SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ขยายตัวต่อเนื่องจากแรงส่งการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว แม้มีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความเสี่ยงเฉพาะประเทศ

โดย ปัณณ์ พัฒนศิริ และ ดร.ฐิติมา ชูเชิด จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2023

โดยประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 5.9% สปป.ลาว 4.0% เมียนมา 3.0% และเวียดนาม 5.0% ตามลำดับ จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศของจีน ทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน ตลอดจนการบริโภคภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นตามตลาดแรงงานและแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV จะขยายตัวค่อยเป็นค่อยไปและยังต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 ในปีนี้ ส่วนหนึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยฟื้นตัวแต่ยังต่ำกว่าระดับก่อน COVID-19 การส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ค่อนข้างซบเซาตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลง และปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศ

.

ปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวรายประเทศไม่เหมือนกัน

ประเทศที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง เช่น กัมพูชา มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้นในปีนี้ ช่วยลดทอนผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลงต่อการส่งออกได้ ขณะที่สปป.ลาวได้ประโยชน์จากโครงการโลจิสติกส์ต่าง ๆ อาทิ รถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาว และจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าท่าแห้งท่านาแล้ง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและการขนส่งภายในภูมิภาค แม้อัตราเงินเฟ้อสูงยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจอยู่ สำหรับเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมาก เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ อีกทั้ง ยังเผชิญภาวะการเงินในประเทศตึงตัวขึ้นมาก ส่งผลให้ธุรกิจบางกลุ่ม โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ ระดมทุนได้ยาก ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชนไประยะหนึ่ง

.

ความเปราะบางเชิงโครงสร้างกดดันให้เศรษฐกิจ CLMV บางประเทศขยายตัวต่ำกว่าอดีต

ในระยะปานกลาง SCB EIC คาดว่า กัมพูชาและเวียดนามจะสามารถกลับมาขยายตัวใกล้ค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในปีนี้เป็นปัจจัยชั่วคราวและคาดว่าจะทยอยคลี่คลายได้ แต่สปป.ลาวและเมียนมามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตไปอีกระยะ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยสปป.ลาวมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพภาคต่างประเทศและภาคการคลัง จากระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่ไม่สูงนักในภาวะเงินกีบอ่อนค่าเร็ว และหนี้สาธารณะสูง ส่งผลให้ภาครัฐต้องใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังตึงตัวมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินและอาจพิจารณาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ สำหรับเมียนมาความไม่สงบทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ ส่งผลให้ฟื้นความเชี่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคได้ยาก ขณะที่ชาติตะวันตกขยายมาตรการคว่ำบาตรให้ครอบคลุมบุคคลและนิติบุคคลเพิ่มเติม ส่งผลให้สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในเมียนมาไม่เอื้อต่อการลงทุน และกดดันให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวต่ำในระยะปานกลาง

.

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของ CLMV

แม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง ทิศทางนโยบายการเงินยังขึ้นกับบริบทเศรษฐกิจรายประเทศ อัตราเงินเฟ้อทยอยชะลอตัวในทุกประเทศตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง แต่ทิศทางนโยบายการเงินจะคำนึงถึงบริบทเศรษฐกิจการเงินในประเทศนั้น ๆ เช่น เวียดนามปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ตึงตัวขึ้นมาก โดย SCB EIC คาดว่านโยบายการเงินเวียดนามจะผ่อนคลายต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ และภาคอสังหาฯ ยังคงอ่อนแอคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะก่อนจะทยอยฟื้นตัวได้ ขณะที่นโยบายการเงินสปป.ลาวมีแนวโน้มตึงตัวต่อไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงแม้จะเริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งเป็นผลจากเงินกีบอ่อนค่า ทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นมาก ธนาคารกลางสปป.ลาวจึงต้องเน้นดูแลเสถียรภาพด้านราคาในปีนี้

.

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV ยังคงซบเซาในปีนี้ สอดคล้องกับการชะลอตัวของการค้าภายในภูมิภาคและความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกไทยไป CLMV จะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจ CLMV จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นและฐานส่งออกปีก่อนต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปี สำหรับการลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV ยังคงมีแนวโน้มซบเซาจากหลายปัจจัย อาทิ ต้นทุนการระดมทุนในประเทศสูงขึ้น เศรษฐกิจ CLMV ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในบางประเทศไม่เอื้อต่อการลงทุนและขยายกิจการ ในระยะต่อไป SCB EIC ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV โดยมองว่า ยังเป็นตลาดสำคัญของธุรกิจไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านจำนวนแรงงานและค่าแรง ตลาดในประเทศเติบโตต่อเนื่อง การเข้าร่วมสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และทำเลที่ตั้งซึ่งสามารถเชื่อมไทยไปยังตลาดสำคัญในภูมิภาคได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-190723

ตลาด“CLMV”โตสวนศก.โลก

เศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้รับแรงขับเคลื่อนที่ดีจาก “ภาคการท่องเที่ยว” ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดการณ์ ขณะเดียวกันการบริโภคภายในประเทศก็เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ โดยเฉพาะช็อปดีมีคืน ส่วน “ภาคการส่งออก” เริ่มส่งสัญญาณแผ่วลง ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว

