คาด FTC ผลักดันการขนส่งของท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์

โครงการ Funan Techo Canal (FTC) โครงข่ายคลองที่มีความยาวกว่า 180 กิโลเมตร ตัดผ่านระหว่างจังหวัดกันดาล ตาแก้ว กัมปอต และแกบ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการผลักดันกิจกรรมการขนส่งของท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์ (PAS) ให้ถึงร้อยละ 90 ของปริมาณการส่งออกกัมพูชา ที่ปัจจุบันคิดเป็นการขนส่งสินค้าผ่าน PAS ร้อยละ 67 ตามมาด้วย การส่งออกผ่านทางท่าเรือพนมเปญ (PPAP) ร้อยละ 33 ตามรายงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ปัจจุบัน PAS ถือเป็นท่าเรือที่ดำเนินกิจการโดยรัฐฯ ซึ่งเป็นศูนย์ขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยสามารถจัดเก็บตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต หรือ TEU (ตู้คอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐาน) ได้จำนวนกว่า 797,778 ตู้ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.35 จาก 750,148 TEU ในปีก่อนหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501483296/ftc-to-drive-activities-at-pas-to-90/

ท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชาจะกลายเป็นท่าเรือระดับภูมิภาค

รัฐบาลกัมพูชาตั้งเป้าดันท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดพระสีหนุ ให้เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและท่าเรือระดับภูมิภาคภายในปี 2050 โดยความทะเยอทะยานดังกล่าวได้รับการเน้นย้ำโดยนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเน็ต ในระหว่างการพบปะกับข้าราชการ คนงาน และลูกจ้าง ณ ท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์ เมื่อเช้านี้ (1 พ.ค.) เนื่องในโอกาสครบรอบ 138 ปี วันแรงงานสากล (1 พ.ค.) ภายใต้แนวคิด “หนึ่ง วิสาหกิจเป็นชุมชนสันติสุขหนึ่งเดียว” ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสริมว่าภาคการขนส่งด้วยท่าเรือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีความสำคัญ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะเพิ่มเงินลงทุนและการระดมเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือต่อไป ด้าน Peng Ponea รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง กล่าวว่า ท่าเรือสีหนุวิลล์มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตผ่านโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือระยะที่ 2 ซึ่งกำหนดความยาวของท่าเรือไว้ที่ 400 เมตร ลึก 16.5 เมตร และระยะที่ 3 ขยายเป็นความยาว 430 เมตร ลึก 17.5 เมตร พร้อมรองรับอุปกรณ์ทางเทคนิคที่ทันสมัยในการอำนวยความสะดวกในท่าเรือ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501481387/sihanoukville-autonomous-port-to-be-transformed-into-regional-port-and-logistics-hub/

ทางการกัมพูชากำหนดแผนเริ่มก่อสร้างคลองฟูนันเตโชในปีนี้

Sun Chanthol รองนายกรัฐมนตรีและรองประธานสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) กล่าวว่า โครงการก่อสร้างคลองฟูนันเตโชความยาว 180 กิโลเมตรของกัมพูชาจะเริ่มต้นในปีนี้ แม้จะยังมีความกังวลต่อผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดการก่อสร้างคลองดังกล่าว ถึงแม้จะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าได้ โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์ ที่คาดว่าจะดำเนินการด้วยเงินทุนจากจีน ด้านรองนายกฯ ได้กล่าวเสริมไว้ในระหว่างปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “กัมพูชา-ประตูสู่อาเซียน” ในการประชุมสุดยอดธุรกิจกัมพูชา-อาเซียน 2024 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงพนมเปญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501467402/cambodia-plans-to-start-funan-techo-canal-work-this-year/

