นายกฯเร่งส่งเสริมแข็งแกร่ง SMEs ไทยขับเคลื่อนอุตฯ MICE

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดนโยบายในการส่งเสริม SMEs และ อุตสาหกรรม MICE ด้วยตระหนักดีว่าเป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพ และมีความสำคัญ กระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ สร้างงาน อาชีพ กระจายรายได้ และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประกาศเป้าหมายซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลร่วมมือกับทุกภาคส่วนกำหนด รวมทั้งกรอบระยะเวลาดำเนินงาน ผ่านมาตรการส่งเสริม SMEs 9 ด้าน ที่จะผลักดันให้ GDP ของ SMEs ไทยเพิ่มจาก 35.2% เป็น 40% ได้ภายในปี 2570 พร้อมกันนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ เป็นอีกภาคส่วนที่มีศักยภาพรัฐบาลต้องการผลักดันเพราะเป็น อุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเพื่อใช้เป็นปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว เป็นจุดเชื่อมต่อเที่ยวบินระหว่างประเทศจากทั่วโลก และการอำนวยความสะดวกเรื่องการขอวีซ่าและสถานที่ ในการจัดแสดงสินค้าของประเทศในการยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจสำหรับการจัดประชุมและแสดงสินค้าที่มีศักยภาพ และพร้อมรองรับนักเดินทาง MICE ต่างชาติซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี พิจารณาถึงภาคส่วนที่ไทยมีศักยภาพ พร้อมให้การสนับสนุน เพื่อสร้างโอกาส ทั้งผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีศักยภาพ ทั้งความสร้างสรรค์ และคุณภาพ พร้อมการแข่งขันกับทุกตลาด และการขับเคลื่อน MICE ไทยให้เป็นอีกจุดหมายสำคัญของการจัดประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เป็นจุดหมายปลายทางของ MICE โลก ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าทั้งสองอุตสาหกรรมจะเป็นเครื่องจักรสำคัญที่จะสร้างงานผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ภาพจาก : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/politics/news_676866/

‘เวียดนาม’ เผยผปก. SMEs เติบโตบนแพลตฟอร์มอเมซอน ดันส่งออกโต 50%

จากรายงานของแพลตฟอร์มชื่อดัง ‘อเมซอน (Amazon)’ เปิดเผยว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของเวียดนาม เล็งเห็นถึงประโยชน์จากแพลตฟอร์มอเมซอน ทั้งการเพิ่มยอดขายของสินค้าและการสร้างแบรนด์ให้สามารถตีตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งจากข้อมูลสถิติพบว่ายอดการส่งออกของคู่ค้าเวียดนามบนแพลตฟอร์มอเมซอน ขยายตัวกว่า 50% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเฉพาะสินค้าในหมวดของใช้ในครัว สุขภาพ เครื่องแต่งกายและความงามที่กลายเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้มากที่สุดบนแพลตฟอร์มอเมซอน และมีแนวโน้มที่จะผลิตและส่งออกสินค้าประเภทอื่นๆ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น

ทั้งนี้ อีคอมเมิร์ซเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จในการส่งออกของธุรกิจเวียดนาม โดยจำนวนพันธมิตรการขายบนแพลตฟอร์มของอเมซอน เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% และขยายไปสู่ธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่ผู้ค้าปลีกที่มีชื่อเสียงอย่าง ‘Lamer’ ไปจนถึงผู้ผลิตแบบดั้งเดิม ‘Beefurni’ และสตาร์ทอัพอย่าง ‘Tidita’ และ ‘Abera’ ได้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคต่างประเทศ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650393/vietnamese-smes-thrive-on-amazon-export-growing-50.html

CGCC อนุมัติสินเชื่อสำหรับ SMEs กัมพูชา มูลค่ารวมกว่า 160 ล้านดอลลาร์

บริษัทประกันเครดิตแห่งกัมพูชา (CGCC) ได้ให้การค้ำประกันสินเชื่อมูลค่ารวมกว่า 164.7 ล้านดอลลาร์ ให้แก่ SMEs ในกัมพูชา ณ เดือนธันวาคม 2023 โดยมีผู้ประกอบการกว่า 1,928 แห่ง ได้รับการอนุมัติ เพื่อหวังกระตุ้นการลงทุน และการขยายธุรกิจ สำหรับยอดเงินกู้ค้ำประกันคงค้างในปัจจุบันอยู่ที่มูลค่า 116.1 ล้านดอลลาร์ และยอดค้ำประกันคงค้างอยู่ที่ 83.6 ล้านดอลลาร์ ที่ทาง CGCC เป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งปัจจุบันได้ค้ำประกันร่วมกับสถาบันการเงินกว่า 27 แห่ง (PFI) เพื่อกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501427481/cgcc-provides-over-us160-million-credit-supports-to-smes/

