เศรษฐกิจ CLMV เร่งตัวปี 2567 แต่ยังโตช้ากว่าช่วงก่อนโควิด-19

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

เศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024 ตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งจะสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นผ่านการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ในระยะปานกลางเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจข้ามชาติออกไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ “China +1” เพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในระยะต่อไป ในปีนี้ SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวต่อเนื่อง 6.0% (จาก 5.6% ในปี 2023) สปป.ลาว 4.7% (จาก 4.5%) เมียนมา 3.0% (จาก 2.5%) และเวียดนาม 6.3% (จาก 5.1%)

อัตราการขยายตัวของแต่ละประเทศใน CLMV ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 จากปัจจัยกดดันต่าง ๆ  อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเศรษฐกิจภูมิภาค CLMV มีความสัมพันธ์สูงทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกัน บางประเทศ เช่น กัมพูชาและเวียดนามมีอัตราส่วนหนี้เสีย (Non-performing loans ratio) สูงขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือในช่วง COVID-19 สิ้นสุดลง ประกอบกับภาวะการเงินในประเทศที่ตึงตัวขึ้น อาจกระทบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและการเข้าถึงสภาพคล่องของธุรกิจได้ นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาต่อเนื่อง ในระยะสั้นการค้าโลกอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขนส่งบริเวณทะเลแดงและคลองปานามาที่แห้งแล้งและอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าส่งออกของภูมิภาค CLMV ได้ ในระยะยาวเศรษฐกิจ CLMV จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกที่มีแนวโน้มจะกีดกันการค้าและตั้งกำแพงภาษีมากขึ้น

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน ขึ้นกับปัจจัยเฉพาะประเทศ โดยเฉพาะในสปป.ลาวที่เผชิญความเสี่ยงจากระดับหนี้สาธารณะซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเทียบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางภาวะการเงินโลกตึงตัว ทำให้เงินกีบอ่อนค่ารวดเร็ว ซ้ำเติมภาระการชำระหนี้ต่างประเทศ และทำให้เงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นมากและปรับตัวลดลงได้ช้าในปีนี้ ปัจจัยเหล่านี้กดดันศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยสปป.ลาวกำลังดำเนินการรัดเข็มขัดทางการคลัง ควบคู่กับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และการหาแหล่งระดมทุนใหม่เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลังไว้ ขณะที่เมียนมาเป็นอีกประเทศที่กำลังเผชิญปัจจัยกดดันเชิงโครงสร้าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2021 และทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2023 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศซบเซา ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกมีส่วนทำให้อุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอลงมาก ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินจัตอ่อนค่าและเงินเฟ้อเร่งตัว ตลอดจนปัญหาระบบขนส่งและโครงข่ายไฟฟ้าหยุดชะงัก การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ยังดูเป็นไปได้ยากในระยะสั้น เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ

ค่าเงินของกลุ่มประเทศ CLMV จะเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าลดลง

ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่กลางปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าประเทศกำลังพัฒนา รวมถึง CLMV มากขึ้น และจะกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตามต้นทุนการระดมทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเฉพาะประเทศยังคงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อแนวโน้มค่าเงิน ส่งผลให้ค่าเงินบางประเทศอาจยังอ่อนค่าต่อ

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV มีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้ หลังจากค่อนข้างซบเซาในปี 2023 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าโลกที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิต และเศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ภาวะการเงินโลกและไทยที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงบ้างในปีนี้จะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนให้บริษัทไทยลงทุนใน CLMV ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามเสถียรภาพเศรษฐกิจของ CLMV บางประเทศที่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก ทั้งนี้ในระยะยาว SCB EIC ยังมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคของโลกที่เติบโตสูง และยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ จากปัจจัยประชากรที่มีอายุเฉลี่ยน้อย การมีข้อตกลงสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และแหล่งที่ตั้งที่มีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ติดตลาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-outlook-mar24?utm_source=Twitter&utm_medium=Link&utm_campaign=CLMV_OUTLOOK_MAR_2024

 

