คาด FTC ผลักดันการขนส่งของท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์

โครงการ Funan Techo Canal (FTC) โครงข่ายคลองที่มีความยาวกว่า 180 กิโลเมตร ตัดผ่านระหว่างจังหวัดกันดาล ตาแก้ว กัมปอต และแกบ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการผลักดันกิจกรรมการขนส่งของท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์ (PAS) ให้ถึงร้อยละ 90 ของปริมาณการส่งออกกัมพูชา ที่ปัจจุบันคิดเป็นการขนส่งสินค้าผ่าน PAS ร้อยละ 67 ตามมาด้วย การส่งออกผ่านทางท่าเรือพนมเปญ (PPAP) ร้อยละ 33 ตามรายงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ปัจจุบัน PAS ถือเป็นท่าเรือที่ดำเนินกิจการโดยรัฐฯ ซึ่งเป็นศูนย์ขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยสามารถจัดเก็บตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต หรือ TEU (ตู้คอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐาน) ได้จำนวนกว่า 797,778 ตู้ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.35 จาก 750,148 TEU ในปีก่อนหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501483296/ftc-to-drive-activities-at-pas-to-90/

ท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชาจะกลายเป็นท่าเรือระดับภูมิภาค

รัฐบาลกัมพูชาตั้งเป้าดันท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดพระสีหนุ ให้เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและท่าเรือระดับภูมิภาคภายในปี 2050 โดยความทะเยอทะยานดังกล่าวได้รับการเน้นย้ำโดยนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเน็ต ในระหว่างการพบปะกับข้าราชการ คนงาน และลูกจ้าง ณ ท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์ เมื่อเช้านี้ (1 พ.ค.) เนื่องในโอกาสครบรอบ 138 ปี วันแรงงานสากล (1 พ.ค.) ภายใต้แนวคิด “หนึ่ง วิสาหกิจเป็นชุมชนสันติสุขหนึ่งเดียว” ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสริมว่าภาคการขนส่งด้วยท่าเรือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีความสำคัญ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะเพิ่มเงินลงทุนและการระดมเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือต่อไป ด้าน Peng Ponea รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง กล่าวว่า ท่าเรือสีหนุวิลล์มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตผ่านโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือระยะที่ 2 ซึ่งกำหนดความยาวของท่าเรือไว้ที่ 400 เมตร ลึก 16.5 เมตร และระยะที่ 3 ขยายเป็นความยาว 430 เมตร ลึก 17.5 เมตร พร้อมรองรับอุปกรณ์ทางเทคนิคที่ทันสมัยในการอำนวยความสะดวกในท่าเรือ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501481387/sihanoukville-autonomous-port-to-be-transformed-into-regional-port-and-logistics-hub/

รัฐบาล สปป.ลาว อนุมัติโครงการศึกษาสร้างท่าเทียบเรือหลวงน้ำทา

การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าเรือ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ พื้นที่การค้าและบริการ และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรในเขตเมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา โดยจะเริ่มดำเนินการหลังจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กระทรวงการวางแผนและการลงทุน และบริษัท นิว คอนเซ็ปต์ คอนซัลติ้ง จำกัด ลงนามบันทึกความเข้าใจเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ หากโครงการได้รับการอนุมัติจะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง เพื่อพัฒนาแม่น้ำโขงให้เป็นทางน้ำที่ได้มาตรฐานสากลสำหรับการขนส่งเชิงพาณิชย์ในแม่น้ำโขงและล้านช้าง โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาล สปป.ลาว และจะสร้างให้ได้มาตรฐานสากล สถานที่ก่อสร้างที่เสนออยู่ในเชียงกกและหมู่บ้านอื่นๆ อีก 11 หมู่บ้านในเขตเมืองลองและจะครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 44,260,311 ตารางเมตร

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_36_Govt_y24.php

‘การท่าเรือเวียดนาม’ ชี้ 10 เดือนแรกปีนี้ ปริมาณขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือฟื้นตัว

กรมเจ้าท่าเวียดนาม (VMA) เปิดเผยว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 มีปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเวียดนาม มากกว่า 624.55 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยปริมาณการส่งออกสินค้าลดลงเล็กน้อย 1% แต่การนำเข้ามีการเติบโตที่แข็งแกร่งราว 5%

ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. ปริมาณการขนส่งสินค้าที่ผ่านท่า 565 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% การส่งออก 132 ล้านตัน ลดลง 1% ในขณะที่การนำเข้า 165 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5%

