Royal Group เตรียมสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ในจังหวัดกันดาล

บริษัท Royal Group ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของกัมพูชา กำลังพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) แห่งใหม่ในจังหวัดกันดาล เพื่อรองรับความต้องการพื้นที่การผลิตที่มีคุณภาพรอบกรุงพนมเปญที่เพิ่มขึ้นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่นี้มีชื่อว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษรอยัล กรุ๊ป กันดาล (RGKSEZ) ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 120 เฮคเตอร์ ซึ่งเชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษรอยัล กรุ๊ป พนมเปญ (RGPPSEZ) ที่บริษัทดำเนินการอยู่เดิม บริษัท รอยัล กรุ๊ป โดยคาดว่าเมื่อดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบจะสามารถสร้างงานให้กับชาวกัมพูชาได้ประมาณ 200,000 ตำแหน่ง ซึ่งปัจจุบัน เขตเศรษฐกิจพิเศษรอยัล กรุ๊ป พนมเปญ มีบริษัทผู้ผลิต 85 แห่ง และบริษัทที่ไม่ได้ผลิตสินค้า 29 แห่ง มีพนักงานรวมกว่า 43,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501466083/royal-group-developing-new-sez-in-kandal/

ทางการพร้อมผลักดันโครงการเขตเศรษฐกิจกัมพูชา-ญี่ปุ่น (CJSEZ)

รัฐบาลกัมพูชากำลังจัดเตรียมนโยบายในการเตรียมความพร้อมจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษกัมพูชา-ญี่ปุ่น (CJSEZ) เพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นมากขึ้น โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 ก.พ.) มีการประชุมระหว่างรัฐมนตรีทั้งสองประเทศเพื่อหารือและเตรียมเอกสารแนวคิดในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศกัมพูชา นำโดย Sun Chanthol รองนายกรัฐมนตรีและประธานสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) เป็นประธาน โดยคาดว่าโครงการนี้จะมีส่วนสำคัญในการดึงดูดการลงทุนของญี่ปุ่นมายังกัมพูชา รวมถึงก่อให้เกิดการจ้างงาน การพัฒนาขีดความสามารถและทักษะให้กับแรงงานในท้องถิ่น อีกทั้งมีส่วนในการสนับสนุนเศรษฐกิจผ่านการส่งออกที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากกัมพูชามีตลาดเผื่อการส่งออกที่ขนาดใหญ่ขึ้น สำหรับปัจจุบัน CDC ได้อนุมัติโครงการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นไปแล้วกว่า 149 โครงการ ด้วยเงินทุนรวมประมาณ 2.9 พันล้านดอลลาร์ ณ เดือนสิงหาคม 2022 โดยลงทุนในอุตสาหกรรมการเสื้อผ้า รองเท้า สินค้าสำหรับเดินทาง ชิ้นส่วนรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ยางรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ แผงโซลาร์เซลล์ และอุตสาหกรรมประกอบจักรยาน เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501439391/cambodia-japan-sez-project-on-the-cards/

CDC ยอมรับข้อเสนอ UK ในการจัดตั้ง Green SEZ

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) เห็นชอบต่อคำขอจากเอกอัครราชทูตอังกฤษให้จัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษสีเขียว (Green SEZ)” และพร้อมที่จะช่วยส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนยังกัมพูชา โดยคำร้องขอดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการเข้าเยี่ยมคารวะโดยคณะผู้แทนซึ่งนำโดย Dominic Williams เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกัมพูชา เข้าพบ Sun Chanthol รองนายกรัฐมนตรีและรองประธานลำดับที่ 1 ของ CDC เพื่อปรับปรุงความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ภายใต้การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยเน้นไปที่การให้ลำดับความสำคัญ คือการปรับปรุงถนนแห่งชาติหมายเลข 5, การก่อสร้างทางด่วนพนมเปญ-บาเว, การตรวจสอบบนทางด่วนพนมเปญ-เสียมราฐ-ปอยเปต รวมถึงการปรับปรุงทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ (PPSV) และโครงการฟูนันเตโช ซึ่งจะเป็นโครงการประวัติศาสตร์ของประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501436295/cdc-consents-to-uk-proposal-for-establishing-green-sez/

2023 มูลค่าการส่งออก-นำเข้า ผ่าน SSEZ กัมพูชา แตะ 3.36 พันล้านดอลลาร์

ปริมาณการนำเข้าและส่งออกรวมของเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) มีมูลค่า 3.36 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในปี 2023 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 34.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมูลค่าการค้าผ่าน SSEZ คิดเป็นประมาณกว่าร้อยละ 7.18 ของปริมาณการค้าทั้งหมดของกัมพูชา สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ SSEZ ถือเป็นโครงการเรือธงภายใต้โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งร่วมลงทุนโดยนักลงทุนจีนและกัมพูชา ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดพระสีหนุ โดยเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในแง่ของขนาดและจำนวนผู้ประกอบการในเขต ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรและบริษัทเอกชนรวมกว่า 180 แห่ง จากทั้งทางฝั่งจีน ยุโรป สหรัฐฯ และจากภูมิภาคอื่นๆ สร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นเกือบ 30,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501435871/ssezs-export-import-valued-at-3-36-billion-in-2023/

