ภูมิธรรม พบทูตเช็ก ดึงลงทุนเข้า EEC ขอเสียงหนุนเจรจา FTA ไทย-อียู

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับนายปาเวล ปีเตล (H.E. Mr.Pavel Pitel) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย ว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าในโอกาสที่ไทยและเช็กฉลองสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครอบรอบ 50 ปี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ต้องการให้ผลักดันและสานความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน ผมได้เชิญชวนให้ ทูตสาธารณรัฐเช็ก ขยายการลงทุนเพิ่มในไทย ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในสาขาอุตสาหกรรมที่เช็กมีความเชี่ยวชาญ เช่น การผลิตรถยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการป้องกันประเทศ โดยเช็กสามารถใช้ไทยเป็นศูนย์กลางเพื่อขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนได้ นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ได้หารือประเด็นการค้าสำคัญอื่นๆ เช่น ความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่ไทยและเช็กมีศักยภาพ และผลักดัน soft power เช่น มวยไทย การท่องเที่ยว ให้เป็นรูปธรรมต่อไป รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ที่อยู่ระหว่างการเจรจา โดยได้ขอให้เช็กในฐานะประเทศสมาชิกของ EU สนับสนุนการเจรจาดังกล่าว เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้โดยเร็ว เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก EU 27 ประเทศ รวมถึงเช็กด้วย ซึ่งท่านทูตเช็กได้แจ้งพร้อมให้การสนับสนุนการเจรจา FTA กับไทยอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า เช็กเป็นคู่ค้าอันดับที่ 43 ของไทย และอันดับที่ 8 จาก EU โดยในปี 2566 ไทยและเช็กมีการค้าระหว่างกันรวม 1,137.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (39,387.75 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.62 มีสัดส่วนการค้ารวมคิดเป็นร้อยละ 0.20 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปเช็ก 784.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (27,064.81 ล้านบาท) และไทยนำเข้าจากเช็ก 353.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (12,322.94 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/economy/news-1531031

รัฐบาลเพิ่มแต้มต่อสินค้าเกษตรไทยด้วย FTA ดันครองเบอร์ 1 ส่งออกในอาเซียน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งใจขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศผ่านการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อดึงดูดการค้า การลงทุนจากต่างชาติ เดินหน้าทำการค้าเชิงรุก และผลักดันให้เกิดการขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยในต่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าหากเดินหน้าผลักดันความร่วมมือ FTA ให้เต็มศักยภาพจะเพิ่มตัวเลขการค้าการลงทุนได้มหาศาล ถือเป็นโอกาสสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันให้ไทยในตลาดโลก ซึ่งขณะนี้ ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก และส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ในปี 2023 โดยตลาดคู่ค้า FTA ที่มีการส่งออกขยายตัวทางการค้าสูง ได้แก่ จีน ซึ่งขยายตัว 11% คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 42% ของการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทย ตามมาด้วยตลาดอาเซียนที่ขยายตัว 5% ด้านสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปที่เป็นสินค้าศักยภาพที่ขยายตัวได้ดีในการส่งออกของไทยไปยังตลาดคู่ค้า FTA อันดับ 1 ยังคงเป็น ข้าว ที่มีการขยายตัวมากถึง 92% ในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

ที่มา : https://www.naewna.com/business/787985

ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาด FTA พุ่ง! ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในอาเซียน

น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกสินค้าของไทยไปกลุ่มประเทศคู่ค้า ที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ว่า ในปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าไปกลุ่มประเทศคู่ค้า FTA คิดเป็นมูลค่า 167,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลงเล็กน้อย 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ซึ่งเป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

แต่หากพิจารณากลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ พบว่า สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ส่งออกไปประเทศคู่ค้า FTA ขยายตัวได้ดี โดยสินค้าเกษตร มีมูลค่า 19,563 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4% คิดเป็นสัดส่วนถึง 73% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด ทั้งนี้ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ถือเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกสูง ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปอันดับ 3 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2024/375345

โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลส่งเสริมการใช้สิทธิภายใต้ FTA ส่งออก มกราคม-พฤศจิกายน 2566 รวม 75,842.65 ล้านดอลลาร์

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ FTA ช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่าส่งออกสินค้ารวม 75,842.65 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 82.66 ของการส่งออกสินค้าที่ไทยได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA โดยไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) สูงสุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่า 27,584.19 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน น้ำตาลจากอ้อย น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส รถยนต์สำหรับขนส่งบุคคล และเครื่องจักรอัตโนมัติ สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีของไทย มากเป็นอันดับที่ 2 ได้แก่ ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์ คิดเป็นมูลค่า 22,059.90 ล้านดอลลาร์ โดยเน้นเป็นสินค้าจำพวกทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มันสำปะหลัง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง และโพลิเมอร์ของเอทิลีน นอกจากการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ FTA ข้างต้น ยังมีการใช้สิทธิประโยชน์ในความตกลงฉบับอื่น ๆ เช่น การใช้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) คิดเป็นมูลค่า 6,344.09 ล้านดอลลาร์ ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) คิดเป็นมูลค่า 5,802.56 ล้านดอลลาร์ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) คิดเป็นมูลค่า 4,987.16 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/78761

