ไทยอันดับ 1 ประเทศผู้ผลิตยานยนต์มากที่สุดในอาเซียน ด้านการแพทย์ดีที่สุดระดับโลก

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศวิสัยทัศน์ 8 ด้าน ให้ไทยก้าวขึ้นเป็นที่ 1 ในภูมิภาค มุ่งมั่นส่งเสริมทุกด้านที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ และเป็นด้านที่ไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) และศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness Hub) ทั้งนี้ เห็นความคืบหน้าจาก ไทยครองอันดับ 1 ประเทศผลิตรถยนต์มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2566 และผลการจัดอันดับ 250 โรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลกประจำปีพ.ศ. 2567 (250 World’s Best Hospitals 2024) ที่จัดให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ของไทย อยู่ในอันดับที่ 130 (สูงกว่าปีที่แล้วที่เคยอยู่ในอันดับที่ 182)

ที่มา : https://www.naewna.com/politic/795150#google_vignette

ความร่วมมือด้านเทคโนโลยียานยนต์เมียนมา-อินเดีย โดดเด่นที่งาน Mach Auto Expo 2024

กระทรวงการต่างประเทศเมียนมารายงานว่า เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำอินเดีย ได้เข้าร่วมงาน Mach Auto Expo ครั้งที่ 13 ประจำปี 2567 ที่เมืองลูเธียนา จังหวัดปัญจาบ ประเทศอินเดีย ซึ่งมีบูธ 650 บูธจาก 12 ประเทศ จัดแสดงผลิตภัณฑ์และบริการมากกว่าหมื่นรายการ ภายในงานได้มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการค้าและการลงทุนระหว่างเมียนมาร์และอินเดีย โดยเน้นที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนตลาดเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมทั้งได้มีการหารือเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนและความร่วมมือที่มีศักยภาพในด้านเทคโนโลยียานยนต์ระหว่างเมียนมาและอินเดีย อย่างไรก็ดี งานแสดงสินค้าดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 ถึง 26 กุมภาพันธ์ โดยเอกอัครราชทูต U Moe Kyaw Aung เข้าร่วมพิธีเปิดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ในฐานะแขกพิเศษ ร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Invest Punjab เอกอัครราชทูตและนักการทูตจากอิหร่าน คีร์กีซสถาน มาดากัสการ์ บุรุนดี มองโกเลีย และเอธิโอเปีย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการชาวอินเดียก็เข้าร่วมด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-india-auto-tech-collaboration-spotlighted-at-mach-auto-expo-2024/#article-title

บริษัทสัญชาติไต้หวัน สนใจเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร และยานยนต์ กัมพูชา

Far East Trade Service Inc พนมเปญ (FETPP) บริษัทสัญชาติไต้หวัน ซึ่งดำเนินงานภายใต้บริษัท TAITRA กำลังสำรวจโอกาสในการขยายการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และยานยนต์ ด้วยความช่วยเหลือจากสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ด้าน Suon Sophal รองเลขาธิการคณะกรรมการการลงทุนกัมพูชา (CIB) ได้ร่วมสนทนากับ Chen I-Hua ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ FETPP โดย Sophal ชื่นชมความพยายามของรัฐบาลกัมพูชา (RGC) ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนที่มุ่งสร้างกรอบกฎหมายที่เปิดกว้างเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติตามความจำเป็น ตลอดจนการดำเนินการตามแผนงานสำหรับการพัฒนาภาคยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501430458/taiwan-firm-keen-to-invest-in-agri-food-automotive-sectors/