“ไทยเบฟ”ยึดกัมพูชา ฐานผลิตอาเซียน ดัน BeerCo เข้าตลาดหุ้น

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไทยเบฟให้ความสำคัญเรื่องของความยั่งยืน จึงขับเคลื่อนกลยุทธ์ภายใต้แนวคิด “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ พร้อมกับดำเนินกลยุทธ์ในการเสริมแกร่งให้กับตราสินค้าและสถานะในตลาดสำหรับทุกกลุ่มธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยในปี 2567 (ต.ค. 66-ก.ย.67) บริษัทใช้งบลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท ในการเดินหน้าธุรกิจเพื่อขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียน+9 ซึ่งปัจจุบันก้าวกระโดดไปทำตลาดในหลายประเทศ ภายใต้กลยุทธ์การเติบโต (GROWTH) ใน 3 Pillars ได้แก่ Balanced Market Diversification, Extensive Product Portfolio และ Fulfill New Consumer Needs แบ่งเป็นการลงทุนตั้งโรงงานเครื่องดื่มทั้งแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ในกัมพูชาและลาว 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นฐานการผลิตใหญ่รองรับตลาด CLMV และยังคอนเน็คสู่ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดสำคัญแห่งหนึ่ง และทำให้ไทยเบฟมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าในอนาคต ส่วนที่เหลือจะเป็นการลงทุนในประเทศไทยทั้งด้านโลจิสติกและความยั่งยืน ฯลฯ

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/marketing/577997

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ขยายตัวต่อเนื่องจากแรงส่งการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว แม้มีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความเสี่ยงเฉพาะประเทศ

โดย ปัณณ์ พัฒนศิริ และ ดร.ฐิติมา ชูเชิด จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2023

โดยประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 5.9% สปป.ลาว 4.0% เมียนมา 3.0% และเวียดนาม 5.0% ตามลำดับ จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศของจีน ทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน ตลอดจนการบริโภคภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นตามตลาดแรงงานและแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV จะขยายตัวค่อยเป็นค่อยไปและยังต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 ในปีนี้ ส่วนหนึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยฟื้นตัวแต่ยังต่ำกว่าระดับก่อน COVID-19 การส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ค่อนข้างซบเซาตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลง และปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศ

.

ปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวรายประเทศไม่เหมือนกัน

ประเทศที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง เช่น กัมพูชา มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้นในปีนี้ ช่วยลดทอนผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลงต่อการส่งออกได้ ขณะที่สปป.ลาวได้ประโยชน์จากโครงการโลจิสติกส์ต่าง ๆ อาทิ รถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาว และจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าท่าแห้งท่านาแล้ง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและการขนส่งภายในภูมิภาค แม้อัตราเงินเฟ้อสูงยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจอยู่ สำหรับเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมาก เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ อีกทั้ง ยังเผชิญภาวะการเงินในประเทศตึงตัวขึ้นมาก ส่งผลให้ธุรกิจบางกลุ่ม โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ ระดมทุนได้ยาก ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชนไประยะหนึ่ง

.

ความเปราะบางเชิงโครงสร้างกดดันให้เศรษฐกิจ CLMV บางประเทศขยายตัวต่ำกว่าอดีต

ในระยะปานกลาง SCB EIC คาดว่า กัมพูชาและเวียดนามจะสามารถกลับมาขยายตัวใกล้ค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในปีนี้เป็นปัจจัยชั่วคราวและคาดว่าจะทยอยคลี่คลายได้ แต่สปป.ลาวและเมียนมามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตไปอีกระยะ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยสปป.ลาวมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพภาคต่างประเทศและภาคการคลัง จากระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่ไม่สูงนักในภาวะเงินกีบอ่อนค่าเร็ว และหนี้สาธารณะสูง ส่งผลให้ภาครัฐต้องใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังตึงตัวมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินและอาจพิจารณาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ สำหรับเมียนมาความไม่สงบทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ ส่งผลให้ฟื้นความเชี่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคได้ยาก ขณะที่ชาติตะวันตกขยายมาตรการคว่ำบาตรให้ครอบคลุมบุคคลและนิติบุคคลเพิ่มเติม ส่งผลให้สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในเมียนมาไม่เอื้อต่อการลงทุน และกดดันให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวต่ำในระยะปานกลาง

.

