‘MoMo’ แอพกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมมากที่สุดในเวียดนาม

จากการวิเคราะห์และติดตามระบบเครือข่ายข้อมูลของเวียดเทล (Viettel) ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของเวียดนาม เปิดเผยการจัดอันดับอุตสาหกรรมฟินเทค ปี 2566 ว่า ‘MoMo’ ยังคงเป็นผู้นำในการให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเวียดนาม นับเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน และมีคะแนนรวม 138.23 สูงกว่า VTCPay 2.5 เท่า รั้งอันดับที่ 2 ถึงแม้ว่าคะแนนรวมของ MoMo จะปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2565 แต่แอปพลิเคชันให้บริการทางการเงินดังกล่าว ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภคชาวเวียดนามที่มองหาการทำธุรกรรมดิจิทัลที่มีความสะดวกและปลอดภัย

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/momo-remains-most-popular-ewallet-in-vietnam/279729.vnp

‘สตาร์ทอัพฟินเทคเวียดนาม’ เผยครึ่งแรกปี 66 ระดมทุนได้เพียง 6.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามรายงานจาก Tracxn เปิดเผยว่าธุรกิจฟินเทค (FinTech) ของเวียดนามเผชิญกับอุปสรรคจากการระดมทุนที่ลดลงอย่างมากในปีนี้ เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญยังคงมองทิศทางไปในเชิงบวกจากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจตามความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ จากรายงานชี้ให้เห็นว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2566 การระดมเงินทุนของฟินเทคที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งจากตัวเลขของเงินทุนปรับตัวลดลงเหลือเพียง 6.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 97% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามพยายามส่งเสริมภาคธุรกิจฟินเทคด้วยการปรับเปลี่ยนประเทศสู่ความเป็นดิจิทัลแห่งชาติ  (National Digital Transformation)

ที่มา : https://vir.com.vn/vietnamese-fintech-startups-secure-a-mere-62-million-funding-in-1h2023-104530.html

“ฟินเทคสตาร์ทอัพสวิสฯ” เล็งโอกาสลงทุนในเวียดนาม

ตามรายงาน ‘Vietnam Fintech’ ฉบับใหม่โดย Switzerland Global Enterprise (S-GE) เปิดเผยว่าฟินเทคสตาร์ทอัพสวิสฯ ควรใช้โอกาสที่จะเข้ามาลงทุนในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีความต้องการโซลูชั่นทางการเงินดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการส่งเสริมนโยบายและรัฐบาลมีความคิดริเริ่มที่จะสนับสนุนให้มีการบ่มเพาะนวัตกรรมและเทคโนโลยีฟินเทค ทั้งนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่สำคัญ 5 ประการที่จะเข้ามาลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ 1) ธนาคารเวียดนามพร้อมที่จะจับมือกับบริษัทฟินเทคและผู้ให้บริการเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ 2) ระบบการชำระเงินในปัจจุบันที่นับว่าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมฟินเทคในประเทศ ด้วยสัดส่วนจำนวนประชากรที่ใช้การชำระเงินทางดิจิทัลเกือบ 2 ใน 3 ของประชากรเวียดนามทั้งประเทศ หรือราว 57.62 ล้านคนในเดือน ม.ค.66 3) การกู้ยืมแบบ P2P ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง 4) การเงินส่วนบุคคลและการลงทุน และประการสุดท้าย คือ บล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งในภาคส่วนของฟินเทคที่มีความแข็งแกร่งและคาดว่าจะเติบโตต่อไปในอนาคต

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/opportunities-for-swiss-fintech-startups-numeral-in-vietnam-report/255380.vnp

