สปป.ลาว เผชิญการขาดดุลการค้าต่อเนื่อง และเงินกีบอ่อนค่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

สปป.ลาว ประสบปัญหาการขาดดุลการค้าติดต่อกันสี่เดือนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ สถานการณ์นี้รุนแรงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมูลค่าการค้าเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ 1.122 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นมูลค่าการส่งออก 462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้า 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลการค้า 198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบปีและเป็นการขาดดุลการค้าต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน ขณะเดียวกัน เงินกีบขยังคงอ่อนค่าลงจนแตะระดับต่ำสุดใหม่เป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เช่น บาทไทย ดอลลาร์สหรัฐ และหยวนจีน โดยราคาขายดอลลาร์สหรัฐขายอยู่ที่ 21,825 กีบต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และบาทไทยขายอยู่ที่ 694.45 กีบต่อ 1 บาท อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลของร้านแลกเปลี่ยนเงินในท้องถิ่น มีการขายในอัตราที่ไม่เป็นทางการที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 25,000 กีบต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และมากกว่า 710 กีบต่อ 1 บาท

ที่มา: https://laotiantimes.com/2024/06/13/laos-sees-fourth-months-of-trade-deficit-lao-kip-hits-record-low/

นายกฯ สปป.ลาว ให้คำมั่นที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้มีความคล่องตัว

นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวกับที่ประชุมรัฐสภาว่า รัฐบาลจะเพิ่มความพยายามในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและให้คำมั่นว่าจะลดขั้นตอนในการจดทะเบียนและขอก่อตั้งธุรกิจ เพื่อลดความยุ่งยากในการดำเนินธุรกิจและดึงดูดการลงทุนมากขึ้น โดยกล่าวว่า ความพยายามในการปรับปรุงกระบวนการเริ่มต้นการขอจัดตั้งธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ พร้อมเสริมว่าระบบเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลกำลังแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน โดยร่างการแก้ไขกฎหมายจะถูกส่งไปยังสมาชิกรัฐสภาในระหว่างการประชุม ซึ่งจะดำเนินไปจนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 เพื่ออภิปรายและอนุมัติเห็นชอบ การแก้ไขนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องและนโยบายจูงใจที่มุ่งดึงดูดการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ สวนอุตสาหกรรม เขตโลจิสติกส์ และอื่นๆ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_111_Govt_y24.php

รองประธานสภา สปป.ลาว กังวลการจัดสรรงบดำเนินโครงการของรัฐและการบริหารหนี้ของประเทศ

นายสมมาศ พลเสนา รองประธานสภาแห่งชาติลาว เปิดเผยถึงการจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการของรัฐและการบริการหนี้ค่อยข้างช้าและนโยบายสนับสนุนการเกษตรยังอ่อนแอ นอกจากนี้ ผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่นไม่ได้ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ จึงขอเน้นย้ำถึงความจำเป็นของกระบวนการที่มีความคล่องตัวเพื่อช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยสังเกตว่าแม้ว่าเงินฝากธนาคารจะอยู่ที่ 63% ของ GDP แต่มีการออกเงินกู้เพียงเล็กน้อย โดยการประชุมสภาฯ จะเริ่มอีกครั้งในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ซึ่งจะนำความก้าวหน้าในการจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของประเทศ เช่น อัตราเงินเฟ้อ อัตราการออกจากโรงเรียนกลางคัน การขาดแคลนครูและแรงงาน และการค้ายาเสพติด มาเป็นวาระในการประชุม

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/06/11/prime-minister-highlights-economic-growth-despite-challenges/

สปป.ลาว เร่งปรับปรุงถนนในเวียงจันทน์ รับการประชุมอาเซียน

สปป.ลาว เตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมอาเซียนที่กำลังจะมีขึ้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ ถนนหลายสายในเวียงจันทน์กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงคุณภาพพื้นผิวการจราจรเพื่อสร้างความปลอดภัยในการขับขี่ โดยโครงการปรับปรุงถนนครั้งนี้ มีจำนวน 19 โครงการ ซึ่งหลายโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้ แม้จะมีความพยายามในการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมอย่างต่อเนื่อง แต่สภาพถนนที่ไม่ดียังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ ผู้ใช้ถนนจำนวนมากยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของงานซ่อมแซมที่ดำเนินการในช่วงฤดูฝนที่ไม่เพียงแต่สร้างปัญหาให้กับทั้งผู้ใช้ถนนและผู้สร้างถนนเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ด้อยคุณภาพอีกด้วย

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/06/07/major-road-enhancements-in-vientiane-to-boost-traffic-safety-flow/

OECD เสนอแนะ สปป.ลาว พัฒนาทุนมนุษย์เพื่อเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ปัจจุบัน สปป.ลาว กำลังเผชิญกับความท้าทายในการเปลี่ยนจากการเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่รูปแบบอื่นๆ มากขึ้น โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เสนอแนะให้ประเทศลาวจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาทุนมนุษย์และความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการลดภาระหนี้เพื่อสร้างพื้นที่ทางการคลัง การปฏิรูประบบภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ ปรับปรุงการเข้าถึงทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดการลงทุนที่ยั่งยืน และการเพิ่มการลงทุนในด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพ และบริการทางสังคม รวมถึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับปรุงการรวบรวมข้อมูลและขีดความสามารถของประเทศเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/06/06/human-capital-green-sustainability-two-priorities-for-laos-future-economic-model/