ทั้งนี้ หนึ่งในแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบของภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลงนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับการมองหาตลาดส่งออกใหม่ โดยเฉพาะ “ตลาดเพื่อนบ้าน” เนื่องจากยังมีโอกาสและแนวโน้มการเติบโตที่ค่อนข้างสูง สอดคล้องกับมุมมองของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ EIC ที่คาดว่าเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมาและเวียดนาม) ในปี 2566 จะขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น สวนกระแสเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แม้ว่าการเติบโตจะยังต่ำกว่าศักยภาพเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ก็ตาม

อีกทั้ง คาดว่าเศรษฐกิจ CLMV ในปีนี้ ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ โดยประเมินว่าในปีนี้กัมพูชาจะขยายตัวได้ 5.5%, สปป.ลาว และเมียนมา ขยายตัวได้ 3% และเวียดนาม ขยายตัวได้ 6.2%

ที่มา : https://www.thaipost.net/columnist-people/327976/

Thai economic recovery เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างไร เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ?

โดย วิชาญ กุลาตี ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 เป็นอย่างไร?

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ติดต่อกันที่ 4.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (%YOY) และนับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส ตามสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงน้อยลงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินเป็นปกติมากขึ้น

โดยหากพิจารณาการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านการใช้จ่าย เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกภาคบริการ (การท่องเที่ยว) การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนเป็นหลัก ในขณะที่กิจกรรมทางด้านการผลิตพบว่า หลายภาคเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี นำโดยภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวจากเดิมที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า รวมถึงภาคบริการที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ (รูปที่ 1) เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การขายและการส่งขายปลีก การขนส่ง เป็นต้น

graph01-thailand-economic-recovery.jpg

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 เกาะกลุ่มเพื่อนบ้านแบบรั้งท้าย

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2022 ที่ 4.5% ยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย (14.2%) เวียดนาม (13.7%) ฟิลิปปินส์ (7.6%) หรืออินโดนีเซีย (5.7%) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานที่เศรษฐกิจแต่ละประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดในไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 ไม่เท่ากัน

หากหักปัจจัยฐานออกพบว่าเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านขยายตัวเกาะกลุ่มกัน โดยเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.2%QOQ_sa (เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล) ในขณะที่เศรษฐกิจของมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ขยายตัว 1.9, 0.9, 2.9 และ 0.6%QOQ_sa ตามลำดับ สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่สอดคล้องกันภายในกลุ่ม

แม้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 จะขยายตัวได้เกาะกลุ่มเพื่อนบ้าน แต่เมื่อพิจารณาการฟื้นตัวในภาพรวมพบว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดได้ช้าที่สุดในกลุ่ม โดยเศรษฐกิจของเวียดนามขยายตัวได้ต่อเนื่องและยังไม่เคยถดถอยลงไปอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติ สำหรับเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ แม้จะหดตัวลงแต่สามารถฟื้นตัวกลับไปเทียบเท่าก่อนวิกฤติได้แล้ว ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติในปี 2019 อยู่ราว 2.6% (GDP 4 ไตรมาสล่าสุดเทียบกับปี 2019)

สาเหตุที่เศรษฐกิจแต่ละประเทศในภูมิภาคฟื้นตัวได้รวดเร็วไม่เท่ากันมีหลายประการ เช่น เวียดนามที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ รวมถึงมาเลเซียและฟิลิปปินส์ที่เป็นผู้ส่งออกแผงวรจรไฟฟ้าได้รับอานิสงส์จากความต้องการสินค้าเทคโนโลยีเพื่อรองรับกระแสการทำงานหรือเรียนที่บ้าน จึงทำให้การผลิตและการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวยังขยายตัวได้ดี

ด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซียได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความต้องการจากตลาดโลกสูงแม้จะมีการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีน้อย สิงคโปร์สามารถฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วจากการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ในขณะที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้าเนื่องจากพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูง อีกทั้งมีการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ต่ำเมื่อเทียบกับ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เมื่อการเดินทางระหว่างประเทศถูกควบคุมเข้มงวดจึงทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซบเซา ผู้ประกอบการและแรงงานขาดรายได้หรือมีรายได้ลดลงเป็นจำนวนมาก

graph02-thailand-economic-recovery.jpg

แล้วเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติได้เมื่อไร?

ในปีหน้าประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึง (Uneven) ภายใต้ความไม่แน่นอนสูง โดยภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์คงค้าง (Pent-up demand) และการทยอยลดมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ภาคบริการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ปรับตัวดีขึ้น

อีกทั้ง การบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานกลับมาเป็นปกติมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกที่เป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงโควิดมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวภายใต้ความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งแรงส่งจากทางภาครัฐจะลดลงตามงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดมากขึ้นหลังจากเม็ดเงินกระตุ้นพิเศษภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้าน และ 5 แสนล้าน ที่หมดลง

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ในโลกที่ยังเป็นประเด็นอยู่มาก เช่น สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ข้อพิพาทระหว่างจีน-ไต้หวัน นโยบาย Zero-COVID ของจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการผลิตของไทย รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งในปี 2023 ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคการผลิตและลงทุน

ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.2% ในปี 2022 และ 3.4% ในปี 2023 เร่งตัวขึ้นจาก 1.5% ในปี 2021 (เทียบกับ Asia Pacific Consensus ที่ 3.2% ในปี 2022 และ 3.6% ในปี 2023) ซึ่งยังคงเติบโตรั้งท้ายเพื่อนบ้านในปี 2022 และเกือบรั้งท้ายในปี 2023 รองจากสิงค์โปร์ที่ 2% SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติได้ในช่วงกลางปี 2023 และจะกลับสู่แนวโน้มระดับศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจเดิม (Potential GDP) ได้ภายในสิ้นปี 2024

graph03-thailand-economic-recovery.jpg

บทสรุปข้อเท็จจริงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

  1. เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ของปี 2022 ขยายตัวได้ดีเกาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน
  2. ไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปอยู่ในระดับก่อนเกิดวิกฤติในปี 2019 ได้
  3. เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่โตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ยกเว้นสิงคโปร์ที่เป็นเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เนื่องจากแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จะมีเพียงภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง ตามด้วยการบริโภคภาคเอกชนที่ยังมีหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นปัจจัยกดดันอยู่ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิดได้ในช่วงกลางปี 2023 และจะกลับสู่แนวโน้มการเติบโตเดิมได้ภายในสิ้นปี 2024  และ
  4. ภาครัฐควรเร่งผลักดันการลงทุนในประเทศและดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติพร้อมกระแส Deglobalization รวมถึงเร่งสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจเอกชนตามเทรนด์ดิจิทัลและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในโลก โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุน จ้างงาน การผลิต และการส่งออก เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมในระยะต่อไป

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/8764

ครบรอบ 1 ปี รถไฟจีน-สปป.ลาว … การค้าผ่านแดนไทยไปจีนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

แม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทยไปจีนช่วง 10 เดือนแรกปี 2565 ในรูปเงินบาทจะเติบโตช้าที่ 2.8% และการส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงเดียวกันก็หดตัวถึง 27.3% (YoY) มีมูลค่าส่งออกที่ 1.26 แสนล้านบาท แต่การส่งออกผ่านแดนบางเส้นทางยังคงเติบโตได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการขนส่งไปยังมณฑลหยุนหนานทั้งการขนส่งด้วยรถบรรทุกและการขนส่งผ่านรถไฟจีน-สปป.ลาว ที่เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2564 ผ่านมาครบ 1 ปี การขนส่งผ่านแดนยังคงมีสัญญาณบวกเติบโตได้อีกในระยะข้างหน้า ดังนี้

– ในช่วงโควิด-19 ระบาดการขนส่งผ่านแดนเป็นตัวช่วยสำคัญในการส่งสินค้าเข้าสู่จีน โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นรวดเร็วเป็น 17% ของมูลค่าการส่งออกทุกช่องทางไปจีนในปี 2564 (จากเคยอยู่ที่ 12.4% ในปี 2562)

– ปัจจุบันการขนส่งผ่านแดนระหว่างไทยกับจีนมี 4 เส้นทาง ซึ่งสามารถส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ถึงจีนด้วยระยะเวลาเพียง 2-5 วัน และเส้นทางเหล่านี้จะยิ่งคึกคักขึ้นจากการเตรียมเปิดเส้นทางขนส่งช่องทางที่ 5

– กำลังซื้อที่มาจากจีนตอนใต้ มณฑลหยุนหนานและเขตปกครองตนเองกว่างซียังมีโอกาสเติบโตในระยะข้างหน้า โดยในเวลานี้การส่งออกไปยังพื้นที่จีนตอนใต้เติบโตสวนกระแสการหดตัวของการส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในภาพรวม ทั้งการส่งออกผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 จ.เชียงราย ไปยังมณฑลหยุนหนานยังขยายตัวถึง 27.9% (YoY) เช่นเดียวกับช่องทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวที่เปิดใช้งานมา 1 ปี มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 1,569 ล้านบาท เบื้องต้นมีสัดส่วน 1.3% ของการส่งออกผ่านแดนไปจีน จากที่ไม่เคยมีการขนส่งด้วยช่องทางนี้มาก่อน สินค้าที่น่าจับตา ได้แก่ ผลไม้ เครื่องสำอาง น้ำพริกปรุงรส เครื่องแกง มันสำปะหลัง ถั่ว ของแต่งบ้าน รวมถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกใหม่ที่น่าจับตา

– การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนตอนใต้สามารถส่งต่อสินค้าไปยังภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนได้อย่างรวดเร็วด้วยเครือข่ายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพของจีน โดยเฉพาะสินค้าเพื่อการบริโภคที่จีนผลิตไม่ได้และเป็นสินค้าที่เป็นจุดเด่นของไทย รวมถึงสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตในกลุ่มสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบสำคัญของไทยอย่างยางพาราและเม็ดพลาสติก สามารถนำไปต่อยอดผลิตในมณฑลฉงชิ่งและเมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งของพื้นที่ตอนในเชื่อมโยงการขนส่งทั่วจีน และเชื่อมการขนส่งสินค้าไปยุโรป

อย่างไรก็ดี จากมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดของจีนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และด้วยฐานการส่งออกที่สูงในปีก่อนหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปี 2565 แม้จะมีแรงส่งจากกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปลายปี แต่ด้วยการส่งออกที่อ่อนแรงในช่วงที่ผ่านมาทำให้ทั้งปี 2565 การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนหดตัวที่ 25% มีมูลค่า 145,000 ล้านบาท

