ทางการ สปป.ลาว จ่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงเดือน ต.ค.

สำนักนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว อนุมัติขึ้นค่าจ้างรายเดือนขั้นต่ำในประเทศจาก 67 ดอลลาร์ ขึ้นเป็น 83 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยจะเริ่มปรับขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.ปีนี้ หลังผ่านการอนุมัติจากการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำเดือนในเดือน ก.ค. แม้จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างในภาคเอกชน แต่ในที่ประชุม ครม. ยังไม่ได้กล่าวถึงการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการที่ปัจจุบันมีเงินเดือนประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งการปรับขึ้นเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ร่วมกับเงินกีบมีการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบอย่างมากต่อค่าครองชีพของคนในประเทศ ด้าน Keovisouk Dalasane กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท 108 Jobs กล่าวเสริมว่า ทุกอุตสาหกรรมต้องประเมินค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงเพื่อประโยชน์ต่อสภาพความเป็นอยู่ของพนักงาน ภายใต้ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่มั่นคง ซึ่งนายจ้างยังสามารถขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลเพื่อเป็นการช่วยเหลือพนักงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/08/18/laos-to-increase-minimum-wage-for-workers-in-october/

‘แบงก์ชาติสปป.ลาว’ ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (BOL) ได้มติกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางให้กับธนาคารพาณิชย์ในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินการของธนาคารแห่งชาติในครั้งนี้ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีความคล่องตัวในการซื้อขายเงินต่างประเทศและยังช่วยรักษาเสถียรภาพของค่าเงินกีบ ทั้งนี้ อัตราซื้อและขายของเงินกีบต่อดอลลาร์สหรัฐของธนาคารพาณิชย์จะต้องไม่เกินกว่า +/- 4.5% จากอัตราอ้างอิงของธนาคารแห่งชาติ รวมถึงไม่มีการจำกัดเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกีบเทียบกับสกุลเงินยูโร บาท หยวนและสกุลเงินอื่นๆ ที่แตกต่างจากอัตราอ้างอิงของธนาคารแห่งชาติสปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten36_BOL_y23.php

‘สปป.ลาว’ จำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ตามรายงาน Lao Economic Monitor ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2565 เปิดเผยว่าการปฏิรูปจะสามารถช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รายงานดังกล่าวยังระบุว่าเงินกีบอ่อนค่าลง 68% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงเดือนตุลาคม เป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ในขณะที่หนี้สาธารณะและหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน คาดว่าจะเกินกว่า 100% ต่อ GDP ในสิ้นปีนี้ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารโลกจึงปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสปป.ลาว ในปี 2565 เหลืออยู่ที่ 2.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.8% ถึงแม้ว่าการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นในช่วงกลางเดือนของปีนี้ ตารายได้ของคนลาวกลับเพิ่มตามมาไม่ทันเงินเฟ้อ ดังนั้น ธนาคารโลกได้เสนอให้ทำการปฏิรูป 5 ประการ ได้แก่ การยกเว้นภาษี เพิ่มรายได้ของรัฐบาลและปกป้องการใช้จ่ายทางสังคม, ปรับปรุงการบริหารการปกครองสาธารณะ, ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ, เสริมสร้างความมั่งคงของภาคการเงิน และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten227_Reform_y22.php

เงินเฟ้อลาวเดือน ก.ค. พุ่งแตะ 25.6%

สำนักงานสถิติประเทศลาว (Lao Statistics Bureau) เผยแพร่รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.65 เพิ่มขึ้น 25.6% จากระดับ 23.6% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2543 ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อยที่เผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น สำนักงานฯ ยังเผยว่าราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ ราคาอาหาร ค่ารักษาพยาบาลและสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ประกอบกับราคาเชื้อเพลิง สินค้านำเข้าอื่นๆ ที่พุ่งสูงขึ้น และเงินกีบก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามเงินกีบก็ยังอ่อนค่าลง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนก็ตาม นอกจากนี้ ค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลงถือเป็นสาเหตุหลักของปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ใช้เงินสกุลต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten152_Inflation_y22.php

เจาะลึกวิกฤตค่าเงินในสปป.ลาว และนัยต่อเศรษฐกิจไทย

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

EIC มองว่าสถานการณ์ในสปป.ลาวยังไม่รุนแรงเท่าศรีลังกา เนื่องจากปัจจุบันยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้

 

สปป.ลาวกำลังเผชิญวิกฤตเงินกีบอ่อนค่ารุนแรง พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น

ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2022 ค่าเงินกีบอ่อนค่าทะลุระดับ 15,000 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงถึง 57% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และ 44% เมื่อเทียบกับเงินบาท นับจากเดือนกันยายน 2021 เป็นต้นมา และอ่อนค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค การอ่อนค่าของเงินกีบตามภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ประกอบกับการเร่งตัวของราคาน้ำมันและสินค้าต่าง ๆ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาอุปทานคอขวดโลกที่สปป.ลาวจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าในสัดส่วนสูง ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสปป.ลาวเร่งตัวขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัญหาการขาดแคลนสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันเป็นวงกว้าง

 

ต้นตอของวิกฤตในปัจจุบันมาจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง

พัฒนาการของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา เช่น การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวในประเทศเศรษฐกิจหลักได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสปป.ลาวที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงจากการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางการขาดดุลการคลังต่อเนื่อง ขณะที่ช่องทางการระดมทุนของสปป.ลาวเริ่มมีจำกัดและมีต้นทุนสูงขึ้น หลังถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับเก็งกำไร (Speculative grade) นอกจากนี้ สปป.ลาวมีระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำท่ามกลางการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่าและเป็นความเสี่ยงต่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศและการนำเข้าสินค้าจำเป็นต่อไป

