ส่องความพร้อม ศักยภาพตลาด และโอกาสการค้า e–Commerce ใน CLMV

Bangkok Bank SME ขอพาทุกท่านมาสำรวจตลาดการค้า e–Commerce ของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ว่าในแต่ละประเทศมีการพัฒนา และปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างไรบ้าง  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจจะนำไปสู่การปรับกลยุทธ์การค้า การลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของ SME ไทยเพิ่มมากขึ้น

.

กัมพูชา (Cambodia)

ตลาด e–Commerce ที่น่าจับตามอง
การค้า e–Commerce ภายในประเทศกัมพูชา มีการพัฒนาระบบการชำระเงินมากขึ้น ขณะที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ มีการปรับใช้ระบบ GPS ในการให้บริการมากขึ้นเช่นกัน ทว่ายังพบว่ามีปัญหาในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน และระบบ ICT (Information And Communication Technology) รวมถึงยังขาดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เหมาะสม ประกอบกับปัญหาในการจัดเก็บและรวบรวมฐานทะเบียนที่อยู่ประชากร ที่ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการจัดส่งสินค้าบ่อยครั้ง สำหรับแพลตฟอร์ม e–Commerce ยอดนิยม ได้แก่ Glad Market ซึ่งเป็นตลาดออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด รองลงมาคือ Shop168 และ MALL855 ซึ่งพัฒนารูปแบบการให้บริการเป็นแอปพลิเคชัน โดยเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีบนอุปกรณ์แอนดรอยด์
.

สปป.ลาว (Lao)

e–Commerce ระยะตั้งต้น แต่โอกาสการเติบโต..ไม่ควรมองข้าม
เนื่องจากแพลตฟอร์ม e–Commerce ภายในประเทศลาวยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จำนวนผู้ใช้งานยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งประชากรลาวส่วนใหญ่ยังซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างไม่เป็นทางการ รวมถึงยังมี Official shop account ของผู้ประกอบการไม่มาก ซึ่งต้องอาศัยยุทธศาสตร์ในการพัฒนาตลาด e–Commerce ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบฐานทะเบียนที่อยู่ และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม แพลตฟอร์ม e–Commerce ยอดนิยม ได้แก่ Plaosme ซึ่งสนับสนุนให้กลุ่ม SME มีพื้นที่ขายสินค้าทั้งในประเทศและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
.

เมียนมา (Myanmar)

ระบบ e–Commerce ที่ยังต้องพัฒนาอีกมาก
ระบบการค้า e–Commerce ของประเทศเมียนมาร์ยังขาดความพร้อมในการพัฒนา ไม่ว่าจะมองในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ ICT โลจิสติกส์ ระบบการชำระเงิน และอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังขาดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและอาชญากรรมทางไซเบอร์โดยเฉพาะ  ประกอบกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ยังไม่ครอบคลุม ทำให้อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรมีเพียง 33.4% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมืองใหญ่อย่าง ย่างกุ้ง ทว่าประชากรในประเทศเมียนมาร์ เริ่มมีความสนใจการใช้งานระบบการค้า e–Commerce มากขึ้นจากเดิม และยังมีแพลตฟอร์มซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอีกด้วย  แพลตฟอร์ม e–Commerce ยอดนิยม ได้แก่ BaganMart, OneKyat และ Shop.com.mm
.

เวียดนาม (Vietnam)

ตลาด e–Commerce ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว 
นับว่าเป็นประเทศที่ตลาด e–Commerce มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ประชากรในประเทศนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น อีกทั้งยังมีการพัฒนาในส่วนของระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ ICT ระบบการขนส่ง ระบบการชำระเงิน และการส่งเสริมตลาด e–Commerce จากทั้งภาครัฐฯ และภาคเอกชนด้วย  แพลตฟอร์ม e–Commerce ยอดนิยม ได้แก่ Lazada ซึ่งเข้ามาลงทุนในตลาดเวียดนามตั้งแต่ปี 2555 นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ Thegioididong ที่สามารถรองรับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และการทำธุรกรรมผ่านธนาคารได้อีกด้วย
.