‘เวียดนาม-กัมพูชา’ ยอดการค้า พุ่ง 25%

จากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) รายงานว่าเวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของกัมพูชา รองจากประเทศจีน โดยปริมาณการค้าของทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มูลค่าที่ 2.32 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเวียดนามยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของกัมพูชาไปยังตลาดเวียดนาม คือ สินค้าการเกษตร อาทิเช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าวและยางพารา เป็นต้น ในขณะเดียวกัน กัมพูชานำเข้าผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียมและเหล็กเส้นดิบจากเวียดนาม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501474739/cambodias-trade-with-vietnam-rises-nearly-25/

‘เวียดนาม’ ส่งออก ม.ค. พุ่ง 42%

จากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าในเดือน ม.ค.67 การส่งออกมีมูลค่า 33.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.65 การนำเข้ามีมูลค่า 30.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เกินดุลการค้า 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกที่ขยายตัวอย่างมากนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นกว่า 97% และ 38% ตามลำดับ

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีการนำเข้าราว 9.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ตลาดส่งออกแบบดั้งเดิม ได้แก่ จีน สหภาพยุโรปและอาเซียน มีสัดส่วนการส่งออกที่เติบโตเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ กระทรวงฯ คาดว่าสถานการณ์การส่งออกจะเผชิญกับอุปสรรค เนื่องจากได้รับภาระต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นและความตึงเครียดทางการเมืองโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650421/viet-nam-s-exports-surge-42-in-january.html

ส่งออกข้าวไทยพุ่งอินโดนีเซียเจอภัยแล้ง ชี้เป็นโอกาสพร้อมเร่งพัฒนาสายพันธุ์

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ติดตามข้อมูลสถานการณ์การค้าสินค้าข้าว พบว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม – ตุลาคม) อินโดนีเซียกลายเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย สาเหตุหลักมาจากอินโดนีเซียกำลังประสบปัญหาขาดแคลนข้าว เนื่องจากภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงฤดูมรสุมที่ล่าช้า ทำให้อินโดนีเซียปลูกข้าวได้น้อยลง

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2023/356781

‘สหรัฐอเมริกา’ ยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม

สหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เวียดนามกลายมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 7 ของสหรัฐฯ และยังเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยจากตัวเลขสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่ายอดการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 16% ต่อปี เพิ่มขึ้นเกินกว่า 550% จาก 21.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 ขึ้นมาอยู่ที่ 123 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับที่ 11 จาก 108 นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในเวียดนาม และมีการลงทุน 1,200 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 11.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ กิจการรายใหญ่ของสหรัฐฯ ยังคงให้ความสนใจและต้องการลงทุนระยะยาวในเวียดนาม รวมถึงมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความร่วมมือกับเวียดนามและร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/us-remains-vietnams-largest-export-market-post1058710.vov

พาณิชย์ชี้ตลาดส่งออกยานยนต์ไปอินเดียสดใสด้วยแต้มต่อ FTA

นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก น.ส.กัญญาวัลย์ สืบสิงห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน เกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดยานยนต์และอินเดียในช่วงที่ผ่านมาว่า มูลค่าจำหน่ายยานยนต์ของอินเดียในเดือน มิ.ย.66 ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นรถสามล้อ 75% รถแทรกเตอร์ 41% รถจักรยานยนต์ 7% รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 5% และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 0.5% เนื่องจากอินเดียไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ทั้งนี้ ตลาดยานยนต์อินเดียเติบโตและไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อินเดียนำเข้าชิ้นยานยนต์อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีภายใต้ FTA ไทย-อินเดีย และ FTA อาเซียน-อินเดีย ดังนั้นผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยควรสร้างจุดเด่นให้กับสินค้าและบริการของตน ตอบสนองความต้องการของตลาด โดยอาจหารือร่วมกับผู้นำเข้า เพื่อขยายส่วนแบ่งให้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดอินเดียในอนาคต สร้างโอกาสในการทำเงินเข้าประเทศต่อไป

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2023/323808

จีนยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญของกัมพูชา

หลังจากการลงนามในข้อตกลงกัมพูชา-จีน (CCFTA) เมื่อเดือนตุลาคม 2020 และเริ่มมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2022 ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างจีน และเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยปริมาณการค้าของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าระหว่างปี 2017-2021 เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 25.44 พันล้านดอลลาร์ เป็น 48.01 พันล้านดอลลาร์ สำหรับศักยภาพในการส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดในภูมิภาคยังมีจำกัด ซึ่งยังคงต้องบูรณาการอย่างต่อเนื่องในส่วนของห่วงโซ่คุณค่าระดับภูมิภาค ถึงอย่างไร แม้กัมพูชาจะได้รับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่จีนและกัมพูชาก็ยังสามารถบรรลุเป้าหมายด้านปริมาณการค้าทวิภาคีได้เกินเป้าหมายที่ 1.11 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2021 ซึ่งบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับในปี 2022 จีนก็ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวมของกัมพูชาไปยังจีน 1.24 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 5.5 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501320543/china-remains-the-largest-export-market-for-cambodia/

