BCEL เปิดตัวแอปชำระเงินใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวระหว่างเยือนลาวปี 2567

Banque pour le Commerce Exterieur Lao Public (BCEL) เปิดตัวแอปพลิเคชัน EZyKip เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการแลกเปลี่ยนสกุลเงินสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนลาวในช่วง Visit Laos Year 2024 ช่วยอำนวยความสะดวกในการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม BCEL ที่มีมากกว่า 400 แห่งทั่วประเทศลาว ด้วยค่าธรรมเนียม 0% ผ่านการสแกน QR ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการพกพาเงินสด ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนและโอนยอดคงเหลือกลับไปยังบัตรธนาคารของตนได้อย่างง่ายดาย ทำให้มั่นใจได้ถึงระบบนิเวศการชำระเงินที่ปลอดภัยและไม่ยุ่งยากตลอดการเดินทางในลาว ทั้งนี้ แอป EZyKip ถูกพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นเจ้าภาพการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียนของลาวและการเป็นประธานอาเซียนตลอดปี 2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสบการณ์โดยรวมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และลดความซับซ้อนของการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างการเยือนประเทศลาว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/02/02/bcel-launches-new-payment-app-for-tourists-during-visit-laos-year-2024/

2023 NBC อัดฉีดเงิน 139 ล้านดอลลาร์ รักษาเสถียรภาพสกุลเงินเรียล

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) อัดฉีดเงินเข้าระบบกว่า 139.1 ล้านดอลลาร์ เพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินเรียล และเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภายใต้ความร่วมมือของ NBC กับสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ เพื่อลดสัดส่วนเงินสกุลดอลลาร์ และเพิ่มสัดส่วนสกุลเงินเรียลในระบบเศรษฐกิจของกัมพูชา สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยของเรียลต่อดอลลาร์อยู่ที่ 4,110 ในปีที่แล้ว และในเดือนธันวาคมเพียงเดือนเดียว สกุลเงินเรียลแข็งค่าขึ้นเป็น 4,081 เรียล สะท้อนให้เห็นว่ามูลค่าเงินเรียลเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2022 ด้าน NBC ตัดสินใจที่จะเข้าแทรกแซงสกุลเงินเรียลอย่างต่อเนื่องเนื่อง จากปัจจัยตามฤดูกาลและความกดดันของเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดต่างประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501431035/nbc-injected-139-million-to-stabilise-riel-in-2023/

‘เวียดนาม’ พัฒนาทางการเงินร่วมกับออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและสิงคโปร์

นาย โฮ ดึก ฟอก (Ho Duc Phoc) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเวียดนาม ได้หารือกับนายจิม ชาลเมอร์ส เหรัญญิกของออสเตรเลีย รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนที่ 2 ของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. เนื่องการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ 30 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยการหารือกับออสเตรเลียเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลียจนถึงปี 2040 และความร่วมมือในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเงินที่ยั่งยืน ตลอดจนบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการคลังเวียดนามและออสเตรเลีย

ในขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น ได้รับคำแนะนำให้ดำเนินตามกรอบความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) ฉบับใหม่ที่ตกลงกันระหว่างการเยือนญี่ปุ่นของนายกฯ รัฐมนตรีเวียดนาม เมื่อเดือน พ.ค.65 นอกจากนี้ รัฐมนตรีของสิงคโปร์กล่าวชื่นชมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศที่มุ่งไปทึ่ความร่วมมือทางการเงิน ศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ และการจัดการตลาดหลักทรัพย์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-advances-financial-cooperation-with-australia-japan-singapore/271201.vnp

