‘เวียดนาม’ เผย ม.ค.67 โทรศัพท์สินค้าส่งออกอันดับ 1 ยอดโต 6.7%

กรมศุลกากรเวียดนาม รายงานว่าการส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วนในช่วงครึ่งแรกของเดือน ม.ค.67 มีมูลค่า 2.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และโทรศัพท์ยังคงเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ในแง่ของมูลค่าการส่งออก รวมถึงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วนในปี 2566 ทำรายได้สูงถึง 52.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 2 รองจากคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ในขณะเดียวกันตลาดส่งออกหลักของเวียดนาม ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้

ที่มา : https://en.vneconomy.vn/phone-exports-rank-top-in-1h-january.htm

ครึ่งแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังไทยขยายตัว 6.5%

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี นับตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ การส่งออกของกัมพูชาไปยังไทยมีมูลค่ารวมมากกว่า 527 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา สำหรับไทยมีมูลค่าการค้ากับกัมพูชามากเป็นอันดับ 4 รองจากจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม ที่มูลค่าเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในช่วงปลายปี 2022 นายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวไว้ในการประชุมกับเอกอัครราชทูตกัมพูชาว่า กัมพูชาและไทยวางแผนที่จะมีมูลค่าการค้ารวมกันถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025 ด้านสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ เสื้อผ้า สินค้าเกษตร อัญมณีและวัตถุดิบ ขณะที่สินค้านำเข้าของกัมพูชาจากไทย ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม ปุ๋ยอินทรีย์ เครื่องสำอาง ของตกแต่งบ้าน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และการก่อสร้าง เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501328681/cambodias-exports-to-thailand-up-6-5-in-h1/ 

ในช่วง ม.ค.-พ.ค. มูลค่าการค้ากัมพูชาหดตัว 14% แตะ 19.2 พันล้านดอลลาร์

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาอยู่ที่ 19.2 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ตามรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง โดยกัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวมเกือบ 9.2 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 2.4 (YoY) ขณะที่การนำเข้าคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ปรับตัวลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 22.6 (YoY) ด้าน Pan Sorasak รมว.พาณิชย์ ระบุว่าการส่งออกที่ลดลงมาจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่คาดว่าสถานการณ์โดยภาพรวมจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงปีนี้ โดยกัมพูชาเน้นการนำเข้าวัตถุดิบและวัสดุก่อสร้าง รถยนต์ ยา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงเป็นหลัก ขณะที่สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าเดินทาง จักรยาน ข้าว เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพารา เฟอร์นิเจอร์ และผัก สำหรับตลาดส่งออกสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เยอรมนี เวียดนาม ไทย และสิงคโปร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501310428/cambodias-trade-turnover-over-19-2-bn-in-jan-may-2023-14-yoy-drop/

ในช่วง 5 เดือนแรงของปี กัมพูชาส่งออกแตะ 9.18 พันล้านดอลลาร์

การส่งออกของกัมพูชาในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2023 มูลค่ารวมแตะ 9.18 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.4 จากเมื่อช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการส่งออกรวมมูลค่า 9.41 พันล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า สินค้าเดินทาง จักรยาน และสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง กล้วย และมะม่วง สำหรับประเทศส่งออก 5 อันดับแรกของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐฯ เวียดนาม จีน ไทย และญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน (CCFTA) และเกาหลี (CKFTA) จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการส่งออกของกัมพูชา

ในขณะเดียวกันการนำเข้าของกัมพูชาจากต่างประเทศมีมูลค่ารวม 10,109 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ลดลงร้อยละ 22.6 จากมูลค่ารวม 13,057 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปีก่อนหน้า ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซ วัตถุดิบสำหรับเสื้อผ้า รองเท้า สินค้าเพื่อการเดินทาง ยานพาหนะ เครื่องจักร เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงสินค้าอื่นๆ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306111/cambodia-exports-reach-9-18-billion-in-five-months/

‘RCEP’ ถกเข้ม เร่งติดตามการดำเนินงาน หนุนผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ คาดสมาชิก 15 ประเทศ พร้อมใช้ความตกลงปีนี้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลการประชุมคณะกรรมการร่วม RCEP ครั้งที่ 3 เร่งติดตามการดำเนินงานตามพันธกรณีความตกลง RCEP ทั้งการปรับโอนพิกัดศุลกากร การจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุน การจัดสรรงบประมาณ คาดสมาชิก 15 ประเทศ พร้อมใช้ความตกลงปีนี้ เดินหน้าหาแนวทางสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจผ่านแผนงาน มุ่งเน้นทั้งการค้าสินค้า บริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ สำหรับในช่วง 11 เดือน (ม.ค. – พ.ย. 2565) มีการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง RCEP เพื่อส่งออกไปตลาด RCEP มูลค่า 919.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการส่งออกไปเกาหลีใต้มากที่สุด รองลงมา คือ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ สำหรับสินค้าส่งออกที่ขอใช้สิทธิ์ RCEP สูงสุด อาทิ น้ำมันหล่อลื่น ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลังเส้น ทุเรียนสด และเลนส์สำหรับกล้องถ่ายภาพ

