กัมพูชาจ่อส่งออกมะพร้าวไปยังปักกิ่งปีนี้

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (22 เม.ย.) กัมพูชาจัดพิธีลงนามส่งออกมะพร้าวไปยังจีนอย่างเป็นทางการ หลังคาดว่าจะมีการส่งออกมะพร้าวสดชุดแรกภายในปีนี้ ซึ่งพิธีจัดขึ้น ณ กรุงพนมเปญ นำโดย Sun Chanthol รองนายกรัฐมนตรีและรองประธานสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา ร่วมกับ Wang Yi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ซึ่งกัมพูชาและจีนเคยได้ลงนามในข้อตกลงด้านสุขอนามัยพืชเพื่อส่งออกมะพร้าวสดจากกัมพูชาไปยังจีนเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ปัจจุบันกัมพูชามีสวนมะพร้าวจำนวน 13 แห่ง และโรงงานแปรรูป 5 แห่ง ที่ได้รับสิทธิ์ในการส่งออกมะพร้าวโดยตรงไปยังประเทศจีน ด้านรายงานของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และป่าไม้ แสดงให้เห็นว่าในปี 2022 กัมพูชาได้ปลูกมะพร้าวในพื้นที่รวม 19,998 เฮกตาร์ โดยสามารถเก็บเกี่ยวมะพร้าวได้ 14,225 เฮกตาร์ หรือร้อยละ 71 สำหรับการผลิตมะพร้าวของกัมพูชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 หรือคิดเป็นจำนวน 258,935 ตัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501476326/coconut-exports-to-beijing-to-commence-this-year/

โอกาสส่งออกของมะพร้าวเวียดนามในตลาดสหรัฐฯ และจีน

คุณ Bui Duong Thuat ผู้อำนวยการของบริษัท Mekong Fruit Export กล่าวว่าตลาดสหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้ามะพร้าวรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน เนื่องมาจากได้มีการนำเข้ามะพร้าวสดประมาณ 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี ในขณะที่บริษัทเวียดนามส่งออกมะพร้าวสดไปยังตลาดสหรัฐฯ ราว 110-120 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี แสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสเติบโตของมะพร้าวเวียดนามในตลาดดังกล่าวอีกมาก นอกจากนี้ ในพื้นที่ของจังหวัดเบ๊นแจ (Ben Tre) พบว่ามีบริษัท 5 แห่งที่ทำการส่งออกมะพร้าวสดไปยังตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน (จีน) ออสเตรเลียและแคนาดา เป็นต้น และยังมีบริษัทประมาณ 20 แห่งที่ลงทะเบียนเพื่อรับรหัสหีบห่อและรหัสพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งช่วยให้สามารถส่งออกมะพร้าวไปยังตลาดจีนได้

ที่มา : https://en.nhandan.vn/opportunity-for-vietnams-coconut-exports-to-us-china-post131272.html

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าส่งออกมะพร้าว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายกาว บา ดัง ควา รองเลขาธิการสมาคมมะพร้าวเวียดนาม (VCA) ระบุว่ามะพร้าวนับเป็นแหล่งรายได้ให้กับกลุ่มครัวเรือนเกษตรกร ประมาณ 390,000 ครัวเรือน และหากพิจารณาตัวเลขของมูลค่าการส่งออกมะพร้าวเมื่อปี 2552 พบว่าทำรายได้จากการส่งออกเพียง 1 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ว่าตัวเลขของการส่งออกดังกล่าวได้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 940 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ด้วยเหตุนี้ จากการประชุมของสมาคมฯ เมื่อวันที่ 28 ต.ค. มีมติที่ประชุมให้ตั้งเป้าการส่งออกมะพร้าวต่อปี อยู่ที่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ มะพร้าวของเวียดนามยังได้รับการอนุมัติให้ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และบางประเทศในยุโรป

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-coconut-sector-aims-for-export-revenue-of-1-billion-usd-post130737.html

จีนอนุมัติการนำเข้ามะพร้าวสดจากกัมพูชา

ศุลกากรจีนอนุญาตให้สามารถนำเข้ามะพร้าวสดจากกัมพูชาและอะโวคาโดจากเวเนซุเอลา โดยเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ย.) ตามการประกาศของสำนักงานศุลกากรจีน (GAC) ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและเวเนซุเอลา ในช่วงระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน ตามข้อมูลของศุลกากรกัมพูชา ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 การค้าทวิภาคีระหว่างจีนและกัมพูชามีมูลค่าอยู่ที่ 8.09 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนที่มูลค่า 940 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 โดยการส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร อาทิเช่น กล้วย มะม่วง และลำไย เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501363495/fresh-cambodian-coconuts-venezuelan-avocados-approved-to-enter-china/