สปป.ลาว-เกาหลีใต้ ร่วมมือลดความซับซ้อนการโอนเงินข้ามพรมแดน

สปป.ลาวและเกาหลีใต้ ผนึกกำลังในโครงการนำร่องเพื่ออำนวยความสะดวกกระบวนการโอนเงินข้ามพรมแดนสำหรับคนงานลาวในต่างประเทศและแรงงานต่างด้าวในลาว เนื่องจากแรงงานชาวลาวในต่างประเทศมักเผชิญกับอุปสรรคในการโอนเงินข้ามพรมแดน รวมถึงปัญหาการเปิดบัญชีธนาคารในต่างประเทศ ขั้นตอนเอกสารการโอนเงินที่ซับซ้อน และต้นทุนการโอนเงินที่สูง ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่ช่องทางการโอนเงินที่ผิดกฎหมายและมีความเสี่ยงอยู่บ่อยครั้ง กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมและธนาคารแห่ง สปป. ลาว ได้ทำการศึกษาเครื่องมือและช่องทางการชำระเงิน เพื่อสร้างระบบโอนเงินที่สะดวกมากยิ่งขึ้นสำหรับแรงงานชาวลาวส่งเงินกลับประเทศผ่านช่องทางของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ จากความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศใน สปป.ลาว และบริษัท Global Loyalty Network Company (GLN) ของเกาหลีใต้ ได้สร้างแพลตฟอร์มการเงินดิจิทัล โดยจะนำร่องใช้งานเริ่มต้นที่เป้าหมายแรก คือ เกาหลีใต้ และแผนในอนาคตคือการขยายไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ไทย และญี่ปุ่น

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/10/31/laos-south-korea-partner-to-simplify-cross-border-money-transfers/

ธนาคารบริการทางการเงินที่ชำระด้วยสกุลเงินหยวน (RMB) เปิดทำการแล้วที่ สปป.ลาว

The ICBC Vientiane Branch ได้รับอนุญาตจากจีนในการเปิดให้บริการทางการเงินที่ชำระด้วยสกุลเงินหยวน (RMB) ใน สปป.ลาว โดยจะใช้เป็นช่องทางในการชำระหนี้ข้ามพรมแดนที่รวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัดระหว่าง สปป.ลาว กับจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือองค์กรและสถาบันทางการเงินในลาวให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินในรูปสกุลเงินหยวนของจีนได้สะดวกมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยน อำนวยความสะดวกการลงทุนและการค้าระหว่างสองประเทศ และรักษาเสถียรภาพทางการเงินของ สปป.ลาว และกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมการค้าระหว่างสองประเทศ

ที่มา : https://english.news.cn/20231025/a6c4ec1bf93e4cf2a17b97ed390e71ac/c.html

ปริมาณเงินดอลลาร์ในระบบของกัมพูชายังคงอยู่ในระดับสูง ณ ปัจจุบัน

แม้จะมีความพยายามอย่างต่อเนื่องโดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ในการส่งเสริมการใช้สกุลเงินเรียล (KHR) แต่ระดับของปริมาณเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจกัมพูชายังคงสูงถึงร้อยละ 80 ตามรายงานล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพทางการเงินประจำปี 2021 ในกรณีนี้หากค่าเงินดอลลาร์ยังคงอยู่ในระดับสูง จะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยในประเทศ ซึ่งหากระบบเศรษฐกิจของกัมพูชาหันมาใช้เงินเรียลมากขึ้นจะช่วยให้ NBC สามารถใช้นโยบายทางด้านการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ปริมาณการให้กู้ยืมของธนาคารส่วนใหญ่ยังคงเป็นสกุลเงินดอลลาร์เกือบร้อยละ 88.6 ของการปล่อยสินเชื่อโดยรวมในปี 2021 คิดเป็นสกุลเงินเรียลอยู่ที่ประมาณร้อยละ 11.4 ในทำนองเดียวกัน เงินฝากกับธนาคารจำนวนมากก็ยังคงอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์เช่นเดียวกันคิดเป็นกว่าร้อยละ 91.4 ของเงินฝากทั้งหมดในปี 2021 โดยนโยบายของ NBC กำหนดให้ธนาคารต้องให้กู้ยืมอย่างน้อยร้อยละ 10 เป็นสกุลเงินเรียล เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้เงินเรียลให้มากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501098527/dollarisation-level-rules-over-80/

‘ยุทธศาสตร์การเงินเวียดนาม’ มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

