‘บ.เกาหลีใต้’ เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดเวียดนาม เหตุจากการเข้ามาของทุนจีน

สำนักข่าวญี่ปุ่น นิคเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) เผยแพร่บทความบอกเล่าถึงบริษัทเกาหลีใต้รายใหญ่ของโลกที่ทำธุรกิจในเวียดนาม เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งจากจีน ในขณะที่ตามรายงานของหอการค้าและอุตสาหกรรมเกาหลี (KCCI) เปิดเผยว่าบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้รายใหญ่ ได้แก่ บริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ (Samsung Electronics) และบริษัทแอลจี (LG) เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามาหลายปี ส่งผลให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และนักลงทุนเกาหลีใต้เป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 1 ของประเทศ มูลค่า 85.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ แซงสิงคโปร์และญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี คู่แข่งจากจีนเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น สาเหตุมาจากการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังเวียดนาม รวมถึงค่าแรงงานที่ถูกกว่า จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้นทุนแรงงานจะเพิ่มขึ้นในเวียดนามเช่นกัน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/korean-firms-in-vietnam-face-growing-competition-from-china-post1087897.vov

‘ผู้ประกอบการเวียดนาม’ แนะใช้ประโยชน์จากการย้ายห่วงโซ่อุปทาน

คุณ Phùng Anh Tuấn รองผู้อำนวยการของบริษัท Manutronic Vietnam JSC กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก ส่งผลให้บริษัทและกลุ่มธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ในเวียดนาม มีโอกาสที่จะอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลก และขยายกิจการทั้งการผลิตและการดำเนินธุรกิจ รวมถึงสร้างแรงงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ เนื่องมาจากกฎระเบียบและข้อบังคับต้องเป็นไปตามมาตรฐานระดับสูงของพันธมิตรทางธุรกิจ

ในขณะที่คุณ Trâong Thị Chí Bình รองประธานสมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุนเวียดนาม (VASI) กล่าวว่าธุรกิจอุตสาหกรรมของเวียดนามส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง และดำเนินกิจการจากการจัดหาส่วนประกอบและชิ้นส่วนรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ดี การผลิตชิ้นส่วนสำหรับสินค้าไฮเทค เช่น รถยนต์และเครื่องบิน จำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมการในระยะยาว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650949/vietnamese-businesses-suggested-taking-advantage-of-global-supply-chain-shifts.html

‘ซีบีอาร์อี’ เผยผลสำรวจ ชี้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด

ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก เปิดเผยผลการสำรวจประจำเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม พบว่าเวียดนามกลายเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ที่มีความต้องการทางด้านการลงทุนมากที่สุด ตามหลังอินเดียในแง่ความน่าดึงดูดของนักลงทุน โดยเวียดนามมีข้อได้เปรียบทางด้านภูมิประเทศและเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่ง รวมถึงใช้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศและดำเนินการห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ทำให้นักลงทุนมองเห็นถึงศักยภาพทั้งด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศและพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดียังมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมายในการถือครองทรัพย์สินและที่ดิน หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นอุปสรรค

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/viet-nam-among-the-most-sought-after-emerging-markets-survey-2252988.html

‘เวียดนาม’ จับมือซัมซุง ผลักดันพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์

นาง Nguyen Thi Bich Ngoc รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) ได้กล่าวกับนายชอย จู โฮ (Choi Joo Ho) ผู้อำนวยการของบริษัทซัมซุงเวียดนามว่าเวียดนามหวังว่าบริษัทชั้นนำเกาหลีใต้ ‘ซัมซุง’ จะกลายมาเป็นนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่ผลักดันประเทศให้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และนวัตกรรม โดยจากการประชุมครั้งล่าสุดทางรัฐมนตรีช่วยฯ เสนอให้ทางบริษัทเกาหลีใต้ช่วยส่งเสริมเวียดนามในการยกระดับขีดความสามารถทางธุรกิจ เพื่อมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนช่วยดำเนินการศูนย์ฝึกอบรมที่ตั้งอยู่ในศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ (NIC)