รถยนต์ราคา 30 ถึง 200 ล้านจ๊าด ขายได้ดีขึ้นในตลาดยานยนต์เมียนมา

U Kyawswa Tun Myint เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายรถยนต์แห่งเมียนมาระบุว่า ยานพาหนะที่มีราคาระหว่าง 30 ถึง 200 ล้านจ๊าดมียอดขายดีขึ้นในตลาดปัจจุบัน เนื่องจากก่อนหน้านี้ยอดขายซบเซาในช่วงต้นเดือนธันวาคม ตลาดจึงเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่สัปดาห์ที่สองของเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ในปัจจุบันค่อนข้างเงียบ โดยมียอดซื้อและขายสม่ำเสมอ ราคาในตลาดไม่ขึ้นหรือลง แต่ราคาของรถยนต์ขนาดเล็กบางคันที่มีความต้องการสูงขึ้นกลับเพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยอดขายถือว่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว นอกจากนี้ U Kyawswa Tun Myint กล่าวอีกว่า ยานพาหนะที่มีราคาตั้งแต่ 30-35 ล้านจ๊าด ถึง 100-150-200 ล้านจ๊าด กำลังขายได้ดีขึ้น และมีการขายรถยนต์ราคาสูงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่บ่อยนัก

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/k-30-to-200-million-cars-sell-better-now-in-myanmar-auto-market/

MoALI รายงานการนำเข้ารถยนต์มากกว่า 6,900 คันใน 8 เดือน

กรมธุรกิจการเกษตรและการค้า ภายใต้ กระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และการชลประทาน รายงานว่า เมียนมาร์นำเข้ายานพาหนะมากกว่า 6,900 คัน รวมถึงรถยนต์ส่วนบุคคล 1,700 คัน ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาในปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2566-2567 ทั้งนี้ รายงานของกระทรวงฯ เผยให้เห็นตัวเลขการนำเข้ารถยนต์ส่วนบุคคล 1,784 คัน มูลค่า 39.04 ล้านเหรียญสหรัฐ รถบัส 54 คัน มูลค่า 1.04 ล้านเหรียญสหรัฐ รถบรรทุก 865 คัน มูลค่า 13.12 ล้านเหรียญสหรัฐ และเครื่องจักร 4,203 เครื่อง มูลค่า 136.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 1 ธันวาคม รวมทั้งมีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์คิดเป็นมูลค่าประมาณ 45.02 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจากตัวเลขโดยรวมแสดงให้เห็นถึงการนำเข้ายานพาหนะและรถยนต์เพิ่มขึ้น 235.02 ล้านดอลลาร์ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในปีงบประมาณนี้ มีปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น 4,700 คัน และมีมูลค่านำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้น 107.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/moali-reports-import-of-over-6900-vehicles-in-8-months/#article-title

โรงงานประกอบรถยนต์ในเมืองกันดาลของกัมพูชาใกล้แล้วเสร็จ

GTV Motor Co., Ltd. บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งจัดตั้งโรงงานในประเทศกัมพูชา ประกาศว่าการลงทุนในโรงงานประกอบรถยนต์บนเส้นทางถนน National Road 2 ในเขตจังหวัดกันดาลใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยโรงงานดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 100,000 ตารางเมตร และคาดว่าจะมีกำลังการผลิตรถยนต์สูงสุดถึง 35,000 คันต่อปี ด้วยเม็ดเงินลงทุนมูลค่ารวมกว่า 15.6 ล้านดอลลาร์ ซึ่งได้รับการอนุมัติครั้งแรกจากสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ในเดือนมิถุนายน 2022 ขณะที่การจ้างงานคาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่สำหรับคนในพื้นที่กว่า 738 ตำแหน่ง และเพื่อเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เหมาะสมกับภาคการผลิตยานยนต์ต่อไป บริษัทยังได้จัดตั้ง “GTV Automotive Electronics Research Institute (GTV AERI)” ในประเทศกัมพูชา โดยได้รับความร่วมมือจาก เยอรมนี จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ทำงานร่วมกับสถาบันโพลีเทคนิคแห่งชาติกัมพูชา เพื่อจัดการฝึกอบรมวิชาชีพขั้นสูง เพื่อการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501416846/automotive-assembly-plant-nears-completion-in-kandal/