รัฐบาลประกาศเจรจา FTA ไทย-อียู จบปี 2568 ดันการค้า-ลงทุน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ผลักดันการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดโลก พัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

สำหรับการประชุมเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) รอบที่ 2 เมื่อวันที่ 22 – 26 มกราคม 2567 ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการแปลกเปลี่ยนมุมมองและข้อเสนอต่าง ๆ ด้านการค้าและการลงทุน พร้อมสร้างความเข้าใจในการร่วมกันยกระดับไปสู่หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในอนาคตให้มากขึ้น

ทั้งนี้ การประชุมเจรจา FTA ไทย-EU รอบที่ 3 EU รับเป็นเจ้าภาพ เพื่อหารือประเด็นต่าง ๆ ด้านความร่วมมือไทย-EU เพิ่มเติม ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 โดยรัฐบาลตั้งเป้าให้การเจรจา FTA สามารถบรรลุข้อสรุปได้ภายในปี 2568

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/587341

FTA ระหว่าง กัมพูชา-เกาหลีใต้ ดันการส่งออกเครื่องนุ่งห่มแตะ 173 ล้านดอลลาร์

FTA ดันการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่มของกัมพูชาไปเกาหลีใต้แตะ 173 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.84 สำหรับในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2023 ขณะที่ในปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังเกาหลีใต้ที่มูลค่า 191.37 ล้านดอลลาร์ โดยการเพิ่มขึ้นนี้เกิดขึ้นหลังจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2022 ขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวโดยภาพรวมของกัมพูชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มีสิทธิประโยชน์ด้านการลดภาษีนำเข้าสินค้าจากกัมพูชาหลายรายการ รวมทั้งเสื้อผ้า ทำให้สินค้ากัมพูชามีราคาที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้นในตลาดเกาหลีใต้ สำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญของกัมพูชาด้วยการมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 16 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และมีการจ้างงานประมาณกว่า 700,000 คน ในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501401901/fta-boosts-cambodias-apparel-export-to-south-korea-reaches-173-million/

อาเซียน-แคนาดา ถกทำ FTA รอบ 5 คืบหน้าต่อเนื่อง นัดรอบ 6 พ.ย.นี้

นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-แคนาดา รอบที่ 5 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 25-29 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา ว่า การประชุมรอบนี้ ได้เน้นหารือ 9 กลุ่ม ได้แก่ การค้าบริการ บริการโทรคมนาคม บริการด้านการเงิน การลงทุน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายและสถาบัน การค้าสินค้า และกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ส่วนอีก 4 กลุ่ม ได้หารือผ่านทางออนไลน์ ได้แก่ พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย

ทั้งนี้ คณะกรรมการเจรจาการค้าได้กำชับให้คณะทำงานเจรจาทุกคณะ หารืออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ความคืบหน้าเพิ่มเติมก่อนการประชุมรอบที่ 6 ในเดือน พ.ย.2566 พร้อมทั้งกำหนดแผนที่จะประชุมกันอีก 5 รอบ ในปี 2567 เพื่อให้อาเซียนและแคนาดาสามารถสรุปผลการเจรจาภายในปี 2568 ตามที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและแคนาดาได้ตั้งเป้าหมายไว้

ที่มา : https://commercenewsagency.com/news/6408

รัฐบาล ปัดฝุ่น FTA ไทย-อินเดีย เปิดตลาดยา เวชภัณฑ์ ยุทโธปกรณ์

นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายนาเคศ สิงห์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย โดยอินเดียพร้อมฟื้นฟูความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ไทย-อินเดีย อีกครั้ง และพร้อมแก้ไขปัญหาอุปสรรคร่วมกันอย่างเข้มแข็งและรวดเร็วที่สุด ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยและอินเดียได้ทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA โดยได้เปิดตลาดสินค้าส่วนแรก (Early Harvest Scheme) จำนวน 83 รายการ ครอบคลุมทั้งสินค้าผลไม้สด ธัญพืช อาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์แร่ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยได้ยกเลิกภาษีตั้งแต่ปี 2549 ทำให้การค้าทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัว และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า แต่ได้หยุดชะงักไปเมื่อปี 2559 เนื่องจากอินเดียได้หันมาผลักดันการเจรจา FTA ระหว่างอาเซียน-อินเดียแทน เพื่อขยายตลาดมายังกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ทั้งนี้ในการหารือทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ BIMSTEC จะเป็นเวทีที่จะช่วยขจัดอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเป็นไปอย่างราบรื่น โดยนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ตั้งใจอย่างมากที่จะมาร่วมการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ จากข้อมูลรายงานการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำปี 2565 ของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า อินเดีย ขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 7 จากอันดับที่ 10 ในปีก่อน โดยขยายตัวถึง 22.5% โดย การค้าระหว่างไทยและอินเดีย มีมูลค่า 17,702.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 18.06% โดยไทยส่งออกไปอินเดีย มูลค่า 10,524.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอินเดีย มูลค่า 7,178.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เม็ดพลาสติก ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของอินเดีย อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ เคมีภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/577107