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของ CLMV

แม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง ทิศทางนโยบายการเงินยังขึ้นกับบริบทเศรษฐกิจรายประเทศ อัตราเงินเฟ้อทยอยชะลอตัวในทุกประเทศตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง แต่ทิศทางนโยบายการเงินจะคำนึงถึงบริบทเศรษฐกิจการเงินในประเทศนั้น ๆ เช่น เวียดนามปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ตึงตัวขึ้นมาก โดย SCB EIC คาดว่านโยบายการเงินเวียดนามจะผ่อนคลายต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ และภาคอสังหาฯ ยังคงอ่อนแอคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะก่อนจะทยอยฟื้นตัวได้ ขณะที่นโยบายการเงินสปป.ลาวมีแนวโน้มตึงตัวต่อไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงแม้จะเริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งเป็นผลจากเงินกีบอ่อนค่า ทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นมาก ธนาคารกลางสปป.ลาวจึงต้องเน้นดูแลเสถียรภาพด้านราคาในปีนี้

.

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV ยังคงซบเซาในปีนี้ สอดคล้องกับการชะลอตัวของการค้าภายในภูมิภาคและความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกไทยไป CLMV จะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจ CLMV จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นและฐานส่งออกปีก่อนต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปี สำหรับการลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV ยังคงมีแนวโน้มซบเซาจากหลายปัจจัย อาทิ ต้นทุนการระดมทุนในประเทศสูงขึ้น เศรษฐกิจ CLMV ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในบางประเทศไม่เอื้อต่อการลงทุนและขยายกิจการ ในระยะต่อไป SCB EIC ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV โดยมองว่า ยังเป็นตลาดสำคัญของธุรกิจไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านจำนวนแรงงานและค่าแรง ตลาดในประเทศเติบโตต่อเนื่อง การเข้าร่วมสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และทำเลที่ตั้งซึ่งสามารถเชื่อมไทยไปยังตลาดสำคัญในภูมิภาคได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-190723

“กรมธุรกิจพลังงาน” ส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นระบบขนส่งน้ำมันหลัก

นายวุฒิทัต ตันติเวสส รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือ ของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด วันนี้ (18 กรกฎาคม 2566) ว่า โครงการระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือเป็นโครงการซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ที่ให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันและเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดจากรถขนส่งน้ำมัน ลดมลพิษและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่โครงการระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนืออันเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งพลังงานของประเทศที่สำคัญนี้ ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการปี 2562 เป็นต้นมา ซึ่งกรมธุรกิจพลังงานจะส่งเสริมให้การขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นระบบขนส่งน้ำมันหลักของประเทศ โดยศึกษาความเป็นไปได้ของรูปแบบการเชื่อมท่อขนส่งน้ำมันให้เป็นโครงข่าย ศึกษารูปแบบบริหารจัดการระบบท่อแบบ Single Operator ตลอดจนโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งและจำหน่ายน้ำมันไปยังประเทศ CLMV ต่อไป

