นายกฯ สปป.ลาว จะนำประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวในระหว่างเข้าร่วมประชุมณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 80 ถึงการนำนวัตกรรมดิจิทัลที่เป็นหัวใจสำคัญในการกระตุ้นความก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งปัจจุบันยังดำเนินไปอย่างช้าๆ ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันการปฏิบัติตาม SDGs นั้น เป็นไปตามแผนเพียง 15% เท่านั้น ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการเร่งการดำเนินการ SDG ในประเทศลาว ตั้งแต่บัดนี้จนถึงปี 2030 เพื่อสร้างขีดความสามารถในด้านนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อช่วยพัฒนาเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_76_PM_y24.php
สปป.ลาว – เอกชนจีน ลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าลาวไปยังจีน
สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ สปป.ลาว และบริษัท Shanghai Zhe Zhe Qang Co., Ltd และ Lao Konsin International Group สัญชาติจีน ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าของ สปป.ลาว ไปยังประเทศจีน โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุตสาหกรรม และสมุนไพรพื้นบ้าน โดยปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่า “การลงนามดังกล่าวนี้จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือในด้านองค์ความรู้โดยเฉพาะด้านการวางแผนการผลิต การฝึกอบรม และการปรับปรุงคุณภาพสินค้าของ สปป.ลาว เพื่อให้สินค้าได้มาตรฐานการส่งออกและสามารถส่งออกไปยังประเทศจีนได้ และในที่สุดจะสามารถจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างประเทศในประเทศลาว ผ่านความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าและหัตถกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์”
ไทย สปป.ลาว และออสเตรเลีย ร่วมฉลองครบรอบ 30 ปีของการเปิดสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 1
ตัวแทนของประเทศไทย สปป.ลาว และออสเตรเลีย เข้าร่วมงานฉลองการก่อสร้างสะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งแรก ซึ่งเปิดใช้มาตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2537 เพื่อสร้างสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพที่ยั่งยืนระหว่างทั้งสามประเทศ โดยสะพานแห่งนี้รัฐบาลออสเตรเลียได้ร่วมให้ทุนสนับสนุนการก่อสร้าง ซึ่งเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างเวียงจันทน์ สปป.ลาว กับจังหวัดหนองคายของไทย โดยตระหนักถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน สะพานแห่งนี้ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างลาวและไทย และตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา สะพานแห่งนี้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการคมนาคม การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนระหว่างลาว ไทย และทั่วทั้งภูมิภาค
ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_75_LaoThai_y24.php
ผู้ประกอบการไร่กาแฟใน สปป.ลาว ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน-เงินเฟ้อสูง
ผู้ปลูกกาแฟใน สปป.ลาว เผชิญภาวะขาดแคลนแรงงาน หลังคนงานจำนวนมากเปลี่ยนไปทำไร่มันสำปะหลังหรือเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อแสวงหารายได้ที่สูงกว่าในประเทศไทย ผู้ปลูกกาแฟรายหนึ่งกล่าวว่า เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟ เจ้าของสวนทางตอนใต้ของ สปป.ลาว ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากค่าจ้างที่ต่ำและยังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงในประเทศ โดยคนงานไร่กาแฟในเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก ต่างหลีกเลี่ยงงานที่จ่ายค่าจ้างเพียง 10-13 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และหันไปหางานที่มีรายได้ดีกว่าในประเทศเพื่อนบ้านแทน ส่วนคนอื่นๆ หางานทำในไร่มันสำปะหลังซึ่งมีค่าจ้างที่ดีกว่า
ทื่มา : https://www.rfa.org/english/news/laos/coffee-growers-04192024141053.html
สปป.ลาว – เมียนมา ประชุมร่วมทบทวนแนวทางความร่วมมือด้านชายแดน
สปป.ลาว และเมียนมา ร่วมประชุมเพื่อทบทวนแนวทางการตรวจสอบ การซ่อมแซม และการสร้างเครื่องหมายชายแดนระหว่าง สปป.ลาว และเมียนมา โดยจัดขึ้นที่แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายประเมินความคืบหน้าของงานและรับทราบความสำเร็จของการตรวจสอบแนวเขตแดนระยะทาง 236 กม. ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ได้ตรวจสอบและบำรุงรักษาบริเวณชายแดน นอกจากนี้ คณะทำงานของทั้งสองประเทศได้ใช้อุปกรณ์ GPSรวบรวมข้อมูล 172 จุดตามแนวชายแดนแม่น้ำโขง ให้บริการวิจัยและปรับปรุงระบบแผนที่ชายแดนของทั้งสองประเทศจากระบบเก่าตามข้อตกลงเมื่อปี 2537 ทำให้ระบบใหม่และทันสมัยยิ่งขึ้น
ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/laos-myanmar-review-border-cooperation/284818.vnp
สปป.ลาว ได้รับเงินสำหรับปรับปรุงถนนหมายเลข R12 กว่า 1.8 พันล้านบาท จากไทย
รัฐบาลไทยอนุมัติเงิน 1.8 พันล้านบาท หรือประมาณ 48.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาล สปป.ลาว เพื่อบำรุงรักษาและปรับปรุงทางหลวงหมายเลข R12 ซึ่งช่วยลดระยะเวลาเดินทางจากจังหวัดนครพนมของประเทศไทย ผ่าน สปป.ลาว และข้ามฝั่งไปยังชายแดนเวียดนามในจังหวัดกว๋างบิ่ญ โฆษกรัฐบาลไทย กล่าวว่า เงินสนับสนุนดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงอาคารขนส่งสินค้า สถานที่จัดเก็บสินค้า ไฟส่องสว่างบริเวณทางแยก สาธารณูปโภค ระบบระบายน้ำในชุมชน และสถานที่ท่องเที่ยวตลอดเส้นทางทางหลวงหมายเลข R12 และจะยกระดับการขนส่งทางถนน ระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงไทยกับลาว เวียดนามและจีน ลดระยะเวลาการขนส่งจาก 10 ชั่วโมงเหลือเพียง 4 ชั่วโมง และลดขั้นตอนศุลกากรจาก 5 จุดเหลือเพียง 2 จุดตรวจ ทั้งนี้ ทางหลวงหมายเลข R12 ถือเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดเมื่อเทียบกับ R8 หรือ R9 ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โดยปริมาณสินค้าที่ขนส่งจากนครพนมไปยังลาวผ่าน R12 หลังจากการบำรุงรักษาเสร็จสิ้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 50%
ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/thailand-gives-financial-support-to-laos-for-road-maintenance/284788.vnp
เศรษฐกิจ CLMV เร่งตัวปี 2567 แต่ยังโตช้ากว่าช่วงก่อนโควิด-19
โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
เศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024
SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024 ตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งจะสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นผ่านการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ในระยะปานกลางเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจข้ามชาติออกไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ “China +1” เพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในระยะต่อไป ในปีนี้ SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวต่อเนื่อง 6.0% (จาก 5.6% ในปี 2023) สปป.ลาว 4.7% (จาก 4.5%) เมียนมา 3.0% (จาก 2.5%) และเวียดนาม 6.3% (จาก 5.1%)
อัตราการขยายตัวของแต่ละประเทศใน CLMV ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 จากปัจจัยกดดันต่าง ๆ อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเศรษฐกิจภูมิภาค CLMV มีความสัมพันธ์สูงทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกัน บางประเทศ เช่น กัมพูชาและเวียดนามมีอัตราส่วนหนี้เสีย (Non-performing loans ratio) สูงขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือในช่วง COVID-19 สิ้นสุดลง ประกอบกับภาวะการเงินในประเทศที่ตึงตัวขึ้น อาจกระทบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและการเข้าถึงสภาพคล่องของธุรกิจได้ นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาต่อเนื่อง ในระยะสั้นการค้าโลกอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขนส่งบริเวณทะเลแดงและคลองปานามาที่แห้งแล้งและอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าส่งออกของภูมิภาค CLMV ได้ ในระยะยาวเศรษฐกิจ CLMV จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกที่มีแนวโน้มจะกีดกันการค้าและตั้งกำแพงภาษีมากขึ้น
ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน
ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน ขึ้นกับปัจจัยเฉพาะประเทศ โดยเฉพาะในสปป.ลาวที่เผชิญความเสี่ยงจากระดับหนี้สาธารณะซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเทียบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางภาวะการเงินโลกตึงตัว ทำให้เงินกีบอ่อนค่ารวดเร็ว ซ้ำเติมภาระการชำระหนี้ต่างประเทศ และทำให้เงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นมากและปรับตัวลดลงได้ช้าในปีนี้ ปัจจัยเหล่านี้กดดันศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยสปป.ลาวกำลังดำเนินการรัดเข็มขัดทางการคลัง ควบคู่กับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และการหาแหล่งระดมทุนใหม่เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลังไว้ ขณะที่เมียนมาเป็นอีกประเทศที่กำลังเผชิญปัจจัยกดดันเชิงโครงสร้าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2021 และทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2023 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศซบเซา ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกมีส่วนทำให้อุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอลงมาก ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินจัตอ่อนค่าและเงินเฟ้อเร่งตัว ตลอดจนปัญหาระบบขนส่งและโครงข่ายไฟฟ้าหยุดชะงัก การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ยังดูเป็นไปได้ยากในระยะสั้น เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ
ค่าเงินของกลุ่มประเทศ CLMV จะเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าลดลง
ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่กลางปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าประเทศกำลังพัฒนา รวมถึง CLMV มากขึ้น และจะกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตามต้นทุนการระดมทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเฉพาะประเทศยังคงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อแนวโน้มค่าเงิน ส่งผลให้ค่าเงินบางประเทศอาจยังอ่อนค่าต่อ
การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV
การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV มีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้ หลังจากค่อนข้างซบเซาในปี 2023 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าโลกที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิต และเศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ภาวะการเงินโลกและไทยที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงบ้างในปีนี้จะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนให้บริษัทไทยลงทุนใน CLMV ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามเสถียรภาพเศรษฐกิจของ CLMV บางประเทศที่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก ทั้งนี้ในระยะยาว SCB EIC ยังมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคของโลกที่เติบโตสูง และยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ จากปัจจัยประชากรที่มีอายุเฉลี่ยน้อย การมีข้อตกลงสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และแหล่งที่ตั้งที่มีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ติดตลาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย