‘ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง’ ปี 66 เติบโตต่อเนื่อง ดันไทยส่งออกอันดับ 1 อาเซียน ที่ 4 ของโลก

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีผลตัวเลขการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยเติบโตต่อเนื่อง เป็นผู้นำด้านการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก และอันดับ 1 ในอาเซียน ตลาดการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังครองใจผู้บริโภคในตลาดโลก โดยข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.– เม.ย. 66) ไทยมีมูลค่าการส่งออกอาหาsสัตว์เลี้ยงไปตลาดโลก 750 ล้านดอลลาร์ ทำให้ประเทศไทยขึ้นเป็นผู้นำด้านการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งถือเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับคู่ค้า ปลดล็อคกำแพงภาษีศุลกากร ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น โดยช่วง 4 เดือนแรก ของปี 2566 ไทยส่งออกอาหาsสัตว์เลี้ยงไปตลาดคู่ค้า FTA มูลค่า 432 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 58% ของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมด ซึ่งตลาดที่ขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เมียนมา และเปรู ปี 65 ส่งออกโต 15% ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินนโยบายเจรจากับประเทศคู่ค้าที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ ๆ กับประเทศคู่ค้าสำคัญ และคู่ค้าที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มตลาดส่งออกอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทย

ที่มา : https://www.thebangkokinsight.com/news/business/1124725/

นายกฯ สปป.ลาว แนะโรงงานอาหารสัตว์ ‘เร่งผลิต’

นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีของ สปป.ลาว ให้กำลังใจผู้ประกอบการที่กำลังก่อสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดหาวัตถุดิบแก่ฟาร์มชุมชนและการลดต้นทุน โรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตอาหารสัตว์ประมาณ 10 ตันต่อชั่วโมงและเดินเครื่องจักรวันละ 8 ชั่วโมง และผลิตภัณฑ์ของโรงงานสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ปีกและสุกรได้ อีกทั้ง โรงงานแห่งนี้ถูกมองว่าเป็นก้าวสำคัญในการลดความต้องการนำเข้าอาหารสัตว์ และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตอาหารและลดราคาอาหารในสปป.ลาวอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการผลิตที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและลดราคาสินค้าในประเทศ ท่ามกลางค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_PM22.php

“วิกฤติห่วงโซ่อุปทาน” กระทบ สปป.ลาว เร่งผลิตปุ๋ย-อาหารสัตว์เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน รัฐบาลสปป.ลาว พยายามผลักดันนโยบายจำกัดการนำเข้าและสนับสนุนการผลิตปุ๋ยในประเทศ โดยเกษตรกรมีความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี แต่ผลิตได้เพียง 600,000 ตันหรือ 30% ของความต้องการทั้งหมด ด้าน ดร.เพชร พรมพิภักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและป่าไม้ ได้ให้ข้อมูลว่า ได้เชิญผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่จากเวียดนามมาพบกับผู้ประกอบการสปป.ลาว ในการหารือเพื่อผลิตปุ๋ยร่วมกัน ในขณะเดียวกัน เกษตรกรทั่วประเทศต้องการอาหารสัตว์ประมาณ 600,000 ตัน แต่โรงงานจำนวน 6 แห่งในประเทศผลิตได้ต่ำกว่า 400,000 ตัน ซึ่งธุรกิจจำนวนมาก สนใจในการตั้งโรงงานกันมากขึ้น ปัจจุบันเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการนำเข้าจากไทยที่มีราคาสูง นอกเหนือจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นและการค่าเงินกีบที่อ่อนตัวลง ด้าน นาย Nadav Eshcar อดีตเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสปป.ลาวและเวียดนาม ชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสปป.ลาวและอิสราเอลจะมีส่วนช่วยพัฒนาด้านการเกษตรให้มากขึ้น และเชื่อว่าเทคโนโลยีของอิสราเอลสามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์และประสบความสำเร็จในสปป.ลาว อย่างแน่นอน

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/07/18/laos-to-produce-more-fertilizer-and-animal-feed-amid-supply-chain-turmoil/