การส่งออกของกัมพูชาผ่าน RGPPSEZ ขยายตัวต่อเนื่องแตะ 1.6 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2023

มูลค่าการส่งออกของ Royal Group Phnom Penh Special Economic Zone (RGPPSEZ) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา นับจากปี 2016 ที่มีการส่งออกที่มูลค่า 316 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าที่มูลค่า 683 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 หลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นสองเท่าอีกครั้งในเวลาเพียงหนึ่งปีคิดเป็น 1.346 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 โดยในปี 2023 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ที่มูลค่า 1,621 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา โดยปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตกว่า 86 แห่ง จาก 14 ประเทศทั่วโลกตั้งโรงงานผลิตในโซนดังกล่าว สร้างการจ้างงานกว่า 43,800 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501429922/royal-group-phnom-penh-sezs-exports-crosses-1-6-billion-in-2023/

การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่ว สปป.ลาว เติบโตในปี 2566

แม้ สปป.ลาว เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจในปี 2566 แต่การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศยังเติบโตได้ โดยมีบริษัทประมาณ 178 แห่ง เข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ทั่วประเทศ ทำให้เกิดโอกาสในการทำงานมากกว่า 3,600 ตำแหน่ง การลงทุนประกอบด้วยบริษัทในภาคบริการ 127 แห่ง ภาคอุตสาหกรรม 18 แห่ง ภาคการค้า 30 แห่ง และภาคเกษตรกรรม 3 แห่ง การลงทุนรวมกันมีมูลค่าเป็นเงิน 520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีทุนจดทะเบียน 178 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษยังสนับสนุนให้เกิดร้านค้าและสถานประกอบการกว่า 2,645 แห่ง สร้างรายได้ต่อปีสูงถึง 174 พันล้านกีบ (มากกว่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับงบประมาณของรัฐบาล โดยธุรกิจเหล่านี้จ้างคนงาน 3,644 คน แบ่งเป็นแรงงานลาว 3,572 คน และแรงงานต่างด้าว 72 คน

ที่มา: https://laotiantimes.com/2024/01/03/laos-sezs-surge-with-major-investments-fueling-economic-growth-amid-lingering-concerns-for-worker-safety

คณะกรรมการจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวก์ได้รับการจัดตั้งใหม่

ตามคำสั่งที่ 3/2023 ของคณะกรรมการกลางเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียนมาร์ ที่ออกเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวก์ขึ้นใหม่ ภายใต้บทที่ 5 มาตรา 9 (D) ของกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียนมาร์ พ.ศ. 2557 ทั้งนี้คณะกรรมการกลางได้ปฏิรูปคณะกรรมการจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวก์ และแต่งตั้ง U Kyaw Shwe Tun จากกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานคณะกรรมการ พร้อมทั้งมีนาย U Win Myint รองอธิบดีกรมพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยซึ่งเกษียณอายุแล้วทำหน้าที่เป็นรองประธาน และสมาชิกประกอบด้วย U San Shwe Maung จากรัฐบาลรัฐยะไข่ หัวหน้าแผนกการวางแผนภายใต้กระทรวงการวางแผนและการเงิน ผู้บริหารเขต ของกรมบริหารทั่วไปเขตเจ้าผิวก์ ภายใต้กระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ของการท่าเรือเมียนมา (รัฐยะไข่) ภายใต้กระทรวงคมนาคมและการสื่อสาร และผู้อำนวยการกรมพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัย (รัฐยะไข่) ภายใต้กระทรวงการก่อสร้าง นอกจากนี้ คณะกรรมการยังได้แต่งตั้ง ดร. จ่อ ซาน อู เป็นเลขานุการและรองผู้อำนวยการใหญ่องค์การส่งเสริมการค้าเมียนมาร์ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นเลขานุการร่วม โดนคณะกรรมการมีหน้าที่ปฏิบัติตามภารกิจของคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวก์และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำหนดไว้ในกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียนมาร์อย่างเคร่งครัด

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/kyaukpyu-sez-management-committee-reestablished/#article-title

หนังสือเชิญแสดงความสนใจ สำหรับสมาคมวิสาหกิจที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลเมียนมา ในความร่วมมือโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวก์

