‘เวียดนาม’ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 6% มีผล 1 ก.ค.

จากพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 38 ที่เสนอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยกระทรวงแรงงาน ผู้พิการ และสวัสดิการสังคม (MOLISA) รายงานว่าค่าแรงขั้นต่ำในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้น 6% ทั้งค่าจ้างรายเดือนและรายชั่วโมง เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ซึ่งจะช่วยค่าครองชีพของแรงงานและคนในครอบครัว รวมถึงหนุนตลาดแรงงานเวียดนามฟื้นตัวดีขึ้นและส่งเสริมการผลิตและการดำเนินธุรกิจของกิจการ อย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคใหม่บางประการที่มีผลต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000-280,000 ดองต่อเดือน เมื่อเทียบกับระดับปัจจุบัน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/minimum-wage-to-increase-by-6-from-july-1-2263650.html

ทางการ สปป.ลาว จ่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงเดือน ต.ค.

สำนักนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว อนุมัติขึ้นค่าจ้างรายเดือนขั้นต่ำในประเทศจาก 67 ดอลลาร์ ขึ้นเป็น 83 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยจะเริ่มปรับขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.ปีนี้ หลังผ่านการอนุมัติจากการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำเดือนในเดือน ก.ค. แม้จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างในภาคเอกชน แต่ในที่ประชุม ครม. ยังไม่ได้กล่าวถึงการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการที่ปัจจุบันมีเงินเดือนประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งการปรับขึ้นเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ร่วมกับเงินกีบมีการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบอย่างมากต่อค่าครองชีพของคนในประเทศ ด้าน Keovisouk Dalasane กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท 108 Jobs กล่าวเสริมว่า ทุกอุตสาหกรรมต้องประเมินค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงเพื่อประโยชน์ต่อสภาพความเป็นอยู่ของพนักงาน ภายใต้ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่มั่นคง ซึ่งนายจ้างยังสามารถขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลเพื่อเป็นการช่วยเหลือพนักงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/08/18/laos-to-increase-minimum-wage-for-workers-in-october/

รัฐบาล สปป.ลาว เล็งขึ้นเงินเดือนให้แก่ ข้าราชการ-ลูกจ้างภาคเอกชน ผู้มีรายได้น้อย

รัฐบาล สปป.ลาว กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการให้เงินสนับสนุนสำหรับข้าราชการที่มีค่าแรงต่ำ และเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับพนักงานภาคเอกชน เพื่อให้สามารถรับมือกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นได้ กล่าวโดยนายกรัฐมนตรี Sonexay Siphandone ด้านกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินการศึกษาเพื่อพิจารณาว่างกรอบงบประมาณสำหรับโครงการนี้ ร่วมกับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม รวมถึงสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ต้นทุนสินค้าและบริการพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 38.06 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการใช้ชีวิตของภาคประชาชนที่มีรายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ สำหรับสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (NA) ได้เรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนจาก 1.3 ล้านกีบ เป็น 2 ล้านกีบ หวังช่วยแรงงานรับมือกับความยากลำบากในสภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเผชิญอยู่

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt140.php

นายกฯ สปป.ลาว แนะโรงงานอาหารสัตว์ ‘เร่งผลิต’

นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีของ สปป.ลาว ให้กำลังใจผู้ประกอบการที่กำลังก่อสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดหาวัตถุดิบแก่ฟาร์มชุมชนและการลดต้นทุน โรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตอาหารสัตว์ประมาณ 10 ตันต่อชั่วโมงและเดินเครื่องจักรวันละ 8 ชั่วโมง และผลิตภัณฑ์ของโรงงานสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ปีกและสุกรได้ อีกทั้ง โรงงานแห่งนี้ถูกมองว่าเป็นก้าวสำคัญในการลดความต้องการนำเข้าอาหารสัตว์ และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตอาหารและลดราคาอาหารในสปป.ลาวอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการผลิตที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและลดราคาสินค้าในประเทศ ท่ามกลางค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_PM22.php