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-seaport-throughput-rebounds-in-10-months-post130835.html

CDC อนุมัติโครงการลงทุนแห่งใหม่ในจังหวัดสีหนุวิลล์

คณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษกัมพูชา (CSEZB) หน่วยงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้อนุมัติการออกใบรับรองการจดทะเบียนสำหรับโครงการลงทุนใหม่ 8 โครงการ มูลค่ารวม 64.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในบรรดาโครงการลงทุนใหม่อย่าง บริษัท Huale Steel (Cambodia) Co., Ltd. ได้ยื่นขอเสนอโครงการลงทุนมูลค่ากว่า 40 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานผลิตเหล็กทุกชนิด ในเขตเศรษฐกิจพิเศษท่าเรือสีหนุวิลล์ (SPSEZ) พร้อมจ้างงานกว่า 523 คน ทำนองเดียวกัน บริษัท Wangmao (Cambodia) Homeware Co., Ltd. วางแผนจัดตั้งโรงงานผลิตเครื่องใช้ภายในบ้าน ด้วยเงินลงทุนมูลค่า 6.2 ล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าจะสร้างการจ้างงานถึง 1,369 ตำแหน่ง ตามมาด้วย บริษัท Cambodian Luheng Food Co., Ltd. ในการจัดตั้งโรงงานอาหารสัตว์ มูลค่าการลงทุน 3 ล้านดอลลาร์ ใกล้กันกับ บริษัท Ultimate Motion Co., Ltd. ที่มีการวางแผนลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ มูลค่าการลงทุน 3 ล้านดอลลาร์ สำหรับ บริษัท Jushi (Cambodia) Co., Ltd. วางแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก สายไฟ และสายเคเบิล ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยโครงการลงทุนของ บริษัท Starblaze (Cambodia) Plastic & Metal Co., Ltd. มูลค่าการลงทุน 3.6 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วย บริษัท Wanan Gas Control (Cambodia) Co., Ltd. คาดว่าจะลงทุน 2 ล้านดอลลาร์ และ บริษัท He Dui Optoelectronics Co., Ltd. วางแผนที่จะลงทุน 1.5 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501364491/cdc-approves-40m-steel-factory-project-in-sihanoukville/

เกาหลีใต้มอบทุนสนับสนุน 4.25 ล้านดอลลาร์ ยกระดับท่าเรือลุ่มแม่น้ำโขง สปป.ลาว

สาธารณรัฐเกาหลีได้บริจาคเงินทุนกว่า 4.25 ล้านดอลลาร์ ให้กับโครงการพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลท่าเรือแม่น้ำโขง (Port-MIS) 5 แห่ง ในประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การดำเนินงานของท่าเรือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังรวมถึงโครงการพัฒนาแผนแม่บทสำหรับการเสริมสร้างศักยภาพเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อีกทั้งยังพัฒนาระบบแอปพลิเคชั่นในการดำเนินการท่าเรือร่วมด้วย ซึ่งการร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของเกาหลี (KOICA) และกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว​ ในการจะจัดหาอุปกรณ์ ICT เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ICT ของท่าเรือทั้ง 5 แห่ง โครงการห้าปีจะดำเนินการจนถึงปี 2570

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_131_SKorea_y23.php

ท่าเรือ สปป.ลาว-มาเลเซีย มองหาช่องทางการเชื่อมโยงระหว่างกัน

Sake Philangam กรรมการผู้จัดการของท่าเรือบกท่านาแล้ง สปป.ลาว และ Mr. Wan Ahmad Azheed Wan Mohamad กรรมการผู้จัดการกลุ่มและซีอีโอของ Mutiara Perlis Sdn Bhd ได้จัดพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างกัน (MoC) โดยมีนายกรัฐมนตรีของ สปป.ลาว และมาเลเซียร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความต้องการในการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ระหว่างกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าการลงทุนต่อไปในอนาคต ขณะที่รัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งชาติลาวและการรถไฟมาเลเซีย Keretapi Tanah Melayu Berhad (KTMB) ก็ได้ลงนามใน MoC ที่คล้ายคลึงกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการขนส่งทางราง หวังเชื่อมโลจิสติกส์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งหากเกิดการเชื่อมกันอย่างสมบูรณ์จะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่งลงอย่างมาก โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าไปยังจีนที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของกลุ่มประเทศอาเซียน ยกตัวอย่างเช่น การขนส่งทุเรียนจากประเทศไทยผ่านทางรถไฟใช้เวลาเพียง 3 วัน ในการขนส่งไปยังจีน เร็วกว่าการขนส่งแบบดังเดิมถึงสองเท่า และด้วยความได้เปลี่ยนนี้คาดว่าจะถือเป็นการดึงดูดนักลงทุน เข้ามาลงทุนยังภูมิภาคมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง สปป.ลาว ยังได้เพิ่มสิ่งจูงใจในการเข้ามาลงทุนอีกมากมาย เช่น ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8-16 ปี การลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น อีกทั้ง สปป.ลาว ยังมีข้อตกลงทางด้านการค้าอีกหลายฉบับกับนานาประเทศทั่วโลก

