ครบรอบ 1 ปี รถไฟจีน-สปป.ลาว … การค้าผ่านแดนไทยไปจีนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

แม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทยไปจีนช่วง 10 เดือนแรกปี 2565 ในรูปเงินบาทจะเติบโตช้าที่ 2.8% และการส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงเดียวกันก็หดตัวถึง 27.3% (YoY) มีมูลค่าส่งออกที่ 1.26 แสนล้านบาท แต่การส่งออกผ่านแดนบางเส้นทางยังคงเติบโตได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการขนส่งไปยังมณฑลหยุนหนานทั้งการขนส่งด้วยรถบรรทุกและการขนส่งผ่านรถไฟจีน-สปป.ลาว ที่เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2564 ผ่านมาครบ 1 ปี การขนส่งผ่านแดนยังคงมีสัญญาณบวกเติบโตได้อีกในระยะข้างหน้า ดังนี้

– ในช่วงโควิด-19 ระบาดการขนส่งผ่านแดนเป็นตัวช่วยสำคัญในการส่งสินค้าเข้าสู่จีน โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นรวดเร็วเป็น 17% ของมูลค่าการส่งออกทุกช่องทางไปจีนในปี 2564 (จากเคยอยู่ที่ 12.4% ในปี 2562)

– ปัจจุบันการขนส่งผ่านแดนระหว่างไทยกับจีนมี 4 เส้นทาง ซึ่งสามารถส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ถึงจีนด้วยระยะเวลาเพียง 2-5 วัน และเส้นทางเหล่านี้จะยิ่งคึกคักขึ้นจากการเตรียมเปิดเส้นทางขนส่งช่องทางที่ 5

– กำลังซื้อที่มาจากจีนตอนใต้ มณฑลหยุนหนานและเขตปกครองตนเองกว่างซียังมีโอกาสเติบโตในระยะข้างหน้า โดยในเวลานี้การส่งออกไปยังพื้นที่จีนตอนใต้เติบโตสวนกระแสการหดตัวของการส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในภาพรวม ทั้งการส่งออกผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 จ.เชียงราย ไปยังมณฑลหยุนหนานยังขยายตัวถึง 27.9% (YoY) เช่นเดียวกับช่องทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวที่เปิดใช้งานมา 1 ปี มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 1,569 ล้านบาท เบื้องต้นมีสัดส่วน 1.3% ของการส่งออกผ่านแดนไปจีน จากที่ไม่เคยมีการขนส่งด้วยช่องทางนี้มาก่อน สินค้าที่น่าจับตา ได้แก่ ผลไม้ เครื่องสำอาง น้ำพริกปรุงรส เครื่องแกง มันสำปะหลัง ถั่ว ของแต่งบ้าน รวมถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกใหม่ที่น่าจับตา

– การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนตอนใต้สามารถส่งต่อสินค้าไปยังภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนได้อย่างรวดเร็วด้วยเครือข่ายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพของจีน โดยเฉพาะสินค้าเพื่อการบริโภคที่จีนผลิตไม่ได้และเป็นสินค้าที่เป็นจุดเด่นของไทย รวมถึงสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตในกลุ่มสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบสำคัญของไทยอย่างยางพาราและเม็ดพลาสติก สามารถนำไปต่อยอดผลิตในมณฑลฉงชิ่งและเมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งของพื้นที่ตอนในเชื่อมโยงการขนส่งทั่วจีน และเชื่อมการขนส่งสินค้าไปยุโรป

อย่างไรก็ดี จากมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดของจีนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และด้วยฐานการส่งออกที่สูงในปีก่อนหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปี 2565 แม้จะมีแรงส่งจากกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปลายปี แต่ด้วยการส่งออกที่อ่อนแรงในช่วงที่ผ่านมาทำให้ทั้งปี 2565 การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนหดตัวที่ 25% มีมูลค่า 145,000 ล้านบาท

ในระยะต่อไปต้องจับตา การผ่อนปรนมาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่เริ่มส่งสัญญาณบวก และแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่หันมาพึ่งพิงการบริโภคในประเทศมากขึ้น ท่ามกลางการส่งออกในภาพรวมไปจีนที่ไม่สดใสนัก แต่การกระจายการขนส่งไปยังเส้นทางการค้าผ่านแดนทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทยเพื่อส่งไปยังจีนตอนใต้น่าจะเป็นอีกช่องทางที่สร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปจีนยังพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ตอนในประเทศของจีนมากขึ้น