เงินเฟ้อทำคน สปป.ลาว กังวลหนักเรื่องค่าครองชีพ

ราคาสินค้าเกือบทุกประเภท เช่น อาหาร พลังงาน ไปจนถึงการขนส่ง ใน สปป.ลาว ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 19.69 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี ซึ่งในเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียว ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 36.75 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.05 ที่ได้มีการบันทึกไว้ในเดือนกันยายน และร้อยละ 30.01 ในเดือนสิงหาคม ตามรายงานล่าสุดจากสำนักงานสถิติ สปป.ลาว โดยราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจและการอ่อนค่าของค่าเงินกีบ เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อใน สปป.ลาว ส่งผลทำให้ต้นทุนค่าครองชีพของคนในประเทศ สปป.ลาว ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เป็นที่น่ากังวลของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อได้รับการปรับขึ้นเป็นร้อยละ 17 ภายในสิ้นปี 2022 จากราคาน้ำมันที่สูงกว่าที่คาดการณ์ และค่าเงินกีบอ่อนค่าลงตามรายงานล่าสุดของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten228_Inflation.php

เดือนต.ค. 65 เงินเฟ้อสปป.ลาว พุ่งนิวไฮ! แตะ 36.75%

เดือนตุลาคม 2565 เงินเฟ้อสปป.ลาว แตะ 36.75% พุ่งสูงสุดในรอบปีนี้ โดยเพิ่มจาก 34.05% ในเดือนกันยายน 2565 และยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สร้างความลำบากให้กับประชาชนในประเทศท่ามกลางค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาขายปลีกวัสดุก่อสร้างในนครหลวงเวียงจันทน์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้รับเหมาบางรายต้องหยุดโครงการก่อสร้างเป็นการชั่วคราวเพราะแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว ซึ่งทางการของสปป.ลาว กำลังหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหา โดยในการประชุมเต็มคณะครั้งล่าสุด วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะพิจารณาเพิ่มรายได้จากการส่งออกและดำเนินการชำระเงินผ่านระบบธนาคาร ตลอดจนเรียกร้องให้ลดการนำเข้าของประเทศลง ทั้งนี้ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชากร โดยผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบมากที่สุด ล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 สปป.ลาวได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 1,200,000 กีบ (ประมาณ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/11/07/laos-inflation-rate-hits-new-high-of-36-75-percent-in-october/

ราคาน้ำมันปาล์มเมียนมา พุ่งแตะ 5,000 จัตต่อ viss

คณะกรรมการกำกับดูแลการนำเข้าและจำหน่ายน้ำมันพืช เผย ราคาน้ำมันปาล์มขายส่งในตลาดย่างกุ้งพุ่งขึ้นเกือบ 5,000 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม โดยราคากลางได้กำหนด ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. ถึง 4 ก.ย.2565 อยู่ที่ 4,910 จัตต่อ viss ซึ่งเพิ่มขึ้น 50 จัต จากสัปดาห์ก่อนที่ 4,860 จัตต่อ viss ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เมียนมาได้ติดตามราคา FOB ในตลาดมาเลเซียและอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด รวมถึงค่าขนส่ง ภาษี และบริการด้านการธนาคาร และออกอย่างไรก็ตาม ราคาตลาดปัจจุบันสูงกว่าราคากลางเป็นอย่างมาก โดยจากรายงานพบว่าราคาน้ำมันปาล์มในตลาดพุ่งไปถึง 10,000 จัตต่อ viss เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ภาครัฐจึงร่วมมือกับสมาคมผู้ค้าน้ำมันเพื่อการบริโภคของเมียนมา ได้จัดรถโมบายออกจำหน่ายน้ำมันปาล์มราคาประหยัด เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน -ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาย้ำว่าน้ำมันปาล์มมีเพียงพอต่อการบริโภคอย่างแน่นอน ทั้งนี้เมียนมาสามารถผลิตน้ำมันปรุงอาหารได้ประมาณ 400,000 ตันต่อปี แต่มีการบริโภคในประเทศถึง 1 ล้านตันต่อปี ทำให้ต้องนำเข้าจากมาเลเซียและอินโดนีเซียปีละประมาณ 700,000 ตัน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/palm-oil-wholesale-reference-price-rebounds-to-nearly-k5000-per-viss/