โครงการสะพานตันลวิน (ตะกาว) ดำเนินการแล้วเสร็จไปกว่า 84%

กระทรวงการก่อสร้าง กำลังดำเนินการก่อสร้างสะพานตันลวิน (ตะกาว) บนถนนเมะติลา-ตองยี-เชียงตุง-ท่าขี้เหล็ก ในรัฐฉานตอนใต้ และขณะนี้งานก่อสร้างร้อยละ 84 ได้ดำเนินการไปแล้ว ตามที่รองผู้อำนวยการ (โยธา) ผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างสะพานกล่าว ในปัจจุบันการก่อสร้างฐานรากและโครงสร้างย่อยแล้วเสร็จ และกำลังดำเนินการติดตั้งคานเหล็กและคานเหล็กกล่อง อย่างไรก็ดี สะพานตันลวินเก่า เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างรัฐฉาน (ใต้) และรัฐฉาน (ตะวันออก) เป็นหลัก บนถนนเมะติลา-ตองยี-เชียงตุง-ท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญสำหรับเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากสินค้าส่งออกและนำเข้าจะถูกขนส่งผ่านทางถนนและสะพาต่อการเข้าถึงประเทศลาว ไทย และจีน ผ่านเมืองเชียงตุงและท่าขี้เหล็กจากตอนกลางของ พม่า เนื่องจากถนนดังกล่าวถูกนำมาใช้ในการขนส่งสินค้า กระทรวงการก่อสร้างจึงได้ปรับปรุงสะพานบนถนนให้สามารถรองรับน้ำหนักได้ 60 ตัน ในขณะที่ สะพานตันลวิน (ตะกาว) แห่งใหม่นี้มีความยาว 351 เมตร (1,151.631 ฟุต) และทำจากคานเหล็กกล่องพร้อมพื้นสร้างจากคอนกรีตเสริม สูง 2.74 เมตร และเสาเข็มเจาะ 1.5 เมตร นอกจากนี้ยังมีช่วงเจ็ดช่วงที่มีความกว้างต่างกัน โดยความกว้างรวม 39.4 ฟุต ซึ่งทางเดินรถกว้าง 20 ฟุต 6 นิ้ว และสำหรับทางเท้ากว้าง 4 ฟุต 5 นิ้ว ซึ่งในแต่ละด้านสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 60 ตัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/thanlwin-bridge-takaw-project-completes-84-per-cent/#article-title

‘นายกฯ’ เรียกร้องให้มีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตรของเวียดนาม

นายฝ่าม มิงห์ จิญ นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ออกแถลงการณ์ที่จะมุ่งส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ เพื่อขับเคลื่อนการบริโภคและการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมง โดยถือว่าเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของเกษตรกรรมและการพัฒนาชนบท

ทั้งนี้ บทบาทภาระดังกล่าว ทางกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) ได้รับทำหน้าที่สำคัญในการประสานงานกับกระทรวงและหน่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมมือโครงการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ ปรับปรุงคุณภาพและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าเกษตรเวียดนาม

นอกจากนี้ยังต้องร่วมมือกับท้องถิ่นในการตรวจสอบและพัฒนาศูนย์บริการโลจิสติกส์ให้มีความเหมาะสมกับสินค้าเกษตร ตลอดจนจัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะผู้บริหารของรัฐฯ ภาคธุรกิจและสหกรณ์ในภาคเกษตรกรรม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/pm-urges-logistics-connectivity-for-vietnamese-farm-produce/279364.vnp

บริษัทข้ามชาติจีน-เวียนดนาม ลงนามข้อตกลง ‘โครงการเวียงจันทน์ โลจิสติกส์พาร์ค (VLP) เฟส 2’

บริษัทข้ามชาติจีน-เวียนดนาม ได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับการออกแบบและการก่อสร้างโครงการเวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค (VLP) เฟส 2 ซึ่งจะเพิ่มความสะดวก ลดต้นทุนการขนส่งในการค้าขาย และมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และสร้างรายได้จำนวนมากให้กับรัฐบาล โดยเป็นการลงทุนระหว่างบริษัท Vietnam Logistics Park บริษัท China Construction Science and Industry Corporation., Ltd. โครงการ VLP เป็นโครงการที่มีความสำคัญกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์แห่งชาติของรัฐบาลลาว โดยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 327 เฮกตาร์ เริ่มตั้งแต่โรงไฟฟ้าดงโพสีบนถนนดงโพธิ์-เชียงดา จนถึงสี่แยกใหม่ในหมู่บ้านนาห้วยเตย และแบ่งออกเป็น 7 โซน ได้แก่ การกักกันพืชและสัตว์ สถานที่จัดเก็บน้ำมัน การผลิตและการแปรรูปเพื่อการส่งออก สวนโลจิสติกส์ การค้าเสรี การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ฮาลาล และพื้นที่บริหารจัดการและสำนักงาน คาดว่าเขตโลจิสติกส์ทั้งหมดจะใช้เงินลงทุนประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการลงทุนของเอกชนลาวทั้งหมด และคาดว่าการก่อสร้างจะพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_09_Phase_y24.php

ท่าเรือแห่งใหม่ของ PAS ในกัมพูชา จะเริ่มเปิดดำเนินการเร็วกว่ากำหนดภายในกลางปี 2025