เมียนมาตั้งเป้าส่งออกหัวหอม ปีงบฯ 66-67 ทะลุ 100,000 ตัน

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาตั้งเป้าในปีงบประมาณ 2566-2567 จะส่งออกหัวหอม 100,000 ตัน ไปยังตลาดต่างประเทศ โดยมีแผนในการส่งออก ดังนี้ เดือนเมษายน-มิถุนายน 2566 จำนวน 300,000 ตัน เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 จำนวน 15,000 ตัน เดือนตุลาคมและธันวาคม  2566 จำนวน 20,000 ตัน และเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 จำนวน 35,000 ตัน ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ เวียดนาม ไทย บังกลาเทศ และจีน ด้านราคาหัวหอมในประเทศจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,000 ถึง 1,750 จัตต่อ viss จากความต้องการในประเทศลดลงทำให้ราคาตลาดดิ่งลงอย่างมาก ทั้งนี้ จากสถิติของกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทาน ในปีงบประมาณ 2561-2562 การเพาะปลูกหัวหอมในเมียนมาครอบคลุมพื้นที่กว่า 170,000 เอเคอร์ มีผลผลิตเฉลี่ย 3,600 viss ต่อเอเคอร์ โดยภาคมัณฑะเลย์มีผลผลิตคิดเป็นร้อยละ 36 ของผลผลิตหัวหอมทั้งประเทศ รองลงมาคือภาคซะไกง์ ร้อยละ 32 และภาคมะกเว ร้อยละ 26

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-to-export-100000-tonnes-of-onions-in-fy-2023-2024/#article-title

ม.ค. 2023 การค้าระหว่างประเทศกัมพูชา หดตัว 29%

การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาลดลงร้อยละ 29 ในช่วงเดือนมกราคม 2023 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มูลค่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามีมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ลดลงร้อยละ 14 ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาก็ลดลงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 37.5 คิดเป็นมูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญของกัมพูชาด้วยมูลค่าการส่งออกรวม 562 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 37 ของยอดการส่งออกทั้งหมด ลดลงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาส่วนใหญ่ได้ทำการนำเข้าจากจีนที่มูลค่า 891 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501238161/cambodias-foreign-trade-declines-29-in-january/

เปิดหน้าต่างบานใหม่ของการส่งออกไทยในยามเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

โดย วิชาญ กุลาตี, ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

การส่งออกสินค้าไทยหดตัวต่อเนื่อง ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอลง

การส่งออกสินค้าที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มหดตัวตามอุปสงค์โลกที่ชะลอลง ในระยะต่อไปการส่งออกไทยดูไม่สดใสนัก สะท้อนจากดัชนี Global Manufacturing PMI ในเดือนมกราคมที่ยังหดตัว กอปรกับยอดคำสั่งซื้อใหม่และยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ การส่งออกไทยจะเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางการค้าโลก เช่น การเริ่มใช้ภาษี Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป รวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยของอินเดียที่จะส่งผลต่อสินค้าส่งออกไทยหลายชนิด โดย SCB EIC คาดว่าการส่งออกสินค้าไทยจะขยายตัวได้เพียง 1.2% ในปี 2023 (ตัวเลขในระบบดุลการชำระเงิน)

 

ท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดตะวันออกกลาง CLMV และลาตินอเมริกา

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวชะลอลงเป็น 1.7% ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก และการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางการค้าโลกที่กำลังเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทย ภาคเอกชนและภาครัฐจึงจำเป็นต้องหาตลาดส่งออกใหม่ SCB EIC ประเมินว่า มีตลาดสามแห่งที่มีศักยภาพน่าจับตา ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลางที่อาจได้รับอานิสงส์จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ตลาด CLMV ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตดีและได้รับการผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐ และตลาดลาตินอเมริกาที่เป็นตลาดส่งออกเป้าหมายใหม่ในเชิงนโยบายของไทย

 

ตลาด CLMV

SCB EIC ประเมินว่า การส่งออกจากไทยไป CLMV จะขยายตัวได้ในช่วง 6-8% ในปี 2023 โดยมีแนวโน้มที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางตามเศรษฐกิจ CLMV ที่จะเติบโตได้สูงกว่าเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงตลาดนี้ยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐต่อเนื่อง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-140223

เมียนมาตั้งเป้าส่งออกข้าวโพดกว่า 2 ล้านตัน ในฤดูกาลผลิตปี 66

สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดแห่งเมียนมา เผย ปี 2566 เมียนมามีผลผลิตข้าวโพดรวมทั่วประเทศ 3 ล้านตัน โดยมีเป้าส่งออกมากกว่า 2 ล้านตัน และเก็บไว้บริโภคภายในประเทศอีก 1 ล้านตัน ซึ่งตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ไทย จีน อินเดีย เวียดนาม ในปัจจุบันราคาข้าวโพดพุ่งสูงสุดถึง 1,280 จัตต่อ viss (1 viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) จากความต้องการของต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมาส่งออกข้าวโพด 2.3 ล้านตัน ส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังไทย และบางส่วนส่งออกไปยัง จีน อินเดีย และเวียดนาม ปัจจุบันการปลูกข้าวโพดของเมียนมาส่วนใหญ่อยู่ในรัฐฉาน รัฐกะฉิ่น รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง ภาคมัณฑะเลย์ ภาคซะไกง์ และภาคมะกเว โดยมีฤดูกาลปลูกอยู่ 3 ฤดู คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูมรสุม ส่วนผลผลิตข้าวโพดต่อปีอยู่ที่ 2.5-3 ล้านตัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-sets-over-2-mln-tonnes-of-corn-export-target-this-season/#article-title