‘EVFTA’ ผลักดันการเติบโตของการส่งออกเวียดนาม

จากรายงานของสถาบันกลางเพื่อการจัดการเศรษฐกิจ (CIEM) ของเวียดนาม เปิดเผยว่าข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม (EVFTA) ดำเนินการมาแล้ว 5 ปี และได้สร้างผลประโยชน์ในหลายด้านให้แก่เวียดนาม โดยเฉพาะสินค้าสิ่งทอ รองเท้า และสินค้าทางการเกษตร เป็นต้น นาย Nguyen Anh Duong หัวหน้าฝ่ายวิจัยทั่วไปของ CIEM กล่าวว่าหลังจากข้อตกลงการค้าเสรีฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้มาเป็นระยะเวลา 5 ปี ส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกของเวียดนามไปยังสหภาพยุโรปอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับประโยชน์ทางภาษี ในขณะเดียวกัน ข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้ ยังได้สร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้มีความโปร่งใส ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นสูง ความยั่งยืน การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและการปกป้องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นอกจากนี้ จากตัวเลขสถิติการค้า พบว่าการส่งออกของเวียดนามไปยังสหภาพยุโรปในปี 2567 เพิ่มขึ้น 13.19% และเวียดนามยังคงเกินดุลการค้าอย่างมาก อยู่ที่ 35.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/evfta-generates-positive-outcomes-after-five-years-of-implementation-ciem-post144499.html

‘เวียดนาม’ ส่งออกไปตลาดยุโรป ปี 67 โตแรง มูลค่าแตะ 51.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่าในปี 2567 เวียดนามส่งออกไปยังสหภาพยุโรป มูลค่า 51.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.5% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 8.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (YoY) โดยกลุ่มสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ มีมูลค่าราว 10.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 66.9%YoY ตามมาด้วยโทรศัพท์และชิ้นส่วน ปรับตัวลดลง 13.4%YoY มูลค่าอยู่ที่ 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้าสินค้าของเวียดนามกับสหภาพยุโรป มูลค่า  16.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12%YoY ทั้งนี้ ผลการการเติบโตที่แข็งแกร่งทางด้านการค้าระหว่างเวียดนามกับสหภาพยุโรป เนื่องมาจากได้รับอนิสงค์จากข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยุโรป (EVFTA) ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 5 ของการบังคับใช้ นับตั้งแต่ FTA มีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2563

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1691572/viet-nam-s-exports-to-eu-see-impressive-recovery-in-2024.html

‘เวียดนาม’ ส่งออกปลาสวาย มีแนวโน้มฟื้นตัว

จากข้อมูลทางสถิติของกรมศุลกากรเวียดนาม แสดงให้เห็นว่าเวียดนามทำรายได้จากการส่งออกปลาสวาย (Tra fish) ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ราว 725 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่จากข้อมูลของสมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลของเวียดนาม (VASEP) ระบุว่าสหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำเข้าปลาสวายจากเวียดนามรายใหญ่ที่สุด รองลงมาจีน สหภาพยุโรปและอเมริกาใต้ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกปลาแช่แข็งของเวียดนามที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ทำรายได้มากกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบเป็นรายปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 98% ของสินค้าส่งออกปลาสวายทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญ มองว่าแนวโน้มการส่งออกปลาสวายไปยังตลาดยุโรปจะปรับตัวลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจโลกและความตึงเครียดของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ทำให้เวียดนามต้องใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรียุโรป-เวียดนาม (EVFTA) เพื่อที่จะเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-tra-fish-export-tipped-to-bounce-back-post287558.vnp

‘เวียดนาม-เยอรมนี’ หารือส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม การค้าและพลังงาน

นายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีของเยอรมนี พร้อมคณะผู้แทนธุรกิจ เดินทางเยือนเวียดนามในครั้งนี้ เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างเวียดนามและเยอรมนีในด้านต่างๆ ได้แก่ อุตสาหกรรม การค้าและพลังงาน รวมถึงได้มีการหารือเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) และผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดเยอรมนี และกำหนดกฎเกณฑ์ที่จะเอื้ออำนวยให้กับเวียดนามในการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่จากเยอรมนี ทำให้เวียดนามสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าระดับโลกและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันอีกด้วย

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1639692/viet-nam-germany-boost-cooperation-in-industry-trade-energy.html

‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ชี้ผู้ส่งออกเวียดนามควรเดินหน้าขยายไปยังกลุ่มประเทศยูเรเซีย

จากข้อมูลสถิติของกรมศุลกากร เปิดเผยว่าจากวิกฤตความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองโลก ยอดการค้าเวียดนามและยูเรเซีย มีมูลค่าสูงถึง 13.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ลดลง 9.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการค้าลดลง 6.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม นาย Ta Hoang Linh ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดยุโรป-อเมริกา ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าตลาดยูเรเซียยังคงมีศักยภาพอย่างมากต่อผลิตภัณฑ์ของเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามส่งออกไปยังตลาดนี้ มีสัดส่วนเพียง 0.4% ของมูลค่าการนำเข้ารวม

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายมีการจัดตั้งหน่วยงานและจัดทำกรอบความร่วมมือทางการค้าต่างๆ ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU), ตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) รวมถึงคณะกรรมการร่วม จำนวน 14 คณะ และคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/eurasia-a-promising-market-for-vietnamese-exporters-experts/272378.vnp

