คนละครึ่งเฟส 6 รับสิทธิ์ของขวัญปีใหม่นายกฯ เริ่มเมื่อไหร่

คนละครึ่งเฟส 6 หลังจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงทุกหน่วยงาน ถึงการดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 ให้กับประชาชน โดยโครงการดังกล่าว ต้องสามารถดำเนินการให้มีผลในทางปฏิบัติต่อส่วนรวมได้ทันในช่วงเทศกาลปีใหม่ ไม่ขัดต่อกฎหมาย และประกาศเตือนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน คาดว่าโครงการดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว ภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและสอดคล้องในภาพรวมก่อน

ที่มา: https://www.thansettakij.com/business/economy/544850

แห่ใช้โครงการ “คนละครึ่ง” เฉียด 6 พันล้าน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การใช้สิทธิผ่านโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 1-4 ก.ย.65 มีผู้ใช้สิทธิรวม 23.78 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 7,779.5 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้สิทธิ 9.02 ล้านคน ยอดใช้จ่าย 1,792.6 ล้านบาท โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ใช้สิทธิ 514,716 คน ยอดใช้จ่าย 101.8 ล้านบาท และโครงการคนละครึ่งใช้สิทธิ 14.24 ล้านคน ยอดใช้จ่าย 5,885.1 ล้านบาท เป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 2,981.8 ล้านบาท และเงินที่รัฐร่วมจ่าย 2,903.3 ล้านบาท

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2492260

 

ครัวเรือนกังวลค่าครองชีพสูง วอนรัฐตรึงราคาสินค้า-ขอคนละครึ่งเฟส5

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลให้ระดับราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตและส่งออกอยู่ในระดับสูง ส่งผลภาวะดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) มี.ค. 65 ปัจจุบันขยับลงอยู่ที่ 33.4 จาก 33.9 ในเดือนก.พ.65 ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้ายังอยู่ในระดับต่ำที่ 36.1 จาก 36.0 ในเดือนก.พ. 65 แม้อัตราการเลิกจ้างในเดือนมี.ค. 65 ปรับลดลงแต่การลดเวลาการทำงานล่วงเวลา (OT) และการชะลอรับพนักงานใหม่ยังปรับสูงขึ้น เมื่อสอบถามครัวเรือนถึงมาตรการภาครัฐว่าควรออกมาในรูปแบบใดพบว่า ส่วนมาก อยากให้ตรึงราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็น (39.2%) ขณะที่ 23.9% อยากให้ต่อมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 5 หลังมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 4 จะหมดลงในวันที่ 30 เมษายน 2565

ที่มา: https://www.naewna.com/business/647079

หอการค้าแนะขยายช้อปดีมีคืน เพิ่มเงินคนละครึ่ง สู้วิกฤตของแพง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สิ่งที่หอการค้าไทยอยากส่งสัญญาณไปยังรัฐบาล เพื่อให้ช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจในระยะสั้นนี้ คงต้องเน้นไปที่การลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและแก๊สหุงต้ม เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนการผลิต และจำเป็นต้องจัดแพคเกจมากระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption ) ในระยะสั้นนี้ควบคู่กันไปด้วยส่วนมาตรการเสริมกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ โครงการคนละครึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาเฟส 4 ได้อนุมัติเงินเพิ่มเติมเป็นคนละ 1,200 บาท ซึ่งมองว่าน้อยเกินไป และควรพิจารณาเฟส 5 เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อให้เกิดขึ้นต่อเนื่องด้วย ส่วนโครงการช๊อปดีมีคืน ที่ได้เริ่มต้นเมื่อ 1 มกราคม และจะสิ้นสุดใน 15 กุมภาพันธ์นี้ จึงเสนอขยายเวลาช๊อปดีมีคืนออกไป รวมถึงพิจารณาเพิ่มวงเงินให้ด้วย

ที่มา : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3170849

ลุ้น คนละครึ่งเฟส 4 เข้าครม.21ธ.ค.นี้เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยระหว่างเป็นประธานเปิดงาน ThailandSmart Money กรุงเทพฯ ครั้งที่ 12 ว่า จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. พิจารณา ในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ มาตรการหลัก คือ จะช่วยเรื่องการบริโภค และกระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ เน้นการลดหย่อนภาษี ซึ่งจะนำมาแทนโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก นอกจากนี้ อาจจะมีการขยายโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 แต่จะออกมา หลังจากสิ้นสุดเฟส 3 ในสิ้นปีนี้ หรือไม่นั้น ต้องขอดูอัตราการใช้จ่ายของประชาชนก่อน ว่าปรับดีขึ้นมากน้อยเพียงใด สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2565 นั้น คาดจะขยายตัวได้ 4% และในปี 2566 จะมีแรงขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวเข้ามาเสริม ทำให้มีแรงฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