นอกจากนี้ นายชอย จู โฮ กล่าวว่าทางบริษัทเล็งขยายการลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง และมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือกับศูนย์ NIC ในการส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ ฝึกอบรมและสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-wants-to-cooperate-with-samsung-in-semiconductor-development-official/276580.vnp

‘ผลสำรวจ’ ชี้บริษัทเยอรมนีมองเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางธุรกิจ

หอการค้าเยอรมันในต่างประเทศ (AHK) ประจำประเทศเวียดนาม เปิดเผยว่าในเดือน ต.ค. บริษัทเยอรมนีได้ก้าวไปอีกขั้นในการทำธุรกิจในตลาดเวียดนาม ด้วยจำนวนโครงการ ทั้งสิ้น 26 โครงการ มูลค่าราว 221.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่แข็งแกร่งของบริษัท ในขณะที่ยังแสดงให้เห็นถึงความน่าสนใจของภาคธุรกิจเยอรมนีที่มีความต้องการขยายการดำเนินธุรกิจในเอเชีย

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าบริษัทเยอรมนีส่วนใหญ่ 42% ให้ความสำคัญต่อตลาดเวียดนามในเรื่องของการผลิตที่หลากหลายและกิจกรรมการผลิตอุตสาหกรรม รวมถึงกลยุทธ์การกระจายสินค้า รองลงมา 41% มุ่งเน้นไปที่การขายและการตลาด อย่างไรก็ดียังได้ประเมินถึงความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งจากการสำรวจชี้ให้เห็นว่าธุรกิจเยอรมนีมองว่าอุปสงค์โลกมีทิศทางที่ชะลอตัว และมีความกังวลถึงความเสี่ยงของการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจในเวียดนามยังคงประสบปัญหาบางอย่าง ได้แก่ ต้นทุนพลังงานและทรัพยากรการเงิน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1637075/german-firms-consider-viet-nam-potential-destination-survey.html

‘อินเทล’ ให้คำมั่นจะขยายการลงทุนในเวียดนาม

คุณ Ace Wilson ประธานเจ้าหน้าที่บริการฝ่ายการเงินของบริษัทอินเทล คอร์ปอเรชั่น เวียดนาม กล่าวในที่ประชุมฟอรั่มการค้าเวียดนาม-สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ว่าทางบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะขยายการลงทุนในเวียดนาม เพื่อกระจายห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มธุรกิจ และจากข้อมูลของคุณ Wilson พบว่าบริษัทอินเทลได้ลงทุนตั้งโรงงานและสิ่งอำนวยความสะดวกในเวียดนาม ราว 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ปี 2553 โดยเฉพาะการผลิตชิปของบริษัทที่มีสัดส่วนสูงถึง 70% ของภูมิภาคนี้ ซึ่งมาจากโรงงานของบริษัทในเวียดนาม และการส่งออกผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ทำรายได้ 80 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปีนี้จะส่งออกสูงถึง 10-11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/intel-pledges-to-expand-investment-in-vietnam-post1060636.vov

‘อินเทล’ ระงับแผนการผลิตชิปในเวียดนาม

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าบริษัทอินเทล (Intel) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐฯ ตัดสินใจระงับการลงทุนในเวียดนาม ซึ่งเป็นแผนที่จะเพิ่มขนาดของการดำเนินธุรกิจได้เกือบ 2 เท่า โดยการระงับการลงทุนในครั้งนี้ นับเป็นอุปสรรคสำคัญของประเทศที่ตั้งเป้าหมายที่มีความต้องการในการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์โลก ทั้งนี้ โรงงานผลิตของบริษัทในเมืองโฮจิมินห์ มีมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเปิดเมื่อปี 2010 ถือเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการประกอบ บรรจุภัณฑ์และการทดสอบ รวมถึงโรงงานแห่งนี้ยังมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 2,800 คน และส่งออกสินค้าของบริษัทมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลาของการดำเนินงาน 15 ปี นอกจากนี้ ในอีกประเด็นข้อกังวล คือ ระบบราชการที่เคร่งครัดของเวียดนามที่เป็นปัญหาของธุรกิจต่างชาติ