น้ำมันปาล์มขวดลดอีก 2-3 บาท แต่ผลิตภัณฑ์นมยังไม่ขึ้นราคา

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ราคาปาล์มขวดเริ่มทยอยลดลงตามต้นทุนแล้ว ส่วนกรณีที่ร้านสะดวกซื้อ ยังขายสูงถึงขวดละ 59-60 บาท น่าจะเป็นสินค้าสต๊อกเก่า สำหรับผลิตภัณฑ์นมจะปรับขึ้นราคาขายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติขึ้นราคารับซื้อน้ำนมดิบกิโลกรัม (กก.) ละ 1.50 บาท มาเป็น กก.ละ 20.50 บาทหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตยื่น เรื่องขอปรับราคาเข้ามา แต่หากยื่นเข้ามาจะพิจารณาให้เป็นรายผู้ผลิตรายผลิตภัณฑ์ เพราะต้นทุนแต่ละรายไม่เท่ากัน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่หากพิจารณาแล้ว พบว่าต้นทุนสูงขึ้นเล็กน้อย จะขอความร่วมมือให้ตรึงราคาขายไว้ก่อน เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2484855

คนละครึ่งทาง! จับตา ‘พาณิชย์’ ไฟเขียว ขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็น 7 บาท

ขณะนี้กรมการค้าภายใน อยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หลังจากที่ผู้ผลิตได้ทำเรื่องขอปรับขึ้นราคาขาย เพราะต้นทุนการผลิตปรับขึ้นทั้งหมด ทั้งแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ค่าไฟ บรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่ง ฯลฯ แต่กรมคงไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นเท่ากันหมดทุกราย ทุกยี่ห้อ เพราะต้นทุนของผู้ผลิตแต่ละรายไม่เท่ากัน และไม่ให้ปรับขึ้นได้ซองละ 2 บาทจากปัจจุบันซองละ 6 บาท เป็น 8 บาท เพราะจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยมากเกินไป แต่อาจจะให้ปรับขึ้นได้ไม่เกินซองละ 1 บาท จาก 6 บาท เป็น 7 บาท แต่มีข้อแม้ว่า เมื่อต้นทุนการผลิตลดลง ผู้ผลิตจะต้องปรับลดราคาขายลงด้วย ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การปรับราคาจะไม่พิจารณาให้ขึ้นราคาได้เท่ากันทุกยี่ห้อ จะพิจารณาตามต้นทุนของผู้ผลิตทีละรายที่ได้ยื่นมา และกำลังเร่งรัดอยู่

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/1389088/

 

 

ชาวเมียนมา โวย ! ปั้มน้ำมันหลายแห่งจำกัดการขายน้ำมันในประเทศ

คณะกรรมการกลางของเมียนมา เปิดเผยว่า ประชาชนสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนเรื่องที่มีสถานีบริการน้ำมันหลายๆ แห่ง มีการจำกัดโควต้าในการขายน้ำมันเชื่อเพลิงซึ่งส่งผลให้ประชาชนมีความเดือดร้อนและกังวลเป็นอย่างมาก โดยเรื่องนี้ทางรัฐบาลเมียนมาได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าในเดือนนี้ (เดือนส.ค.2565) ปริมาณน้ำมันเชื่อเพลิงเพียงพอต่อการบริโภคอย่างแน่นอน ทั้งยังร่วมงานกับสมาคมการค้าปิโตรเลียมแห่งเมียนมาในการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อไม่ให้ขาดแคลนและลดความกังวลของประชาชนในประเทศ ปัจจุบัน (วันที่ 16 ส.ค.2565) ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นทุกชนิด โดยราคาน้ำมันออกเทน 92 พุ่งจาก 2,365 จัตต่อลิตร, ราคาน้ำมันออกเทน 95 อยู่ที่ 2,445 จัตรต่อลิต, ราคาดีเซลพรีเมียมอยู่ที่ 2,780 จัตรต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 2,700 จัตรต่อลิตร

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-ships-249-mln-worth-of-over-733000-mt-of-rice-in-past-4-months/