ที่มา : https://www.thaimungnews.com/?p=39331

“พาณิชย์” จัดมหกรรมการค้าชายแดน จ.สระแก้ว วันที่ 7-9 ก.ค.นี้

กรมการค้าต่างประเทศจัดงาน “มหกรรมการค้าชายแดน” จ.สระแก้ว วันที่ 7-9 ก.ค.นี้ เปิดบูธนำสินค้าจากผู้ประกอบการไทยและกัมพูชาจำหน่ายกว่า 50 คูหา จัดสัมมนาติดปีก SMEs ด้วย E-commerce และจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย-คู่ค้า CLMV พร้อมลงพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา (หนองเอี่ยน–สตึงบท) ดันเปิดใช้งานเต็มรูปแบบ เอื้อการขนส่งและส่งออก โดยมี 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ณ ห้าง Big C อรัญประเทศ มีสินค้าจากผู้ประกอบการไทยและกัมพูชาที่ผ่านการคัดเลือกมาร่วมออกร้าน กว่า 50 คูหา 2.การสัมมนา “ติดปีก SMEs ด้วย E-commerce” ณ โรงแรม เดอะ เวโล โฮเต็ล โดยวิทยากรจาก Klangthai.com , EXIM Bank และกระทรวงพาณิชย์ ที่จะมาถ่ายทอดความรู้ในการเพิ่มศักยภาพด้านการค้าต่างประเทศ กฎระเบียบ ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และ 3.การเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย–คู่ค้า CLMV ณ โรงแรม เดอะ เวโล โฮเต็ล เพื่อสร้างและขยายเครือข่ายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ กรมฯ จะลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา (หนองเอี่ยน–สตึงบท) ที่ปัจจุบันได้เปิดใช้งานชั่วคราวแทนจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก ที่ไม่สามารถขนส่งสินค้าผ่านได้ เนื่องจากเหตุอัคคีภัยที่กาสิโนฝั่งปอยเปต โดยหากสามารถเปิดใช้งานด่านบ้านหนองเอี่ยนได้อย่างเต็มรูปแบบ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนจังหวัดสระแก้วได้เป็นอย่างมาก ตลอดจนเพิ่มมูลค่าส่งออกชายแดนไทย–กัมพูชาให้สูงขึ้นในอนาคต ในปี 2565 การค้าชายแดนไทย–กัมพูชา มีมูลค่าการค้ารวม 198,315 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปกัมพูชา 164,186 ล้านบาท นำเข้า 34,129 ล้านบาท และไทยได้ดุลการค้า 130, 058 ล้านบาท ซึ่งจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก (ด่านศุลกากรอรัญประเทศ) จังหวัดสระแก้ว เป็นด่านที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 103,062 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.77 ของการส่งออกชายแดนไทย–กัมพูชาทั้งหมด

ที่มา : https://www.amarintv.com/spotlight/positioning/detail/48347

ความหวังผู้ส่งออกไทย เร่งตั้ง ‘รัฐบาลใหม่’ ดันตลาดครึ่งปีหลัง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือน พ.ค.2566 มีมูลค่ารวม 24,340 ล้านดอลลาร์ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วหดตัวร้อยละ 4.6 แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเดือน ม.ค.2566 ที่มูลค่า 20,249 ล้านดอลลาร์ ติดลบร้อยละ 4.5 ต่ำที่สุดในรอบ 23 เดือน ซึ่งกล่าวเสริมว่าการส่งออกได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและยังดีกว่าบางกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย จึงมองว่าเดือน มิ.ย. นี้จะเห็นตัวเลขที่ดีขึ้น และหากดูในแง่ของดัชนีผู้ซื้อ เรื่องการฟื้นตัวของจีนแม้ว่าจะฟื้นตัวช้าแต่ก็ยังสามารถบังคับคองไปได้ ดีกว่าโซนภูมิภาคยุโรป และอีกตลาดที่มีกำลังซื้อที่สำคัญ คือ อินเดีย สำหรับสถานการณ์ความเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 29 มิ.ย.2566 อยู่ที่ 35.64 บาทต่อดอลลาร์ หากมองปีต่อปีพบว่าอ่อนค่า 1.7% และหากเทียบกับช่วงเดือน ม.ค.2566 อ่อนค่าที่ 3.19% เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินภูมิภาค แต่ถือเป็นทิศทางที่ดีของผู้ประกอบการส่งออกในไทย และอีกปัจจัยคือสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอน จึงส่งผลให้การไหลออกของตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมากระทบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องมุ่งส่งสินค้าที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นไปยังคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐที่ไทยส่งออกเกือบร้อยละ 20 รวมถึงเร่งสิ่งสินค้าไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ที่จะพึ่งพาและพึ่งพิงได้ รวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV (เวียดนาม สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา) ที่ต้องเร่งการค้าชายแดน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1076884

ส่องความพร้อม ศักยภาพตลาด และโอกาสการค้า e–Commerce ใน CLMV

Bangkok Bank SME ขอพาทุกท่านมาสำรวจตลาดการค้า e–Commerce ของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ว่าในแต่ละประเทศมีการพัฒนา และปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างไรบ้าง  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจจะนำไปสู่การปรับกลยุทธ์การค้า การลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของ SME ไทยเพิ่มมากขึ้น

.

