‘IMF’ ชี้แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนาม ขยายตัวสูง

นายเปาโล เมดาส หัวหน้าฝ่ายการคลังของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำประเทศเวียดนาม ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ‘Dau Tu’ บอกถึงข้อสังเกตของทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถส่งเสริมการบริโภคและการผลิต ขณะที่เร่งการเบิกจ่ายจากงบประมาณการลงทุนภาครัฐได้อีกด้วย และแนวโน้มชองเศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวได้ดี

ทั้งนี้ ธนาคารกลางควบคุมอัตราเงินเฟ้อของประเทศและบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยไม่สูญเสียทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ดีในปัจจุบันยังไม่เห็นช่องทางในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

นอกจากนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.8% ในปี 2567 เนื่องมาจากได้แรงหนุนจากการส่งออก แต่สิ่งสำคัญที่เวียดนามต้องเร่งแก้ไขอย่างรวดเร็ว คือ ภาคอสังหาฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อตลาดตราสารหนี้ขององค์กร

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-likely-to-maintain-high-economic-growth-in-medium-term-imf-expert-2251714.html

‘แบงก์ชาติเวียดนาม’ มีแนวโน้มที่จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

สำนักข่าวเวียดนาม เผยแพร่รายงานที่อ้างอิงจากนายด่าว มีง ตือ (Dao Minh Tu) รองผู้ว่าการธนาคารกลางเวียดนาม ชี้ให้เห็นว่าเวียดนามไม่น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และมีทิศทางที่จะกำหนดนโยบายการก่อหนี้ใหม่ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการในปีนี้ และมองว่าธนาคารกลางจะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่จะไม่เพิ่มภาระต้นทุน และปรับสมดุลเพื่อเป็นไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเชิงมหภาค

ที่มา : https://english.news.cn/20240104/8a44ca486df74e57aa193e879684b11b/c.html

แบงก์ชาติเวียดนาม ปรับขึ้นดอกเบี้ย 1% ในวันที่ 25 ต.ค.

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 25 ตุลาคม ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยรับช่วงซื้อลด 4.5% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมข้ามคืนระหว่างธนาคาร 7% ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากขั้นสูงสุดแบบไม่มีระยะเวลาที่กำหนดและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 เดือน จำกัดไว้ที่ 1% ต่อปี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นนั้น สถาบันสินเชื่อเตรียมเงินทุนเพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านภาคเศรษฐกิจ 5.5%

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/central-bank-revises-up-interest-rates-by-1-from-october-25/240638.vnp

นักวิชาการห่วง!! ดอกเบี้ยขึ้นกดศก.ถดถอย ห่วงคนไทยก่อหนี้เพิ่ม

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงว่า ตามปกติจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว เพราะดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นคนทั่วไปจะไม่ถอนเงินฝากออกมาใช้ ส่งผลภาวะเศรษฐกิจฝืดลง ขณะเดียวกันคนที่จะขอเงินกู้ก้อนใหม่ก็ต้องเสียดอกเบี้ยแพงขึ้น ทำให้กู้น้อยลงด้วย นอกจากนี้ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ย คือ หนี้ครัวเรือน สถานะเครดิตของคนไทยมีปัญหาไม่ชำระหนี้หรือหนี้เสียเพิ่มขึ้น ล่าสุดภาครัฐได้เดินหน้ามหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน – 30 พฤศจิกายน และมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง มกราคม 2566 ถือเป็นแนวทางที่ดี เพราะถ้าหากปล่อยไปจะเกิดปัญหา เกิดหนี้ที่ไม่ชำระคืน หรือบางส่วนถึงขั้นฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลทั้งสองด้าน ในเบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า คนที่มีหนี้อยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ตั้งแต่ต้น ดังนั้นหากปรับขึ้นดอกเบี้ย ไม่ได้หมายความว่าหนี้เก่าจะเพิ่มภาระขึ้น แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นหนี้แต่จ่ายได้แค่ดอกเบี้ย และท้ายที่สุดต้องหาเงินหมุน ต้องไปทำสัญญาเงินกู้ใหม่ แบบนี้จะเจอปัญหาว่าการไปก่อหนี้ใหม่จะแพงขึ้น

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_3595909

กสิกรฯฟันธงบอร์ดกนง. คงดอกเบี้ย ไว้ที่เดิม 0.50%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 9 ก.พ. 2565นี้ กนง. จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโอมิครอนในระดับหนึ่ง แต่คาดว่าผลกระทบจะมีจำกัดและน้อยกว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ก่อนหน้า นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นนั้นเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานที่ตึงตัวเป็นหลัก ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างตรงจุดเท่าใดนัก คาดว่าจะยังไม่พิเลือกใช้นโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดกันเงินเฟ้อตามทิศทางธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก

ที่มา: https://www.naewna.com/business/633909

‘บาทอ่อน’ทำสถิติใหม่ ‘กรุงศรี’ชี้สัปดาห์นี้แตะ 34.20

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.50-34.20 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.63 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างสัปดาห์แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 ปี ท่ามกลางแรงซื้อดอลลาร์เป็นวงกว้างในตลาดโลก ขณะที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อีกทั้งยังประเมินว่าไตรมาส 3 เป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจซึ่งจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยยังคงประมาณการขยายตัวของจีดีพีปีนี้ที่ 0.7% และเพิ่มคาดการณ์ปี 2565 เป็นเติบโต 3.9% จากที่เคยคาดไว้ที่ 3.7% ขณะที่เห็นว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดดอกเบี้ย

ที่มา: https://www.naewna.com/business/606601

แบงก์ชาติเวียดนามตั้งเป้าสินเชื่อ 12% ในปี 64

ในปี 2564 ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อไว้ที่ 12% ใกล้เคียงกับระดับเดียวกันของปีที่แล้วที่ 11-12% สิ่งนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในปี 2564 ที่กำหนดไว้ในหนังสือเวียนฉบับ No.01/CT-NHNN โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ แบงก์ชาติเวียดนาม คาดว่าจะยังคงควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำกว่า 4% เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ในขณะที่ ภาคธนาคารมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อ รวมถึงช่วยเหลือธุรกิจและผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติเวียดนาม ได้เน้นถึงความสำคัญในเรื่องการปรับโครงสร้างสถาบันสินเชื่อ โดยเฉพาะระบบธนาคารที่อ่อนแอ และแก้ไขปัญหาหนี้เสีย นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 แบงก์ชาติเวียดนามได้หั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ครั้งที่ 4 เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง

  ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-cbank-targets-credit-growth-at-12-in-2021-315835.html

แบงก์ชาติเวียดนามหั่นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 5 หวังบรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP

จากการที่อัตราเงินเฟ้อผ่อนคลายลงในอีกไม่กีปีข้างหน้า เนื่องมาจากราคาเนื้อหมูลดลง ราคาน้ำมันและราคาก๊าซอยู่ในระดับต่ำ ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 5 ในปีนี้ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP ร้อยละ 2.5-3 ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ ทางธนาคารกลางเวียดนาม ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลงมาถึงร้อยละ 0.5 ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ ลงจากร้อยละ 4.5 ต่อปี สู่ระดับร้อยละ 4 และปรับลดอัตราดอกเบี้ย rediscount rate ลงจากร้อยละ 3 สู่ระดับร้อยละ 2.5 เป็นต้น นอกจากนี้ ธนาคารกลางเวียดนามยังสั่งให้ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุดสำหรับระยะสั้น ลงเหลือร้อยละ 4.5 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ดำเนินอยู่ในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและการส่งออก เป็นต้น

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-cbank-set-for-5th-policy-rate-cut-to-realize-gdp-growth-target-314966.html

แบงก์ชาติเวียดนามปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 4 ในปี 63

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 4 ในปีนี้ เพื่อพยุงเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. โดย SBV ปรับลดอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ลงจาก 4.5% ต่อปี สู่ระดับ 4% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยอัตรารับซื้อช่วงลด (rediscount rate) ลงจาก 3% สู่ระดับ 2.5% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยของตลาดเงิน ลงจากร้อยละ 3% มาสู่ระดับ 2.5% ทั้งนี้ SBV สั่งให้ธนาคารลดอัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมสูงสุดสำหรับเงินกู้ระยะสั้นเหลือ 4.5% จากเดิมไว้ที่ 5% โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและธุรกิจส่งออก เป็นต้น นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) ระบุว่าการเติบโตของสินเชื่อในประเทศ ณ วันที่ 22 ก.ย. อยู่ที่ 5.12% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งไม่สามารถบรรลุที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ที่ 14% ในปีนี้

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-cbank-cuts-policy-rates-the-fourth-time-in-2020-314376.html

ลุ้นรัฐกระทุ้งงบ-ออกมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ

วิจัยกรุงศรีฯ ลุ้นรัฐกระทุ้งงบ-ออกมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ คาดไวรัสโควิดจบมี.ค.นี้หนุนนักท่องเที่ยวดีครึ่งปีหลัง ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกจะขยายตัวติดลบ 0.7% แต่เชื่อว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในครึ่งปีหลัง โดยคาดหวังว่าจะมีนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในเดือนมี.ค.นี้เหลือ 0.75% จากปัจจุบัน 1% และรอภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มหลังจากงบประมาณ 63 มีผลบังคับใช้คาดกลางเดือนมี.ค.นี้ ทั้งนี้จากที่ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 1.5% เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมากจนอาจกระทบต่อเนื่องถึงภาคการผลิต การจ้างงาน และการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ขณะเดียวกันงบประมาณ 63 ที่ล่าช้ายังส่งผลให้งบเบิกจ่ายสูญเสียไปแล้ว 1.5 แสนล้านบาท คาดหลังจากเดือนมี.ค.นี้เมื่องบประมาณ 63 มีผลบังคับใช้ โดยรัฐบาลจะต้องเร่งเบิกจ่ายให้เร็วที่สุดอาจมีเหลือ 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมางบประมาณล่าช้ากระทบต่องบลงทุนภาครัฐและลงทุนเอกชนเพราะโครงการลงทุนภาครัฐไม่ชัดเจน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรเริ่มจากช่วยกระตุ้นจับจ่ายใช้สอยในประเทศ เช่นที่ผ่านมาแจกเงินเช็คช่วยชาติ ยังทำให้ห้างร้านได้ลดราคา ให้คนที่ไม่ได้เช็คช่วยชาติได้เข้าถึงสินค้าที่ลดราคานั้นด้วย ยิ่งทำให้เกิดกำลังซื้อเพิ่มได้อีก อย่างไรก็ตามไวรัสโควิด-19 คาดจะไม่ยืดเยื้อ เชื่อว่าจะกระทบเศรษฐกิจสูงสุดเดือนก.พ.-มี.ค.นี้ และจะค่อย ๆ ลดลง หลังเดือนพ.ค.จากอัตราการแพร่กระจายจะลดลง โดยครึ่งปีหลังเมื่อไวรัสฯ กลับมาดีขึ้น จะทำให้การท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาดีขึ้นตามไปด้วย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/759323