ที่มา: https://www.thansettakij.com/money_market/506468?fbclid=IwAR32tcJc4-Sg-mWUvOWbCOg7bXLkJnRKjitgNwGEwN11hU4JlR1X4l8SWcg

รัฐเล็งช่วยค่าจ้างแรงงานท่องเที่ยวคนละครึ่งพยุงกิจการ

“พิพัฒน์” เตรียมคุย “สุชาติ” ทำโค-เพย์ จ่ายค่าจ้างเดือนละครึ่ง 7,500 บาท หวังช่วยเอกชนท่องเที่ยวทั้งระบบจ้างงานเอาไว้ ไม่ต้องปิดกิจการจากผลกระทบของไวรัสโควิด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะหารือกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือแรงงานภาคการท่องเที่ยวทั้งระบบที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เบื้องต้นรัฐบาลอาจนำแนวทางการร่วมจ่ายเงินค่าจ้าง (โค-เพย์) มาใช้ โดยรัฐบาลและผู้ประกอบธุรกิจจะร่วมกันจ่ายค่าจ้างให้พนักงานคนละครึ่ง ฝ่ายละ 7,500 บาทต่อเดือน เพื่อพยุงการจ้างงานเอาไว้ในระบบต่อไป หลังจากตอนนี้มีผู้ประกอบธุรกิจหลายรายได้รับความเดือดร้อนและอาจจำเป็นต้องปิดกิจการลงหากไม่มีแนวทางมาช่วยเหลือ ทั้งนี้ในการช่วยเหลือรูปแบบของการร่วมจ่ายเงินค่าจ้างรายเดือนนั้น จะกำหนดให้ช่วยเหลือครอบคลุมการจ่ายค่าจ้างสูงสุดรายละไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งรัฐและผู้ประกอบธุรกิจจะช่วยกันจ่ายคนละครึ่ง แต่ระยะเวลาที่เหมาะสมนั้น เบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะช่วยเหลือ 1 ปี หรือเป็นเวลากี่เดือน เพราะต้องพิจารณาวงเงินที่จะใช้ด้วย เช่น วงเงินของกองทุนประกันสังคม หรือขอใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหากใช้เงินในก้อนหลังก็ต้องหารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/819774

ก.พาณิชย์สำรวจคนแห่ซื้อออนไลน์ เงินสะพัด5หมื่นล้าน

กระทรวงพาณิชย์ สำรวจแห่ซื้อออนไลน์ เงินสะพัด 5 หมื่นล้าน ขรก. นักศึกษาช้อปเยอะขึ้น ส่วนใหญ่ เสื้อผ้า รองลงมาอาหาร ส่วนมาตรการรัฐ คนติดใจ คนละครึ่งมากสุด รองลงมาเป็นชิมช้อปใช้ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่า  สนค. ได้ประมาณการยอดการใช้จ่ายออนไลน์รายเดือนตามข้อมูลที่มีการสำรวจพบว่า มีมูลค่าถึง 52,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 7.80% ของยอดการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมของประเทศ โดยส่วนใหญ่ซื้อเท่าเดิม 46.14% ซื้อลดลง  35.83% และซื้อเพิ่มขึ้น 18.03% ทั้งนี้ ผู้ที่ซื้อเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานรัฐ และกลุ่มนักศึกษา โดยผู้ที่มีรายได้สูง จะมีแนวโน้มซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ยต่อเดือนสูงมากกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า ซึ่งส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มสมัยใหม่ อาทิ ลาซาด้า ช้อปปี้ มากที่สุด คิดเป็น 46.45% รองลงมาคือ ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ โลตัส บิ๊กซี วัตสัน โรบินสัน 25.32% และผ่านเฟซบุ๊ก 16.44% สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการ ส่วนใหญ่มียอดซื้อต่ำกว่า 1,000 บาทต่อเดือน คิดเป็น 49.23% รองลงมา 1,001–3,000 บาท  37.57% และมากกว่า 3,000 บาท 13.20% โดยสินค้าและบริการที่นิยมซื้อผ่านออนไลน์มากที่สุดยังคงเดิม ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 27.46% อาหารและเครื่องดื่ม 21.13% ผลิตภัณฑ์และของใช้ภายในบ้าน 18.69%  และสุขภาพและความงาม ของใช้ส่วนบุคคล  17.71% สนค.ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่า โครงการคนละครึ่งได้รับความนิยมเข้าร่วมมากที่สุด คิดเป็น 50.18% ตามด้วย ชิม ช้อป ใช้ 45.30% เราเที่ยวด้วยกัน 21.06% และช้อปดีมีคืน  7.70% โดยประชาชนที่เข้าร่วมกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เห็นว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้จริง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐดังกล่าว จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังการซื้อ ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีรายได้ รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการและประชาชนให้สามารถเข้าถึงและใช้ระบบดิจิทัลในการซื้อขายสินค้าได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าในระบบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงผู้ค้าและผู้บริโภคเพื่อรับทราบความต้องการและเสนอมาตรการให้ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/811499