‘แคนาดา’ เปิดประตูสู่ธุรกิจเวียดนามในตลาดโลก

แคนาดาเป็นตลาดที่มีศักยภาพและพร้อมที่จะผลักดันธุรกิจเวียดนามในการขยายสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งการเติบโตของด้านเทคโนโลยี การเงิน กลุ่มลูกค้าและเครือข่ายโลจิสติกส์ในสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันจากข้อได้เปรียบของข้อตกลงการค้าเสรีและคุณภาพแรงงาน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งข้ามเอเชีย ทำให้เวียดนามสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจแคนาดากับตลาดเอเชียได้ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของแคนาดาในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับ 7 ของตลาด รองจากสหรัฐฯ และจีน เป็นต้น

นอกจากนี้ นาง Tran Thu Quynh ที่ปรึกษาเชิงพาณิชย์ของสถานทูตเวียดนามประจำประเทศแคนาดา กล่าวว่าแคนาดามีจุดแข็งที่สำคัญในด้านการพัฒนาเครื่องจักรที่มีคุณภาพสูง เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม ชีวการแพทย์ และวัตถุดิบที่นำเข้าจากเวียดนาม อาทิ แร่ธาตุ พลาสติก ไม้ น้ำมัน ธัญพืชและปุ๋ย เป็นต้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650430/canada-a-gateway-for-vietnamese-businesses-going-global.html

‘องค์กรระดับโลก’ ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลแถลงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามว่ามีทิศทางที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2566 ขยายตัว 3.32%, ไตรมาสที่ 2/66 ขยายตัว 4.14%, ไตรมาสที่ 3/66 (5.33%) และไตรมาสที่ 4/66 (6.72%) การเติบโตทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ ส่งผลให้เวียดนามอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตในระดับสูง และองค์กรระดับโลกหลายแห่งชื่มชมกับความสำเร็จและโอกาสทางด้านเศรษฐกิจของเวียดนามอย่างมาก

ทั้งนี้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ปรับประมาณการเศรษฐกิจเวียดนาม คาดว่าจะขยายตัว 6.7% ในปีนี้ เนื่องจากยอดการค้าปลีกและการผลิตของภาคอุตฯ ยังคงแข็งแกร่ง การส่งออกและการนำเข้าที่กลับมาฟื้นตัว ถึงแม้ว่าการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน

ในขณะเดียวกัน Fitch Rating องค์กรจัดอันดับความน่าเชื่อถือของโลก คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามจะอยู่ที่ 7% โดยมีสัญญาณเชิงบวกหลายประการ อาทิ มีข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคและโลก การไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ และขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านต้นทุนของเวียดนาม เป็นต้น

ที่มา : https://vir.com.vn/global-banks-high-on-gdp-prospects-108328.html

‘การค้าเวียดนาม-ยูเค’ พุ่ง 16.6%

จากข้อมูลของกระทรวงการค้าระหว่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่าการค้าระหว่างเวียดนามและสหราชอาณาจักรมีการเติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และจากข้อมูลทางสถิตืแสดงให้เห็นว่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศในชวงไตรมาสที่ 4 จนถึงไตรมาสแรกของปีนี้ มีมูลค่าอยู่ที่ 6.7 พันล้านปอนด์สเตอร์ลิง หรือประมาณ 8.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างเวียดนามและสหราชอาณาจักรที่มีความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและความพยายามในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหราชอาณาจักร (UKVFTA) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พ.ค.64 นอกจากนี้ การลงนามอย่างเป็นทางการล่าสุดของสหราชอาณาจักร คือ ข้อตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าให้กับสมาชิกในกลุ่ม รวมถึงเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1605565/viet-nam-uk-trade-surges-16-6-per-cent-in-one-year.html

‘เวียดนาม’ ดึงดูดบริษัทยุโรป

จากงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดย ‘Vietnam Trade and Industry Review’ ในกรุงฮานอย เมื่อวันที่ 6 ต.ค. เพื่อหารือถึงการเชื่อมโยงกับบริษัทยุโรป และใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนาย Phan Minh Thong ประธานคณะกรรมการบริหารของ Phuc Sinh Group กล่าวว่าข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้ ได้สร้างโอกาสอย่างมากต่อภาคธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ บริษัทนอกสหภาพยุโรปที่ลงทุนในเวียดนามสามารถใช้ประโยชน์จากอัตราภาษีที่ลดลง เมื่อทำการส่งออกจากเวียดนามไปยังยุโรป

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-attractive-to-european-firms-seminar/269243.vnp

‘เวียดนาม’ เกินดุลการค้า 21.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วง 9 เดือนแรกปี 2566

สำนักงานสถิติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการส่งออกของเวียดนามในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวม 259.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 8.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี และการนำเข้ามีมูลค่ารวม 237.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 13.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามเกินดุลการค้า 21.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าการส่งออกของเวียดนามที่ปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ความต้องการจากทั่วโลกลดลงและภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและจีน นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังส่งเสริมให้ทำการค้าในตลาดเกิดใหม่และตลาดที่มีศักยภาพ และช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี เพื่อกระตุ้นการส่งออก

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1594585/viet-nam-records-21-68-billion-trade-surplus-in-nine-months.html

