‘เวียดนาม’ เผยเม็ดเงินทุน FDI ไหลเข้าธุรกิจอสังหาฯ เพิ่มขึ้น 4 เท่า

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ธุรกิจต่างชาติทุ่มเงินในโครงการอสังหาริมทรัพย์ มูลค่ากว่า 1.68 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งสัญญาณว่าตลาดอสังหาฯ ของเวียดนามยังคงเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักธุรกิจต่างชาติ ถึงแม้ว่าตลาดจะเผชิญกับอุปสรรคในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) รายงานว่าธุรกิจต่างชาติอัดฉีดเงินลงทุนในภาคอสังหาฯ มูลค่า 66.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ จำนวนโครงการประมาณ 1,000 โครงการ ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ นายเลอ ฮวง เชา ประธานสมาคมอสังหาริมทรัพย์นครโฮจิมินห์ กล่าวว่าธุรกิจ FDI จำนวนมากที่มีเงินทุนสูง จะทุ่มเงินไปยังอุตสาหกรรมอสังหาฯ การท่องเที่ยวและที่อยู่อาศัยในเวียดนามมากขึ้น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/four-month-fdi-into-real-estate-increases-fourfold-post1092558.vov

‘เวียดนาม’ เผยเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศระลอกใหม่ ม.ค.-เม.ย. แตะ 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าการลงทุนจากต่างประเทศในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี มูลค่ากว่า 9.27 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยยอดเม็ดเงินลงทุนดังกล่าว มีจำนวนโครงการใหม่ 966 โครงการ ทุนจดทะเบียนรวม 7.11 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.8% และ 73.2% ตามลำดับ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปได้รับเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด มูลค่าราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 70.2% ของเงินลงทุนทั้งหมด ในขณะที่ภาคอสังหาฯ มูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 22.5%

นอกจากนี้ นักลงทุนชาวสิงคโปร์ยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ในเวียดนาม มีมูลค่าการลงทุนรวม 2.59 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นสัดส่วน 36.4% ของเงินลงทุนทั้งหมด รองลงมาฮ่องกง 898.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/new-foreign-investments-in-jan-apr-put-at-us9-3-billion/

‘เวียดนาม’ ส่งออก เม.ย. พุ่ง 10.6% ด้านผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัว 6.3%

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการส่งออกของเวียดนามในเดือน เม.ย. จะขยายตัวได้ประมาณ 10.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่า 30.94 พันล้านเหรียญสหรัฐ ได้แรงหนุนจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะขยายตัว 19.9% มูลค่า 30.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้าราว 680 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจเวียดนาม พบว่าผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัว 6.3% ต่อปี ตามมาด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 4.4% จากปีก่อน และยอดค้าปลีก เพิ่มขึ้น 9.0% ต่อปี

นอกจากนี้ เวียดนามตั้งเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สำหรับปี 2567 จะขยายตัว 6.5% ถือว่าขยายตัวดีกว่าปี 2566 ที่ขยายตัว 5.05%

ที่มา : https://www.channelnewsasia.com/business/vietnam-april-exports-106-y-y-industrial-output-63-4299461

‘ยูโอบี’ คาดไตรมาส 1 ศก.เวียดนามโต 5.5%

ธนาคารยูโอบี (UOB) ประเมินทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ แสดงให้เห็นถึงโมเมนตัมการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) คาดว่าจะขยายตัว 5.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว กลับมาฟื้นตัวและเร่งขยายตัว 6.72% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องมาจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิเช่น ธนาคารกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวในเดือน ก.พ.67 โดยการส่งออกหดตัว 5% ในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัว 6.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี สาเหตุสำคัญมาจากอยู่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ของ UOB มองว่าโมเมนตัมยังคงไปในทิศทางเชิงบวก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 เนื่องจากได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุตฯ เซมิคอนดักเตอร์ และการเปลี่ยนแปลงของธนาคารกลางทั่วโลกไปสู่นโยบายผ่อนคลาย

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-q1-economic-expansion-projected-at-5-5-uob/

‘เวียดนาม’ เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ม.ค. เพิ่มขึ้น 18.3%

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (IIP) เดือน ม.ค.67 เพิ่มขึ้น 18.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ดัชนีผลผลิตอุตฯ ปรับตัวลดลง 4.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสาขาของภาคอุตสาหกรรมเวียดนาม พบว่าสาขาการผลิตและการแปรรูป ขยายตัว 19.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตฯ ในภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น 15.1 จุด ตามมาด้วยการผลิตและการจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 21.6% การจัดการน้ำเสียและการบำบัดน้ำเสีย เพิ่มขึ้น 5.7% และการทำเหมืองแร่ เพิ่มขึ้น 7.3%

อีกทั้ง สินค้าอุตสาหกรรมที่มีส่วนให้ดัชนีผลผลิตอุตฯ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์ไฟฟ้า โลหะ เคมีภัณฑ์ เครื่องหนังและสินค้าที่ได้จากการแปรรูปอาหาร

