‘เวียดนาม-กัมพูชา’ ยอดการค้า พุ่ง 25%

จากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) รายงานว่าเวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของกัมพูชา รองจากประเทศจีน โดยปริมาณการค้าของทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มูลค่าที่ 2.32 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเวียดนามยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของกัมพูชาไปยังตลาดเวียดนาม คือ สินค้าการเกษตร อาทิเช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าวและยางพารา เป็นต้น ในขณะเดียวกัน กัมพูชานำเข้าผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียมและเหล็กเส้นดิบจากเวียดนาม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501474739/cambodias-trade-with-vietnam-rises-nearly-25/

‘กัมพูชา’ ส่งออกไปเวียดนาม ม.ค. พุ่ง 116%

กรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) เปิดเผยว่ากัมพูชาส่งออกไปยังเวียดนามในเดือน ม.ค.67 อยู่ที่ 373 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 116.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเวียดนามเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของกัมพูชา รองจากสหรัฐฯ

ทั้งนี้ นาย ลิม เฮง (Lim Heng) รองประธานหอการค้ากัมพูชา กล่าวว่าทิศทางการส่งออกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่กัมพูชามีข้อได้เปรียบทางด้านภาษีกับคู่ค้าหลายประเทศ ทั้งในรูปแบบข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีและพหุภาคี

นอกจากนี้ยังเชื่อมั่นว่าการส่งออกของกัมพูชาจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2567 จากการที่สินค้าส่งออกของกัมพูชามีความหลากหลายและมีคุณภาพสินค้าที่แข่งขันด้านราคาได้

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/cambodian-exports-to-vietnam-soar-116-in-january-2024-post1076923.vov

‘เวียดนาม-กัมพูชา’ การค้าพุ่ง 5%

จากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (GDCE) เปิดเผยว่าการค้าระหว่างเวียดนามกับกัมพูชา ในช่วง 10 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่าราว 5.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การส่งออกของกัมพูชามีมูลค่าอยู่ที่ 2.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.9% ในขณะที่เวียดนามส่งออกไปยังกัมพูชามีมูลค่าอยู่ที่ 3.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 9.7% ส่งผลให้ในช่วงเวลาดังกล่าว กัมพูชาขาดดุลการค้าประมาณ 753.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงอย่างมาก 1.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

นอกจากนี้ คุณลิ้ม เฮง รองประธานหอการค้ากัมพูชา (CCC) ได้ตั้งข้อสังเกตว่ากำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในประเทศ พร้อมด้วยการขาดแคลนคลังสินค้า โรงงานแปรรูป และการจัดซื้อจัดจ้าง  ตลอดจนการปรับปรุงความสัมพันธ์ทางชายแดน ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดความมั่นคงและการเติบโตของการค้า โดยเฉพาะการส่งออกของประเทศ

ที่มา : https://www.phnompenhpost.com/business/vietnam-trade-up-5-on-last-year

ม.ค.-เม.ย. การส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาลดลง 25.17%

การส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาลดลงร้อยละ 25.17 ที่มูลค่ารวม 2.149 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.7 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาที่มูลค่า 7,234.123 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาดังกล่าว ตามการรายงานล่าสุดของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) แสดงถึงการลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยในเดือนเมษายนการส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาลดลงถึงร้อยละ 32.65 คิดเป็นมูลค่า 494.924 ล้านดอลลาร์ เทียบกับการส่งออกในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนที่ 735.35 ล้านดอลลาร์ สำหรับการส่งออกเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ (ผ้าถัก) ปรับตัวลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 31.8 คิดเป็นมูลค่า 347.692 ล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 510.021 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงการส่งออกเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ (ไม่ถักแบบนิตติ้ง) ลดลงร้อยละ 8 ที่มูลค่า 147.232 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501289922/cambodias-apparel-exports-down-25-17-to-2-149-billion-in-jan-apr-2023/

Q1 กัมพูชาส่งออกยางพาราขยายตัวเกือบร้อยละ 43

กัมพูชาส่งออกยางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.8 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มูลค่า 168 ล้านดอลลาร์ รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งการส่งออกยางในช่วงเดือนมีนาคมมีมูลค่าแตะ 55 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับในปีที่แล้ว กัมพูชาส่งออกยางพาราไปยังต่างประเทศที่มูลค่ารวม 541.66 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยตลาดยางพาราที่สำคัญของกัมพูชาประกอบด้วย จีน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย และสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งในปี 2023 แนวโน้มตลาดยางธรรมชาติทั่วโลกคาดว่าจะมีปริมาณการผลิตสูงถึง 14.693 ล้านตัน ขณะที่การบริโภคคาดว่าจะอยู่ที่ 14.738 ล้านตัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501274657/cambodias-rubber-exports-surge-by-43-in-q1/