‘เวียดนาม’ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมมะพร้าวอย่างยั่งยืน

อุตสาหกรรมมะพร้าวมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม และควรได้รับพิจารณาให้เป็นส่วนสำคัญของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมมะพร้าวในปัจจุบันมีปัญหาในการจัดหาเงินทุน เพื่อที่จะยกระดับเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งผลักดันให้มะพร้าวเป็นพืชอุตสาหกรรมหลักของเวียดนามภายในปี 2573 ทั้งนี้ เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวมากกว่า 188,000 เฮกตาร์ คิดเป็น 1.67% ของพื้นที่ทั่วโลก ในขณะที่ต้นมะพร้าวนับเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเกษตรกรกว่า 389,530 ครัวเรือน และทำรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวสูงถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและแปรรูปมะพร้าว จำนวน 854 ราย และอีกกว่า 90 บริษัทที่ส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวไปทั่วโลก รวมถึงมีการจ้างแรงงานมากกว่า 15,000 คน

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-eyes-sustainable-development-for-coconut-industry-post127536.html

กัมพูชาหวังเปิดตลาดจีนด้วยมะพร้าวหอมพันธุ์ไทย

กัมพูชาเริ่มการเจรจากับจีนเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตร 7 รายการ โดยหนึ่งในนั้นมีมะพร้าวหอมรวมอยู่ด้วย ในขณะที่กัมพูชาได้เร่งสนับสนุนการปรับปรุงพันธุ์เพื่อส่งเสริมการส่งออกมะพร้าวในอนาคตไปยังประเทศจีน ซึ่งในบรรดาพันธุ์ต่างๆ มะพร้าวหอมของไทยค่อนข้างเป็นที่นิยมในตลาดและปัจจุบันมีการเพาะปลูกกันอย่างแพร่หลายในกัมพูชา ส่งผลทำให้ทางการกัมพูชาคาดว่าจะใช้มะพร้าวหอมพันธุ์ไทยเป็นสินค้าเกษตรชนิดแรกๆ ในการเปิดตลาดจีน โดยลักษณะของมะพร้าวหอมไทยจะมีขนาดเล็กกว่ามะพร้าวทั่วไป และยังมีรสชาติที่เข้มข้น รสชาติหวานปานกลางและมักจะมีราคาแพงกว่ามะพร้าวทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามผลผลิตมะพร้าวของกัมพูชาในแต่ละปีมีเป็นจำนวนมาก รวมถึงยังมีความหลากหลายในส่วนของชนิดพันธุ์ ส่งผลทำให้ราคาโดยภาพรวมจึงยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501181326/cambodia-hopes-to-open-the-chinese-market-with-the-thai-fragrant-coconut-2/

‘กรมวิชาการเกษตร’ เคลียร์เส้นทางส่งออกผลไม้ไทย มะพร้าวอ่อนเนื้อหอมสุดเตรียมรุกตลาดเวียดนาม

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 3 -7 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ ได้นำคณะเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เดินทางไปสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยได้เข้าพบนายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย เพื่อหารือและเตรียมการสำหรับการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนในฤดูกาลผลิตและส่งออกผลไม้ในปี 2563 ผ่านประเทศเวียดนาม ซึ่งทางเวียดนามมีความต้องการนำเข้ามะพร้าวอ่อนจากไทย จากข้อมูลการส่งออกผลไม้ไทยทั้งสดและอบแห้งไปยังเวียดนามในปี 2562 พบว่ามีมูลค่ากว่า 26,000 ล้านบาท ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการหารือดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาที่พบระหว่างการขนส่งสินค้าผลไม้สดไปจีนโดยผ่านประเทศที่สาม และเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่ส่งออกผลไม้สดไปจีน เนื่องจากในการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีนนิยมขนส่งไปทางบก ขณะนี้ กรมวิชาการเกษตรและมกอช.อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอให้จีนอนุญาตการขนส่งผลไม้สดผ่านเส้นทางที่มีศักยภาพนอกเพิ่มเติมจากเส้นทางเดิมที่ไทยและจีนมีพิธีสารร่วมกันในปัจจุบัน ได้แก่ เส้นทาง R3A และ R9 เป็นต้น โดยในระหว่างนี้ กรมวิชาการเกษตรจะตรวจสอบและควบคุมให้สินค้าผลไม้สดจากไทยที่ส่งออกไปจีนเป็นไปตามเงื่อนไขในพิธีสารดังกล่าวและสอดคล้องกับเงื่อนไขการนำเข้าของจีนอย่างเคร่งครัด

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_1943719