แผนยุทธศาสตร์ทางการเงินของเวียดนาม พ.ศ. 2564-2573 มีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นการสร้างความเสถียรภาพทางการเงิน และเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างความเข็มแข็งทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงได้ตั้งการระดมเงินเข้างบประมาณแผ่นดินในช่วงปี 2569-2573 เฉลี่ย 16-17% ของ GDP ซึ่งเม็ดเงินส่วนใหญ่ราว 85-87% มาจากรายได้ในประเทศ โดยข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 368/QD-TTg เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ได้ให้ความสำคัญกับงบประมาณแผ่นดินเป็นอันดับแรก ได้แก่ การปฏิรูปงบประมาณ การกระจายอำนาจมากขึ้นให้กับปกครองส่วนท้องถิ่นและความโปร่งใส รวมถึงการพัฒนาความยั่งยืนของตลาดเงิน นอกจากนี้ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะจำกัดเพดานหนี้ไว้ที่ 60% ของ GDP โดยหนี้ภาครัฐจะไม่เกิน 50% และหนี้ต่างประเทศไม่เกิน 50% ในช่วงปี 2564-2568 ในขณะที่มูลค่าของตลาดหลักทรัพย์ในปี 2568 จะสูงถึง 100% ของ GDP โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 120% ของ GDP ภายในสิ้นปี 2573

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-financial-strategy-aims-at-sustainable-development/223929.vnp

CMA และ CBC ลงนาม MoU สนับสนุนภาคบริการทางการเงินกัมพูชา

ระบบทางการเงินกัมพูชาได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติของกัมพูชา ประจำปี 2019-2025 ด้วยการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างสมาคมไมโครไฟแนนซ์กัมพูชา (CMA) และเครดิตบูโรกัมพูชา (CBC) ภายใต้โครงการระยะเวลา 5 ปี มูลค่า 2 ล้านดอลลาร์ ในการประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปีครั้งที่ 16 และการประชุมประจำปีครั้งที่ 2 ว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนของภาคส่วนการเงินรายย่อยในกัมพูชา เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนกัมพูชา รวมถึงเสริมสร้างความยืดหยุ่นของภาคการเงินรายย่อย ด้วยการสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทันท่วงที ตามข้อกำหนด ภายใต้ความสามารถในการชำระคืน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501026477/cma-and-cbc-ink-mou-to-prop-up-cambodias-

ADB กัมพูชา ร่วมหารือโครงการสนับสนุนด้านการค้าภายในประเทศ

กระทรวงพาณิชย์และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้หารือเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านเทคนิคของธนาคาร ในการดำเนินการตามโครงการสนับสนุนภาคการค้าและการแข่งขันของกัมพูชา ภายใต้ความช่วยเหลือทางเทคนิคตามนโยบาย เพื่อเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา แสดงความขอบคุณต่อความช่วยเหลือทางการเงินและทางเทคนิคอย่างต่อเนื่องจาก ADB ซึ่งสอดคล้องกับลำดับความสำคัญของกระทรวง ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายใรประเทศ
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50993255/cambodia-adb-discuss-trade-and-competitiveness-programme/

KE และ CMA ร่วมส่งเสริมการเข้าถึงทางด้านการเงินแก่ SMEs กัมพูชา

Khmer Enterprise (KE) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ร่วมกับสมาคมการเงินรายย่อยของกัมพูชา (CMA) ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ในการส่งเสริมการเข้าถึงทางด้านการเงินสำหรับผู้ประกอบการ และ SMEs ในกัมพูชา โดย KE และ CMA ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อสร้างกรอบความร่วมมือสำหรับทั้งสองฝ่ายเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงบริการทางการเงินและร่วมจัดโปรแกรม/กิจกรรม เช่น การเสนอขาย งานแสดงสินค้า การจับคู่ทางธุรกิจและการสร้างเครือข่าย การส่งเสริมวัฒนธรรมผู้ประกอบการ การประชุมเชิงปฏิบัติการ การประชุมสัมมนาและการฝึกอบรม เพื่อพัฒนา SMEs และสตาร์ทอัพของกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประมาณ 43,276 แห่ง ยื่นจดทะเบียนกับกระทรวง โดยสร้างงานให้กับคนในประเทศกว่า 435,905 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50979560/khmer-enterprise-and-cma-enter-into-partnership-to-boosting-access-to-financial-service-for-smes/