ในการจัดตั้งสมาคมวิสาหกิจที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลของเมียนมา คณะกรรมการกลางเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียนมาภายใต้กระทรวงพาณิชย์จะเรียกร้องให้มีการแสดงหนังสือความสนใจ (EOI) และมาตรการต่างๆ กำลังดำเนินการเพื่อจัดตั้งสมาคมหน่วยงานที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลเมียนมา เพื่อร่วมมือกันในโครงการท่าเรือทะเลลึกนอกชายฝั่ง เขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวก์ บริษัทที่เป็นของชาวเมียนมาจะถูกตรวจสอบเพื่อเข้าร่วมกลุ่มภายใต้กฎและข้อบังคับ โดยบริษัทจะต้องเป็นบริษัทเอกชนในประเทศหรือบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายบริษัทเมียนมาปี 2017 จะต้องดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่การจัดตั้งบริษัท และจะต้องถือแบบฟอร์มแยกบริษัทและใบรับรองการจดทะเบียนบริษัทที่ออกโดยคณะกรรมการการลงทุนและการจดทะเบียนบริษัท และต้อง ไม่ถูกระงับบนระบบทะเบียนออนไลน์ MyCO ของ DICA ทั้งนี้ บริษัทจะต้องจัดตั้งขึ้นมานานกว่า 10 ปีหรือต้องมีประสบการณ์ 5 ปีในกระบวนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ประสบความสำเร็จ หากนิติบุคคลถูกจัดตั้งขึ้นในรัฐยะไข่ ระยะเวลาในการจัดตั้งนิติบุคคลที่กำหนดจะผ่อนคลายลงในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ มูลค่าการซื้อขายขั้นต่ำเฉลี่ยต่อปีจะต้องเท่ากับ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือจำนวนเทียบเท่าในสกุลเงินต่างประเทศหรือสกุลเงินท้องถิ่นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และจะต้องไม่ถูกขึ้นบัญชีดำหรือถูกตัดสิทธิ์โดยกระทรวง สภาเนปิดอว์ และรัฐบาล รวมทั้งบริษัทเหล่านั้นจะต้องจ้างพนักงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญเพียงพอซึ่งสามารถให้การสนับสนุนทางเทคนิคแก่โครงการได้ แต่ละหน่วยงานจะต้องเสนอเอกสารยืนยันว่าพวกเขาสามารถลงทุนอย่างน้อย 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในข้อเสนอ ต้องส่งรายงานงบการเงินในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพร้อมกับใบรับรองด้านภาษีจากสำนักงานสรรพากรที่เกี่ยวข้องด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/eoi-invited-for-myanmar-gde-consortium-in-kyaukphyu-sez-collaboration/#article-title

9 เดือนแรกของปี เขตเศรษฐกิจพิเศษ SSEZ ส่งออกสินค้าแตะ 2.5 พันล้านดอลลาร์

คาดปี 2023 เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) เติบโตต่อเนื่อง สะท้อนจากสัดส่วนการส่งออกผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวที่คิดเป็นกว่าร้อยละ 7.13 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกผ่าน SSEZ อยู่ที่ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา BRI สร้างโอกาสการพัฒนามากมายให้กับ SSEZ ผ่านสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการผลิต และเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรม อีกทั้งยังสร้างโอกาสการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก สำหรับ SSEZ มีองค์กรหรือบริษัทภายในเขตกว่า 175 แห่ง ในปัจจุบันครอบคลุมทั้งการผลิตฮาร์ดแวร์ไปจนถึงเสื้อผ้า วัสดุก่อสร้าง และวัสดุไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501381926/ssez-conducts-2-5b-trade-in-nine-months/

CDC อนุมัติโครงการลงทุนแห่งใหม่ในจังหวัดสีหนุวิลล์

คณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษกัมพูชา (CSEZB) หน่วยงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้อนุมัติการออกใบรับรองการจดทะเบียนสำหรับโครงการลงทุนใหม่ 8 โครงการ มูลค่ารวม 64.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในบรรดาโครงการลงทุนใหม่อย่าง บริษัท Huale Steel (Cambodia) Co., Ltd. ได้ยื่นขอเสนอโครงการลงทุนมูลค่ากว่า 40 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานผลิตเหล็กทุกชนิด ในเขตเศรษฐกิจพิเศษท่าเรือสีหนุวิลล์ (SPSEZ) พร้อมจ้างงานกว่า 523 คน ทำนองเดียวกัน บริษัท Wangmao (Cambodia) Homeware Co., Ltd. วางแผนจัดตั้งโรงงานผลิตเครื่องใช้ภายในบ้าน ด้วยเงินลงทุนมูลค่า 6.2 ล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าจะสร้างการจ้างงานถึง 1,369 ตำแหน่ง ตามมาด้วย บริษัท Cambodian Luheng Food Co., Ltd. ในการจัดตั้งโรงงานอาหารสัตว์ มูลค่าการลงทุน 3 ล้านดอลลาร์ ใกล้กันกับ บริษัท Ultimate Motion Co., Ltd. ที่มีการวางแผนลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ มูลค่าการลงทุน 3 ล้านดอลลาร์ สำหรับ บริษัท Jushi (Cambodia) Co., Ltd. วางแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก สายไฟ และสายเคเบิล ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยโครงการลงทุนของ บริษัท Starblaze (Cambodia) Plastic & Metal Co., Ltd. มูลค่าการลงทุน 3.6 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วย บริษัท Wanan Gas Control (Cambodia) Co., Ltd. คาดว่าจะลงทุน 2 ล้านดอลลาร์ และ บริษัท He Dui Optoelectronics Co., Ltd. วางแผนที่จะลงทุน 1.5 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501364491/cdc-approves-40m-steel-factory-project-in-sihanoukville/