‘สตาร์ทอัพฟินเทคเวียดนาม’ เผยครึ่งแรกปี 66 ระดมทุนได้เพียง 6.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามรายงานจาก Tracxn เปิดเผยว่าธุรกิจฟินเทค (FinTech) ของเวียดนามเผชิญกับอุปสรรคจากการระดมทุนที่ลดลงอย่างมากในปีนี้ เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญยังคงมองทิศทางไปในเชิงบวกจากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจตามความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ จากรายงานชี้ให้เห็นว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2566 การระดมเงินทุนของฟินเทคที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งจากตัวเลขของเงินทุนปรับตัวลดลงเหลือเพียง 6.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 97% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามพยายามส่งเสริมภาคธุรกิจฟินเทคด้วยการปรับเปลี่ยนประเทศสู่ความเป็นดิจิทัลแห่งชาติ  (National Digital Transformation)

ที่มา : https://vir.com.vn/vietnamese-fintech-startups-secure-a-mere-62-million-funding-in-1h2023-104530.html

“ฟินเทคสตาร์ทอัพสวิสฯ” เล็งโอกาสลงทุนในเวียดนาม

ตามรายงาน ‘Vietnam Fintech’ ฉบับใหม่โดย Switzerland Global Enterprise (S-GE) เปิดเผยว่าฟินเทคสตาร์ทอัพสวิสฯ ควรใช้โอกาสที่จะเข้ามาลงทุนในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีความต้องการโซลูชั่นทางการเงินดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการส่งเสริมนโยบายและรัฐบาลมีความคิดริเริ่มที่จะสนับสนุนให้มีการบ่มเพาะนวัตกรรมและเทคโนโลยีฟินเทค ทั้งนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่สำคัญ 5 ประการที่จะเข้ามาลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ 1) ธนาคารเวียดนามพร้อมที่จะจับมือกับบริษัทฟินเทคและผู้ให้บริการเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ 2) ระบบการชำระเงินในปัจจุบันที่นับว่าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมฟินเทคในประเทศ ด้วยสัดส่วนจำนวนประชากรที่ใช้การชำระเงินทางดิจิทัลเกือบ 2 ใน 3 ของประชากรเวียดนามทั้งประเทศ หรือราว 57.62 ล้านคนในเดือน ม.ค.66 3) การกู้ยืมแบบ P2P ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง 4) การเงินส่วนบุคคลและการลงทุน และประการสุดท้าย คือ บล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งในภาคส่วนของฟินเทคที่มีความแข็งแกร่งและคาดว่าจะเติบโตต่อไปในอนาคต

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/opportunities-for-swiss-fintech-startups-numeral-in-vietnam-report/255380.vnp

สตาร์ทอัพไทยผงาดเวทีโลกขึ้นอันดับ4อาเซียนและอันดับที่ 52 ของโลก

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ สนับสนุนสตาร์ทอัพไทย จนเห็นผลจากการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก (Global Startup Ecosystem Index 2023) ประจำปี 2566 ไทยที่ 4 อาเซียน และขยับสูงขึ้นกว่าปีก่อนเป็นอันดับที่ 52 ของโลก โดยได้เปิดเผยไว้บนเว็บไซต์ StartupBlink ศูนย์กลางข้อมูลด้านระบบนิเวศสตาร์ทอัพทั่วโลก ได้จัดอันดับ 100 ประเทศ และ 1,000 เมือง ที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดของโลกตั้งแต่ปี 2560 ทั้งนี้ StartupBlink ระบุว่า ประเทศไทยได้พัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้นตลอด 40 ปี ที่ผ่านมา ผ่านการปฏิรูป รวมทั้งสร้างนวัตกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยไทยไม่เพียงดึงดูดนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังสามารถดึงดูดกลุ่ม Digital Nomad เข้ามาด้วย โดยเฉพาะในเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ นอกจากนี้ การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ภาครัฐให้ความสนใจกับการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพมากขึ้น ในฐานะหัวใจสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงมีนโยบายดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาทำธุรกิจและลงทุนในไทย ผ่านโครงการ Elite Visa Smart Visa และ Long-Term Residents Visa รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง สามารถดึงดูดและช่วยสร้างระบบนิเวศที่ดีต่อการลงทุนจากต่างชาติได้

