‘ไทย’ เตรียมเปิดเส้นทางเชื่อมโยงทางทะเลเวียดนามและกัมพูชา

นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดโครงการระเบียงเศรษฐกิจกัมพูชา-เวียดนาม-ไทย (CVTEC) ภายใต้ชื่องาน “CVTEC-Trat Business Roadshow 2024” โดยมีผู้แทนจาก 6 จังหวัดของ 3 ประเทศ

ในขณะที่นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ได้เร่งจัดการประชุมการเชื่อมโยงทางทะเล CVTEC ด้วยการที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) เป็นผู้จัดงานร่วมและผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมเส้นทางเดินเรือเชื่อมโยง 3 ประเทศ ภายใต้วัตถุประสงค์ของโครงการ “หนึ่งตลาด 3 จุดหมาย”

ทั้งนี้ นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่าถึงความสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยวในครั้งนี้ และภายในกรอบการประชุม ทางด้านผู้แทนภาคเอกชนและภาครัฐฯ ของทั้ง 3 ประเทศ ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/thailand-looks-to-maritime-tourism-connectivity-with-vietnam-cambodia-post288678.vnp

เมียนมาลงนาม MoU กับเวียดนาม หนุนภาคส่วนมะพร้าว

ตามการระบุของกระทรวงพาณิชย์ เมียนมาลงนามบันทึกความเข้าใจกับเวียดนามเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาภาคมะพร้าวที่ ในย่างกุ้งเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม และได้ไปศึกษาดูงานฟาร์มมะพร้าวในหมู่บ้านยินกาดิษฐ์ เมืองพันตานอว์ เขตอิรวดี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม โดยเมียนมาจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับโครงการ “ห่วงโซ่มูลค่าผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ (มะพร้าว)” ภายใต้กองทุน ACEMES-ROK ที่โรงแรม Pan Pacific บริษัท เมียนมา ออร์ชาร์ด จำกัด และสหกรณ์บริการการเกษตร Hoa Binh Hiep ของเวียดนาม ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดหาต้นมะพร้าวและความช่วยเหลือด้านเทคนิคสำหรับสวนมะพร้าว ซึ่งในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้เชี่ยวชาญที่นำโดยนาง Nguyen Thi Kim Thanh ประธานสมาคมมะพร้าวเวียดนาม ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการปลูกมะพร้าวและวิธีการผลิต คาร์บอนเครดิต และการสร้าง Macapuno ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่างไรก็ดี ภายใต้กองทุน ACEMES-ROK โครงการ “ห่วงโซ่มูลค่าผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ (มะพร้าว)” ยังรวมหลักสูตรหัตถกรรมมะพร้าวในเขตอิรวดีระหว่างเดือนพฤษภาคม 2566 ถึงเมษายน 2567 ซึ่งหลักสูตรนี้จะนำเสนอแนวทางปฏิบัติในการเปลี่ยนกะลามะพร้าวเหลือทิ้งให้เป็นงานฝีมือที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เรียนรู้ทักษะการเลือกกะลามะพร้าว การออกแบบ ตัด ขัด ตากแห้ง และตกแต่งด้วยอุปกรณ์ทีละขั้นตอน มีวิชาการวาดภาพขั้นพื้นฐานรวมอยู่ด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-signs-mou-with-vietnam-to-bolster-coconut-sector/

กัมพูชา กระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง ปากีสถานและบังกลาเทศ

กระทรวงพาณิชย์ (MoC) ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันกับปากีสถาน เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อยกระดับความร่วมมือทางการค้า นำโดย Cham Nimul รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ Zaheeruddin Babar Thaheem เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำกัมพูชา นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังอยู่ระหว่างการเตรียมบันทึกความเข้าใจ (MOU) ฉบับอื่นที่จะลงนามกับบังกลาเทศ เพื่อส่งเสริมการค้าข้าว ซึ่งในการกล่าวปาฐกถาในพิธีลงนาม รัฐมนตรีฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่ากัมพูชาและปากีสถาน มุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับภาคเอกชน รวมถึงหอการค้าและสมาคมธุรกิจในทั้งสองประเทศ ความริเริ่มนี้มุ่งเน้นที่การส่งเสริมกิจกรรมทางการค้าและเศรษฐกิจ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการค้า ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสร้างมาตรฐาน ระเบียบทางเทคนิค ตลอดจนขั้นตอนการประเมินความสอดคล้องสำหรับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) และอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) เพื่อให้การส่งออกราบรื่นยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501496424/cambodia-strengthens-trade-ties-with-pakistan-bangladesh/

สปป.ลาว – เอกชนจีน ลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าลาวไปยังจีน

สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ สปป.ลาว และบริษัท Shanghai Zhe Zhe Qang Co., Ltd และ Lao Konsin International Group สัญชาติจีน ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าของ สปป.ลาว ไปยังประเทศจีน โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุตสาหกรรม และสมุนไพรพื้นบ้าน โดยปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่า “การลงนามดังกล่าวนี้จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือในด้านองค์ความรู้โดยเฉพาะด้านการวางแผนการผลิต การฝึกอบรม และการปรับปรุงคุณภาพสินค้าของ สปป.ลาว เพื่อให้สินค้าได้มาตรฐานการส่งออกและสามารถส่งออกไปยังประเทศจีนได้ และในที่สุดจะสามารถจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างประเทศในประเทศลาว ผ่านความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าและหัตถกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์”