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Thai-China-lao-FB-13-12-2022.aspx

EIC CLMV Outlook Q1/2021

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลกและการระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2020 โดยเวียดนามและเมียนมามีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ขณะที่เศรษฐกิจลาวและกัมพูชาเผชิญการหดตัวจากปัจจัยด้านลบรายประเทศเพิ่มเติม ในภาพรวมนั้นแม้เศรษฐกิจ CLMV จะมีสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 แต่ในช่วงที่ผ่านมาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเป็นไปอย่างช้า ๆ ยกเว้นเวียดนามซึ่งได้อานิสงส์จากการส่งออกที่แข็งแกร่งและความสำเร็จในการควบคุมการระบาด COVID-19

สำหรับในปี 2021 EIC ประเมินว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวมจะยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ยังไม่ทั่วถึง โดยขึ้นอยู่กับสามปัจจัยหลักได้แก่

  1. ประสิทธิภาพของมาตรควบคุมการระบาด COVID-19 และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง
  2. ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ระหว่างที่รอการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในภูมิภาค (herd immunity) ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นในปี 2022
  3. ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะรายประเทศ เช่น ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลลาว และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ปะทุขึ้นในเมียนมา

ซึ่งหากเปรียบเทียบกันในภูมิภาคแล้วนั้นเศรษฐกิจของเวียดนามน่าจะขยายตัวได้เร็วที่สุดจากทั้งภาคการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงขยายตัวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่เศรษฐกิจของเมียนมายังคงมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องในปีนี้จากปัจจัยลบทั้งสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ต่อเนื่องและปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง

กัมพูชา :

  1.  ฟื้นตัวอย่างค่อนเป็นค่อนไปตามเศรษฐกิจโลกและ FDI ที่ทยอยกลับมา โดยเฉพาะจากจีน
  2. ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 และมาตรการทางการคลังเป็นแรงสนับสนุนหลักต่ออุปสงค์ภายในประเทศ
  3. ข้อตกลงการค้าเสรีจีนกัมพูชาจะช่วยผลักดันการฟื้นตัวของการส่งออกในปี 2021
  4. การท่องเที่ยวที่ยังคงซบเซาต่อเนื่องเป็นความเสี่ยงสำคัญ

สปป.ลาว :

  1. ฟื้นตัวปานกลางด้วยอานิสงส์จากการกลับมาเปิดด่านค้าชายแดนและการคลายมาตรการ Lockdown ในประเทศ
  2. การค้าและ FDI ที่กลับมาฟื้นตัวจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว
  3. มาตรการกระตุ้นทางการคลังจะยังมีขนาดเล็กจากขีดความสามารถการทำนโยบายการคลุง (fiscal space) ที่จำกัด
  4. หนี้สาธารณธที่อยู่ในระดับสูงขณะที่เงินกีบอ่อนค่าลงต่อเนื่อง การขาดแคลนเงินสำรองระหว่างประเทศ และการถูกปรับลดอันดับเครดิต ถือเป็นความเสี่ยงหลักต่อการบริหารจัดการหนี้

เมียนมา :

  1. ฟื้นตัวช้าท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่และความไม่แน่นอนทางการเมือง
  2. การส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโมฟื้นตัวไปอย่างช้าๆ หลังทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown
  3. FDI จะยังซบเซา เนื่องจากนักลงทุนชะลอแผนการลงทุนออกไปหลังเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมือง
  4. เหตุการณ์ประท้วงที่ลุกลามในประเทศและแนวโน้วถูกคว่ำบาตรเป็นความเสี่ยงหลักการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

เวียดนาม :

  1. การส่งออกที่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลักของเศรษฐกิจ
  2. เศรษฐกิจภายในประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติหลังภาครัฐใช้มาตรการควบคุม COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เครือข่ายข้อตกลงการค้าเสรีที่กว้างขวางจะช่วยผลักดันการส่งออกและดึงดูด FDI อย่างต่อเนื่องในระยะกลาง
  4. ความเสี่ยงที่ต้องจับตาคือการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเวียดนามเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน แม้จะยังไม่มีมาตรการตอบโต้จากสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการก็ตาม

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7392