ที่มา : https://siamrath.co.th/n/456242

“สตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซ” ได้รับความนิยมในเวียดนาม

สตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และถือว่าค่อนข้างปลอดภัยในแวดวงสตาร์ทอัพเชิงนวัตกรรมในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยไม่ได้หมายถึงความสำเร็จ เพราะการจะประสบความสำเร็จได้ในตลาดที่กำลังพัฒนานั้น ต้องใช้ความพยายามและความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก โดยเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านอีคอมเมิร์ซ มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 72.1 ล้านคน คิดเป็น 73.2% ของประชากรทั้งประเทศ และอยู่ในอันดับที่ 12 ในแง่ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกในเดือนกันยายน ปี 2565 นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าในปีที่แล้ว ขนาดของตลาดอีคอมเมิร์ซค้าปลีกของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 16.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 7.5% ของรายได้ของประเทศจากการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/innovative-start-ups-in-the-e-commerce-sector-2103908.html

“ค่าแรงต่ำ แรงงานจำนวนมาก” ขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพสิงคโปร์ในเวียดนาม

หนังสือพิมพ์เดอะ สเตรท์ส ไทม์สของสิงคโปร์ รายงานว่าจำนวนพนักงานมาก ค่าแรงงานอยู่ในระดับต่ำและตลาดที่มีขนาดใหญ่ของเวียดนาม จึงทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพ (Startups) สิงคโปร์

ทั้งนี้ คุณ James Tan พาร์ทเนอร์ของบริษัทกองทุน “Quest Ventures” กล่าวว่ากำลังแรงงานของเวียดนาม มีการศึกษาที่ดีขึ้นและค่าแรงงานยังค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ประกอบกับเวียดนามมีประชากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัว ทำให้กลายมาเป็นฐานลูกค้าของธุรกิจที่มีศักยภาพ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1315198/low-labour-costs-large-workforce-drive-singapore-start-ups-in-viet-nam.html

“เวียดนาม” ขึ้นแท่นอันดับ 2 ช้อปปิ้งออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บริษัทสตาร์ทอัพด้านการขนส่งสินค้า “Ninja Van Vietnam” ได้เปิดเผยรายงานการวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ชี้ให้เห็นว่าตลาดเวียดนามเป็นประเทศชั้นนำที่มีการซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ย 104 ครั้งต่อปี และปัจจุบันมีสัดส่วน 15% ของการทำธุรกรรมซื้อสินค้าออนไลน์ทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศไทย 16% ทั้งนี้ ตามรายงานยังบ่งชี้ว่าปีนี้ คนเวียดนามซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ มีจำนวนมากกว่า 51 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ยอดใช้จ่ายในการช้อปปิ้งออนไลน์อยู่ที่ 12.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่าง พบว่าผู้ตอบส่วนใหญ่ 73% ซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นประจำ และ 59% นิยมสั่งซื้อสินค้าหรือซื้อสินค้าบ่อยครั้งบนเว็บไซต์ต่างประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-comes-second-in-sea-for-online-shopping-post957465.vov

‘เวียดนาม’ คว้าโอกาสหนุนสตาร์ทอัพ ผนึกพันธมิตรสหรัฐฯ

นาย ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้กล่าวในที่ประชุมทางด้านนวัตกรรมและสตาร์ทอัพที่สถาบัน Asia Society ในเมืองซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ชี้แจ้งว่าเวียดนามตั้งตาที่จะร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจสหรัฐอเมริกาเพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่ระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและการกระจายห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ เวียดนามมองว่าวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศในระยะต่อไปและยังได้เสนอกลยุทธ์ 3 ประการ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน หน่วยงานและทรัพยากรมนุษย์ เพื่อที่จะส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันรัฐบาลเร่งปรับปรุงหน่วยงานและนโยบาย ตลอดจนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ เพื่อจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมายังเวียดนามมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://en.baochinhphu.vn/viet-nam-looks-forward-to-stronger-startup-partnership-with-us-111220518103925907.htm