สื่อสิงคโปร์! ย้ำเวียดนามมีศักยภาพการเติบโตของฟินเทค

‘AsiaOne’ สื่อชื่อดังของสิงคโปร์ เผยแพร่บทความ “Vietnam: Can it become the Fintech Mecca of the east?” โดยเน้นว่าฟินเทคของเวียดนามได้ก้าวไปสู่จุดสูงสุดใหม่ และยังเติบโตสูงขึ้นจากกรอบกฎหมายใหม่ ในขณะเดียวกัน โครงการปรับเปลี่ยนประเทศสู่ความเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ของเวียดนามในปี 2565 เป็นตัวเร่งให้ไปสู่ฟินเทค ทั้งนี้ ผลจากการบรรลุความสำเร็จขององค์กรฟินเทคที่สามารถเชื่อมโยงกับภาคธนาคารได้ ทำให้เกิดการสร้างความผสมผสานความร่วมมือระหว่างองค์กรได้อย่างเข็มข้นขึ้น นอกจากนี้ สมาคมธนาคารเวียดนาม (VNBA) เป็นแนวหน้าในการนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่อุตสาหกรรมบริการทางการเงินของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าบริการ SMS หรือส่งเสริมผู้ให้บริการอย่าง Visa และ Mastercard ลดค่าธรรมเนียมหลายประเภทของธนาคารเวียดนามในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/singaporean-site-highlights-vietnams-potential-for-fintech-growth/250293.vnp

“ตลาดฟินเทคเวียดนาม” มูลค่าสูงถึง 18 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567

ตามข้อมูลของนักวิเคราะห์จากบริษัทการเงิน Robocash Group เปิดเผยว่าตลาดฟินเทค (FinTech) ของเวียดนาม จะมีมูลค่าสูงถึง 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2567 โดยเวียดนามเป็นหนึ่งในผู้นำอาเซียนที่เป็นแหล่งจัดหาเงินทุนแก่ธุรกิจฟินเทค รองจากสิงคโปร์ ทั้งนี้ กิจการส่วนใหญ่ราว 93% ดำเนินธุรกิจเงินร่วมลงทุน มุ่งเชื่อมโยงในการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์และกระเป๋าเงินออนไลน์

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางการตลาดถือว่ามีการแข่งขันกันสูง ปริมาณการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น 152.8% นับตั้งแต่ปี 2559 และมีผู้ใช้ฟิคเทคหน้าใหม่กว่า 29.5 ล้านคน ด้วยเหตุนี้ ทุกๆวินาที ชาวเวียดนามจะใช้บริการฟินเทคอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ความต้องการบริการดิจิทัลของคนเวียดนามมีความหลากหลาย อาทิ การทำธุรกรรม การชำระเงินและกระเป๋าเงิน) นับว่าเป็นสิ่งที่น่าทึ่ง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1270404/viet-nam-fintech-market-expected-to-reach-18-billion-by-2024.html

ระดมทุน ‘ฟินเทค’ อาเซียนพุ่งกว่าสามเท่า แตะสูงสุดมูลค่า 3.5 พันล้านดอลล์จากปี 63

เงินทุนสำหรับเทคโนโลยีด้านการเงิน (ฟินเทค) ในภูมิภาคอาเซียนดีดตัวกลับอย่างแข็งแกร่งในปี 2564 เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าใน 9 เดือนแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2563 ทั้งปี ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รายงาน FinTech in ASEAN 2021 ของ UOB, PwC Singapore และ Singapore FinTech Association (SFA) ระบุว่าจำนวนการระดมเงินทุนสำหรับฟินเทคที่พุ่งสูงขึ้นนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากข้อตกลง 167 ข้อตกลง และในจำนวนนี้ 13 ข้อตกลงมาจากการระดมทุนระดับเมกะ มีมูลค่ารวมสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจบริษัทฟินเทคขั้นปลาย ซึ่ง 10 จาก 13 ข้อตกลงบรรลุ ได้เงินทุนในระดับเมกะในปีนี้ ซึ่งมีบริษัทฟินเทคของไทยรวมอยู่ด้วย โดยเทรนด์นี้เป็นสัญญาณชี้ถึงการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของนักลงทุนในตลาดในภูมิภาคหลายแห่ง และแสดงให้เห็นว่านักลงทุนดำเนินการอย่างระมัดระวังและเลี่ยงความเสี่ยงโดยให้การสนับสนุนบริษัทที่เติบโตเต็มที่แล้ว ซึ่งมองว่ามีโอกาสสูงที่จะเติบโตขึ้นจากภาวะโรคระบาด เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่สูงขึ้นในภูมิภาคอาเซียน นักลงทุนจึงเชื่อมั่นและทุ่มเงินทุนให้บริษัทฟินเทคขั้นปลายในหมวดหมู่การชำระเงินมากที่สุด

ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/news_3068515

สมาคม Fintech กำหนดเป้าหมายภายในประเทศกัมพูชา

สมาคมการเงินและเทคโนโลยีแห่งกัมพูชา (CAFT) นำเสนอวิสัยทัศน์สำหรับอนาคตของอุตสาหกรรมในการประชุมสามัญประจำปีครั้งแรก โดยงานนี้มีวิทยากรจาก ธนาคารกลางของประเทศกัมพูชา (NBC) และ องค์การเงินตราแห่งประเทศสิงคโปร์ ได้รวบรวมผู้นำจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงสถาบันบริการการชำระเงิน (PSI), การประกันภัย, การธนาคาร, การเงินขนาดเล็กและอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งประธาน CAFT มองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรวมกลุ่มธุรกิจให้กว้างขวางขึ้น เพราะจะช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นวงกว้าง ผ่านการทำงานร่วมกันภายใต้นวัตกรรมใหม่ ซึ่งในขณะนี้ CAFT กำลังดำเนินการจัดทำเอกสารแนวคิดที่จะส่งไปยัง NBC เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการการรวมกลุ่ม โดยปัจจุบันการใช้งานหลักสำหรับโซลูชันฟินเทคคือการโอนเงินแบบดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50816982/fintech-association-outlines-goals-at-its-first-annual-meeting/

FinTech เวียดนาม โอกาสที่ Startup ไทยควรรีบคว้า

ในทุกๆปี องค์กรด้านการสนับสนุนและพัฒนาสตาร์ทอัพ (BSSC) จะจัดงาน Vietnam Startup Wheel ได้จัดงานประกวดสตาร์ทอัพใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ซึ่งในปี 2556 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการและธุรกิจสตาร์ทอัพราว 4,000 บริษัท และประชาชนกว่า 90,000 คน โดยงานดังกล่าวสร้างมูลค่าสนับสนุนการลงทุนกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ธนาคารแห่งชาติเวียดนามยังได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฟินเทค เพื่อให้การสนับสนุนรัฐบาลในการสร้างและพัฒนาระบบนิเวศน์ของฟินเทคในประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้ธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพในเวียดนามมีตลาดที่ชัดเจน เฟื่องฟูและมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทายของธุรกิจ FinTech โดยสรุปได้ดังนี้ ภาวะขาดแคลนการระดมทุน, ความปลอดภัยในการดำเนินธุรกรรมทางการเงิน, กระบวนการขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจด้านฟินเทคยังคงมีความซับซ้อนและใช้เวลานาน และรัฐบาลยังขาดแคลนบุคลากรและหน่วยงานในการสนับสนุนหรือความเข้าใจในระบบของธุรกิจดังกล่าว เป็นต้น นอกจากนี้ แนวทางการดำเนินธุรกิจฟินเทคในเวียดนาม มองว่ามีศักยภาพด้านธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพในเวียดนามนับเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการลงทุนและขยายธุรกิจมายังเวียดนาม โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจการชำระเงินดิจิทัล การซื้อของออนไลน์ การท่องเที่ยว เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจการเงินส่วนบุคคลและนิติบุคคล ตลอดจนด้านเทคโนโลยีการเกษตร สำหรับผู้ที่จะเข้าตลาดฟินเทคสตาร์ทอัพเวียดนามจำเป็นต้องศึกษาบริบทของประเทศ และจำเป็นต้องผ่านการรับรองจากรัฐบาลเวียดนามซึ่งเป็นผู้ดูแลทรัพยากรทั้งหมดของประเทศเสมอ

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/fintech-startup-vietnam