ที่มา : http://www.acnews.net/detailnews.php?news_id=N256674555

กรมการค้าต่างประเทศเตือน ระวังสินค้าเสี่ยงสวมสิทธิ์ไทย

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ปรับปรุงแก้ไขบัญชีสินค้าเฝ้าระวัง หรือสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงที่จะแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าจากไทยส่งออกไปสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่มเติมอีก 8 รายการ รวมเป็น 48 รายการ เพื่อให้สอดคล้องกับรายการสินค้าที่สหรัฐฯ และอียูได้ตรวจสอบ รวมถึงป้องกันประเทศอื่นสวมสิทธิ์ไทยส่งออก โดยสินค้า 8 รายการเป็นสินค้าเฝ้าระวังส่งออกไปสหรัฐฯ 6 รายการ คือ 1.พื้นไม้อัด 2.ผ้าแคนวาส 3.เหล็กลวดคาร์บอน 4.ท่อเหล็กคาร์บอน 5.ตะปูเหล็ก 6.ลวดเย็บกระดาษ และส่งออกไปอียู 2 รายการ คือ 1.เหล็กลวดคาร์บอน 2.อะลูมิเนียมเส้นหน้าตัด

อย่างไรก็ตาม มีสินค้า 1 รายการที่นำออกจากรายการสินค้าเฝ้าระวังส่งออกไปอียู ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า และสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ 1 รายการ ได้แก่ ฟูกที่นอน โดยมีผลวันที่ 1 ก.พ.66 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผู้ส่งออกที่ต้องการส่งออกสินค้าทั้ง 48 รายการไปสหรัฐฯ และอียู ต้องยื่นขอตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าจากกรม เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบในการขอใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (ฟอร์มซีโอทั่วไป) ก่อนส่งออก.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2629101

เปิดโผสินค้าที่พร้อมฝ่าพิษเศรษฐกิจ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้รายงานสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมไทยในปีนี้ว่า มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยยังต้องปรับตัวเผชิญกับความท้าทาย ทั้งความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ และภัยธรรมชาติ ขณะที่อุตสาหกรรมที่จะมีการเติบโตและขยายตัวได้โดดเด่นในปีนี้ มีอาทิ ยานยนต์ โดยเฉพาะยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีความต้องการใช้ที่สูงขึ้นมาก จากการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัล ในทุกอุตสาหกรรม อาทิ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผ่นวงจรรวม (IC) และแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCBA) ขณะที่อาหารและเครื่องดื่มที่เกี่ยวกับสุขภาพ อาหารเสริม อาหารทางการแพทย์ อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เครื่องดื่มสมุนไพร เติบโตจากกระแสรักษ์และดูแลสุขภาพ, เครื่องปรับอากาศอัจฉริยะ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เช่น สามารถดักจับฝุ่น PM 2.5, พลาสติกชีวภาพ ที่ปลอดสารพิษและย่อยสลายได้ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบ สำหรับทำบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม, เภสัชภัณฑ์ โดยเฉพาะยาเม็ดสกัด จากสมุนไพรได้รับการตอบรับที่ดี เช่น ฟ้าทะลายโจร แคปซูลขมิ้นชัน ลูกประคบสมุนไพร ส่งผลให้มีการผลิตเพิ่มมากขึ้น รองรับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งภายในและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2622956

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นโต 11.4%

กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวมกว่า 1.81 พันล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่น ในช่วง 11 เดือนแรกของปีที่แล้ว หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.4 ตามข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 473 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้าระหว่างญี่ปุ่นที่ 1.33 พันล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษและเครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง ขณะที่การนำเข้าสินค้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าผืน และพลาสติกจากญี่ปุ่น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501216672/cambodias-export-to-japan-jumps-11-4/

ปริมาณการค้าระหว่าง กัมพูชา-ไทย โต 29%

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 8,589 ล้านดอลลาร์ในช่วง 10 เดือนของปี เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 959 ล้านดอลลาร์ไปยังไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะเดียวกันการนำเข้าสินค้าของกัมพูชาจากไทยคิดเป็นมูลค่า 7,630 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์ไทย ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป เป็นสำคัญ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง โดยในปีที่แล้วการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 7.97 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501196940/cambodia-thailand-trade-surges-29/

เดือนก.ย.65 เมียนมาส่งออกสินค้าไปบังคลาเทศ โกยรายได้กว่า 2.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา เมียนมาส่งออกสินค้าไปบังคลาเทศคิดเป็นมูลค่า 2.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านด่านชายแดนชเวมิงกันของเมืองซิตเวย์มูลค่า 1.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และด่านชายแดนกันยินชวงของเมืองหม่องตอมูลค่า 0.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยชายแดนหม่องตอได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและปัญหาคมนาคมที่แออัด ดังนั้นการค้าผ่านชายซิตเวย์จึงเพิ่มขึ้น และที่ผ่านมาเมียนมาได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด โดยมีสินค้าประมงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ทั้งนี้ ในการส่งออกสินค้าไปบังคลาเทศ ประกอบไปด้วย ปลาจะละเม็ดขาว ปลากะตัก ปลาแห้ง ถั่ว มะพร้าว ลูกเนียง ไม้กวาด เห็ด ขิง หัวหอม ถั่วชิกพี พลัมแห้ง เมล็ดมะขาม รองเท้า ชุดลองยี (ชุดประจำชาติของเมียนมา)  ทานาคา กาแฟสำเร็จรูป เมล็ดทานตะวัน และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ในขณะเดียวกัน สินค้านำเข้า คือเครื่องนุ่งห่ม สินค้าอุปโภคบริโภค ท่อพีวีซี ถังเก็บน้ำพลาสติก และปั๊มน้ำแบบโยก

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-earns-2-11-mln-from-exports-to-bangladesh-in-sept/