ในระยะต่อไปต้องจับตา การผ่อนปรนมาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่เริ่มส่งสัญญาณบวก และแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่หันมาพึ่งพิงการบริโภคในประเทศมากขึ้น ท่ามกลางการส่งออกในภาพรวมไปจีนที่ไม่สดใสนัก แต่การกระจายการขนส่งไปยังเส้นทางการค้าผ่านแดนทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทยเพื่อส่งไปยังจีนตอนใต้น่าจะเป็นอีกช่องทางที่สร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปจีนยังพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ตอนในประเทศของจีนมากขึ้น

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Thai-China-lao-FB-13-12-2022.aspx

เจาะลึกวิกฤตค่าเงินในสปป.ลาว และนัยต่อเศรษฐกิจไทย

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

EIC มองว่าสถานการณ์ในสปป.ลาวยังไม่รุนแรงเท่าศรีลังกา เนื่องจากปัจจุบันยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้

 

สปป.ลาวกำลังเผชิญวิกฤตเงินกีบอ่อนค่ารุนแรง พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น

ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2022 ค่าเงินกีบอ่อนค่าทะลุระดับ 15,000 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงถึง 57% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และ 44% เมื่อเทียบกับเงินบาท นับจากเดือนกันยายน 2021 เป็นต้นมา และอ่อนค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค การอ่อนค่าของเงินกีบตามภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ประกอบกับการเร่งตัวของราคาน้ำมันและสินค้าต่าง ๆ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาอุปทานคอขวดโลกที่สปป.ลาวจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าในสัดส่วนสูง ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสปป.ลาวเร่งตัวขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัญหาการขาดแคลนสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันเป็นวงกว้าง

 

ต้นตอของวิกฤตในปัจจุบันมาจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง

พัฒนาการของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา เช่น การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวในประเทศเศรษฐกิจหลักได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสปป.ลาวที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงจากการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางการขาดดุลการคลังต่อเนื่อง ขณะที่ช่องทางการระดมทุนของสปป.ลาวเริ่มมีจำกัดและมีต้นทุนสูงขึ้น หลังถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับเก็งกำไร (Speculative grade) นอกจากนี้ สปป.ลาวมีระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำท่ามกลางการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่าและเป็นความเสี่ยงต่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศและการนำเข้าสินค้าจำเป็นต่อไป

 

EIC มองว่าสถานการณ์ในสปป.ลาวยังไม่รุนแรงเท่าศรีลังกา เนื่องจากปัจจุบันยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้

ณ ปัจจุบัน แม้ระดับหนี้สาธารณะของสปป.ลาวจะเร่งตัวสูงขึ้นมากแต่ยังต่ำกว่าศรีลังกา และระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเทียบมูลค่านำเข้าและหนี้ต่างประเทศระยะสั้นยังสูงกว่า นอกจากนี้ สปป.ลาวยังมีช่องทางการระดมทุนที่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งจากการกู้ยืมเงินในตลาดพันธบัตรต่างประเทศ เช่น ตลาดไทย ซึ่งล่าสุดสปป.ลาวได้เปิดขายพันธบัตรวงเงินไม่เงิน 5,000 ล้านบาทในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่ทำกำไร และการส่งเสริมการลงทุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติและผลักดันการส่งออก ทั้งนี้นโยบายการคลังและการเงินในสปป.ลาวในช่วงที่ผ่านมา ได้เน้นการประคองเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและอาจทำให้เสถียรภาพในประเทศอ่อนแอลงอีก ในระยะต่อไป EIC ประเมินว่า สปป.ลาวควรเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งมีแนวโน้มเข้ามาช่วยเหลือเนื่องจากสปป.ลาวเป็นประเทศสำคัญสำหรับโครงการ Belt and Road Initiative ในภูมิภาคอาเซียน

 

ผลกระทบต่อไทยคาดว่าจะมีจำกัด แต่จะเป็นความเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังต่อไป

EIC คาดว่าผลกระทบต่อไทยจะมีผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ ภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนโดยตรงจากไทย และภาคการเงิน สำหรับภาคการส่งออกไทย ผลกระทบหลักจะมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสปป.ลาวและอุปสงค์ที่ลดลง แต่ในภาพรวมคาดว่าจะยังขยายตัวได้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่สูงขึ้นซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก สำหรับนักท่องเที่ยวจากสปป.ลาว ความเสี่ยงหลักมาจากกำลังซื้อที่ลดลงตามเงินกีบที่อ่อนค่า แต่จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากไทยสู่สปป.ลาวในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำนั้น ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงการชำระค่าไฟจากสปป.ลาวที่อาจถูกเลื่อนออกไปซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในอนาคต ตลอดจนความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินในประเทศที่ถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่อาจมีความเปราะบางมากขึ้นในช่วงต่อไป อย่างไรก็ดี ในภาพรวมคาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากมีผู้ซื้อไฟฟ้าหลักคือไทย และมีการเซ็นสัญญา PPA เรียบร้อยแล้ว

