การค้าต่างประเทศของเมียนมาทะลุ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรอบ 10 เดือน

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมารายงานว่า การค้าระหว่างประเทศของเมียนมากับคู่ค้าต่างประเทศมีมูลค่า 25.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยการส่งออกมูลค่า 12.135 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้ามูลค่า 13.378 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2566-2567 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ซึ่งมูลค่าการค้ารวมของปีงบประมาณปัจจุบันลดลงอย่างมากถึง 3.15 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีมูลค่าการค้ารวม 28.66 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าของเมียนมาแบ่งออกเป็นการค้าทางทะเลอยู่ที่ประมาณ 18.787 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การค้าดำเนินการที่ชายแดนมีมูลค่า 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-foreign-trade-exceeds-us25-bln-in-ten-months/

การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาในช่วงเดือน ม.ค. 2024 ขยายตัวกว่าร้อยละ 16.7

ปริมาณการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาแตะมูลค่ารวม 4.05 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วงเดือน ม.ค. ปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 16.7 จากมูลค่า 3.47 พันล้านดอลลาร์ ที่ได้บันทึกไว้ในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นการส่งออกรวมของกัมพูชามูลค่า 1.96 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ขณะที่การนำเข้ารวมอยู่ที่ 2.09 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 8.7 ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ตามมาด้วยเวียดนาม สหรัฐฯ ไทย และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ สำหรับสินค้าส่งออกหลักยังคงเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและสินค้าเพื่อการท่องเที่ยว จักรยาน ยางแห้ง ข้าวสาร กล้วย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะม่วง และลำไย ด้านสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ วัตถุดิบขั้นต้นในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและสินค้าท่องเที่ยว รวมถึงปิโตรเลียม วัสดุก่อสร้าง รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ไปจนถึงสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค ผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501439008/cambodias-international-trade-up-16-7-pct-in-january/

2023 มูลค่าการค้ารวมระหว่าง กัมพูชา-RCEP เกือบแตะ 3 หมื่นล้านดอลลาร์

การค้าระหว่างกัมพูชาและอีก 14 ประเทศ ในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีมูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวที่มูลค่ารวม 8.172 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 28  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.129 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงกว่าร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของประเทศ โดยหลังจากการลงนามในข้อตกลงดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มสมาชิค RCEP เพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น อินโดนีเซียจากการเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 12 ของกัมพูชาในช่วงก่อนหน้านี้ ปรับมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 6 ของปีที่แล้ว โดยมีปริมาณการค้าทวิภาคีเกือบ 1.1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบรายปีก่อนเกือบร้อยละ 15 คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 92.74 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 151.7

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501437300/cambodia-rcep-members-trade-hits-nearly-30-bn-in-2023/

2023 มูลค่าการส่งออก-นำเข้า ผ่าน SSEZ กัมพูชา แตะ 3.36 พันล้านดอลลาร์

ปริมาณการนำเข้าและส่งออกรวมของเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) มีมูลค่า 3.36 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในปี 2023 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 34.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมูลค่าการค้าผ่าน SSEZ คิดเป็นประมาณกว่าร้อยละ 7.18 ของปริมาณการค้าทั้งหมดของกัมพูชา สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ SSEZ ถือเป็นโครงการเรือธงภายใต้โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งร่วมลงทุนโดยนักลงทุนจีนและกัมพูชา ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดพระสีหนุ โดยเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในแง่ของขนาดและจำนวนผู้ประกอบการในเขต ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรและบริษัทเอกชนรวมกว่า 180 แห่ง จากทั้งทางฝั่งจีน ยุโรป สหรัฐฯ และจากภูมิภาคอื่นๆ สร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นเกือบ 30,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501435871/ssezs-export-import-valued-at-3-36-billion-in-2023/

การค้าระหว่างประเทศกัมพูชาลดลงร้อยละ 1.9 ที่ 46.82 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2023

การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาในช่วงปี 2023 ลดลงร้อยละ 1.9 อยู่ที่ 46.82 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.8 แต่การนำเข้ากลับลดลงร้อยละ 5 ตามข้อมูลการค้าที่เผยแพร่โดยกรมศุลกากร และสรรพสามิต (GDCE) สำหรับการส่งออกรวมของกัมพูชาในช่วงปี 2023 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 22.64 พันล้านดอลลาร์ และการนำเข้ามีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 24.18 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลทำให้กัมพูชาขาดดุลการค้าอยู่ที่ 1.53 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาด้วยมูลค่าการค้าทวิภาคี 12.26 พันล้านดอลลาร์ ภายใต้ความไม่แน่นอนจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ การปะทุของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส และความกดดันด้านเงินเฟ้อที่ตามมา อีกทั้งการไม่ต่ออายุของระบบสิทธิพิเศษทั่วไป (GSP) จากสหรัฐฯ และผลประโยชน์จาก EBA จากสหภาพยุโรป (EU) ก็เป็นส่วนที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาเป็นอย่างมาก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501421111/cambodias-trade-declines-1-9-to-46-82-billion-in-2023/

