ภูมิธรรม พบทูตเช็ก ดึงลงทุนเข้า EEC ขอเสียงหนุนเจรจา FTA ไทย-อียู

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับนายปาเวล ปีเตล (H.E. Mr.Pavel Pitel) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย ว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าในโอกาสที่ไทยและเช็กฉลองสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครอบรอบ 50 ปี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ต้องการให้ผลักดันและสานความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน ผมได้เชิญชวนให้ ทูตสาธารณรัฐเช็ก ขยายการลงทุนเพิ่มในไทย ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในสาขาอุตสาหกรรมที่เช็กมีความเชี่ยวชาญ เช่น การผลิตรถยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการป้องกันประเทศ โดยเช็กสามารถใช้ไทยเป็นศูนย์กลางเพื่อขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนได้ นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ได้หารือประเด็นการค้าสำคัญอื่นๆ เช่น ความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่ไทยและเช็กมีศักยภาพ และผลักดัน soft power เช่น มวยไทย การท่องเที่ยว ให้เป็นรูปธรรมต่อไป รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ที่อยู่ระหว่างการเจรจา โดยได้ขอให้เช็กในฐานะประเทศสมาชิกของ EU สนับสนุนการเจรจาดังกล่าว เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้โดยเร็ว เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก EU 27 ประเทศ รวมถึงเช็กด้วย ซึ่งท่านทูตเช็กได้แจ้งพร้อมให้การสนับสนุนการเจรจา FTA กับไทยอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า เช็กเป็นคู่ค้าอันดับที่ 43 ของไทย และอันดับที่ 8 จาก EU โดยในปี 2566 ไทยและเช็กมีการค้าระหว่างกันรวม 1,137.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (39,387.75 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.62 มีสัดส่วนการค้ารวมคิดเป็นร้อยละ 0.20 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปเช็ก 784.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (27,064.81 ล้านบาท) และไทยนำเข้าจากเช็ก 353.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (12,322.94 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/economy/news-1531031

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอใน EEC

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ ในโอกาสเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรม WHA ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการที่ภาครัฐและเอกชนของไทยมีความตั้งใจในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานระดับโลก เพื่อขยายโอกาสความร่วมมือการลงทุนกับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกเหนือจากการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ครบวงจรชั้นนำของโลกในปัจจุบัน โดยถือเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะกับการที่รัฐบาลได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติชุดใหม่ โดยมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2570 นับเป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนจากผู้ประกอบการรายใหม่จากทั่วโลก สอดคล้องนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ WHA ยังพร้อมสนับสนุนการพัฒนาในเขต EEC ควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นไปได้ในการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ อย่างมีประสิทธิภาพทั่วประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ที่จะสร้างประโยชน์ด้านการลงทุนทั้งต่อ EEC และต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ให้ยั่งยืน

ที่มา : https://www.mitihoon.com/2023/11/06/415503/

EEC คึกคัก ธุรกิจฟื้น ดันคลังสินค้าอัจฉริยะไทย โต 10-15% รับเทรนด์ดิสรัปต์ซัพพลายเชน

จากข้อมูลของสมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย ระบุว่า ภาพรวมการลงทุนในอุตสาหกรรมคลังสินค้าอัจฉริยะ หรือ อินทราโลจิสติกส์ ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องตามสภาวะการลงทุนของประเทศไทย และการเพิ่มขึ้นของดีมานด์ในตลาด โดยคาดว่าในปีนี้จะขยายตัวราว 10-15% เทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท คาดเงินสะพัด 1,000-1,200 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 ที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 6,000-8,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2564 ประมาณ 5-8% ด้วยแรงหนุนจากเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว บวกกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความคืบหน้ามากขึ้น จึงมีการลงทุนทางด้านอินทราโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระบบการจัดระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ หรือ อินทราโลจิสติกส์ มีบทบาทสำคัญในการขนส่งวัสดุภายในโรงงาน ศูนย์กระจายสินค้า บริการพัสดุ โกดังสินค้า โดยระบบเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ ความยั่งยืน ลดต้นทุน และการดำเนินงานต่างๆ ของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยธุรกิจ SMEs หรือกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยมีสัดส่วนมากกว่าขนาดใหญ่ ดังนั้นเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีการเติบโตขึ้น “คลังสินค้า” จึงถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาที่จำเป็นในการยกระดับมาตรฐานธุรกิจให้เทียบเท่าระดับสากล ทั้งนี้ระบบอินทราโลจิสติกส์ไทย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งไทยเป็นคน Import โดยระบบอินทราโลจิสติกส์ไทยอยู่ในอันดับ 30-35 ของโลก ขณะที่อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ ตามมาด้วย อังกฤษ เยอรมัน ตามลำดับ ขณะเดียวกันในส่วนของงบการลงทุนของแต่ละธุรกิจในด้านอินทราโลจิสติกส์นั้นจะอยู่ราวๆ 10-15% ของงบการลงทุนทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10-20 ล้านบาทต่อโครงการโดยเฉลี่ย