‘เวียดนาม’ แม่เหล็กดึงดูดนวัตกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การผลักดันสตาร์ทอัพของเวียดนามและสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการทำงานด้านนวัตกรรม เป็นผลมาจากความพยายามของรัฐบาล กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติเวียดนาม (NIC)

คุณ Nguyễn Thị Ngọc Dung ตัวแทนจากศูนย์ฯ กล่าวกับสำนักข่าวเวียดนาม (VNA) ว่ากิจการในประเทศตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรม เมื่อเผชิญกับการแพร่ระบาด โดยศูนย์ดังกล่าวได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญชาวเวียดนามกว่า 1 พันคนที่อยู่ในวงการการศึกษาและวิจัยที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น “Genetica” สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medtech) ในสหรัฐฯ ซึ่งมีการให้บริการส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อเดือน ต.ค.64 ธุรกิจประกาศว่าได้พัฒนาศูนย์การศึกษาการหาลำดับคู่เบสในสาย DNA ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ตั้งอยู่ในศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติเวียดนาม ด้วยกำลังการผลิต 500,000 จีโนมต่อปี

ทั้งนี้ ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ “Genetica” ชักชวนให้บริษัทหันมาเปิดสำนักงานใหญ่ในเวียดนาม ประกอบกับนาย Nguyễn Chí Dũng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุนเวียดนาม ได้ให้คำมั่นว่าจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1142897/viet-nam-working-to-become-innovation-magnet-in-southeast-asia.html

‘สตาร์ทอัพเวียดนาม’ ประสบความสำเร็จในการดึงดูดเงินทุนจำนวนมาก

แม้ว่าจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง แต่ด้วยระบบนิเวศของ Startup เวียดนามที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยในเดือน มิ.ย.64 บริษัทการลงทุนชั้นนำที่จัดการหลายสินทรัพย์ทางเลือกหลายประเภทอย่าง “KKR” ได้ออกมาประกาศว่าจะลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐใน “EQuest” สตาร์ทอัพด้านการศึกษาของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน เดือนก.ย.64 บริษัทสตาร์ทอัพด้านการขนส่งสินค้า “Ninja Van” ก็ประสบความสำเร็จในการดึงดูดเงินลงทุนกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการระดมทุนรอบ Series E ที่นำโดยนักลงทุนอย่าง Geopost/DPDgroup, BCapital Group, Monk’s Hill Ventures และ Zamrud

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-startups-succeed-in-attracting-large-investment-amounts-910165.vov

KE และ CMA ร่วมส่งเสริมการเข้าถึงทางด้านการเงินแก่ SMEs กัมพูชา

Khmer Enterprise (KE) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ร่วมกับสมาคมการเงินรายย่อยของกัมพูชา (CMA) ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ในการส่งเสริมการเข้าถึงทางด้านการเงินสำหรับผู้ประกอบการ และ SMEs ในกัมพูชา โดย KE และ CMA ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อสร้างกรอบความร่วมมือสำหรับทั้งสองฝ่ายเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงบริการทางการเงินและร่วมจัดโปรแกรม/กิจกรรม เช่น การเสนอขาย งานแสดงสินค้า การจับคู่ทางธุรกิจและการสร้างเครือข่าย การส่งเสริมวัฒนธรรมผู้ประกอบการ การประชุมเชิงปฏิบัติการ การประชุมสัมมนาและการฝึกอบรม เพื่อพัฒนา SMEs และสตาร์ทอัพของกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประมาณ 43,276 แห่ง ยื่นจดทะเบียนกับกระทรวง โดยสร้างงานให้กับคนในประเทศกว่า 435,905 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50979560/khmer-enterprise-and-cma-enter-into-partnership-to-boosting-access-to-financial-service-for-smes/