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_LaoMalasian125.php

บริษัทสัญชาติจีน เซ็นสัญญาพัฒนาท่าเรือ กัมปอต ในกัมพูชา

บริษัท China Harbour Engineering (CHEC) ได้รับสัญญาก่อสร้างท่าเรืออเนกประสงค์กัมปอต ในจังหวัดกัมปอต หลังจากจัดเตรียมพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานในการก่อสร้างเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ซึ่ง CHEC ได้ลงนามในสัญญาร่วมกับ Kampot Logistics and Port Company Limited (KLP) ไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมี Sun Chanthol รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง ร่วมกับตัวแทนของบริษัท ตามรายงานของกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง คาดว่าการก่อสร้างท่าเรือดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 3 เฟส ด้วยเม็ดเงินลงทุนรวมประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในเฟสแรกคาดว่าจะมีการลงทุนประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวจะช่วยให้ท่าเรือกำปอตสามารถรองรับปริมาณตู้คอนเนอร์ได้ที่ 300,000 TEU ภายในปี 2025 และจะเพิ่มเป็น 600,000 TEU ภายในปี 2030 โดยในโครงการจะประกอบด้วยพื้นที่จัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตการค้าเสรี ศูนย์โลจิสติกส์ คลังสินค้าศุลกากร โรงงานผลิตและกระจายสินค้า เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501285979/chinese-firm-bags-kampot-port-construction-contract/

คาดการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในกัมพูชา จะเป็นส่วนในการเพิ่มขีดความสามารถของ PAS

รัฐบาลได้อนุมัติแผนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเพิ่มเติมในเขตพื้นที่ ท่าเรือสีหนุวิลล์ (PAS) เพื่อเสริมขีดความสามารถในการรองรับเรือสินค้าทุกประเภท รวมถึงเป็นการลดต้นทุนการขนส่งและเวลาขนส่งทางเรือในระยะถัดไป สำหรับท่าเรือ PAS ปัจจุบัน มีความจุตู้สินค้ามากกว่า 550,000 TEUs ต่อปี ในขณะที่สินค้าผ่านแดนมีมากกว่า 750,000 TEUs ในปี 2022 ซึ่งเกินความจุของท่าเรือ โดย PAS กล่าวว่าในปี 2024 หลังจากโครงการข้างต้นแล้วเสร็จจะเพิ่มความจุในการจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์เป็น 1 ล้าน TEUs ต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.67 ล้าน TEUs ภายในปี 2029 สำหรับกัมพูชามีท่าเรือหลัก 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือสีหนุวิลล์ (PAS) และท่าเรืออิสระพนมเปญ (PAPP) ทั้งคู่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา สร้างรายได้เกือบ 130 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ตามรายงานของกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501281966/deep-water-port-construction-to-increase-pas-capacity/

ในช่วง Q4/2565 รายได้ท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชา ลดลงกว่า 12%

Sihanoukville Autonomous Port (PAS) ซึ่งเป็นท่าเรือของรัฐบาลกัมพูชา โดยได้ประกาศผลการดำเนินการในช่วงไตรมาสที่ 4 ลดลงร้อยละ 12.16 หรือคิดเป็นมูลค่า 77.01 พันล้านเรียล เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการลดลงเป็นผลมาจากปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่ลดลงกว่า 26,704 TEUs หรือคิดเป็นจำนวนรวมอยู่ที่ 159,104 TEUs ในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงท่าเรือยังได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน ในขณะเดียวกันรายได้รวมทั้งปี 2022 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.41 หรือคิดเป็นมูลค่า 343.74 พันล้านเรียล แต่ถึงอย่างไรก็ตามกำไรสุทธิลดลงปรับตัวลดลงร้อยละ 10.19

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501250926/pas-q4-revenue-down-12-at-77-01b-riels/