ไทยเข้าเกียร์เดินหน้าทำเอฟทีเอหวังแซงเวียดนามขึ้นเบอร์ 1 อาเซียน

“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ณ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐฯ โดยประเด็นหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์คือ แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลที่แล้วไม่ได้ให้ความสนใจในการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีมากนัก ทำให้ไทยยังตามหลังเวียดนาม ซึ่งต้องเร่งเดินหน้าเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (FTA) เพื่อเปิดตลาดการค้าใหม่ ซึ่งการทำเอฟทีเอเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้ต่อรัฐสภา โดยในประเทศกลุ่มอาเซียน ประเทศเวียดนามถือเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนที่ทำเอฟทีเอมากที่สุด โดยเวียดนามมีเอฟทีเอ รวม 15 ฉบับ คลอบคลุม  53  ประเทศ (ทั้งระดับพหุภาคีและทวิภาคี) ได้แก่ 1.ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน  2. อาเซียน-จีน  3.อาเซียน-เกาหลีใต้  4. เวียดนาม-ญี่ปุ่น  5.เวียดนาม-เกาหลีใต้  6.อาเซียน-อินเดีย 7.อาเซียน- ออสเตรเลีย –นิวซีแลนด์ 8.เวียดนาม-ชิลี  9.เวียดนาม-เกาหลีใต้ ขณะที่ไทยมีเอฟทีเอเพียง 14 ฉบับ 18 ประเทศ ซึ่งน้อยทั้งจำนวนน้อยกว่าประเทศอื่นประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย  เวียดนาม ทั้งจำนวนฉบับและประเทศที่คลอบคลุม

โดยเอฟทีเอไทย 14 ฉบับประกอบด้วย  1.อาเซียน 9 ประเทศ 2. อาเซียน-จีน 3. อาเซียน-ญี่ปุ่น 4.อาเซียน-เกาหลีใต้ 5.อาเซียน-ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ 6.อาเซียน- อินเดีย 7.อาเซียน-ฮ่องกง 8.ไทย-ออสเตรเลีย 9..ไทย-นิวซีแลนด์ 10.ไทย-ญี่ปุ่น 11.ไทย- เปรู 12.ไทย-ชิลี 13.ไทย-อินเดีย และ14.ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)  ซึ่งเป็นเอฟทีเอเป็นฉบับล่าสุดของไทย

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1089953

ส่งออกนมไปคู่ค้า FTA โต 8.3% มูลค่ากว่า 357.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่ากรมได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทย พบว่า การส่งออกยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (มกราคม-กรกฎาคม) ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดโลก มูลค่า 380.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.2% เป็นการส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 357.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.3% คิดเป็นสัดส่วนถึง 94.1% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด ตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาเซียน เพิ่ม 6.9% จีน เพิ่ม 41.4% ฮ่องกง เพิ่ม 18.6% ออสเตรเลีย เพิ่ม 21.8% และอินเดีย เพิ่ม 137.6% สินค้าส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น นมพร้อมดื่มยูเอชทีนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต นมถั่วเหลืองที่มีนมผสม เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีนมผสม และหางนม (เวย์) เมื่อเจาะลึกลงไปในตลาด FTA ทั้งหมด ที่ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ พบว่า ตลาดอาเซียนมีการขอใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกสูงสุด เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าทุกรายการแล้ว โดยในช่วง 7 เดือนไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 81% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด ตลาดที่ขยายตัวได้ดี เช่น สปป.ลาว เพิ่ม 14.2% ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 13.3% และมาเลเซีย เพิ่ม 35.3% สินค้าที่ได้รับความนิยม เช่น นม UHT มูลค่า 86.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 16.7% นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต มูลค่า 78.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 14.4% เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีนมผสม มูลค่า 12.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 18.8% และหางนม (เวย์) มูลค่า 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 41.8% ปัจจุบัน ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยกับคู่ค้า 18 ประเทศ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคู่ค้า FTA 14 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมจากไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียง 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมบางส่วนให้ไทย เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 21.3-25.5% โยเกิร์ต อัตรา 21.3-29% และชีส อัตรา 22.4-40% เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 26.8% โยเกิร์ต อัตรา 28.8% ชีส อัตรา 36% และอินเดีย ไม่เก็บภาษีนำเข้านมเปรี้ยวและโยเกิร์ตจากไทยแล้ว แต่ยังเก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 20-60% นอกจากนี้ ความตกลงความ RCEP ญี่ปุ่น ตกลงจะทยอยลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มนมที่มีนมผสมลงจนเหลือ 0% ในปี 2580

ที่มา : https://www.naewna.com/business/756491