‘เวียดนาม’ เผยค่าแรงเพิ่ม 6.9% ในปี 66

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าในปีที่แล้ว คนงานเวียดนามมีรายได้ต่อเดือน เพิ่มขึ้น 6.9% คิดเป็นเม็ดเงินอยู่ที่ 7.1 ล้านดอง เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยแรงงานเพศชายมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 8.1 ล้านดองต่อเดือน ในขณะที่แรงงานเพศหญิงมีรายได้ที่ 6 ล้านดองในปี 2566 ทั้งนี้ คนงานในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจมีความพึงพอใจต่อการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในเขตราบลุ่มปากแม่น้ำโขงที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นมากที่สุด รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 8.7 ล้านดอง เพิ่มขึ้น 3.5% ในขณะเดียวกัน แรงงานที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ ปรับขึ้นค่าแรงต่ำที่สุดที่ 2.3% อย่างไรก็ดีแรงงานยังคงมีรายได้เฉลี่ย 9 ล้านดองต่อเดือน

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnamese-worker-incomes-rise-by-6-9-in-2023/

256 CEO 76 จังหวัด ห่วงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้นทุนผลิต-ราคาสินค้าพุ่ง

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 35 เดือน พ.ย. 66 ภายใต้หัวข้อ “ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไรให้ลูกจ้างและนายจ้างอยู่รอด” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความกังวลถึงกรณีที่หากภาครัฐมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ในอัตราที่สูงเกินไป  รวมทั้งการที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับภาระในการปรับขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงานเดิมตามฐานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ จะสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ จากผลสำรวจปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีต้นทุนแรงงานอยู่ที่ 11 – 20% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด  ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอให้ภาครัฐพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ โดยยึดหลักการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) เพื่อจูงใจให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงาน  และควรมีมาตรการส่งเสริมกลไก Pay by Skill โดยเฉพาะการเร่งรัดให้มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า นอกจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่แล้ว ภาครัฐควรจะต้องแก้ไขปัญหาปากท้องของแรงงานในระยะยาวควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการดูแลลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น ลดค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น  อีกทั้งยังมีการกำกับดูแลการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและควบคุมให้มีการปรับราคาสินค้าขึ้น-ลงตามต้นทุนที่แท้จริงซึ่งจะทำให้แรงงานมีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้นและยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับตลาดอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่มองว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมยังมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการใช้แรงงานในภาคการผลิตอยู่ แต่จะเริ่มมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนการใช้แรงงานคนมากขึ้น ในอัตราส่วนไม่เกิน 20% ของการใช้แรงงานคนในปัจจุบัน

ที่มา : เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ https://www.thansettakij.com/business/economy/582122

สนค. เผยปรับค่าจ้างส่งผลต่อเงินเฟ้อไม่มากดีกับ ศก.

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยการวิเคราะห์ “ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป” ผลการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อไม่มากนัก เนื่องจากภาคการผลิตในภาพรวมมีค่าใช้จ่ายจากการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนรวม อีกทั้งมีข้อจำกัดและปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการลดต้นทุนด้านพลังงาน ดังนั้น ต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าและบริการได้อย่างจำกัด ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไป ปัจจุบัน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ทั้งนี้ในการปรับอัตราค่าจ้างแต่ละครั้งจะคำนึงถึงหลายปัจจัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 87 อาทิ ค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้า ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นอัตราตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีอัตราอยู่ระหว่าง 328 – 354 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 337 บาทต่อวันและขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับอัตราใหม่ของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 2567

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/politics/news_646179/

ทางการ สปป.ลาว จ่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงเดือน ต.ค.

สำนักนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว อนุมัติขึ้นค่าจ้างรายเดือนขั้นต่ำในประเทศจาก 67 ดอลลาร์ ขึ้นเป็น 83 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยจะเริ่มปรับขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.ปีนี้ หลังผ่านการอนุมัติจากการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำเดือนในเดือน ก.ค. แม้จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างในภาคเอกชน แต่ในที่ประชุม ครม. ยังไม่ได้กล่าวถึงการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการที่ปัจจุบันมีเงินเดือนประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งการปรับขึ้นเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ร่วมกับเงินกีบมีการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบอย่างมากต่อค่าครองชีพของคนในประเทศ ด้าน Keovisouk Dalasane กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท 108 Jobs กล่าวเสริมว่า ทุกอุตสาหกรรมต้องประเมินค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงเพื่อประโยชน์ต่อสภาพความเป็นอยู่ของพนักงาน ภายใต้ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่มั่นคง ซึ่งนายจ้างยังสามารถขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลเพื่อเป็นการช่วยเหลือพนักงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/08/18/laos-to-increase-minimum-wage-for-workers-in-october/