‘เวียดนาม-อิสราเอล’ ตั้งเป้าเพิ่มยอดการค้า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นาย เหงียน ห่ง เซียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือทางการค้าระหว่างสองประเทศที่จะมีผลต่อการเติบโตทางการค้าระหว่างเวียดนามและอิสราเอล และคาดว่าจะทำรายได้สูงถึง 3-4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในอนาคตข้างหน้า ในขณะที่ข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-อิสราเอล (VIFTA) จะสร้างโอกาสและผลประโยชน์ร่วมกันแก่ผู้ประกอบการทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนั้นเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะด้านการค้าและการค้าลงทุน มูลค่าการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-israel-aim-to-boost-bilateral-trade-to-us3-billion/

กัมพูชาหวัง RCEP-FTA กระตุ้นภาคการส่งออก

กัมพูชาตั้งความหวังไว้กับข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ในการกระตุ้นการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) กล่าวโดย Ly Khun Thai ประธานสมาคมรองเท้ากัมพูชา หลังการส่งออกรองเท้าไปยังจีนและเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่กัมพูชาลงนามในข้อตกลก RCEP และ FTA ทวิภาคีของกัมพูชากับจีน รวมถึงเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งกล่าวเสริมว่าตลาดหลักในปัจจุบันสำหรับสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชา ได้แก่ ยุโรป สหรัฐฯ และแคนาดา โดยได้มีการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปแล้วมูลค่ารวมกว่า 5.26 พันล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ ลดลงที่ร้อยละ 18.7 จากมูลค่าการส่งออกที่ 6.47 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ซึ่งอุตสาหกรรมสินค้ากลุ่ม GFT ถือเป็นแรงหลักของภาคการส่งออกกัมพูชา โดยมีผู้ประกอบด้วยโรงงานประมาณ 1,100 แห่ง สร้างการจ้างงานถึงประมาณ 750,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501325280/cambodia-hopes-rcep-bilateral-ftas-to-boost-exports-of-garment-footwear-travel-goods/

“เวียดนาม” ลงนามข้อตกลง FTA กับประเทศคู่ค้า 15 ฉบับ

เวียดนามเป็นประเทศเดียวที่ได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักรและรัสเซีย และจนถึงในปัจจุบัน เวียดนามได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี รวมทั้งสิ้น 15 ฉบับ และอยู่ในช่วงขั้นตอนการเจรจาข้อตกลงการค้าอีก 4 ฉบับ โดยข้อตกลงการค้าหรือเขตการค้าเสรีมีส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเวียดนามมีข้อได้เปรียบอย่างมากที่จะส่งเสริมการค้า ความเชื่อมโยงทางธุรกิจและนำเสนอสินค้าเวียดนามไปสู่ผู้บริโภคในตลาดสำคัญทั่วโลก ทั้งนี้ จากข้อมูลในปีที่แล้ว ระบุว่ายอดการส่งออกที่ใช้หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าแบบพิเศษ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี มีมูลค่าอยู่ที่ 78.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 33.61% ของมูลค่าการส่งออกรวมของเวียดนามไปยังตลาดที่ทำข้อตกลงการค้าเสรี (233 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม รายงานว่าอัตราการใช้หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าแบบพิเศษ อยู่ที่ 33.61% และอัตราการเติบโตที่ 13.18% แสดงให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกของเวียดนามในตลาด FTA ในช่วงหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-signs-15-ftas-with-foreign-partners-2153890.html

กัมพูชาเล็งทำข้อตกลงด้านการค้าเสรีร่วมกับญี่ปุ่น

Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายหน่วยงานในการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่น หลังจากในช่วงปีนี้การส่งออกสินค้าของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐมนตรีได้กล่าวข้อความดังกล่าวไว้ในงานสัมมนาที่มีนักธุรกิจและผู้ประกอบการจากทั้งสองประเทศเข้าร่วมหารือเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าในยุคดิจิทัลระหว่างญี่ปุ่นและกัมพูชาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (9 มิ.ย.) โดยกล่าวเสริมว่าทั้งสองประเทศควรใช้ประโยชน์จากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) อย่างเต็มที่ ซึ่งในระยะถัดไปทางการกัมพูชาคาดหวังถึงการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่นโดยตรง และกำลังเร่งศึกษา รวมถึงพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน โดยปัจจุบันญี่ปุ่นถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 สำหรับสินค้าส่งออกของกัมพูชา ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 442 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306688/cambodia-eyes-free-trade-agreement-with-japan/

ในช่วง 5 เดือนแรงของปี กัมพูชาส่งออกแตะ 9.18 พันล้านดอลลาร์

การส่งออกของกัมพูชาในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2023 มูลค่ารวมแตะ 9.18 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.4 จากเมื่อช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการส่งออกรวมมูลค่า 9.41 พันล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า สินค้าเดินทาง จักรยาน และสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง กล้วย และมะม่วง สำหรับประเทศส่งออก 5 อันดับแรกของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐฯ เวียดนาม จีน ไทย และญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน (CCFTA) และเกาหลี (CKFTA) จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการส่งออกของกัมพูชา

ในขณะเดียวกันการนำเข้าของกัมพูชาจากต่างประเทศมีมูลค่ารวม 10,109 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ลดลงร้อยละ 22.6 จากมูลค่ารวม 13,057 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปีก่อนหน้า ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซ วัตถุดิบสำหรับเสื้อผ้า รองเท้า สินค้าเพื่อการเดินทาง ยานพาหนะ เครื่องจักร เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงสินค้าอื่นๆ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306111/cambodia-exports-reach-9-18-billion-in-five-months/