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv_090822

EIC ปรับขึ้นจีดีพีปี 65 ขยายตัว 2.9% ต่างชาติเที่ยวไทยหนุนปีนี้ 7.4 ล้านคน

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565 ขึ้นเป็น 2.9% จากเดิม 2.7% ตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและภาคบริการ ผ่านการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของไทยและการผ่อนคลายมาตรการผ่านแดนในหลายประเทศทั่วโลก โดย EIC ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวม 7.4 ล้านคนในปีนี้ (เดิม 5.7 ล้านคน) อีกทั้ง กิจกรรมในภาคบริการในประเทศยังมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากการกลับออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ตามอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐ

ที่มา : https://www.businesstoday.co/business/14/06/2022/84717/

ไทยพาณิชย์พยากรณ์เศรษฐกิจ CLMV เร่งตัว โอกาสประเทศไทย

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ CLMV ว่า ในปี 2564 เศรษฐกิจ CLMV ฟื้นตัวได้อย่างจำกัดแม้จะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยมีปัจจัยกดดันจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการระบาดระลอกที่รุนแรงที่สุดและนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้น ขณะเดียวกัน เหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมาหดตัวอย่างรุนแรงและทวีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3233119

EIC CLMV Outlook Q1/2022

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2565 ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นเทียบกับปี 2564 จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 การทยอยเปิดพรมแดนตามอัตราการฉีดวัคซีนในภูมิภาคที่สูงขึ้น และภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยประมาณการว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 4.8%, สปป.ลาว 4.0%, เมียนมา 0.5% และเวียดนาม 6.5% ในปีนี้

 

ในปี 2564 เศรษฐกิจ CLMV ฟื้นตัวได้อย่างจำกัดแม้จะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยมีปัจจัยกดดันจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการระบาดระลอกที่รุนแรงที่สุดและนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้น ขณะเดียวกัน เหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมาหดตัวอย่างรุนแรงและทวีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจ CLMV ได้เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาส 4 จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง (สู่หลักร้อยต่อวันในทุกประเทศยกเว้นเวียดนาม) โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราการฉัดวัคซีนที่สูงขึ้น (กัมพูชาฉีดครบโดสแล้ว 81.8% ของประชากร, สปป.ลาว 58.7%, เมียนมา 38.4% และเวียดนาม 78.5% ณ วันที่ 2 มีนาคม 2565) และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตามการเปลี่ยนนโยบายไปเป็นการใช้ชีวิตร่วมกับ COVID-19 อย่างปลอดภัย ขณะที่ภาคการส่งออกก็กลับมาขยายตัวสูงอีกครั้งหลังการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลง นอกจากนี้ บางประเทศ เช่น กัมพูชาและเวียดนาม ได้เริ่มมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว หรือลดเวลาการกักตัวลง หากได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว EIC มองว่ามาตรการควบคุม COVID-19 ในเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2565 จะผ่อนคลายกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่ออุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่อุปสงค์จากนอกประเทศจะมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่อเนื่องและการเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยว

 

อุปสงค์ภายในประเทศของเศรษฐกิจ CLMV คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ แต่จะยังเผชิญปัจจัยกดดันจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงรายประเทศ ข้อมูลจาก Google Mobility ซึ่งแสดงถึงภาวะกิจกรรมของประชากรไปร้านค้าปลีกและสถานที่นันทนาการ (Retail and Recreation) ฟื้นตัวในเกือบทุกประเทศยกเว้นเมียนมา สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การจ้างงานในกลุ่มประเทศ CLMV คาดว่าจะทยอยเพิ่มสูงขึ้นตามภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ฟื้นตัวโดยเฉพาะในภาคการบริการ โดยล่าสุดอัตราการว่างงานในประเทศเวียดนามลดลงสู่ระดับ 3.6% ในไตรมาส 4 ปี 2564 จาก 4.0% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกสำหรับการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะเดียวกัน ไทยก็มีแนวโน้มเปิดรับแรงงานต่างด้าวมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การส่งเงินกลับ (Remittances) กลุ่มประเทศ CLMV สูงขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ความเร็วในการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสถานะทางการคลังและสถานการณ์ภายในประเทศ โดย EIC คาดว่า กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีสถานะทางการคลังแข็งแรงเพียงพอ จะสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มเติม ล่าสุดกัมพูชาได้ขยายเวลามาตรการสนับสนุนเงินเยียวยาครัวเรือนไปถึงเดือนกันยายน 2565 ขณะที่เวียดนามได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4% ของ GDP ซึ่งจะเบิกจ่ายในระหว่างปี 2565-2566 ขณะที่สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งเผชิญข้อจำกัดทางการคลังจะไม่สามารถออกมาตรการที่เพียงพอสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะเมียนมาซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวได้ช้าที่สุดเนื่องจากวิกฤตทางการเมืองในประเทศและมาตรการคว่ำบาตร (Sanctions) จากชาติตะวันตก อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศยังคงมีอยู่จากแผลเป็นทางเศรษฐกิจจากช่วง COVID-19 เช่น อัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนการระบาด COVID-19 ที่อาจปรับลดลงอย่างช้า ๆ เนื่องจากแรงงานบางกลุ่มได้ย้ายงานไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นในช่วงการระบาด และระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น

 