‘เวียดนาม’ นำเข้าอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เวียดนามกลายมาเป็นผู้นำเข้าข้าวโพดรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับที่ 5 ของตลาดโลก กรมศุลกากรของเวียดนาม (GDC) เปิดเผยว่าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์และวัตถุดิบ อยู่ที่ 4.14 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 63 ซึ่งมูลค่าดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ายังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้เปิดโอกาสอันดีแก่ผู้ส่งออกข้าวโพดและผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากขบวนการผลิตเอทานอลด้วยข้าวโพด (DDGS) ทั้งนี้ แนวโน้มความต้องการนำเข้าข้าวโพดและผลิตภัณฑ์ DDGS ของเวียดนาม จะดันพุ่ง 3 เท่าในอีก 10 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1094879/vietnamese-animal-feed-imports-continue-to-rise.html

เวียดนามเผยการส่งออกอาหารสัตว์ครึ่งแรกของปีนี้ ‘พุ่ง’

ตามข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม เผยว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกอาหารสัตว์ของเวียดนาม มีมูลค่า 523.88 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 52.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี จีนยังคงเป็นผู้นำเข้าอาหารสัตว์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่าการค้า 188.3 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาสหรัฐฯ และอินเดีย โดยเฉพาะการส่งออกของเวียดนามไปยังไทย มีมูลค่า 15.55 ล้านเหรียญสหรัฐ พุ่ง 100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว การส่งออกอาหารสัตว์ของเวียดนามไปยังจีน มีมูลค่า 211.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะเดียวกัน ตัวเลขการส่งออกไปยังกัมพูชาและสหรัฐฯ แตะ 122.3 และ 114.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23% และ 125% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/animal-feed-exports-see-surge-in-h1/204933.vnp

บริษัท ซีพี (กัมพูชา) ลงทุน 67 ล้านดอลลาร์ ในการผลิตอาหารสัตว์

ซีพี (กัมพูชา) ลงทุนมากกว่า 67 ล้านดอลลาร์ ในการผลิตและแปรรูปอาหารจากสัตว์ รวมถึงโรงฆ่าสัตว์ในกัมพูชา โดยการลงทุนครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาภาคเกษตรของรัฐบาลกัมพูชาปี 2019-2023 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MAFF กล่าวว่าปัจจุบัน ซีพี (กัมพูชา) มีโรงงาน 2 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดกำปงสปือและจังหวัดไพลิน ซึ่งโรงงานทั้งสองแห่งนี้สามารถผลิตเนื้อสัตว์ได้ 55,000 ตันต่อเดือน และผลิตข้าวโพดแดงได้รวม 200,000 ตัน รวมถึงมันสำปะหลังแห้งอีกกว่า 100,000 ตันต่อปี โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นภายในประเทศกัมพูชาเป็นหลัก ซึ่งการลงทุนในระยะนี้ ซีพี (กัมพูชา) ได้ขออนุญาตกระทรวงฯ ในการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแม่ไก่ที่คาดว่าจะสามารถผลิตลูกไก่ได้สูงถึง 700,000 ตัวต่อสัปดาห์ และการนำเข้าแม่พันธุ์สุกรเพื่อให้เพียงพอที่จะผลิตลูกสุกรให้ได้ถึง 20,000 ตัวต่อสัปดาห์ ภายใต้แผนที่จะเพิ่มการผลิตอาหารและสัตว์อีกร้อยละ 15 ถึง 20 เพื่อรองรับกับตลาดในประเทศที่เติบโตขึ้นทุกปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50828866/cp-cambodia-invests-67-mn-in-animal-food-production/

