กรมการค้าต่างประเทศ ดัน 4 ยุทธศาสตร์ค้าชายแดน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง กับการค้าชายแดนและผ่านแดน มาประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้า การลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567-2570 ใน 4 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ 1.พัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของไทย 2.ยกระดับศักยภาพ อำนวยความสะดวกของด่านชายแดน 3.ส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่างๆ 4.ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเป็น 2 ล้านล้านบาท ในปี 2570

อย่างไรก็ดี มูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือน ก.ย. อยู่ที่ 148,564 ล้านบาท ลดลง 3.32% เป็นไทยส่งออก 87,480 ล้านบาท ลดลง 3.97% ไทยนำเข้า 61,084 ล้านบาท ลดลง 2.37% ได้ดุลการค้า 26,396 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่า 1,311,372 ล้านบาท ลดลง 2.26% เป็นไทยส่งออก 755,206 ล้านบาท ลดลง 2.06% ไทยนำเข้า 556,167 ล้านบาท ลดลง 2.53% ได้ดุลการค้า 199,039 ล้านบาท

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2737374

อาเซียนดันการค้าดิจิทัล จัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน

นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 55 เมื่อวันที่ 19-22 ส.ค.66 ณ เมืองเซอมารัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้สรุปผลลัพธ์สำคัญที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) และผู้นำอาเซียน วันที่ 3-7 ก.ย.66 โดยมีประเด็นสำคัญ คือ การจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) การจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน และปฏิญญาว่าด้วยกรอบการดำเนินงานสำหรับโครงการพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ของอาเซียนที่ตอบสนองเชิงรุกต่อแนวโน้มการค้าของโลก รวมถึงเตรียมจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนฉบับใหม่ที่จะใช้ภายหลังปี 68 เพื่อยกระดับการรวมตัวของอาเซียนไปสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวที่เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ “ที่ประชุมเห็นชอบเอกสารที่จำเป็นในการเปิดเจรจาจัดทำความตกลง DEFA รวมถึงเอกสารผลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบของ DEFA เอกสารแนวทางในการเจรจา และร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนในเรื่องนี้ โดยตั้งเป้าจะเริ่มเจรจาปลายปีนี้ และให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี คาดว่า DEFA จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าด้านดิจิทัลในอาเซียนให้สูงถึง 400,000-600,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 73 ส่วนยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจสีเขียวและสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาค”

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2721446

‘เวียดนาม’ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมมะพร้าวอย่างยั่งยืน

อุตสาหกรรมมะพร้าวมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม และควรได้รับพิจารณาให้เป็นส่วนสำคัญของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมมะพร้าวในปัจจุบันมีปัญหาในการจัดหาเงินทุน เพื่อที่จะยกระดับเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งผลักดันให้มะพร้าวเป็นพืชอุตสาหกรรมหลักของเวียดนามภายในปี 2573 ทั้งนี้ เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวมากกว่า 188,000 เฮกตาร์ คิดเป็น 1.67% ของพื้นที่ทั่วโลก ในขณะที่ต้นมะพร้าวนับเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเกษตรกรกว่า 389,530 ครัวเรือน และทำรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวสูงถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและแปรรูปมะพร้าว จำนวน 854 ราย และอีกกว่า 90 บริษัทที่ส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวไปทั่วโลก รวมถึงมีการจ้างแรงงานมากกว่า 15,000 คน

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-eyes-sustainable-development-for-coconut-industry-post127536.html

“เวียดนาม-จีน” เดินหน้าระชับความร่วมมือทวิภาคี

นายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ได้กล่าวยืนยันกับนายฉิน กัง มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ว่าเวียดนามให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านกับประเทศจีน และมองว่าจีนมีความสำคัญกับเวียดนามในฐานะทูตของประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเดียวกันกลุ่มประเทศในอาเซียน โดยทั้งสองประเทศเห็นพ้องว่าให้มีการเยือนกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จีนจะสนับสนุนให้ธุรกิจที่มีชื่อเสียงเข้ามาลงทุนในเวียดนาม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501314680/vietnam-china-seek-to-boost-cooperation/

‘ยุทธศาสตร์การเงินเวียดนาม’ มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

แผนยุทธศาสตร์ทางการเงินของเวียดนาม พ.ศ. 2564-2573 มีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นการสร้างความเสถียรภาพทางการเงิน และเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างความเข็มแข็งทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงได้ตั้งการระดมเงินเข้างบประมาณแผ่นดินในช่วงปี 2569-2573 เฉลี่ย 16-17% ของ GDP ซึ่งเม็ดเงินส่วนใหญ่ราว 85-87% มาจากรายได้ในประเทศ โดยข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 368/QD-TTg เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ได้ให้ความสำคัญกับงบประมาณแผ่นดินเป็นอันดับแรก ได้แก่ การปฏิรูปงบประมาณ การกระจายอำนาจมากขึ้นให้กับปกครองส่วนท้องถิ่นและความโปร่งใส รวมถึงการพัฒนาความยั่งยืนของตลาดเงิน นอกจากนี้ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะจำกัดเพดานหนี้ไว้ที่ 60% ของ GDP โดยหนี้ภาครัฐจะไม่เกิน 50% และหนี้ต่างประเทศไม่เกิน 50% ในช่วงปี 2564-2568 ในขณะที่มูลค่าของตลาดหลักทรัพย์ในปี 2568 จะสูงถึง 100% ของ GDP โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 120% ของ GDP ภายในสิ้นปี 2573

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-financial-strategy-aims-at-sustainable-development/223929.vnp