พาณิชย์ชี้ตลาดส่งออกยานยนต์ไปอินเดียสดใสด้วยแต้มต่อ FTA

นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก น.ส.กัญญาวัลย์ สืบสิงห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน เกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดยานยนต์และอินเดียในช่วงที่ผ่านมาว่า มูลค่าจำหน่ายยานยนต์ของอินเดียในเดือน มิ.ย.66 ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นรถสามล้อ 75% รถแทรกเตอร์ 41% รถจักรยานยนต์ 7% รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 5% และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 0.5% เนื่องจากอินเดียไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ทั้งนี้ ตลาดยานยนต์อินเดียเติบโตและไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อินเดียนำเข้าชิ้นยานยนต์อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีภายใต้ FTA ไทย-อินเดีย และ FTA อาเซียน-อินเดีย ดังนั้นผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยควรสร้างจุดเด่นให้กับสินค้าและบริการของตน ตอบสนองความต้องการของตลาด โดยอาจหารือร่วมกับผู้นำเข้า เพื่อขยายส่วนแบ่งให้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดอินเดียในอนาคต สร้างโอกาสในการทำเงินเข้าประเทศต่อไป

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2023/323808

“เวียดนาม” เผยราคารถยนต์แพง

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่ารถยนต์ของเวียดนามมีราคาที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากอัตราภาษีสูงและผลผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ โดยสาเหตุประการหลังนี้ ถือเป็นข้อบ่งชี้หลักที่มาจากผู้ผลิตในประเทศที่มีกำลังการผลิตที่ต่ำมากและผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีระบบการทำงานที่ไม่ซับซ้อน เน้นไปที่การเคลือบผิว การเชื่อม การประกอบและการทดสอบ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ความด้อยพัฒนาของอุตสาหกรรมยังเป็นข้อกังวลต่อกระทรวงฯ เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและมีความสัมพันธ์ที่อ่อนแอต่อกัน รวมถึงส่วนประกอบบางส่วนเลิกผลิต ด้วยอัตราความผิดพลาดสูงและคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1495148/cars-in-viet-nam-not-coming-cheap.html

สัญญาดี “ตลาดยานยนต์เวียดนาม” ฟื้นตัว

ตลาดยานยนต์ในประเทศฟื้นตัวอย่างน่าประทับใจ เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประกอบกับผู้ผลิตยานยนต์ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่และตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้า เพื่อจะเพิ่มยอดขาย ทั้งนี้ แบรนด์ยานยนต์ ‘ซูบารุ ฟอเรสเตอร์’ ประกาศปรับลดราคาสูงสุด โดยราคารถ Subaru Forester 2.0i-L ลดลง 249 ล้านดอง จากระดับ 1.125 พันล้านดอง มาอยู่ที่ 879 ล้านดองในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม ในขณะที่ราคารถ Subaru Forester 2.0 i-S EyeSight อยู่ที่ 1.088 พันล้านดอง อย่างไรก็ดียานยนต์รุ่นอื่นๆ ก็ขายในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากการขาดแคลนอุปทาน นอกจากนี้ ในปัจจุบันผู้ผลิตยานยนต์ส่วนใหญ่พึ่งพาอุปทานในจีน ในขณะที่จีนยังไม่เปิดประตูอย่างเต็มที่ รวมถึงยังเผชิญกับต้นทุนโลจิสจิกส์ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ผลิตยานยนต์ต้องปรับชึ้นราคาขาย

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vn-automobile-market-recovers-well-2068152.html

ส.อ.ท.ประกาศลดเป้าผลิตรถ โยนผ้าขาวปี 65 เหลือ 1.7 ล้านคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ได้ติดตามปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) และชิ้นส่วนรถยนต์ หลังส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกรถยนต์ ทำให้เป้าหมายการผลิตรถยนต์ปีนี้ลดลงจากที่ตั้งไว้ 1,800,000 คัน แบ่งเป็นจำหน่ายในประเทศ 800,000 คัน และส่งออก 1,000,000 คัน ซึ่ง คาดว่าตัวเลขการผลิตปีนี้อาจลดมาอยู่ที่ 1,700,000 คัน ซึ่งเป้าหมายที่วางไว้ 1,800,000 คัน ก่อนหน้านี้ยังไม่มีปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบต่อการขาดแคลนชิป เพราะยูเครนเป็นผู้ส่งออกก๊าซนีออน (Neon) บริสุทธิ์เกือบ 70% ให้กับทั่วโลก เพื่อใช้ผลิตชิป และจีนล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ ทำให้การผลิตชิปหยุดลงอีกรอบหนึ่ง

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2455173