ฉุดต้นทุนพุ่งธุรกิจทรุด! กกร.ห่วง “ค่าไฟ-ค่าแรง-ดอกเบี้ย” ขึ้น

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.กังวลใจเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 4 บาทต่อหน่วย เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 เพราะจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนการประกอบการ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม จะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 20-30% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และภาคบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรมจะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ของต้นทุนทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีต้นทุนด้านแรงงานจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 8-22 บาทต่อวัน ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.นี้ รวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่เป็นปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจ และการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเก็บเงิน สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่เดือน ม.ค.66 ที่จะส่งผ่านไปยังดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ กกร.ต้องติดตามภาวะของเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความเสี่ยงจะชะลอตัวกว่าที่คาดอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังมองแนวโน้มดอกเบี้ยของไทย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ที่ระดับ 1.25% และมีโอกาสขยับขึ้นไปสู่ระดับ 1.5% ในช่วงเดือน มี.ค.66

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/economics/2494521

โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าบางแห่งในกัมพูชา ไม่คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าบางแห่งเห็นชอบกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีการเตรียมการยื่นเรื่องเข้าเจรจารอบแรก ในวันที่ 14 ก.ย. กับสหภาพแรงงานกัมพูชา โดยการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 214.20 ดอลลาร์ต่อเดือน ในขณะนี้ยังคงมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในปัจจุบัน ซึ่งประธานสหภาพแรงงานกัมพูชากล่าวว่าบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เชี่ยวชาญด้านการผลิตชุดกีฬา กระเป๋าถือ และรองเท้า โดยเฉพาะแบรนด์ระดับพรีเมียม มีแนวโน้มที่จะเพิ่มค่าจ้างให้กับแรงงานโดยไม่คำนึงถึงการตัดสินใจของผู้ผลิตรายอื่น ๆ ซึ่งสร้างความกังวลให้กับโรงงานทั่วไปที่ไม่สามารถขึ้นค่าแรงได้เพราะโรงงานบางแห่งจำเป็นต้องควบคุมและลดค่าใช้จ่ายในช่วงการแพร่ระบาด เพื่อความอยู่รอดของบริษัท

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50931983/not-all-factories-oppose-minimum-wage/

สหภาพแรงงานเมียนมารณรงค์ให้รับค่าแรงเต็มจำนวนในเดือนเมษายนกรณีปิดโรงงาน

สหภาพแรงงานกำลังวางแผนล็อบบี้ให้รับค่าจ้างเต็มจำนวนในเดือนเมษายนกรณีที่ปิดโรงงาน หัวหน้าสหพันธ์แรงงานเสื้อผ้าของเมียนมา (FGWM) กล่าว โดยมีสหภาพแรงงานประมาณ 30 แห่งภายใต้ FGWM จะเข้าร่วมในการรณรงค์ในครั้งนี้ FGWM โดยจะมีการเจรจาล่วงหน้าที่โรงงานทุกแห่งทั้งช่องออนไลน์และการเคลื่อนไหวอย่างการตะโกนคำขวัญบนเรือข้ามฟากโดยมีประมาณ 30 โรงงานที่จะเข้าร่วม ปัจจุบันบริษัทบางแห่งตัดสินใจปิดตัวและจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนในเดือนเมษายนและบางบริษัทได้ให้กลับไปทำงานที่บ้านหรือที่จ่ายค่าจ้างครึ่งหนึ่ง ในวันที่ 31 มีนาคมคนงานโครงการ Yoma Central รวมตัวกันเพื่อขอลาหยุดในช่วงวันหยุดเทศกาลติงยัน ซึ่งบริษัทจะให้วันหยุดและจ่ายเงินในช่วงวันหยุด ผู้ที่ทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 9 เมษายนก่อนวันหยุดเทศกาลจะได้รับค่าตอบแทนเป็นสองเท่าและผู้ที่ไม่ต้องการทำงานในช่วงเวลาดังกล่าวจะให้ออกจากงานพร้อมกับเงินเดือนครึ่งหนึ่ง หลังจากวันหยุดผู้ที่ทำงานตั้งแต่ 20 ถึง 30 เมษายนจะได้รับเงินสองเท่าและผู้ที่ลาจะได้รับเงินเดือนครึ่งหนึ่ง

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/worker-unions-myanmar-campaign-factory-closures-full-wages-april.html