กกร. จ่อถกประเมินศก. ปี’67 ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์เสี่ยงสูง

นายเกียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยจะหารือประจำเดือนมกราคม 2567 ในวันที่ 10 ม.ค. โดยเบื้องต้นคงจะต้องมีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2567 อีกครั้งเพื่อให้สอดรับกับทิศทางต่างๆ ทั้งแนวโน้มการท่องเที่ยว การส่งออก การลงทุนทั้งรัฐและเอกชน ที่ยอมรับว่าปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงกดดันการเติบโตของทั้งเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามท่ามกลางเศรษฐกิจโลก ความข้ดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจไทยเองก็ยังคงเผชิญกับหนี้ครัวเรือนในระดับสูงจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ควบคู่กับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมออกมาโดยเร็ว นอกจากนี้การที่รัฐบาลเร่งดูแลค่าครองชีพประชาชนนับเป็นแนวทางที่ดีโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าแต่จะยั่งยืนกว่าหากรัฐบาลปรับโครงสร้างให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่ายโดยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ด้านพลังงานเพื่อระดมความเห็นทุกภาคส่วนเพื่อการปรับปรุงโครงสร้างพลังงานทั้งระบบที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9670000001844

กกร.ชง 3 เรื่อง วางอุตสาหกรรมยั่งยืน EEC-จัดการน้ำ-คาร์บอนเครดิต พบ ต.ค.น้ำลดเหลือ 55% หวั่นเกิดวิกฤติน้ำขาด เร่งรัฐรับมือจัดการน้ำยั่งยืน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะประธาน กกร.เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดย กกร.ได้จัดประชุมคณะกรรมการประจำเดือนตุลาคม 2566ว่า เนื่องจากสถานการณ์เศรษกิจโลกชะลอตัว จากปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้ประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แนวโน้มโน้มเศรษฐกิจของไทยจึงขยายตัวได้ในกรอบ 2.5-3.0% ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตโดยตรง คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่จะมีผลกระทบต่อภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงราคาพลังงานในตลาดโลกที่มีทิศทางสูงขึ้นซึ่งอาจจะมีผลต่อราคาพลังงานในประเทศหลังจากช่วงการลดราคาตามนโยบายของรัฐสิ้นสุดลง ดังนั้นข้อเรียกร้องสำคัญของ กกร. ที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งเกี่ยวข้องกับทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ คือ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน EEC เพื่อดึงดูดการลงทุนต่อเนื่อง โดยมีประเด็นสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนต่อเนื่อง ตามร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนา EEC ระยะที่ 2 บริบทการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อ EEC การจัดกลุ่ม Cluster อุตสาหกรรมเป้าหมาย ระหว่างปี 2566-2570 ตาม 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการแห่งอนาคต 2) เพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค 3) ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4) พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยน่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ 5) เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ให้มีความเพียงพอต่อการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมและเป็นการสร้างความมั่นใจถึงความพร้อมกับนักลงทุนต่างชาติ

ที่มา : https://www.thaiquote.org/content/251251

กกร.เฉือนจีดีพีปีนี้เหลือ 2.5-3% เสนอรัฐบาลเร่งนโยบายลดค่าครองชีพ

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงต่อเนื่อง และสัญญาณความเสี่ยงในเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อภาคส่งออกของไทยที่ยังมีอุปสรรคในการฟื้นตัว ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด โดย กกร.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ซึ่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จากเดิมอยู่ที่ 3.0-3.5% เป็น 2.5-3.0% เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาส 2 เติบโตเพียง 1.8% ต่ำกว่าประมาณการที่ 3.1% อย่างมาก เช่นเดียวกับภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่มีการหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องมา 10 เดือน และติดลบแทบทุกหมวด ส่งผลให้ กกร.ปรับประมาณการจากเดิมมองอยู่ที่ -2.0 ถึง 0.0% มาอยู่ที่ -2.0 ถึง -0.5% และเงินเฟ้อที่ 1.7-2.2% จากเดิม 2.2-2.7% ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวต่อเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีแนวโน้มล่าช้า นอกจากนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต่ำกว่าปกติอยู่ราว 13% และค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของคนไทยในการเที่ยวในประเทศต่ำกว่าปกติราว 33%

ที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-1388453

กกร.-เคดันเร็น ผนึกความร่วมมือลงทุน BCG ญี่ปุ่นย้ำใช้ไทยฐานผลิต

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Thai-Japan Joint Trade and Economic Committee 2023) ครั้งที่ 24 ซึ่ง กกร.ร่วมกับสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือเคดันเร็น ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ว่า ปี 2565 ที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นได้มีการเดินทางเยือนในระดับผู้นำมาที่ประเทศไทยหลายครั้ง ซึ่งนอกจากการเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมเอเปกในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนพฤษภาคม ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย โดยเป็นการเยือนไทยครั้งแรกในรอบ 9 ปีของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยผลการหารือระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่ายในครั้งนั้น ได้บรรลุผลเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยได้ยกระดับสถานะความสัมพันธ์จากหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) อันเป็นผลทำให้เกิดการริเริ่มและความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นอีกหลายด้าน

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9660000024843

ฉุดต้นทุนพุ่งธุรกิจทรุด! กกร.ห่วง “ค่าไฟ-ค่าแรง-ดอกเบี้ย” ขึ้น

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.กังวลใจเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 4 บาทต่อหน่วย เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 เพราะจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนการประกอบการ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม จะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 20-30% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และภาคบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรมจะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ของต้นทุนทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีต้นทุนด้านแรงงานจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 8-22 บาทต่อวัน ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.นี้ รวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่เป็นปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจ และการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเก็บเงิน สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่เดือน ม.ค.66 ที่จะส่งผ่านไปยังดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ กกร.ต้องติดตามภาวะของเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความเสี่ยงจะชะลอตัวกว่าที่คาดอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังมองแนวโน้มดอกเบี้ยของไทย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ที่ระดับ 1.25% และมีโอกาสขยับขึ้นไปสู่ระดับ 1.5% ในช่วงเดือน มี.ค.66

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/economics/2494521