‘เวียดนาม’ ดึงดูดบริษัทยุโรป

จากงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดย ‘Vietnam Trade and Industry Review’ ในกรุงฮานอย เมื่อวันที่ 6 ต.ค. เพื่อหารือถึงการเชื่อมโยงกับบริษัทยุโรป และใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนาย Phan Minh Thong ประธานคณะกรรมการบริหารของ Phuc Sinh Group กล่าวว่าข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้ ได้สร้างโอกาสอย่างมากต่อภาคธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ บริษัทนอกสหภาพยุโรปที่ลงทุนในเวียดนามสามารถใช้ประโยชน์จากอัตราภาษีที่ลดลง เมื่อทำการส่งออกจากเวียดนามไปยังยุโรป

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-attractive-to-european-firms-seminar/269243.vnp

‘สื่อเยอรมัน’ ยกย่องศักยภาพการพัฒนาและโอกาสการลงทุนของเวียดนาม

หนังสือพิมพ์โฟกัส ของเยอรมนีได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของเอเชีย และมองว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีศักยภาพในระดับสูง โดยบทความดังกล่าวอ้างถึงคุณ Horst Geicke นักลงทุนและประธานของบริษัท Deutsches Haus กล่าวว่าเวียดนามเป็นแหล่งลงทุนแห่งใหม่ของนักลงทุนต่างชาติและกิจการเยอรมนี นอกจากประเทศสิงคโปร์แล้วในภูมิภาคเอเชีย มีเพียงเวียดนามประเทศเดียวที่ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EVFTA) นอกจากนี้ เวียดนามดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ประมาณ 27,720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 และตัวเลขเงินลงทุนจากต่างประเทศมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศขยายตัว 8% ในปีที่แล้ว และเฉลี่ยที่ 5.9% ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา

ที่มา : https://en.nhandan.vn/german-newspapers-praise-vietnams-development-potential-investment-opportunities-post127720.html

จับตาส่งออกข้าวไทย-เวียดนาม ระอุ ยอดส่งออกไตรมาสแรกเบียดสูสี

ปี 2565 ไทยส่งออกข้าวรั้งอันดับ 2 ของโลก โดยส่งออกได้  7.69 ล้านตัน เบียดเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญที่ครองอันดับ 2  ของโลกติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี โดยเวียดนามส่งออกได้ 6.31 ล้านตัน แม้ว่าในปี 2565 เวียดนามจะถูกไทยเบียดแซงหล่นมาเป็นอันดับ 3 แต่เวียดนามก็ยังเป็นผู้ส่งออกข้าวในอันดับต้นของโลกอยู่ จากความได้เปรียบในเรื่องของพันธุ์ข้าวที่ตรงต่อความต้องการของตลาด และราคาข้าวของเวียดนาม ไม่มีความผันผวนเกินไป ราคาข้าวยังคงที่ ทำให้สามารถทำตลาดค้าข้าวกับลูกค้าได้ง่าย โดยในปี 2566 เวียดนามตั้งเป้าส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น 16% ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 ไทยและเวียดนามส่งออกข้าวในปริมาณใกล้เคียงกัน ในส่วนของไทยส่งออกข้าว 2,063,927 ตัน เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่เวียดนามส่งออกข้าวได้ 1.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 19% จากแรงหนุนจากข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป – เวียดนาม (EVFTA) ทำส่งออกไปอียูเพิ่มขึ้นจากราคาข้าวได้เปรียบคู่แข่ง

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1064275

“เวียดนาม” พัฒนาเกษตรสีเขียว รับการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มมากขึ้น

เวียดนามให้ความสนใจที่จะพัฒนาเกษตรสีเขียว โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังสหภาพยุโรป และจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่ารายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมงในปีที่แล้ว ทำสถิติมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 53.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ตลาดยุโรปมีสัดส่วนเพียง 11.3% ของส่วนแบ่งตลาดทั้งหมด ซึ่งตัวเลขข้างต้นนับว่าเป็นมูลค่าเล็กน้อย ถึงแม้ว่าภาคการเกษตรของเวียดนามมีข้อได้เปรียบหลายประการจากข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ดังนั้น เวียดนามควรส่งเสริมการส่งออกภาคการเกษตรที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-develops-green-agriculture-to-increase-exports-to-eu-post999144.vov

หอการค้ายุโรป ชี้สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจในเวียดนามชะลอตัว

สมาคมหอการค้ายุโรปในเวียดนาม (EuroCham)  เผยผลสำรวจดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจ (Business Climate Index: BCI) พบว่าผู้ประกอบการยุโรปในเวียดนามส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นการดำเนินในธุรกิจ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 62.2 เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่โดยรวมเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ผลการสำรวจโดย YouGov Decision Lab ระบุว่าถึงแม้เศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 3 ของปี 65 จะเติบโตเป็นระดับสูงสุดที่ 13.67% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ดัชนี BCI ยังคงปรับตัวลดลงไตรมาสที่สองติดต่อกัน สาเหตุสำคัญมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงในยูเครน แรงกดดันเงินเฟ้อ ภาวะการขาดแคลนแรงงานทั่วโลกและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกซบเซา อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) และความมุ่งมั่นร่วมกันของสหภาพยุโรปในการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้กิจการเวียดนามและยุโรปมีศักยภาพในการเติบโตอย่างสูง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/european-firms-confidence-in-vietnams-business-environment-slightly-declines-but-still-strong/240394.vnp