‘ภูมิธรรม’ มอบนโยบาย ‘กรมเจรจาฯ’ ลุยเปิด FTA กับตลาดใหม่ หนุนเกษตรกร SMEs เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ตรวจเยี่ยมและประชุมมอบนโยบายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พร้อมด้วยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คณะที่ปรึกษา และคณะทำงาน โดยนายภูมิธรรม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อขยายโอกาสให้สินค้าและบริการของไทย รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย โดยเฉพาะสาขาเป้าหมายที่จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศ จึงได้สั่งการให้กรมมุ่งการเจรจาเชิงรุกเพื่อเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ๆ และจัดทำแผนการเจรจา FTA ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดลำดับความสำคัญและเร่งด่วน โดยคำนึงถึงประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหภาพยุโรป (อียู) ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรมากกว่า 447 ล้านคน สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นนักลงทุนในระดับโลก และเกาหลีใต้ ที่จะเตรียมเปิดเจรจาเพิ่มเติมในปี 2567 ซึ่งจะช่วยสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีความเข้มแข็งในการผลักดัน Soft Power ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล

ที่มา : https://www.dtn.go.th/th/content/category/detail/id/22/iid/12547

รัฐบาล สปป.ลาว อัดฉีดเงิน 7.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หวังยกระดับ SMEs แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สปป.ลาว ได้อัดฉีดเม็ดเงินราว 1.52 แสนล้านกีบ หรือประมาณ 7.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับช่วยเหลือ SMEs ในลาว เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งอัตราเงินเฟ้อ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ราคาสินค้าที่สูงขึ้น และหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาล สปป.ลาว ยังได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินที่ตกต่ำ

ที่มา : https://english.news.cn/20231024/2184a85d8c0a4758b88b6aff83ac8e9e/c.html

กัมพูชา-ออสเตรเลีย เปิดตัวนวัตกรรมอาหาร หวังดัน SMEs ภาคเกษตรและอาหาร

กัมพูชาและออสเตรเลียพร้อมให้ความร่วมมือระหว่างกันในการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมอาหาร เพื่อสนับสนุนกิจการขนาดย่อม (SMEs) ของภาคการเกษตรและอาหาร ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงปรับปรุงสายการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร และเสริมสร้างการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกัมพูชาผ่านองค์กร Khmer Enterprise และรัฐบาลออสเตรเลียผ่านความร่วมมือ Cambodia Australia Partnership for Resilient Economic Development (CAPRED) ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งโครงการนี้ยังร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติกัมพูชาในการช่วยสนับสนุน SMEs นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังให้เกิดการจัดการประชุมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และความคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมอาหารผ่านการจัดงานครั้งแรกเรื่อง Agri-Food Innovation Summit โดยนำ SMEs, นักวิจัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันในการแบ่งปันความรู้และความคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมอาหาร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501366475/cambodia-and-australia-launch-food-innovation-partnership-to-support-agri-food-smes/

EXIM BANK จับมือ SME D Bank เติมเต็มบริการ ติดปีก SMEs ไทยสู่ตลาดโลก

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ SME D EXIM ARI CONNEXT “เติมทุน เสริมทักษะ ยกระดับ SMEs ไทยสู่เวทีโลก” ณ SME D Bank สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อในการเติมความรู้ เติมโอกาส เติมเงินทุนอย่างครบวงจรและตอบทุกโจทย์ (Total Solutions) ของผู้ประกอบการ SMEs ไทยตลอด Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เชื่อมโยงไปสู่ Supply Chain การค้าโลก ภายใต้ความร่วมมือ ผู้ประกอบการไทยจะได้รับอบรมบ่มเพาะโดย EXIM BANK ร่วมกับ SME D Bank และพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศจากทั้งสองธนาคาร เพื่อให้สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจการค้าภายในประเทศและส่งออกได้ โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่ต้องการเงินทุนเกิน 50 ล้านบาทจะได้รับการสนับสนุนโดย EXIM BANK เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของ SMEs ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ที่มา : https://www.mitihoon.com/2023/07/21/394511/