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/business_marketing/marketing/2732127

กกร.ชง 3 เรื่อง วางอุตสาหกรรมยั่งยืน EEC-จัดการน้ำ-คาร์บอนเครดิต พบ ต.ค.น้ำลดเหลือ 55% หวั่นเกิดวิกฤติน้ำขาด เร่งรัฐรับมือจัดการน้ำยั่งยืน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะประธาน กกร.เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดย กกร.ได้จัดประชุมคณะกรรมการประจำเดือนตุลาคม 2566ว่า เนื่องจากสถานการณ์เศรษกิจโลกชะลอตัว จากปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้ประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แนวโน้มโน้มเศรษฐกิจของไทยจึงขยายตัวได้ในกรอบ 2.5-3.0% ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตโดยตรง คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่จะมีผลกระทบต่อภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงราคาพลังงานในตลาดโลกที่มีทิศทางสูงขึ้นซึ่งอาจจะมีผลต่อราคาพลังงานในประเทศหลังจากช่วงการลดราคาตามนโยบายของรัฐสิ้นสุดลง ดังนั้นข้อเรียกร้องสำคัญของ กกร. ที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งเกี่ยวข้องกับทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ คือ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน EEC เพื่อดึงดูดการลงทุนต่อเนื่อง โดยมีประเด็นสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนต่อเนื่อง ตามร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนา EEC ระยะที่ 2 บริบทการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อ EEC การจัดกลุ่ม Cluster อุตสาหกรรมเป้าหมาย ระหว่างปี 2566-2570 ตาม 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการแห่งอนาคต 2) เพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค 3) ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4) พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยน่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ 5) เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ให้มีความเพียงพอต่อการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมและเป็นการสร้างความมั่นใจถึงความพร้อมกับนักลงทุนต่างชาติ

ที่มา : https://www.thaiquote.org/content/251251

“EEC” ผนึกกำลัง “GBA” ขยายโอกาสการค้าการลงทุน ไทย-จีน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เข้าร่วมปาฐกถาพิเศษภายในงาน ประชุมสัมมนาความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าจีน (กวางตุ้ง) และไทย หรือ China (Guangdong) – Thailand Economic Cooperation Conference ซึ่งจัดโดยรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง ร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลกวางตุ้ง หรือ CCPIT โดยมีนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย นายหวัง เว่ย โจง ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ นักธุรกิจชั้นนำจากภาคเอกชนของทั้งประเทศไทย และประเทศจีน ถือเป็นการสร้างโอกาสความร่วมมือระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย และเขตความร่วมมือกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือ EEC ของไทย กับ GBA ของจีนครั้งนี้จะสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือของทั้งสองประเทศให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.tnnthailand.com/news/wealth/149853/

ธนินท์ ชวนนักธุรกิจชาวจีน ขยายการลงทุน ชูไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะนายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานกิตติมศักดิ์ผู้ทรงเกียรติหอการค้าไทย-จีน ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16 ภายใต้ธีม “ร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยภูมิปัญญานักธุรกิจจีน” ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ว่าปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลง และมีความไม่แน่นอน นักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลจะต้องเป็นผู้ที่มองเห็นโอกาสจากวิกฤต เพราะในวิกฤตจะมีโอกาส ต้องวิเคราะห์โอกาส จะคว้าโอกาสนั้นได้อย่างไร ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นการลงทุนและการพัฒนาศักยภาพของเทคโนโลยี และเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และมีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ลงทุนที่ไทยเป็นฐานการผลิตหลัก จึงหวังว่านักลงทุนชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก จะพิจารณามาลงทุนที่ไทย โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ EEC หรือเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/403619/

