7% ซึ่งสูงกว่าประมาณการของสภาพัฒน์ที่ 2.7-3.7% (ค่ากลางอยู่ที่ 3.2%) จากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงจะเป็นขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องไปในปีนี้ แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจกดดันการส่งออกไทยให้หดตัวเล็กน้อยในปีนี้

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/feature/2634206

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด GDP ไทยปี 65 โต 2.8-3.7% ขึ้นกับความรุนแรงของโอมิครอน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 65 ฟื้นตัวมาเติบโตได้ในกรอบ 2.8-3.7% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าให้กลับมามีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับอัตราการแพร่เชื้อ และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ว่าจะสามารถต้านทานการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนได้หรือไม่ แต่จากการที่หลายประเทศเริ่มคุมเข้มการเดินทาง ก็อาจทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 65 โดยเฉพาะในไตรมาสแรกได้รับผลกระทบ

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2021/153139

ส่องจังหวะการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอาเซียน หลังจากสหรัฐฯ ส่งสัญญาณในการปรับลดขนาดมาตรการ QE

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

สถานการณ์การระบาดของโควิดเริ่มมีทิศทางผ่อนคลายลงโดยเฉพาะในประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นกลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญและเติบโตเหนือระดับก่อนโควิด ตลาดแรงงานที่เริ่มกลับสู่ระดับปกติมากขึ้น ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อมีสัญญาณเร่งตัวเป็นปัจจัยที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของตลาดการเงินโลกรวมทั้งตลาดการเงินของอาเซียนอีกครั้ง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มส่งสัญญาณพิจารณาถึงการปรับลดขนาดของมาตรการ QE ที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้และนำไปสู่คาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้นนโยบายสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2565

 

ในทำนองเดียวกัน ธนาคารกลางยุโรปก็ได้ส่งสัญญาณที่จะลดขนาด QE ลงในการประชุมรอบล่าสุดที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้เป็นธนาคารกลางแรกๆ ที่เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนโยบายการเงินเดือนสิงหาคม 2564  จากหลังเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับ 2.6% ในเดือนสิงหาคม 2564 อันเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี ตลอดจน การปรับขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนที่เป็นผลจากการระบาดของโควิดที่ส่งผลให้ระดับหนี้ครัวเรือนทะลุระดับ 100% ของจีดีพีเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ธนาคารกลางยุโรป ตลอดจน ธนาคารกลางเกาหลีใต้ อาจเป็นภาพสะท้อนถึงทิศทางของคลื่นการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงินที่กำลังเข้าใกล้เศรษฐกิจอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าประเทศสิงคโปร์น่าจะเป็นผู้นำของเศรษฐกิจกลุ่มอาเซียน-6 ที่เริ่มปรับท่าทีการดำเนินโนยายการเงินให้เข้มงวดขึ้นผ่านการปรับความชันของอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจจะเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2565 หลังจากที่เศรษฐกิจสิงคโปร์กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและขนาดเศรษฐกิจกลับไปสูงกว่าระดับก่อนโควิดแล้วเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างอัตราเงินเฟ้อจากต่างประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนฟิลิปปินส์คงจะเป็นประเทศที่เผชิญกับแรงกดดันในการขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นรายต่อไป ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การไหลออกของเงินทุน ตามมาด้วยเศรษฐกิจเวียดนามที่คงมีปรับท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินหลังจากที่เศรษฐกิจกลับมาเติบโตตามระดับศักยภาพมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจตลอดจนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เวียดนามอาจถูกจัดในกลุ่มประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน

 

ขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซียคงเลือกจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สอดคล้องกับเฟดเนื่องจากตลาดการเงินของอินโดนีเซียและมาเลเซียมีระดับของการพึ่งพิงเงินทุนต่างชาติที่ค่อนข้างสูงโดยเปรียบเทียบ โดยช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศกลับมาฟื้นตัวเหนือระดับก่อนโควิดไปแล้ว อย่างไรก็ดี ไทยคาดว่าจะเป็นประเทศท้ายๆ ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน-6 อย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องอาศัยการดำเนินโยบายการเงินผ่อนคลายที่นานกว่าประเทศอื่นๆ