กัมพูชา (Cambodia)

ตลาด e–Commerce ที่น่าจับตามอง
การค้า e–Commerce ภายในประเทศกัมพูชา มีการพัฒนาระบบการชำระเงินมากขึ้น ขณะที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ มีการปรับใช้ระบบ GPS ในการให้บริการมากขึ้นเช่นกัน ทว่ายังพบว่ามีปัญหาในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน และระบบ ICT (Information And Communication Technology) รวมถึงยังขาดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เหมาะสม ประกอบกับปัญหาในการจัดเก็บและรวบรวมฐานทะเบียนที่อยู่ประชากร ที่ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการจัดส่งสินค้าบ่อยครั้ง สำหรับแพลตฟอร์ม e–Commerce ยอดนิยม ได้แก่ Glad Market ซึ่งเป็นตลาดออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด รองลงมาคือ Shop168 และ MALL855 ซึ่งพัฒนารูปแบบการให้บริการเป็นแอปพลิเคชัน โดยเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีบนอุปกรณ์แอนดรอยด์
.

สปป.ลาว (Lao)

e–Commerce ระยะตั้งต้น แต่โอกาสการเติบโต..ไม่ควรมองข้าม
เนื่องจากแพลตฟอร์ม e–Commerce ภายในประเทศลาวยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จำนวนผู้ใช้งานยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งประชากรลาวส่วนใหญ่ยังซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างไม่เป็นทางการ รวมถึงยังมี Official shop account ของผู้ประกอบการไม่มาก ซึ่งต้องอาศัยยุทธศาสตร์ในการพัฒนาตลาด e–Commerce ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบฐานทะเบียนที่อยู่ และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม แพลตฟอร์ม e–Commerce ยอดนิยม ได้แก่ Plaosme ซึ่งสนับสนุนให้กลุ่ม SME มีพื้นที่ขายสินค้าทั้งในประเทศและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
.

เมียนมา (Myanmar)

ระบบ e–Commerce ที่ยังต้องพัฒนาอีกมาก
ระบบการค้า e–Commerce ของประเทศเมียนมาร์ยังขาดความพร้อมในการพัฒนา ไม่ว่าจะมองในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ ICT โลจิสติกส์ ระบบการชำระเงิน และอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังขาดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและอาชญากรรมทางไซเบอร์โดยเฉพาะ  ประกอบกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ยังไม่ครอบคลุม ทำให้อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรมีเพียง 33.4% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมืองใหญ่อย่าง ย่างกุ้ง ทว่าประชากรในประเทศเมียนมาร์ เริ่มมีความสนใจการใช้งานระบบการค้า e–Commerce มากขึ้นจากเดิม และยังมีแพลตฟอร์มซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอีกด้วย  แพลตฟอร์ม e–Commerce ยอดนิยม ได้แก่ BaganMart, OneKyat และ Shop.com.mm
.

เวียดนาม (Vietnam)

ตลาด e–Commerce ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว 
นับว่าเป็นประเทศที่ตลาด e–Commerce มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ประชากรในประเทศนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น อีกทั้งยังมีการพัฒนาในส่วนของระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ ICT ระบบการขนส่ง ระบบการชำระเงิน และการส่งเสริมตลาด e–Commerce จากทั้งภาครัฐฯ และภาคเอกชนด้วย  แพลตฟอร์ม e–Commerce ยอดนิยม ได้แก่ Lazada ซึ่งเข้ามาลงทุนในตลาดเวียดนามตั้งแต่ปี 2555 นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ Thegioididong ที่สามารถรองรับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และการทำธุรกรรมผ่านธนาคารได้อีกด้วย
.