ท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์ (PAS) เตรียมเปิดเทอร์มินัลคอนเทนเนอร์แห่งใหม่ภายในปี 2025 โดยโครงการขยายท่าเรือในเฟสแรกของท่าเรือพาณิชย์ดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี ซึ่งเดิมทีโครงการนี้มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2026 แต่ด้วยแนวทางการผลักดันอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของนายกรัฐมนตรีฮุนมาเนต ได้ร้องขอให้ PAS เร่งดำเนินการ เพื่อหวังให้ท่าเรือแห่งนี้เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค โดยคาดว่าหลังปรับปรุงจะสามารถรองรับคอนเทนเนอร์ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,150,000 TEUs ซึ่งเทอร์มินัลคอนเทนเนอร์แห่งใหม่นี้มีความยาว 350 เมตร และความลึก 14.50 เมตร ช่วยให้เรือขนส่งคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ที่มีความจุ 60,000 DWT (ประมาณ 4,000 TEUs) สามารถเทียบท่าเรือได้ ด้าน Kim Chhun CEO ของ PAS ได้เปิดเผยกำหนดการโครงการปรับปรุงใหม่นี้ในระหว่างประกาศงบการเงินของบริษัทซึ่งได้ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) สำหรับโครงการขยายท่าเรือดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก Japan International Cooperation Agency (JICA) ด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมูลค่า 203 ล้านดอลลาร์ และเมื่อดำเนินการแล้วเทอร์มินัลใหม่จะช่วยให้ PAS สามารถแข่งขันด้านต้นทุนการขนส่งสินค้าทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคได้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501403122/pas-new-terminal-to-go-operational-in-2025/

สระแก้วถือมีบทบาทสำคัญต่อภาคโลจิสจิสติกส์ระหว่างกัมพูชา เวียดนาม และจีน

นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางเยือนจังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา หวังหารือเกี่ยวกับความสำคัญของจังหวัดในด้านเครือข่ายการค้าชายแดนและโลจิสติกส์ของประเทศไทย โดยสามารถรองรับการจราจรและการค้าได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีผู้คนข้ามแดนมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี และมีมูลค่าการค้าชายแดนประมาณ 110,000 ล้านบาทต่อปี ด้านนายกฯ ยังได้เน้นย้ำถึงความสามารถของจังหวัดสระแก้วในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าของไทยกับประเทศที่มีชายแดนติดกันกับไทย อย่าง กัมพูชา เวียดนาม และจีน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญของไทย อีกทั้งยังมีแนวนโยบายในการจัดทำบัตรผ่านแดนชั่วคราวสำหรับผู้ที่ไม่ใช่ชาวสระแก้ว เพื่อให้สามารถข้ามชายแดนได้โดยไม่ต้องมีหนังสือเดินทาง ภายใต้การดำเนินงานของด่านผ่านแดนคลองลึก-ปอยเปต ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเดินทางในเขตพื้นที่ดังกล่าวหวังดันการค้าและการเดินทางเติบโตต่อเนื่องในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501398538/sa-kaeo-plays-crucial-role-in-logistics-sector-commercial-relationships-with-cambodia-vietnam-and-china/

‘นครโฮจิมินห์’ ครองอันดับดัชนีความสามารถโลจิสติกส์ของประเทศ

สมาคมธุรกิจโลจิสติกส์เวียดนาม (VLA) ร่วมกับสถาบันวิจัยและการพัฒนาด้านโลจิสติกส์เวียดนาม (VLI) และศูนย์บ่มเพาะ จัดทำรายงานดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ (LCI) และได้มีการประเมิน 26 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีตัวชี้วัด ดังนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในภูมิภาค (GRDP) ปริมาณสินค้าบรรทุก และจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ ทั้งนี้ จากการประเมินพบว่านครโฮจิมินห์ได้รับคะแนนสูงสุด อยู่ที่ 43.3-74.3 จากคะแนนเต็ม 100 บ่งชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่โดดเด่นของเมืองในการบูรณาการเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพการให้บริการ และกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ รองลงมาเมืองไฮฟองและเมืองบิ่นห์ดิ่นห์ (Binh Dinh)

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/hcmc-tops-logistics-competitiveness-index/

นายกฯ กัมพูชา ตั้งเป้าดันพระสีหนุเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของประเทศ

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนพัฒนาจังหวัดพระสีหนุ ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งทะเลของกัมพูชา ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของประเทศ ผ่านการจัดทำแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาจังหวัด กล่าวโดย นายกฯ ฮุน มาเนต ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง (MPWT) เป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึก เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในประเทศ ซึ่งนายกฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อหวังผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว สำหรับในเฟสแรกทางการมีการวางแผนที่จะขยายท่าเรือน้ำลึกเนื่องจากปัจจุบันลานจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์เกือบเต็มพื้นที่ที่ร้อยละ 93 รวมถึงเพื่อที่จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการจากระหว่าง 400 ถึง 500 ดอลลาร์ ต่อตู้คอนเทนเนอร์ เหลือเพียง 200 ดอลลาร์ ต่อตู้คอนเทนเนอร์ อีกทั้งท่าเรือดังกล่าวยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งอย่างทางรถไฟ 2 สาย เชื่อมไปยังกรุงพนมเปญและปอยเปต ที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501388709/pm-says-preah-sihanouk-set-to-be-countrys-logistics-hub/