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/QE-z3269.aspx

ล็อคดาวน์กค.ปี64 ทรุดดัชนีเศรษฐกิจ จากรายได้หด-การจ้างงานลดต่อเนื่อง เทียบช่วง เม.ย.ปี63

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่มีการระบาดในเดือนเม.ย.จนต่ำกว่าปีก่อนในช่วงเดือนเม.ย. 2563 ที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ขณะที่การระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่มีการแพร่ระบาดได้ง่าย และ การล็อกดาวน์ ตลอดจนจำกัดการเดินทางใน 10 จังหวัด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ จำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับสูงกดดันให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับลงต่อเนื่องจนอยู่ที่ 34.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าช่วงเดือนเม.ย. 63 ที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศที่ 35.1 ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้น ภาครัฐควรมีมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและเข้าถึงง่ายพร้อมกับเร่งเข้าควบคุมสถานการณ์รวมถึงในเรื่องของวัคซีนเพื่อให้สถานการณ์การระบาดบรรเทาลง

บทบาท จีน ใน CLMV หลังโควิด…อิทธิพลทางเศรษฐกิจยังคงเข้มข้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

บทบาททางเศรษฐกิจของจีนในกลุ่มประเทศ CLMV ในช่วงที่ผ่านมา นับว่าโดดเด่นมาก โดยเฉพาะด้านการค้า   ซึ่งเป็นผลจากยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่จีนพยายามเข้ามาสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical connectivity) และความเชื่อมโยงทางสถาบัน (Institutional connectivity) ซึ่งมีส่วนในการกระตุ้นมูลค่าการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV กับจีนให้เร่งตัวขึ้น อิทธิพลของความเชื่อมโยงทางกายภาพ ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นระหว่างจีนกับ CLMV เ​กิดจากยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI)   อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รวมถึงการลงทุนก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่  ซึ่งมีส่วนดึงดูด FDI จีนให้มาตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการที่ตอบสนองความเป็นเมือง  ในขณะที่อิทธิพลของความเชื่อมโยงทางสถาบัน อาทิ การผ่อนคลายกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ ก็มีส่วนช่วยให้กิจกรรมการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV กับจีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ อันมีจุดเริ่มต้นจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ  ยังถูกท้าทายด้วยความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานโลกซึ่งเกิดจากปัจจัยที่ไม่อาจคาดเดา  อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด19 ซึ่งอาจส่งผลให้จีนรวมถึงบริษัทต่างชาติในจีนหันมาให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านในฐานะห่วงโซ่อุปทานแห่งใหม่ เพื่อลดและกระจายความเสี่ยงด้านปฏิบัติการจากการที่ฐานการผลิตกระจุกตัวอยู่ในจีน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยคานอิทธิพลทางอ้อมในด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของจีนจะมากขึ้นหรือน้อยลงหลังโควิด ยังคงขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของจีนและท่าทีของกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีต่อจีนภายใต้ความขัดแย้งของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน  โดยคาดว่ากลุ่ม CLMV น่าจะอยู่ในฐานะแหล่งการผลิตสินค้าทางการเกษตร รวมถึงอาหาร ซึ่งตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านอาหารของจีน 

นอกจากนี้ CLMV ยังมีแนวโน้มได้รับการกระจายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในทิศทางที่เร่งตัวขึ้น โดยเวียดนามยังคงมีศักยภาพในการก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานใหม่สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นอย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่อาจพยายามปรับสมดุล FDI ให้รองรับนักลงทุนสัญชาติอื่นที่มีศักยภาพสูงมากกว่าดึงดูด FDI จากจีนเป็นหลัก

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/China-CLMV-01-07-21.aspx

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง ส่งผลต่อเศรษฐกิจ CLMV ได้รับอานิสงส์แตกต่างกัน

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางมุมมองเชิงบวกต่อพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤติโควิดอันสะท้อนผ่านประมาณการเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 6.0% จากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 5.5% นำโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ที่มีการพึ่งพิงภาคต่างประเทศสูง อย่างไรก็ดี ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่สดใสอาจส่งผลบวกต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ในระดับที่แตกต่างกัน ตามความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การส่งออก รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ การลงทุนทางตรง (FDI) และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ปัจจัยเฉพาะในประเทศก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวมจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่เท่ากัน