ที่มา : https://kpl.gov.la/En/Detail.aspx?id=82033

‘วินฟาสต์’ เตรียมตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอินเดีย

วินฟาสต์ (VinFast) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของเวียดนาม เตรียมดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจรในเมืองทุติโคริน รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย โดยจากการลงทุนในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ระหว่างวินฟาสต์และรัฐทมิฬนาฑู ได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันเส้นทางการขนส่งที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของอินเดียและภูมิภาค ทั้งนี้ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในวันที่ 6 ม.ค. ความร่วมมือดังกล่าวมุ่งไปที่การก่อสร้างโรงงาน EV ในเฟสแรกกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของบริษัทที่จะขยายกิจการไปยังทั่วโลกและทิศทางของธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร จะสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นประมาณ 3,000-3,500 ตำแหน่ง ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการในอินเดีย แต่ยังรองรับในการส่งออกไปยังเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vinfast-to-break-ground-on-integrated-electric-vehicle-facility-in-india-post1078214.vov

EXIM Bank ร่วม CCC ผลักดันการค้าการลงทุนระหว่าง ไทย-กัมพูชา

ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา คาดว่าจะได้รับการส่งเสริมอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง EXIM BANK และหอการค้ากัมพูชา (CCC) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย ร่วมกับ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของบันทึกความเข้าใจคือการอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการปรึกษาหารือระหว่าง EXIM BANK และ CCC ในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรม และกิจกรรมอื่นๆ ที่มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยไทยถือเป็นคู่ค้าสำคัญของกัมพูชา ควบคู่ไปกับจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม สำหรับในปี 2022 โดยปริมาณการค้าระหว่างไทย-กัมพูชา ทะลุ 8 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นการส่งออกของไทยไปยังกัมพูชามูลค่า 6.4 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่การนำเข้าจากกัมพูชามีมูลค่ารวม 1.6 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501437767/partnership-between-exim-thailand-and-ccc-to-drive-thai-cambodian-trade-and-investment/

EXIM BANK ร่วมกับหอการค้ากัมพูชาส่งเสริมการค้าการลงทุน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และหอการค้ากัมพูชา (CCC) โดยมี ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และเนก โอคนา คิท เม้ง ประธานหอการค้ากัมพูชา เป็นผู้ลงนาม โดยทั้งสองหน่วยงานจะแลกเปลี่ยนข้อมูลและบริการด้านข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการพัฒนาอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ การค้าระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่าสูงกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นคู่ค้าสำคัญของกัมพูชา นอกเหนือจากจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม การส่งออกของไทยไปกัมพูชาในปี 2566 มีมูลค่า 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าของไทยจากกัมพูชามีมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่กัมพูชาเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs เป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ธุรกิจของไทยที่ดำเนินการในกัมพูชาครอบคลุมหลายภาคส่วน

ที่มา : https://www.thebetter.co.th/news/business/13414

สปป.ลาว และตุรกี ร่วมลงนาม MOU ด้านเศรษฐกิจและการค้า

รัฐบาล สปป.ลาว และตุรกี วางแผนที่จะขยายความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจและการค้า โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจในนามของรัฐบาลทั้งสองประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า และทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีในปีที่ผ่านมา และทิศทางในอนาคตที่เป็นไปได้ของการเชื่อมสัมพันธ์ที่มากขึ้น และยังแบ่งปันความคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลกที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยรัฐมนตรีทั้งสองกล่าวถึงความสำเร็จมากมายตลอดระยะเวลา 60 ปีแห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเห็นพ้องกันว่าความสัมพันธ์ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า และด้านอื่นๆ สำหรับการค้าทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศขยายตัวจุดสูงสุดในปี 2561 และ 2562 แต่ต่อมาลดลง 75.0% เนื่องจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จากนั้นมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศกลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 11.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งส่งสัญญาณการฟื้นตัวในด้านการค้าระหว่างกันของทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_27_LaoTurkiye_y24.php

จีน-กัมพูชา ลงนาม MoU จัดตั้งโครงการผลิตยางรถยนต์มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์

ทางการกัมพูชาและจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับแผนการลงทุนมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ ในโครงการผลิตยางและยางรถยนต์ร่วมกัน ตามคำแถลงของสภาพัฒนากัมพูชา (CDC) โดยข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการไปเยือน ณ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมยางและยางแห่งชาติของจีน (NERCRAT) ของรองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา Sun Chanthol ซึ่งทุกฝ่ายตั้งเป้าที่จะร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงการสำคัญๆ หลายโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางระหว่างกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501423710/china-and-cambodia-sign-1billion-rubber-tire-projects-agreement/

NBC ลงนาม MoU มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยชิงเต่า ดันอุตสาหกรรมกัมพูชา

Sun Chanthol รองนายกรัฐมนตรีและรองประธานสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยวิศวกรรมแห่งชาติสำหรับยางและยางรถยนต์ (NERCRAT) โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับ การพัฒนาอุตสาหกรรมในกัมพูชา โดยข้อตกลงดังกล่าวลงนาม ณ สำนักงานใหญ่ของ NERCRAT ในเมืองชิงเต่า จากข่าวประชาสัมพันธ์ของ CDC บันทึกความเข้าใจที่ลงนามระหว่าง NERCRAT และรองประธานของ CDC ได้รับการออกแบบมาเพื่อร่วมกันเสริมสร้างและส่งเสริมภาคส่วนที่มีความสำคัญกับทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยาง และอุตสาหกรรมการผลิตยางในกัมพูชา ซึ่งศูนย์ NERCRAT ถือเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยางและยางรถยนต์ขั้นสูง ที่มีสำนักงานใหญ่ในเมืองชิงเต่า ประเทศจีน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501421100/cdc-sings-mou-worth-1b-with-qingdao-research-centre/