 

EIC มองว่าสถานการณ์ในสปป.ลาวยังไม่รุนแรงเท่าศรีลังกา เนื่องจากปัจจุบันยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้

ณ ปัจจุบัน แม้ระดับหนี้สาธารณะของสปป.ลาวจะเร่งตัวสูงขึ้นมากแต่ยังต่ำกว่าศรีลังกา และระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเทียบมูลค่านำเข้าและหนี้ต่างประเทศระยะสั้นยังสูงกว่า นอกจากนี้ สปป.ลาวยังมีช่องทางการระดมทุนที่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งจากการกู้ยืมเงินในตลาดพันธบัตรต่างประเทศ เช่น ตลาดไทย ซึ่งล่าสุดสปป.ลาวได้เปิดขายพันธบัตรวงเงินไม่เงิน 5,000 ล้านบาทในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่ทำกำไร และการส่งเสริมการลงทุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติและผลักดันการส่งออก ทั้งนี้นโยบายการคลังและการเงินในสปป.ลาวในช่วงที่ผ่านมา ได้เน้นการประคองเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและอาจทำให้เสถียรภาพในประเทศอ่อนแอลงอีก ในระยะต่อไป EIC ประเมินว่า สปป.ลาวควรเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งมีแนวโน้มเข้ามาช่วยเหลือเนื่องจากสปป.ลาวเป็นประเทศสำคัญสำหรับโครงการ Belt and Road Initiative ในภูมิภาคอาเซียน

 

ผลกระทบต่อไทยคาดว่าจะมีจำกัด แต่จะเป็นความเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังต่อไป

EIC คาดว่าผลกระทบต่อไทยจะมีผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ ภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนโดยตรงจากไทย และภาคการเงิน สำหรับภาคการส่งออกไทย ผลกระทบหลักจะมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสปป.ลาวและอุปสงค์ที่ลดลง แต่ในภาพรวมคาดว่าจะยังขยายตัวได้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่สูงขึ้นซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก สำหรับนักท่องเที่ยวจากสปป.ลาว ความเสี่ยงหลักมาจากกำลังซื้อที่ลดลงตามเงินกีบที่อ่อนค่า แต่จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากไทยสู่สปป.ลาวในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำนั้น ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงการชำระค่าไฟจากสปป.ลาวที่อาจถูกเลื่อนออกไปซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในอนาคต ตลอดจนความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินในประเทศที่ถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่อาจมีความเปราะบางมากขึ้นในช่วงต่อไป อย่างไรก็ดี ในภาพรวมคาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากมีผู้ซื้อไฟฟ้าหลักคือไทย และมีการเซ็นสัญญา PPA เรียบร้อยแล้ว

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv_090822

รัฐบาลให้คำมั่นแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำมัน กีบอ่อน หนี้สินประเทศ

รัฐบาลให้คำมั่นที่จะดำเนินการที่แข็งแกร่งขึ้นเพื่อจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงและหนี้ที่เป็นหนี้กับบริษัทเอกชนและต่างประเทศ คำมั่นสัญญานี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลในการบรรลุเป้าหมายของสองวาระแห่งชาติ ซึ่งพยายามบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ และควบคุมกับการป้องกันค้ายาเสพติด ในการประชุมประจำเดือนของคณะรัฐมนตรีที่จัดขึ้นที่เวียงจันทน์เมื่อเร็วๆ นี้ เห็นชอบที่จะจัดหาแหล่งการลงทุนระยะยาวเพิ่มเติมจากภาคเอกชนในประเทศลาวและประเทศอื่นๆ และผลักดันโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ให้ก้าวหน้าตามแผนที่วางไว้ การเคลื่อนไหวเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างงานมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ควบคุมการใช้จ่ายและรักษาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราให้มีเสถียรภาพ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten103_Govtvows.php

พิษเงินเฟ้อลาวพุ่ง-กีบอ่อนค่าทุบค้าชายแดน7หมื่นล.หงอย

เศรษฐกิจลาวฝืดหนัก ปม “เงินเฟ้อพุ่ง-กีบอ่อนค่า” ต่อเนื่อง ทำการค้า 7 หมื่นล้าน สะเทือน “ทูตพาณิชย์ สปป.ลาว” หวั่น สินค้าไทย รถยนต์-อุปโภคบริโภค โดนหางเลข ประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชี้ปัญหาลามกระทบค้าขายชายแดนเงียบเหงา “ตั้งงี่สุ่น” ค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่อุดร ลูกค้าลดวูบ เศรษฐกิจของประเทศลาวที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 และถูกซ้ำเติม จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดผลพวงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่ค่าเงินกีบกลับอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ยิ่งทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของลาวมีอาการที่หนักขึ้น อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลให้ธุรกิจการค้าชายแดนลาว-ไทย ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ทั้งนี้ ปัญหาเงินกีบที่อ่อนค่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อและทำให้ผู้บริโภคระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ล่าสุดพบว่า ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะรถยนต์ ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคแม้จะยังมีความต้องการ แต่ผู้บริโภคระวังการจับจ่าย ทำให้ผู้นำเข้าระวังมากขึ้นและสต๊อกสินค้าตามความต้องการ

ที่มา : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 – 27 พ.ค. 2565