เวียดนามเป็นเศรษฐกิจใน CLMV ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากโครงสร้างการผลิตและส่งออกที่มีสัดส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูง นอกจากภาคการส่งออกแล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังได้รับอานิสงส์จากรายได้นำส่งกลับของแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 5.8 ของจีดีพี เนื่องจากแรงงานเวียดนามที่ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในไต้หวัน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระดับสูง ขณะที่กัมพูชาอาจเป็นอีกเศรษฐกิจที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกันเนื่องจากการส่งออกของกัมพูชามีตลาดหลักอยู่ในสหรัฐฯ จีน และยุโรปซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การลงทุนในกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่แข็งแกร่งย่อมส่งผลให้โครงการดังกล่าวยังเดินหน้าต่อไป ในส่วนของเศรษฐกิจสปป.ลาว คงจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จำกัดในส่วนของการลงทุนตรงจากจีนเป็นหลัก ขณะที่ภาคการส่งออกอาจได้รับอานิสงส์จำกัด ขณะที่เมียนมา ปัจจัยการเมืองในประเทศคงเป็นปัจจัยที่มีผลในการลดทอนผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก​

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/CLMV-z3213.aspx

ปี 64 เศรษฐกิจเมียนมาเจอมรสุมหนัก! คาด หดตัว 8.5%

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวดี เศรษฐกิจเมียนมากลับเผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างหนัก ภาพลักษณ์ของเมียนมาในสายตาชาติตะวันตกกำลังมีบทบาทลดน้อยลง จากการที่สหรัฐฯ ประกาศระงับความตกลงการค้าและการลงทุนกับเมียนมาที่มีมาตั้งแต่ปี 2556 ทำให้มียนมาต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นการทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และมีความเสี่ยงที่สหภาพยุโรปจะตัดสิทธิพิเศษทางการค้า EBA รวมถึงนานาชาติจะเพิ่มแรงกดดันด้านต่าง ๆ อันเป็นอุปสรรค์ต่อการทำธุรกิจในอนาคต

ตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ได้มีการแสดงอารยะขัดขืนเป็นวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกตัวชะลอตัวลงมากกว่าคาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 อาจจะหดตัวลึกขึ้นมาอยู่ที่ราว -8.5% (กรอบประมาณการ -9.8% ถึง -7.2%) หากการประท้วงไม่ขยายวงกว้างกว่านี้และทางการสามารถควบคุมสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองช่วงครึ่งปีหลังให้ดีขึ้นได้ เศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 คาดว่าจะโน้มเอียงสู่กรอบบนประมาณการที่ -7.2% แต่หากความขัดแย้งรุนแรงลากยาวตลอดปี เศรษฐกิจอาจทรุดตัวเข้าใกล้กรอบล่างที่ -9.8%

การส่งออกผ่านชายแดนจากไทยไปเมียนมาเดือนก.พ. 2564 กลับมาหดตัวสูงที่ -21.4% ส่วนหนึ่งเพราะโควิด-19 ลุกลามอีกครั้ง และบางส่วนเพราะความไม่สงบในเมียนมาทำให้สินค้าส่วนใหญ่เริ่มหดตัวชัดเจน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแม้ความไม่สงบในเมียนมาอาจส่งผลมายังช่องทางการค้าบริเวณพรมแดน แต่ไม่กระทบการขนส่งสินค้าข้ามแดนมากนักเพราะเมียนมาต้องพึ่งสินค้าไทยหลายชนิด ขณะเดียวกันความกังวลต่อความไม่สงบในช่วงแรกทำให้มีการเร่งกักตุนสินค้าจากไทยค่อนข้างมาก แต่ในช่วงที่เหลือของปีด้วยกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจที่จะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ คงฉุดให้การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาปีนี้หดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ที่ -6.0% มูลค่าการส่งออก 81,890 ล้านบาท (กรอบประมาณการหดตัวที่ -8.0% หากเศรษฐกิจเมียนมาทรุดตัวตลอดปี ถึงหดตัวที่ -2.9% หากครึ่งปีหลังหลังสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาดีขึ้นได้)​