กรุงศรีฯ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 66 ขยายตัว 3.6% แรงหนุนท่องเที่ยว จับตาปัจจัยภายนอกกระทบ

วิจัยกรุงศรี บทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน (ฉบับพิเศษ) โดยระบุถึงทิศทางเศรษฐกิจปี 2566 คาดว่าจะเป็นปีแรกที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยสามารถกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 วิจัยกรุงศรีคาดเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะยังเติบโตต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 จากร้อยละ 3.2 ในปี 2565 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เติบโตจากการจ้างงานที่ปรับดีขึ้นโดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว การลงทุนที่ยังมีสัญญาณเชิงบวกอยู่บ้างจากการฟื้นตัวของภาคบริการ ความต่อเนื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการขยายตัวของการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

อย่างไรตาม การลงทุนในบางอุตสาหกรรมและการส่งออกในภาพรวมจะเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภาวะทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น การเติบโตต่ำของเศรษฐกิจจีน สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/296943/

คาด! การพัฒนาถนนสาย NR67 ส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยว กัมพูชา-ไทย

การพัฒนาถนนแห่งชาติหมายเลข 67 (NR67) ซึ่งเชื่อมระหว่างกัมพูชาและไทย ในช่วงรอยต่อของอำเภอหลงแวง อุดรมีชัย และช่องสะงำ ของกัมพูชา โดยเชื่อมกับเขตอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทางด้านการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนระหว่างกัน ตามรายงานของรัฐบาลกัมพูชาและไทย ที่ได้ทำการตกลงพัฒนาถนนสาย NR67 ด้านบางกอกโพสต์รายงานว่ารองโฆษกรัฐบาล ไตรศุลี ตัยศรานากุล กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีของไทยได้อนุมัติข้อเสนอเงินกู้ให้แก่กัมพูชาจำนวน 983 ล้านบาท เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (23 ส.ค.) เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างถนนเส้นนี้ นอกจากนี้ยังจะสร้างการเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกของประเทศไทย (EEC) ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501138219/nr67-development-to-boost-cambodia-thailand-trade-tourism/

‘อาเซียน’ เร่งขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจก้าวสู่ยุคดิจิทัล คาดปีหน้า GDP อาเซียนโตถึง 5.2%

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ร่วมถกแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภูมิภาค เน้นเทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งสานสัมพันธ์กับประเทศนอกกลุ่ม ย้ำจุดยืนการเป็นภูมิภาคที่เปิดกว้าง โปร่งใส ยึดมั่นในหลักเกณฑ์ การใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมหนุนศึกษาข้อริเริ่มที่ช่วยรับมือกับความมั่นคงทางอาหารและสาธารณสุข มั่นใจ ปีหน้า GDP อาเซียนจะขยายตัวเพิ่มถึง 5.2% ด้าน ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำหรับกลไกในการขับเคลื่อนอาเซียนไปสู่อนาคต ควรให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ซึ่งเป็นหัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค (APEC) ของไทยในปีนี้ด้วย สำหรับในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค. 2565) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 31,125.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.2% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกจากไทยไปอาเซียน มูลค่า 17,906.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17% และการนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 13,218.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.4%

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3325478

ไทย-จีนชื่นมื่น “สนั่น” นำหอการค้าฯผนึก ”ดอน” เยือนจีนครั้งแรกหลังโควิด

เมื่อวันที่ 1-2 เมษายน 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมคณะนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งนำคณะผู้แทนด้านเศรษฐกิจไทยเยือน เมืองหวงซาน มณฑลอานฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญของ นายหวังอี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับจีน มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน และความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งความเชื่อมโยงระหว่าง EEC กับเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจของจีน เพื่อหารือความร่วมมือในกรอบทวิภาคี อนุภูมิภาค (แม่โขง-ล้านช้าง) และภูมิภาค (อาเซียน-จีน) และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคร่วมกัน

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-902585