ซี.พี.เปิดคอมเพล็กซ์ผลิตไก่ในเวียดนาม ใหญ่-ทันสมัยสุดในอาเซียน

รายงานข่าวจากบริษัท ซี.พี.เวียดนามคอร์ปอเรชั่น หรือ ซี.พี.เวียดนาม เผยว่า ได้เปิดโครงการคอมเพล็กซ์โรงงาน CPV Food Binh Phuoc  ผลิตไก่ครบวงจร ทั้งอาหารสัตว์ ฟาร์ม และอาหารแปรรูปอย่างเป็นทางการ ที่จังหวัดบิ่นห์เฟื้อก ทางตอนใต้ของเวียดนามโดยเป็นโครงการเลี้ยงไก่แปรรูปแบบครบวงจรเพื่อการส่งออกแห่งแรกของเวียดนาม และมีขนาดใหญ่ รวมถึงทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) ซึ่งจะช่วยยกระดับการผลิตอาหารของประเทศเวียดนาม ให้มีคุณภาพทัดเทียมกับระดับโลก ทั้งนี้ โครงการคอมเพล็กซ์ มีเป้าหมายการผลิตไก่เนื้อ 50 ล้านตัว / ปี ในเฟสแรก (ตั้งแต่ปี 2019-2023) ส่วนเฟสที่ 2 (ตั้งแต่ 2023 เป็นต้นไป) จะเพิ่มกำลังการผลิตขื้นเป็น 100 ล้านตัว / ปี ขณะที่ โครงการเลี้ยงไก่แปรรูปครบวงจรเพื่อการส่งออก CPV FOOD Binh Phuoc ใช้งบประมาณลงทุน 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในประเทศเวียดนาม สู่การเป็นผู้ผลิตอาหารระดับโลก ด้วยผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัยเพื่อผู้บริโภคทั้งภายในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป และตะวันออกกลาง ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะนำเงินเข้าสู่ประเทศเวียดนามประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี (ประมาณ 3,100 ล้านบาท คำนวณที่ 31 บาทต่อดอลลาร์) ในเฟสที่ 1 และ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(6,200 ล้านบาท) ต่อปีในเฟสที่ 2

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/463063

จ่อชงครม.ไฟเขียวแผนนำเข้าอาหารสัตว์ ปลาป่น-กากถั่ว-ข้าวโพดปี64-66

พาณิชย์ เตรียมชง “ครม.” เคาะนโยบายอาหารปี 64-66 กำหนดนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งกากถั่วเหลือง ปลาป่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เหมือนปี 61-63 โดยให้นำเข้าได้ทั้งจากสมาชิกดับเบิลยูทีโอ เอฟทีเอ และนอกเอฟทีเอ แต่ยังคงกำหนดให้ผู้นำเข้าข้าวสาลี ต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศในสัดส่วนเดิมที่ 1 ต่อ 3 หวังไม่ให้ราคาข้าวโพดดิ่ง จากการนำเข้าข้าวสาลีที่มากขึ้น นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอาหาร ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้เห็นชอบนโยบายอาหารสัตว์ปี 64-66 แล้ว โดยจะเปิดให้นำเข้ากากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เหมือนกับปี 61-63   และจะเสนอให้ ครม. พิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ทั้งนี้ กากถั่วเหลือง กำหนดการนำเข้าแบบไม่จำกัดปริมาณ ทั้งจากภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) มีภาษีนำเข้าในโควตา 2% และนอกโควตา 119%, กรอบความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อื่นๆ เช่น ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ภาษี 0%, เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ภาษี 0% เป็นต้น และประเทศที่ไม่มีเอฟทีเอกับไทย ภาษีนำเข้า 6% และเสียค่าธรรมเนียมการนำเข้า โดยแหล่งนำเข้าใหญ่คือ บราซิล อาร์เจนตินา และสหรัฐ ส่วนปลาป่น กำหนดให้นำเข้าปลาป่นโปรตีน 60% แบบไม่จำกัดปริมาณ โดยการนำเข้าจากอาฟตา ภาษี 0%, ภายใต้เอฟทีเอต่างๆ เช่น อาเซียน-จีน ภาษีนำเข้า 0% เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ภาษี 0%, เอฟทีเอไทย-ชิลี ภาษี 0% และประเทศนอกเอฟทีเอ ภาษีนำเข้า 6% โดยแต่ละปีไทยนำเข้าจากชิลีเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว โดยนำเข้าภายใต้ดับเบิลยูทีโอ ปริมาณ 54,700 ตัน ภาษีในโควตา 20% นอกโควตา 73% และเสียค่าธรรมเนียมตันละ 180 บาท ส่วนภายใต้อาฟตา ภาษี 0% ไม่จำกัดปริมาณ แต่จำกัดช่วงเวลาการนำเข้าระหว่างวันที่ 1 ก.พ.-31 ส.ค.ของทุกปี เอฟทีเออื่นๆ เช่น ไทย-ออสเตรเลีย ภาษีในโควตา 4% นอกโควตา 65.70% เป็นต้น โดยปี 62 ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 1 ล้านตัน ส่วนใหญ่นำเข้าจากอาเซียน

ที่มา: : https://www.dailynews.co.th/economic/792578