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Myanmar-Eco-23-04-2021.aspx

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยเศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/64 ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/2564 เติบโตต่ำกว่าที่คาดที่ 4.48% YoY จากเศรษฐกิจภาคบริการและการบริโภคในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดในช่วงต้นปี 2564 ทำให้ทางการเวียดนามออกมาตรการปิดสถานที่ชั่วคราวอาทิ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และสถานบันเทิง ทั้งในฮานอยและโฮจิมินห์ ห้ามการรวมตัวของคนหมู่มาก ตลอดจนปรับลดเวลาทำการธุรกิจโดยเฉพาะบริการขนส่งสาธารณะ

  ขณะเดียวกันภาครัฐลดระดับในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงเพื่อลดภาระทางการคลังหลังจากที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในปีก่อน1ซึ่งครอบคลุมการปรับลดภาษีธุรกิจ การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้การบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวอย่างจำกัด

  ประกอบกับการลงทุนทางตรง (FDI) ยังคงชะลอลง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการใหม่ ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบจากต่างประเทศที่เติบโตค่อนข้างมาก กดดันให้การเกินดุลการค้าปรับลดลง แม้ว่าภาคการส่งออกแม้ว่าจะขยายตัวได้กว่า 22% ก็ตาม

  ประเด็นการบิดเบือนค่าเงินของเวียดนามไม่ได้ส่งผลต่อภาคการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่สหรัฐฯ จัดสถานะเวียดนามเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงินในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ค่าเงินดอง (VND) ยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ หากเทียบการอ่อนค่าระหว่างค่าเงินดองกับค่าเงินในสกุลอาเซียนจะพบว่าค่าเงินดองอ่อนค่าน้อยที่สุดเทียบกับสกุลเงินหลักในอาเซียน

   อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของค่าเงินดังกล่าวไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเวียดนามยังคงมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตเทียบกับกลุ่มประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างร้อยละ 30 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักที่หนุนให้การส่งออกของเวียดนามยังคงขยายตัวในระดับสูงในปีนี้

  มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังคงมีทิศทางเติบโตที่เร่งขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ การลงทุนในภาคการผลิตกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง อาจเป็นสัญญาณบวกต่อทิศทางการฟื้นตัวของภาคลงทุน เนื่องจากการลงทุนทางตรงในภาคการผลิตซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของมูลค่าการลงทุนทางตรงทั้งหมดในช่วงก่อนโควิดซึ่งภาคดังกล่าวน่าจะได้รับได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เนื่องจากเวียดนามมีค่าแรงต่ำกว่าจีนค่อนข้างมาก อีกทั้ง เวียดนามมีข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุม

   ดังนั้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดคลี่คลายลง น่าจะหนุนลงทุนรอบใหม่กลับมาเติบโตอีกครั้ง อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคการบริโภคอาจต้องอาศัยเวลาอีกระยะ เนื่องจากการส่งออกที่ฟื้นตัวในช่วงแรกมาจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ขณะที่ส่งออกเครื่องนุ่งห่มซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศมากกว่าอาจต้องรอการฟื้นตัวของความต้องการโดยเฉพาะจากยุโรปที่ยังคงเผชิญกับการระบาดของโควิด

  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามที่กรอบประมาณการที่ 6.8-7.3% โดยการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ที่ออกมาต่ำกว่าคาดอาจส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามเข้าใกล้กรอบล่างของประมาณการมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามที่ต้องติดตาม ได้แก่ พัฒนาการของเศรษฐกิจในยูโรโซนที่กำลังเผชิญกับการระบาดของโควิดรอบใหม่ อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะเติบโตน้อยกว่าคาด

  นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์การเปิดประเทศของเวียดนาม นอกจากจะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวแล้วยังเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อจังหวะของกระแสเงินลงทุนตรง ที่นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนรายใหม่ยังคงรอคอยการเปิดประเทศก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในขั้นสุดท้าย

ที่มา : /1 https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Vietnam-apr-FB-12-04-2021.aspx

/2 https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=d1Z2b01wVFVaRVk9