ที่มา : https://thediplomat.com/2023/11/intel-backs-out-of-planned-vietnam-chip-expansion-report-claims/

‘เวียดนาม-ไทย’ ตั้งเป้ามูลค่าการค้า 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายฟาม มินห์ จิญ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หารือร่วมกันในการส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเครือข่ายภายใต้ห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการเชื่อมโยงไปยังภาคอุตสาหกรรม ท้องถิ่น ธุรกิจและอื่นๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ นายปานปรีย์ กล่าวว่าธุรกิจไทยมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของสภาพแวดล้อมการลงทุนในเวียดนาม และหวังว่าจะขยายกิจการให้เติบโตขึ้น ในขณะเดียวกัน นายกฯเวียดนาม เสนอให้รัฐบาลไทยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชนชาวเวียดนามในไทย และรู้สึกยินดีกับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ เวียดนามและไทย ได้ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้า 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขจัดอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.nationthailand.com/world/asean/40032235

‘ซาวิลส์’ ชี้โอกาสของเวียดนามที่ได้รับประโยชน์สูงสุด เหตุนักลงทุนเล็งหาศูนย์การผลิตด้วยต้นทุนต่ำ

บริษัท ซาวิลส์ เอเชีย แปซิฟิก ระบุว่าประเทศต่างๆ ได้แก่ เวียดนามและอินโดนีเซีย อาจได้รับประโยชน์ หากบริษัทเริ่มที่จะมองหาศูนย์การผลิตด้วยต้นทุนต่ำในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและต้นทุนการผลิตต่ำ โดยหลังจาก 3 ปีที่เกิดการหลุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ดูเหมือนว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สังเกตได้จากต้นทุนการขนส่งสินค้าทางทะเลหรือทางอากาศส่วนใหญ่กลับสู่ช่วงก่อนโควิด-19 ตลอดจนเรือตู้คอนเทนเนอร์ไม่มีคิวรอเข้าท่าเรือหลัก ทั้งนี้ Jack Harkness ผู้อำนวยการฝ่ายบริการอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคของบริษัท กล่าวว่าต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นในจีน บ่งชี้ให้เห็นว่าไม่คุ้มค่ากับการดำเนินธุรกิจ และยังแสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ มองหาแหล่งการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-could-benefit-as-investors-look-for-low-cost-production-centres-savills-post1032775.vov

“สหรัฐฯ” เร่งนำเข้าชิปจากเวียดนามและตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย

จากข้อมูลของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปี สหรัฐอเมริกานำเข้าผลิตภัณฑ์ชิปเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากกลุ่มประเทศในเอเชีย 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินเดียและกัมพูชา เป็นต้น โดยจากข้อมูลในเดือน ก.พ. สหรัฐฯ นำเข้าชิปเพิ่มขึ้น 17% คิดเป็นมูลค่า 4.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และหากคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าจากตลาดเอเชียอยู่ที่ 83% ของตลาดทั้งหมด โดยเฉพาะตลาดอินเดียที่สหรัฐฯ นำเข้าอย่างก้าวกระโดด มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น 34 เท่า เป็นมูลค่าที่ 152 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ตลาดเวียดนามและไทยต่างครองส่วนแบ่งทางการตลาดของการผลิตชิปในสหรัฐฯ ที่มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สัดส่วนทางการค้าเพิ่มขึ้น 75% และ 62% ตามลำดับ และในปัจจุบัน เวียดนามมีสัดส่วนการนำเข้าชิปจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% เป็นเวลา 7 เดือนติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ได้กระจายห่วงโซ่อุปทานอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ โดยทำการย้ายผู้ผลิตที่อยู่ในตลาดดั้งเดิมไปยังตลาดเกิดใหม่

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/us-increases-chip-imports-from-vietnam-and-emerging-asian-markets-2129952.html