รมว.ท่องเที่ยวกัมพูชา หารือผู้เชี่ยวชาญกำหนดยุทธศาสตร์เปิดการท่องเที่ยว

กระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภาคการท่องเที่ยว กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการเปิดประเทศใหม่ ภายใต้ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว และแผนการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ก่อนการเปิดพรมแดนตามแผนที่กำหนดไว้ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ โดยการประชุมมุ่งเน้นไปที่การร่างหนังสือ 2 ฉบับ ได้แก่ 1.แผนยุทธศาสตร์การเปิดการท่องเที่ยวใหม่อย่างปลอดภัย (วัคซีนทัวร์) และ 2.มาตรการส่งเสริมการเคลื่อนไหวการท่องเที่ยวภายในปี 2021-2023 ซึ่งเมื่อกัมพูชามีแผนเตรียมเปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้วางแผนอย่างรอบคอบเพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง โดยกัมพูชาสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปได้รับวัคซีนเข็มที่สาม เพื่อเป็นการต่อสู้กับสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งมีต้นต่อมากคนต่างชาติ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50951949/ministry-of-tourism-discusses-strategy-on-safe-reopening-of-tourism-sector/

เวียดนามตั้งเป้าเศรษฐกิจโตเฉลี่ย 7% ในปี 64-73

เวียดนามตั้งเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เติบโตราว 7% ในอีก 10 ปีข้างหน้า นับว่าเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง-สูง ที่มีอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในโลก นาย Tran Hong Quang ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์เวียดนาม กล่าวถึงการร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสำหรับในปี 2564-2573 จากการประชุมเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยในปี 2573 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว จะเพิ่มขึ้น 4,700-5,000 เหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันอยู่ที่ 3,521 เหรียญสหรัฐ และตั้งเป้าว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีระดับรายได้สูงในปี 2588 ทั้งนี้ ภายใต้ร่างยุทธศาสตร์นั้น รัฐบาลได้นิยามถึง 3 สิ่งที่จะผลักดันการเติบโตของเวียดนามในอีก 10 ปีข้างหน้า ได้แก่ กรอบเชิงสถาบัน ทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) กำหนดหลักเกณฑ์แก่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ต้องมีมูลค่าการผลิตเพิ่มต่อหัวที่ 1,000-2,500 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.5 ของมูลค่าการผลิตทั้งหมดทั่วโลก

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-aims-for-average-annual-growth-of-7-in-2021-30-315839.html

กนอ.เปิดยุทธศาสตร์5ปีตั้งตัวเป็นหน่วยงานหนุนการลงทุน

5 ต.ค. 2563 นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยในงานสัมมนาทิศทางและแผนยุทธศาสตร์ กนอ. ประจำปีงบประมาณ 2564 ว่า กนอ.จะเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ กนอ. ระยะ 5 ปี(2564-68) วงเงินลงทุนประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนกนอ.ให้เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศให้สอดรับเทคโนโลยี 5 จีเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เป็นเทรนด์ของทั่วโลก ส่งผลให้นิคมอุตสาหกรรมของไทยติดอันดับ 1 ใน 3 ของอาเซียน วงเงินลงทุนของกนอ.ช่วง 5 ปี ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในท่าเรือมาบตาพุดเฟส3 ขณะที่ปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนนิคมฯสมาร์ทปาร์คช่วงเริ่มก่อสร้าง 800 ล้านบาท ลงทุนด้านดิจิทัล 200 ล้านบาท และอื่นๆ 200 ล้านบาทสำหรับความร่วมมือกับผู้พัฒนาเทคโนโลยี 5 จีในนิคมอุตสาหกรรม เบื้องต้นตามยุทธศาสตร์นี้กนอ.จะนำ 5 จีมาพัฒนานิคมฯของกนอ.รวม 5 แห่ง ประกอบด้วย นิคมฯมาบตาพุด นิคมฯแหลมฉบัง นิคมฯบางปู นิคมฯลาดกระบัง นิคมฯภาคเหนือ รองรับการลงทุนอในอุตสาหกรรมเป้าหมาย(เอส-เคิร์ฟ) ขณะที่นิคมฯของภาคเอกชนอยู่ระหว่างการพัฒนาเช่นกัน  

ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/80656

Beef Board ทบทวนยุทธศาสตร์ 20 ปี หวังปั้นไทยเป็นผู้นำการส่งออก

นส.พ.อภัย สุทธิสังฃ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยผลประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาโคเนื้อ-กระบือ และผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (Beef Board) ว่า ที่ประชุมได้ทบทวนข้อเสนอยุทธศาสตร์โคเนื้อ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในภาพรวมคือ การเป็นผู้นำการผลิตโคเนื้ออย่างมั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยในระยะ 5 ปีแรก Beef Board ได้ทบทวนผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ 1 เป็นการรักษาตลาดการบริโภคโคเนื้อไทย ยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นการกระตุ้นการเพิ่มประชากรโคเนื้อไทย และยุทธ์ศาสตร์ที่ 3 เป็นการบริหารจัดการพืชอาหารสัตว์และอาหารสัตว์สำหรับโคเนื้อ โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตโคเนื้อที่เพียงพอต่อการบริโภคและส่งของในภูมิภาค ในระยะ 10 ปีประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิต การตลาดโคเนื้อและผลิตภัณฑ์ในอาเซียน+3 ในระยะ 15 ปีประเทศไทยจะเป็นผู้นำการตลาดมูลค่าโคเนื้อด้วยนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และในระยะ 20 ปี ประเทศไทยจะเป็นผู้นำการส่งออกอาหารและผลิตภัณฑ์เนื้อโคในตลาดโลก ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อกว่า 909,324 ราย ซึ่งมีโคเนื้อทั้งหมดกว่า 6,230,140 ตัว โดยประมาณการผลผลิตโคเนื้อในปี 2563 คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่า 1.224 ล้านตัว เนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3159845