การค้าทวิภาคี “กัมพูชา-ไทย” แตะ 2.58 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี

สำหรับในช่วงเดือน มกราคม-สิงหาคม ของปีนี้ การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2,585 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 19.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังไทยที่มูลค่า 646 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากไทยลดลงกว่าร้อยละ 25.8 เหลือมูลค่า 1,938 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ด้านสินค้านำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ ได้แก่ เป็นปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501368622/cambodia-thailand-bilateral-trade-tops-2-58-billion-in-first-eight-months/

มูลค่าการค้าระหว่าง กัมพูชา-สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปีแตะ 5.3 พันล้านดอลลาร์

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปีมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5.3 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 14 จากมูลค่า 6.2 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของสํานักการสํารวจสํามะโนประชากรสหรัฐฯ โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ที่มูลค่า 5.1 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 10.6 จากมูลค่า 5.9 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่คิดเป็นการนำเข้าของกัมพูชาที่มูลค่า 164 ล้านดอลลาร์ ลดลงกว่าร้อยละ 37 จากมูลค่า 260 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์เสื้อผ้า เครื่องหนัง สินค้าสำหรับการเดินทาง เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า ด้านการนำเข้าของกัมพูชา ได้แก่ ยานพาหนะ เครื่องจักรและเครื่องใช้ทางกล เครื่องมือทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ยาจากสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ภายใต้ความต้องการสินค้าเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทางจากสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพของกัมพูชา เนื่องจากประมาณร้อยละ 40 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาถูกส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาขอให้สหรัฐฯ ต่ออายุโครงการ GSP เพื่อช่วยกระชับความร่วมมือทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501350472/cambodia-united-states-trade-reaches-5-3-billion-in-h1/

อินโดนีเซียเล็งนำเข้าข้าวกัมพูชา

Joko Widodo ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ให้คำมั่นสัญญากับนายกรัฐมนตรี Hun Sen เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 ส.ค.) ถึงการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเพื่อยกระดับการค้าทวิภาคี โดยทางอินโดนีเซียจะส่งคณะผู้แทนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำเข้าข้าวจากกัมพูชา ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลกัมพูชาและอินโดนีเซียเคยได้ลงนามในข้อตกลงการซื้อข้าวระหว่างกันในปี 2012 เป็นครั้งแรก แต่ยังไม่ได้สรุปโควตาปริมาณการส่งออกและประเภทของข้าว

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ชื่นชมความเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยเรียกร้องให้อินโดนีเซียลงทุนในภาคอุตสาหกรรมข้าวในกัมพูชา ซึ่งนักลงทุนอินโดนีเซียสามารถถือครองสัดส่วนการลงทุนได้สูงถึงร้อยละ 100 ในการจัดตั้งโรงสี โกดัง และเครือข่ายรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นคงในการส่งออก สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปีกัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 329,633 ตัน ไปยัง 52 ประเทศทั่วโลก โดยเน้นการส่งออกไปที่ข้าวหอมพรีเมียม ข้าวหอม ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวนึ่ง และข้าวอินทรีย์ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 229 ล้านดอลลาร์ รายงานโดยสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ซึ่งในขณะเดียวกันกัมพูชาส่งออกข้าวเปลือก ณ ชายแดนประเทศกว่า 2.2 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 578 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342422/indonesia-eyes-cambodian-rice-imports/

‘ไทย’ หารือทวิภาคีกับเมียนมา

นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ. ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้การต้อนรับนาย U Chan Aye ผู้แทนของเมียนมาที่เดินทางมาเยือนที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. เพื่อหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ในทุกด้าน โดยทั้งสองประเทศได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการหารืออย่างสม่ำเสมอในทุกระดับ เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ ในขณะที่ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองประเทศพึงพอใจกับการเติบโตของการค้าทวิภาคีและหารือถึงแนวทางที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ อาทิเช่น การชำระเงินโดยตรงระหว่างสกุลเงินบาท-จั๊ต และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

ที่มา : https://www.nationthailand.com/thailand/general/40029671

จีนยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญของกัมพูชา

หลังจากการลงนามในข้อตกลงกัมพูชา-จีน (CCFTA) เมื่อเดือนตุลาคม 2020 และเริ่มมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2022 ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างจีน และเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยปริมาณการค้าของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าระหว่างปี 2017-2021 เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 25.44 พันล้านดอลลาร์ เป็น 48.01 พันล้านดอลลาร์ สำหรับศักยภาพในการส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดในภูมิภาคยังมีจำกัด ซึ่งยังคงต้องบูรณาการอย่างต่อเนื่องในส่วนของห่วงโซ่คุณค่าระดับภูมิภาค ถึงอย่างไร แม้กัมพูชาจะได้รับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่จีนและกัมพูชาก็ยังสามารถบรรลุเป้าหมายด้านปริมาณการค้าทวิภาคีได้เกินเป้าหมายที่ 1.11 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2021 ซึ่งบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับในปี 2022 จีนก็ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวมของกัมพูชาไปยังจีน 1.24 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 5.5 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501320543/china-remains-the-largest-export-market-for-cambodia/

นายกฯ มาเลเซียเยือน สปป.ลาว เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี

การมาเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการ ของนายกรัฐมนตรี Datuk Seri Anwar Ibrahim นายกฯ มาเลเซีย ในช่วงวันที่ 26-27 มิ.ย. ซึ่งคาดว่าจะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันหลัง สปป.ลาว จะต้องเป็นประธานในการจัดการประชุมอาเซียนในปีหน้าที่จะต้องรับตำแหน่งต่อจากอินโดนีเซีย โดยผู้นำทั้งสองพร้อมที่จะเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoC) ระหว่าง Keretapi Tanah Melayu Berhad (KTMB) และรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งชาติ สปป.ลาว (LNRSE) รวมถึง Mutiara Perlis Sdn Bhd (MPSB) ขณะที่ท่าเรือบกท่านาแล้ง (TDP) กล่าวว่า การค้าทวิภาคีระหว่างมาเลเซียและ สปป.ลาว เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 425 จากมูลค่าการค้ารวม 48.7 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 เป็น 255.6 ล้านดอลลาร์ ในปี 2022 เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซียที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งมาเลเซียยังคงเป็นกลุ่มประเทศผู้เข้ามาลงทุนโดยตรงมายัง สปป.ลาว (FDI) รายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศ รองจากจีน ไทย และเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในโครงการลงทุนภาคพลังงาน เขตการค้าเสรี ยานยนต์ และการธนาคาร

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten122_PM_Anwar_y23.php

การค้า กัมพูชา-ญี่ปุ่น แตะเกือบ 700 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่น ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวมกว่า 699 ล้านดอลลาร์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 5 รองจากจีน สหรัฐฯ เวียดนาม และไทย รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ซึ่งคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นที่มูลค่า 442 ล้านดอลลาร์ และคิดเป็นการนำเข้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่นที่มูลค่า 257 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกในช่วงเดือนพฤษภาคมเพียงเดือนเดียวมีมูลค่าอยู่ที่ 55 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 20.4 จากมูลค่า 69 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน

ด้านเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชา Ueno Atsushi ได้กล่าวในเวทีสาธารณะของกัมพูชาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ว่านักลงทุนชาวญี่ปุ่นมองเห็นถึงศักยภาพของกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาตั้งอยู่กลางแม่น้ำโขงติดต่อกับไทยและเวียดนามเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งยังมีกำลังแรงงานที่อายุน้อยและมีต้นทุนการจ้างงานที่ถูกกว่าแรงงานในประเทศไทยและเวียดนาม รวมถึงกัมพูชายังเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนภายใต้นโยบายส่งเสริมมากมาย ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นคาดว่าจะเข้ามาลงทุนยังกัมพูชาเพิ่มขึ้นในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501308691/cambodia-japan-bilateral-trade-nears-700-million-in-the-first-five-months/

กัมพูชา-เวียดนาม ลงนามข้อตกลงส่งเสริมการค้าระหว่างกัน

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนาย Nguyen Hong Dien รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของเวียดนาม ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากทั้งสองกระทรวงเข้าร่วมในพิธีลงนาม ซึ่งการลงนามในข้อตกลงส่งเสริมการค้าในระดับทวิภาคีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือที่ยอดเยี่ยมระหว่างประเทศ และคาดว่าข้อตกลงนี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน รวมถึงจะเป็นการส่งเสริมการลงทุน และเพิ่มการค้าทวิภาคีในระยะถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสินค้าและอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งทั้งสองประเทศพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกทางการค้าทวิภาคีระหว่างกันในทุกมิติ สำหรับการค้าระหว่างกัมพูชาและเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 2,430 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501301992/cambodia-vietnam-sign-trade-enhancement-pact/

“เวียดนาม-แคนาดา” ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคี 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เวียดนามและแคนาดาได้ตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างการประชุมของนาย ฝ่าม มีง จีง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และนาย จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาจากการประชุมสุดยอด G7 ที่ญี่ปุ่น ทั้งนี้ นาย จัสติน ทรูโด กล่าวว่าแคนาดาให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเวียดนาม เช่นเดียวกับบทบาทและตำแหน่งของเวียดนามในเวทีโลก แสดงให้เห็นมาจากเวียดนามเป็นหนึ่งในสองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับเชิญให้มาร่วมประชุม G7 นอกจากนี้ เวียดนามเป็นคู่ค้าทางการค้าชั้นนำของแคนาดาในกลุ่มประเทศอาเซียนตั้งแต่ปี 2558 ขณะที่แคนาดาเป็นหนึ่งในคู่ค้านำเข้า 10 อันดับแรกของเวียดนาม

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/economy/vietnam-canada-to-increase-bilateral-trade-turnover-to-10b-4607655.html

คาดการค้าทวิภาคี กัมพูชา-กว่างซี ขยายตัว

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและมณฑลกว่างซีของจีนมีมูลค่ารวมแตะ 1.970 พันล้านหยวน ในปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 88.2 เมื่อเทียบกับปี 2021 รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กว่างซี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นการส่งออกของกว่างซีไปยังกัมพูชาที่ 1.860 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.5 ในขณะที่กัมพูชาส่งออกไปยังกว่างซีมูลค่ารวม 110 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 85.3 ผ่านการที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้ร่วมมือกันในด้านต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การเกษตร การค้า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการปกป้องสิ่งแวดล้อม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501277602/uptrend-in-cambodia-guangxi-bilateral-trade/