ด้านภาคต่างประเทศ EIC คาดว่าการส่งออกของเศรษฐกิจ CLMV จะขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลงในปีนี้ ขณะที่การค้าชายแดนและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จะได้รับอานิสงส์จากการเปิดพรมแดน ภาคการส่งออกคาดว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการคลี่คลายของปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและการเปิดด่านค้าชายแดนเพิ่มเติม ขณะที่อุปสงค์ต่อสินค้า CLMV ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ต่อสินค้ากลุ่ม New Normal เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูง เวียดนามคาดว่าจะได้รับผลประโยชน์จากปัจจัยนี้มากที่สุด เนื่องจากเป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติต่าง ๆ ซึ่งเกื้อหนุนให้การส่งออกเวียดนามขยายตัวถึง 19.0%YOY ในไตรมาส 4 ปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนใหม่จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ที่เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนกับประเทศคู่ค้า ทั้งนี้การขยายตัวของการส่งออกโดยรวมคาดว่าจะชะลอลงจากปีที่แล้วตามฐานที่สูงขึ้น และยังต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนหรือสายพันธุ์ใหม่อื่น ๆ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจนำไปสู่การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานอีกรอบได้ ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามประเทศเศรษฐกิจหลักในภูมิภาคที่ฟื้นตัวและการเปิดประเทศต้อนรับผู้เดินทางโดยไม่ต้องกักตัว RCEP จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นการลงทุนในภูมิภาค โดยเฉพาะในธุรกิจที่จะได้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจากจีนภายใต้ Belt and Road Initiative ในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ตัวอย่างเช่น โครงการรถไฟสปป.ลาว-จีน (เวียงจันทน์-บ่อเต็น) ที่แล้วเสร็จและเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ขณะที่เวียดนามยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่องจากที่ตั้งที่ติดจีน กำลังแรงงานที่มีจำนวนมากและยังอายุน้อย และสนธิสัญญาการค้าเสรีกับหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ภาครัฐของกลุ่มประเทศ CLMV มีแนวโน้มที่จะเสนอสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติม โดยกัมพูชาได้ออกกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ในปีที่ผ่านมา เพื่อลดอุปสรรคต่อการลงทุน ขณะที่เวียดนามได้ออกสิทธิพิเศษทางภาษีชุดใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบล่าสุด ทั้งนี้การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเมียนมาคาดว่าจะเป็นไปได้อย่างจำกัดตามการชะงักงันในหลายภาคเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ลดลงจากการคว่ำบาตรจากนานาชาติและความเสี่ยงต่อภาพลักษณ์องค์กร

 

จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ากลุ่มประเทศ CLMV จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในปีนี้ โดยจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในช่วงครึ่งแรกของปี EIC คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะยังคงซบเซาเนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนและมาตรการกักตัวที่ยังคงมีอยู่ เช่น เวียดนามบังคับกักตัว 3 วัน แม้จะได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว หรือลาวที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศผ่านการจองกรุ๊ปทัวร์เท่านั้น ในช่วงครึ่งปีหลัง EIC มองว่ามาตรการเหล่านี้จะผ่อนคลายขึ้นตามอัตราการฉีดวัคซีนที่ทยอยเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความกังวลเรื่องสายพันธุ์โอมิครอนที่ลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในภูมิภาคเพิ่มขึ้น ในบรรดากลุ่มประเทศ CLMV กัมพูชาเป็นประเทศแรกที่เปิดประเทศโดยไม่ต้องกักตัวสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ขณะที่เวียดนามเตรียมจะเปิดประเทศในกลางเดือนมีนาคม โดยมีเงื่อนไขว่านักท่องเที่ยวยังต้องกักตัวหนึ่งวันเพื่อรอผลตรวจเชื้อ ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะยังคงอยู่ต่ำกว่าก่อนการระบาดอยู่มาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดสำหรับ CLMV เนื่องจากจีนมีแนวโน้มที่จะยังไม่อนุญาตให้ประชากรของตนเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้ภายในปีนี้

 

ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ CLMV ที่ต้องจับตามองในปี 2565 ได้แก่

1) สถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนหรือสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

2) อัตราการฉีดวัคซีนที่ยังค่อนข้างต่ำในสปป. ลาวและเมียนมา

3) เศรษฐกิจโลกที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด ท่ามกลางความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่มีความเชื่อมโยงสูงกับเศรษฐกิจ CLMV

4) ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและกระทบกำลังซื้อผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินของเศรษฐกิจ CLMV กำลังอ่อนค่า

5) เสถียรภาพทางการคลังและการเงินในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในสปป.ลาว และเมียนมา ที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงเทียบกับการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ท่ามกลางภาวะการเงินโลกที่จะตึงตัวขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้ ปัจจัยเฉพาะประเทศก็ยังคงมีความสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ เช่น สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในเมียนมาที่ยังยืดเยื้อ ซึ่งจะส่งผลให้การฟื้นตัวในเกือบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างจำกัด