เช็คลิสต์สินค้าไทยโอกาสทองส่งออกไปCLMV

หลังจากการสถานการณ์การค้าชายแดนและผ่านแดนเริ่มคลี่คลายหลังจากสถานการณ์โควิดมีทิศทางที่ดีขึ้นและประเทศเพื่อนบ้านเริ่มเปิดด่านและมีกิจกรรมจากเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้การค้าชายแดนและผ่านแดนในปีที่ผ่านมากลับคึกคัก โดยการค้าชายแดนและผ่านแดนของปี 2565 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,790,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.44% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามแม้ว่าการค้าชายแดนและผ่านแดนในเดือนมกราคาละลดลงแต่สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไม่ว่าจะเป็น  น้ำยางข้น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ ของรถยนต์ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป  รถยนต์นั่ง (เครื่องสันดาปภายใน) รถปิคอัพ รถบัส และรถบรรทุก (เครื่องสันดาปภายใน) เครื่องดื่มอื่นๆ (นม UHT น้ำมะพร้าว กาแฟ) และโทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟนยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดเพื่อนบ้าน แสดงให้เห็นว่าโอกาสของสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องทั้งปี  ซึ่งปัจจัยสนับสนุนการส่งออกยังคงเป็นค่าเงินบาท ซึ่งช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น   บวกกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสินค้าจำเป็นทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งสินค้าไทยยังคงได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการในตลาดเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศ CLMV และการฟื้นตัวในภาคการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า/เศรษฐกิจโลก

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/560221

ตลาด“CLMV”โตสวนศก.โลก

เศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้รับแรงขับเคลื่อนที่ดีจาก “ภาคการท่องเที่ยว” ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดการณ์ ขณะเดียวกันการบริโภคภายในประเทศก็เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ โดยเฉพาะช็อปดีมีคืน ส่วน “ภาคการส่งออก” เริ่มส่งสัญญาณแผ่วลง ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว

ทั้งนี้ หนึ่งในแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบของภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลงนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับการมองหาตลาดส่งออกใหม่ โดยเฉพาะ “ตลาดเพื่อนบ้าน” เนื่องจากยังมีโอกาสและแนวโน้มการเติบโตที่ค่อนข้างสูง สอดคล้องกับมุมมองของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ EIC ที่คาดว่าเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมาและเวียดนาม) ในปี 2566 จะขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น สวนกระแสเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แม้ว่าการเติบโตจะยังต่ำกว่าศักยภาพเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ก็ตาม

อีกทั้ง คาดว่าเศรษฐกิจ CLMV ในปีนี้ ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ โดยประเมินว่าในปีนี้กัมพูชาจะขยายตัวได้ 5.5%, สปป.ลาว และเมียนมา ขยายตัวได้ 3% และเวียดนาม ขยายตัวได้ 6.2%

ที่มา : https://www.thaipost.net/columnist-people/327976/

เปิดหน้าต่างบานใหม่ของการส่งออกไทยในยามเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

โดย วิชาญ กุลาตี, ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

การส่งออกสินค้าไทยหดตัวต่อเนื่อง ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอลง

การส่งออกสินค้าที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มหดตัวตามอุปสงค์โลกที่ชะลอลง ในระยะต่อไปการส่งออกไทยดูไม่สดใสนัก สะท้อนจากดัชนี Global Manufacturing PMI ในเดือนมกราคมที่ยังหดตัว กอปรกับยอดคำสั่งซื้อใหม่และยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ การส่งออกไทยจะเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางการค้าโลก เช่น การเริ่มใช้ภาษี Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป รวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยของอินเดียที่จะส่งผลต่อสินค้าส่งออกไทยหลายชนิด โดย SCB EIC คาดว่าการส่งออกสินค้าไทยจะขยายตัวได้เพียง 1.2% ในปี 2023 (ตัวเลขในระบบดุลการชำระเงิน)

 

ท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดตะวันออกกลาง CLMV และลาตินอเมริกา

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวชะลอลงเป็น 1.7% ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก และการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางการค้าโลกที่กำลังเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทย ภาคเอกชนและภาครัฐจึงจำเป็นต้องหาตลาดส่งออกใหม่ SCB EIC ประเมินว่า มีตลาดสามแห่งที่มีศักยภาพน่าจับตา ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลางที่อาจได้รับอานิสงส์จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ตลาด CLMV ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตดีและได้รับการผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐ และตลาดลาตินอเมริกาที่เป็นตลาดส่งออกเป้าหมายใหม่ในเชิงนโยบายของไทย

 

ตลาด CLMV

SCB EIC ประเมินว่า การส่งออกจากไทยไป CLMV จะขยายตัวได้ในช่วง 6-8% ในปี 2023 โดยมีแนวโน้มที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางตามเศรษฐกิจ CLMV ที่จะเติบโตได้สูงกว่าเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงตลาดนี้ยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐต่อเนื่อง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-140223