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650167/industrial-production-index-up-18-3-y-on-y-in-january.html

‘เวียดนาม’ เผยตัวเลขเงินเฟ้อ ม.ค. เพิ่มขึ้น 3.37%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน ม.ค. 2567 เพิ่มขึ้น 3.37% เมื่อเทียบเป็นรายปี และปรับตัวขึ้น 0.31% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2566 ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.67 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากมาจากราคายาและค่าบริการด้านสุขภาพที่ 1.02% ตามมาด้วยที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้าง 0.56% ค่าบริการขนส่ง 0.41% กลุ่มสินค้าและบริการอื่นๆ 0.4% อาหารและบริการจัดเลี้ยง 0.21% ในขณะที่กลุ่มสินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ไปรษณีย์และโทรคมนาคม (0.05%) และการศึกษา (0.12%)

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ม.ค.67 เพิ่มขึ้น 2.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/consumer-price-index-rises-337-in-january/276934.vnp

‘รายได้เฉลี่ยของคนงานเวียดนาม’ เพิ่มขึ้น 6.9% ปี 66

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่ารายได้เฉลี่ยของคนงานเวียดนามในปี 2566 อยู่ที่  7.1 ล้านดองต่อคนต่อเดือน (หรือมากกว่า 291 ดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 6.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่รายได้เฉลี่ยของคนงานเพศชายและเพศหญิงอยู่ที่ 8.1 ล้านดอง และ 6 ล้านดอง ตามลำดับ โดยสาเหตุที่รายได้ของคนงานปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากภาคธุรกิจมีการผลิตมากขึ้นและกิจกรรมทางธุรกิจฟื้นตัวจากยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnamese-labourers-average-income-up-69-in-2023/275932.vnp

‘เวียดนาม’ เผย ปี 66 ยอดลงทุนไปต่างประเทศดิ่งลงฮวบ 21.2%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในปี 2566 ยอดการลงทุนเวียดนามในต่างประเทศ มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 420.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 21.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จำแนกออกเป็นโครงการที่จดทะเบียนใหม่ 124 โครงการ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนรวม 282.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ภาคการค้าส่งค้าปลีก คิดเป็นสัดส่วน 37.3% ของการลงทุนทั้งหมด รองลงมาภาคเทคโนโลยีและการสื่อสาร (28.7%) โดยแคนาดาเป็นแหล่งการลงทุนชั้นนำของเวียดนาม ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากเวียดนามอยู่ที่ 150.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยสิงคโปร์ (122.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และสปป.ลาว (116.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-2023-outbound-investments-dip-21-2-y-o-y/

‘เวียดนาม’ เผยค่าแรงเพิ่ม 6.9% ในปี 66

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าในปีที่แล้ว คนงานเวียดนามมีรายได้ต่อเดือน เพิ่มขึ้น 6.9% คิดเป็นเม็ดเงินอยู่ที่ 7.1 ล้านดอง เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยแรงงานเพศชายมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 8.1 ล้านดองต่อเดือน ในขณะที่แรงงานเพศหญิงมีรายได้ที่ 6 ล้านดองในปี 2566 ทั้งนี้ คนงานในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจมีความพึงพอใจต่อการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในเขตราบลุ่มปากแม่น้ำโขงที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นมากที่สุด รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 8.7 ล้านดอง เพิ่มขึ้น 3.5% ในขณะเดียวกัน แรงงานที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ ปรับขึ้นค่าแรงต่ำที่สุดที่ 2.3% อย่างไรก็ดีแรงงานยังคงมีรายได้เฉลี่ย 9 ล้านดองต่อเดือน

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnamese-worker-incomes-rise-by-6-9-in-2023/

‘เวียดนาม’ ชี้การจ้างงานโตสวนทางคุณภาพของตลาดแรงงานยังไม่ดีขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าถึงแม้จำนวนผู้มีงานทำมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น แต่คุณภาพของตลาดแรงงานยังไม่กลับมาฟื้นตัว เนื่องจากมีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก และจากข้อมูลทางสถิติในไตรมาสที่ 4/66 พบว่าผู้มีงานทำ มีจำนวนทั้งสิ้น 51.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 130,400 คน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และ 414,600 คน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยการเติบโตของแรงงานข้างต้นมาจากกิจกรรมการผลิตและการดำเนินธุรกิจที่ขยายตัวดีขึ้นตามความต้องการของผู้คนในช่วงเทศกาลเต็ต (Tet)

นอกจากนี้ ตามรายงานของสำนักงานสถิติ ยังระบุว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวในปี 2566 อยู่ที่ราว 204 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ผู้ว่างงานหรือผู้ตกงาน มีจำนวนประมาณ 85,000 คนในไตรมาสที่ 4/66 ลดลงราว 32,100 คน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/employment-numbers-rise-but-labour-market-quality-yet-to-improve-gso-2234063.html