 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการส่งออกที่สูงขึ้น และเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจไทยในการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน การส่งออกไทยไปยัง CLMV คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในอัตราที่ชะลอลงโดยมีปัจจัยใหม่ที่ต้องจับตามอง ได้แก่ โอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนผ่านทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ซึ่งคาดว่าจะลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งได้สูง และการเปิดด่านค้าชายแดนเพิ่มเติม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะเปิดเพิ่ม 12 ด่านในปีนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงการเลื่อนการเปิดด่านค้าชายแดนออกไปหากยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 เร่งตัวขึ้นอีกครั้ง การลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคและมาตรการเปิดรับนักเดินทางโดยไม่ต้องกักตัว โดยเวียดนามคาดว่าจะเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการลงทุนจากไทยสูงสุดต่อไป ขณะที่การลงทุนในเมียนมาจะซบเซาอย่างมากจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ CLMV คาดว่าจะทยอยเดินทางเข้าไทยมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อสถานการณ์การระบาดสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มคลี่คลาย หากไทยสามารถทำข้อตกลงจับคู่การเดินทางระหว่างประเทศ (Travel Bubbles) กับประเทศในกลุ่ม CLMV ได้ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกต่อภาคการท่องเที่ยวไทยในปีนี้โดยเฉพาะผู้เดินทางผ่านด่านชายแดน อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่สูงในการตรวจเชื้อ COVID-19 และการทำประกันการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ CLMV สำหรับสถานการณ์แรงงานต่างด้าวจาก CLMV ในปีนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามโอกาสการจ้างงานในไทยที่สูงขึ้น มาตรการกักตัวที่คาดว่าจะผ่อนคลายลง และนโยบายการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยการจ้างแรงงานจากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาในไทยซบเซาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ที่ประมาณ 2.16 ล้านคน ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ที่ประมาณ 2.7 ล้านคน ซึ่งหากปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวยังยืดเยื้อต่อไป อาจนำไปสู่ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และกระทบต่อผลประกอบการธุรกิจไทยในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

ที่มา :

/1 https://www.scbeic.com/th/detail/product/8153

/2 http://www.acnews.net/detailnews.php?news_id=N256562334

EIC CLMV Outlook Q3/2021

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในภูมิภาคตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2021 สร้างแรงกดดันต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ CLMV แม้ว่าการส่งออกที่ยังขยายตัวได้สูงอาจจะช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบได้บางส่วน

ด้านอุปสงค์ภายในประเทศ การระบาดของ COVID-19 ใน CLMV ตั้งแต่เดือนเมษายน ส่งผลให้ภาครัฐต้องยกระดับความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับลดลงและสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่ออุปสงค์ในประเทศที่เปราะบางอยู่เดิมก่อนแล้ว โดยการควบคุมการระบาดระลอกปัจจุบัน นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนามที่สามารถควบคุมการระบาดในรอบก่อนหน้าได้ดี แต่ในครั้งนี้ การระบาดของเวียดนามกลับอยู่ในระดับสูง ทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องประกาศมาตรการ lockdown เข้มงวด เช่นเดียวกับเมียนมาที่มียอดผู้ติดเชื้อสูง แต่บุคลากรทางการแพทย์กลับไม่เพียงพอจากความไม่สงบทางการเมือง ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อในกัมพูชาและสปป.ลาว ก็มีสูงกว่ารอบก่อนหน้า แต่ยังมีจำนวนต่ำกว่าอีกสองประเทศข้างต้น

สำหรับอุปสงค์ภายนอก ภาคการส่งออกของเศรษฐกิจ CLMV ยังคงส่งสัญญาณการฟื้นตัวแข็งแกร่งท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 โดยได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว การส่งออกจึงเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของภูมิภาค โดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามขยายตัวได้สูงอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานจากการระบาดของ COVID-19 ในวงกว้างที่อาจทำให้มีการปิดโรงงานเพิ่มขึ้น ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญ และอาจกลายเป็นปัจจัยฉุดภาคการส่งออกได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2021 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV ในระยะต่อไป ได้แก่

1) มาตรการควบคุมการระบาดที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงที รวมถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจพลิกฟื้นกลับมาได้

2) ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคการคลังและการเงินที่จะช่วยลดผลกระทบต่อการครัวเรือนและภาคธุรกิจ

3) ปัจจัยความเสี่ยงรายประเทศ ได้แก่ ความไม่สงบทางการเมืองของเมียนมา และความสามารถในการชำระหนี้สาธารณะของสปป. ลาว

กัมพูชา

+ภาคการส่งออกฟื้นตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้แข็งแกร่งและความสำเร็จในการกระจายการส่งออกไปยังหลายสินค้ามากขึ้น (export diversification)

+มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังและการฉีดวัคซีนที่ดำเนินการได้ย่างรวดเร็วและสนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

มาตรการ lockdown ที่เพิ่มความเข็มงวดขึ้นเพื่อรับมือกับการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าจะสร้างแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ยังซบเซาจะเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจ

สปป.ลาว

+การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงการขนาดใหญ่และการเปิดตัวใช้รถไฟจีน-สปป.ลาว ในเดือนธันวาคม

+การส่งออกที่ขยายตัวสูงจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายนอกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น

การยกระดับมาตรการ lockdown และการปิดพรมแดนอย่างเข็มงวดจะกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ

เสถียรภาพการคลังที่น่ากังวล จากภาระหนี้สาธารณะในรูปเงินตราต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาวะเงินกีบอ่อนค่า และทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ

เมียนมา

การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ทำให้เมียนมาประกาศใช้มาตรการ lockdown ทั่วประเทศ ขณะที่ขีดความสามารถ lockdown ทั่วประเทศ ขณะที่ขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขมีจำกัด

การปราบปรามของรัฐบาลทหารและขบวนการอารยะขัดขืน โดยมวลชนจะส่งผลลบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ

การหยุดชะงักของระบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะพื้นฐาน ได้แก่ การขนส่ง ระบบอินเทอร์เน็ต และการให้บริการของธนาคาร

ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล ซึ่งอาจลดประสิทธิภาพของมาตรการต่างๆ รวมถึงแผนการฉีดวัคซีนและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลง

เวียดนาม

+ การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่ขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่อง

+ FDI ที่ลงทุนในเวียดนามยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ได้แก่ ความสามารถในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ผ่านข้อตกลงการค้า และจำนวนแรงงานที่มีมาก รวมถึงฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ในประเทศ

เวียดนามเผชิญความยากลำบากในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 รอบที่ 4 ตั้งแต่เดือนเมษายน และส่งผลรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ

ความเสี่ยงการหยุดชะงักของอุปทานเนื่องจากปิดโรงงานที่ขยายระยะเวลาออกไปยังประเด็นที่ต้องจับตามอง

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7761

EIC CLMV Outlook Q2/2021

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2021 จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกในกลุ่ม CLMV แต่การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในภูมิภาค ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมาจะเป็นแรงกดดันสำคัญต่อเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2021 โดยในส่วนของภาคส่งออกของ CLMV คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเวียดนามมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นมากสุดในภูมิภาค จากความแข็งแกร่งด้านการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ภาคเศรษฐกิจในประเทศ การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในภูมิภาค CLMV ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 จะเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศให้ปรับลดลง โดยในส่วนของเวียดนาม ภาครัฐสามารถควบคุมการระบาดในระลอกก่อนได้เป็นอย่างดี ทำให้เศรษฐกิจในประเทศไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ยังต้องจับตาการระบาดระลอกล่าสุดช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะต่อไป ขณะที่ในกรณีของประเทศอื่น พบว่าเมียนมายังต้องเผชิญการระบาดที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2020 ส่วนกัมพูชาและ สปป.ลาวกำลังเผชิญการระบาดระลอกใหม่อย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการ lockdown อย่างเข้มงวด ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2021 นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเมียนมาก็มีแนวโน้มส่งผลกระทบอย่างหนักและยืดเยื้อต่อเศรษฐกิจ ทำให้ EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเมียนมาลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากการที่ประเทศ CLMV น่าจะยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในภายในปี 2021 ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการเงินเพื่อพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและจำกัดผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และ
  2. ปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ ได้แก่ ความรุนแรงทางการเมืองของเมียนมา และปัญหาหนี้สาธารณะใน สปป. ลาว

กัมพูชา : ปัจจัยบวก

  1. ภาคส่งออกจะกลับมาขยายตัวดีตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
  2. รัฐบาลยังมีความสามารถทำนโยบายที่เพียงพอ ทำให้สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง

กัมพูชา : ปัจจัยลบ

  1. การระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงของ COVID-19 และมาตรการ lockdown ที่กลับมาเข็มงวดจะจำกัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  2. การฟื้นตัวจะยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนหน้า เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มซบเซา

สปป.ลาว : ปัจจัยบวก

  1. การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงการใหญ่ๆ จะเป็นแรงสนับสนุนหลักของการเติบโตในปีนี้
  2. การส่งออกมีแนวโน้มได้อานิสงค์จากเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านที่ฟื้นตัวดีขึ้น และจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น

สปป.ลาว : ปัจจัยลบ

  1. การยกระดับมาตรการ lockdown จะสร้างแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและทำให้การปิดพรมแดนยืดเยื้อออกไปอีก
  2. หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงจะจำกัดความสามารถในการทำนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมียนมา : ปัจจัยลบ

  1. การปราบปรามของรัฐบาลทหารและขบวนการอารยะขัดขืนโดยมวลชน (CDM) จะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน
  2. ธุรกิจและโรงงานหลายแห่งปิดตัวลง จากปัญหาขาดแคลนแรงงานและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวแย่ลง
  3. บริษัทต่างชาติมีแนวโน้มยับยั้งคำสั่งซื้อและเลื่อนโครงการลงทุนออกไป เพราะอาจเสี่ยงต่อชื่อเสียงองค์กร
  4. นโยบายการคลังที่เป็นข้อจำกัดและทิศทางเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจนและสร้างความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องในระยะกลาง

เวียดนาม : ปัจจัยบวก

  1. ภาคส่งออกเติบโตแข็งแกร่งจากการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงเป็นปัจจัยขับปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ
  2. กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ถอดเวียดนามออกจากรายชื่อประเทศผู้บิดเบื่อนค่าเงิน ส่งสัญญาที่ดีต่อการค้าเวียดนาม-สหรัฐฯ
  3. FDI เข้าเวียดนามส่งสัญญาฟื้นตัวแข็งแกร่งตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ และความสามารถในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ผ่านข้อตกลงการค้า รวมถึงจำนวน/ฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่

เวียดนาม : ปัจจัยลบ

  1. การควบคุมการระบาดของ COVID-19 หลานคลัสเตอร์ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7594