กระทรวงฯ พร้อมหนุน SMEs เพื่อความยั่งยืน

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในกัมพูชา ถือมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (MISTI) จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมให้ SMEs ด้วยหลักการของความยั่งยืนให้เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ ผ่านกลยุทธ์ IBeeC ซึ่งได้หารือกันในระหว่างการประชุม Sustainable Business Forum ที่จัดโดย Oxfam and Young Entrepreneurs Association of Cambodia (YEAC) เพื่อเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ร่วมกับภาคองค์กรพัฒนาเอกชนจะสามารถช่วยให้ SME/MSMEs ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความยั่งยืนในอนาคต ในขณะเดียวกัน Credit Guarantee Corporation of Cambodia (CGCC) พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการโดยในช่วงที่ผ่านมาองค์กรได้ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการไปแล้วมูลค่ากว่า 113.6 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ กระจายไปยังภาคธุรกิจต่างๆ เกือบ 1,300 แห่ง ทั่วประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501321304/ministry-urges-smes-to-embrace-sustainability-inclusiveness/

“พาณิชย์” จัดมหกรรมการค้าชายแดน จ.สระแก้ว วันที่ 7-9 ก.ค.นี้

กรมการค้าต่างประเทศจัดงาน “มหกรรมการค้าชายแดน” จ.สระแก้ว วันที่ 7-9 ก.ค.นี้ เปิดบูธนำสินค้าจากผู้ประกอบการไทยและกัมพูชาจำหน่ายกว่า 50 คูหา จัดสัมมนาติดปีก SMEs ด้วย E-commerce และจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย-คู่ค้า CLMV พร้อมลงพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา (หนองเอี่ยน–สตึงบท) ดันเปิดใช้งานเต็มรูปแบบ เอื้อการขนส่งและส่งออก โดยมี 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ณ ห้าง Big C อรัญประเทศ มีสินค้าจากผู้ประกอบการไทยและกัมพูชาที่ผ่านการคัดเลือกมาร่วมออกร้าน กว่า 50 คูหา 2.การสัมมนา “ติดปีก SMEs ด้วย E-commerce” ณ โรงแรม เดอะ เวโล โฮเต็ล โดยวิทยากรจาก Klangthai.com , EXIM Bank และกระทรวงพาณิชย์ ที่จะมาถ่ายทอดความรู้ในการเพิ่มศักยภาพด้านการค้าต่างประเทศ กฎระเบียบ ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และ 3.การเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย–คู่ค้า CLMV ณ โรงแรม เดอะ เวโล โฮเต็ล เพื่อสร้างและขยายเครือข่ายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ กรมฯ จะลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา (หนองเอี่ยน–สตึงบท) ที่ปัจจุบันได้เปิดใช้งานชั่วคราวแทนจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก ที่ไม่สามารถขนส่งสินค้าผ่านได้ เนื่องจากเหตุอัคคีภัยที่กาสิโนฝั่งปอยเปต โดยหากสามารถเปิดใช้งานด่านบ้านหนองเอี่ยนได้อย่างเต็มรูปแบบ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนจังหวัดสระแก้วได้เป็นอย่างมาก ตลอดจนเพิ่มมูลค่าส่งออกชายแดนไทย–กัมพูชาให้สูงขึ้นในอนาคต ในปี 2565 การค้าชายแดนไทย–กัมพูชา มีมูลค่าการค้ารวม 198,315 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปกัมพูชา 164,186 ล้านบาท นำเข้า 34,129 ล้านบาท และไทยได้ดุลการค้า 130, 058 ล้านบาท ซึ่งจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก (ด่านศุลกากรอรัญประเทศ) จังหวัดสระแก้ว เป็นด่านที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 103,062 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.77 ของการส่งออกชายแดนไทย–กัมพูชาทั้งหมด

ที่มา : https://www.amarintv.com/spotlight/positioning/detail/48347

CGCC ค้ำประกันสินเชื่อแก่ SMEs กัมพูชากว่า 113 ล้านดอลลาร์

สถาบันค้ำประกันสินเชื่อ ประเทศกัมพูชา (CGCC) ให้การค้ำประกันสินเชื่อมูลค่ารวม 113.6 ล้านดอลลาร์ แก่ภาคธุรกิจ SMEs ในกัมพูชา เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยได้ปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจเกือบ 1,300 แห่ง จนถึงขณะนี้ CGCC ได้จัดทำแผนการค้ำประกัน 3 รูปแบบ ได้แก่ โครงการการรับประกันการฟื้นตัวของธุรกิจ (BRGS) ที่เปิดตัวในเดือนมีนาคม 2022, โครงการการรับประกันทางการเงินร่วม (CFGS) เปิดตัวในช่วงเดือนกันยายน 2021 และโครงการการรับประกันผู้ประกอบการหญิง ซึ่งเปิดตัวในเดือนเมษายน 2022 โดยปัจจุบัน CGCC ได้ขยายระยะเวลาโครงการ BRGS นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2023 ไปจนกว่าจะครบตามวงเงินกู้ที่ได้กำหนดไว้ที่มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501278434/credit-guarantees-to-smes-reach-113-million/