อินโดนีเซียตั้งเป้าดันการค้าระหว่างกัมพูชาติดอันดับ 5 ประเทศคู่ค้ารายสำคัญ

ปัจจุบันอินโดนีเซียถือเป็นคู่ค้ารายสำคัญอันดับที่ 6 ของกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 1 พันล้านดอลลาร์ ในปัจจุบัน เน้นหนักไปที่การส่งออกถ่านหินของกัมพูชา และการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของอินโดนีเซียมายังกัมพูชา โดยอินโดนีเซียตั้งเป้าดันการค้าระหว่างกัมพูชาติดอันดับที่ 5 ภายในปีหน้า ซึ่ง ดร.Santo Darmosumarto เอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ประจำกัมพูชา ได้กล่าวไว้ในระหว่างการพูดคุยกับ Khmer Times สื่อประจำท้องถิ่น รวมถึงยังได้พูดคุยถึงความท้าทายที่ต้องเผชิญต่อภาคการค้าระหว่างอินโดนีเซียและกัมพูชา โดยปัจจุบันความเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ภายในกัมพูชายังคงต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สูง ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนามและไทย ได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตยังได้กล่าวเสริมว่ากัมพูชายังมีศักยภาพอีกมากมาย สำหรับการพัฒนาความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น ภาคเกษตรกรรม รวมถึงศักยภาพของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งกำลังเร่งฟื้นตัวจากสถานการณ์ต่างๆ ในช่วงก่อนหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501395286/indonesia-aims-to-achieve-top-five-status-as-cambodias-trade-partner/

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้ายอดค้าระหว่างประเทศ แตะ 700 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เชื่อยากจะสำเร็จ

จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ระบุว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามมีรายได้จากการส่งออกและนำเข้า อยู่ที่ 558 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 9.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี การส่งออกและการนำเข้า ลดลง 9.6% และ 7.1% ตามลำดับ ซึ่งจากสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศดังกล่าว ทำให้ยากที่จะบรรลุเป้าหมายในปีนี้ เนื่องจากเผชิญกับความท้าทายหลายประการจากตลาดโลกในปัจจุบัน โดยได้ตั้งเป้ามูลค่าการนำเข้าและส่งออกในปีนี้จะอยู่ที่ 700 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเหตุนี้ ทางกระทรวงฯ จึงออกมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการส่งออกของธุรกิจ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/importexport-target-of-700-billion-usd-tough-to-complete/271561.vnp

กัมพูชานำเข้าเนื้อวากิวจากญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 60

กัมพูชานำเข้าเนื้อวากิวจากญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 60 สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี รายงานโดยสื่อญี่ปุ่นโดยอ้างจากแหล่งข่าวของรัฐบาลญี่ปุ่น สำหรับเนื้อวากิวถือเป็นหนึ่งในเนื้อสัตว์ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก ซึ่งมีราคาเริ่มต้นสูงกว่า 90 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ด้วยเอกลักษณ์ทางด้านรสชาติที่เข้มข้น มีรสเนย และลายหินอ่อน (มันแทรก) ด้านกัมพูชาเริ่มนำเข้าเนื้อวากิวจากญี่ปุ่นตั้งแต่ในช่วงปี 2020 เป็นต้นมา รวมถึงกัมพูชาและเกาหลีใต้ได้เริ่มกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับการเจรจาการกักกันเนื้อสัตว์ที่นำเข้ามาจากเกาหลีใต้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว โดยเกาหลีใต้หวังผลักดันการส่งออกเนื้อวัวเกรดพรีเมี่ยมจำนวนกว่า 2,000 ตัน มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ ไปยังกัมพูชา ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า จากข้อมูลของ Statista รายงานว่าปริมาณการขายเนื้อสัตว์ในตลาดของประเทศกัมพูชา ซึ่งประกอบด้วยเนื้อสด เนื้อแปรรูป และสารทดแทนเนื้อสัตว์ คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 2.127 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2023 และคาดว่าจะเติบโตในอัตราร้อยละ 8.33 ต่อปี ไปจนถึงปี 2028

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501388703/japanese-wagyu-beef-exports-to-cambodia-decline-by-60-percent/

‘เวียดนาม’ เผยยอดค้าต่างประเทศ ทะลุ 500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 15 ต.ค. ว่าการส่งออกและการนำเข้าของเวียดนาม อยู่ที่ 523 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากข้อมูลตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงเดือน ต.ค. พบว่า เวียดนามมีมูลค่าการส่งออก 272.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงราว 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 250.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้า 22.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ โทรศัพท์และชิ้นส่วนเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้มากที่สุด มีมูลค่า 41.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอะไหล่ เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีการเติบโตมากที่สุดในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนาม เพิ่มขึ้น 75.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/viet-nam-s-foreign-trade-exceeds-us-500-bln-2206129.html

เมียนมามีรายได้กว่า 16,551.306 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมูลค่าการค้าต่างประเทศ ช่วงระยะเวลามากกว่า 6 เดือนในปีงบประมาณ 2023-2024

จากวันที่ 1 เมษายน 2566 – 6 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาเมียนมาร์มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 8,712.336 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้า 7,838.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้มีดุลการค้าแบบขาดดุลอยู่ที่ 873.366 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย เมียนมาร์มีการส่งออกผลิตผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ การประมง ผลิตภัณฑ์แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำเร็จรูป และสินค้าอื่นๆ ไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมี สินค้าเพื่อการลงทุน วัตถุดิบเชิงพาณิชย์ สินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบสินค้าตัดเย็บ หรือ CMP (cut-make-package) โดยนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการส่งออกของเมียนมาร์ตามยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติ (National Export Strategy : NES) ปี 2020-2025 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ดี ภาคส่วนที่สำคัญตามแผนยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติ NES 2020-2025 ได้แก่ การผลิตอาหารจากการเกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมและไฟฟ้า การประมง ผลิตภัณฑ์จากป่า ผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัล บริการโลจิสติกส์ การจัดการคุณภาพ บริการข้อมูลการค้า นวัตกรรมและผู้ประกอบการ และอื่นๆ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/us16551-306-mln-earned-from-foreign-trade-volume-in-more-than-six-months-period-in-2023-24-fy/