ธปท.เดินหน้าสังคมไร้เงินสด ลดใช้เช็ค!ตั้งเป้า 3 ปีดันพร้อมเพย์เอกชน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกแนวนโยบาย “ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อ เศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม การบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุม และการส่งเสริมให้ภาคการเงินยืดหยุ่นมากขึ้น และยังได้กำหนดทิศทางการพัฒนาระบบการชําระเงิน หรือ Payment Strategic Directions ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2565-2567) ทําให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวของเห็นภาพที่ชัดเจน เพื่อต่อยอดและปรับปรุงการให้บริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่คนไทยนิยมใช้เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ .และ สร้างระบบพร้อมเพย์เอกชนกับเอกชนโดยจะเพิ่มการชำระเงินให้ภาคธุรกิจมีทางเลือกใช้บริการ การชำระเงินดิจิทัล และมีกระบวนการธุรกิจแบบดิจิทัลที่ครบวงจร ผ่านระบบ PromptBiz และกำหนดเป้าหมาย เพิ่มปริมาณการโอนเงินชำระเงินของภาคประชาชนผ่านระบบดิจิทัลเป็น 2.5 เท่า จาก 312 ครั้งในปี 2564 เป็น 800 ครั้งต่อคนต่อปี ภายใน 3 ปี หรือในปี 2567 เพิ่มสัดส่วนมูลค่าการใช้การชำระเงินดิจิทัลต่อการใช้เงินสดเพื่อการชําระเงินของประชาชน อีก 5% ภายใน 3 ปี จากเดิมที่มีสัดส่วน 37% ของระบบเศรษฐกิจ รวมในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 42% ในปี 2567 ขณะเดียวกัน ยังตั้งเป้าจะขยาย ระบบการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลในไทยในภาพรวมให้เป็นทางเลือกหลักของทุกกลุ่มคนทดแทนการใช้เงินสด และใช้เช็ค ขณะที่ปริมาณการใช้เช็คลดลง 5 ปีต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ปริมาณการใช้เช็คลดลง 16% มูลค่าเงินผ่านเช็คลดลง 12%

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2549080

ออมสินบุก Non Bank กดดอกเบี้ย 5% ช่วยคนระดับฐานรากเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารกำลังจะเข้าสู่ธุรกิจ Non Bank เต็มตัวเพื่อให้คนระดับรากหญ้าได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งในระบบด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าในตลาดอย่างน้อย 5% โดยมีแผนที่ยื่นขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อทำธุรกิจนอนแบงก์ภายในช่วงต้นปี 2566 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ภายในปลายไตรมาส 3 ปี 2566 หรือต้นไตรมาส 4 ปี 2566 โดยจะเป็นการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล (P-Loan) ด้วยระบบ Digital Lending ให้วงเงินกู้ 1-2 หมื่นบาทต่อราย พร้อมเปิดตัวสินเชื่อ My Credit ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. นี้ เจาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้าแม่ค้า รับจ้าง ผู้มีรายได้ประจำ วงเงินกู้ 10,000-30,000 บาท ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยจะใช้ Alternative Data แทนการวิเคราะห์รายได้ เช่น การใช้ข้อมูลจ่ายค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า จำนวนเม็ดเงินที่ไหลเวียนในระบบ MyMo ฯลฯ เบื้องต้นตั้งวงเงินรวมสำหรับโครงการนี้ไว้ที่ 1,000 ล้านบาท เบื้องต้น ตั้งเป้าลูกค้า 1 แสนราย ซึ่งมาจากฐานลูกค้า MyMo ที่มีอยู่กว่า13 ล้านราย

ที่มา: https://www.naewna.com/business/685655

รัฐบาลเผยเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ในระดับสูง มากเป็นอันดับ 12 ของโลก

18 กันยายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศของประเทศปรับลดลง เป็นผลมาจากการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ พร้อมเน้นย้ำไม่พบสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ และระดับเงินสำรองฯ เมื่อเทียบต่อ GDP ยังสูงกว่าหลายประเทศ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศที่ปรับลดลงจาก 2.78 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ระดับ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ เป็นผลมาจากการตีมูลค่าเงินสำรองฯ ที่อยู่ในสินทรัพย์หลายสกุลเงินให้เป็นสกุลดอลลาร์ โดยเงินสกุลดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้สินทรัพย์สกุลอื่น ๆ เมื่อตีมูลค่าเป็นรูปดอลลาร์มีมูลค่าลดลง นอกจากนี้ยังยืนยันว่า ไม่พบสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ และประเทศไทยยังมีฐานะทางการเงินที่ดี ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีเงินสำรองฯ มากที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และเมื่อเทียบเงินสำรองฯ ต่อ GDP จะคิดเป็น 48% ของ GDP ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก รวมถึงยังสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยถึงเกือบ 3 เท่า

ที่มา: https://www.naewna.com/business/680815

 

ธปท.ชี้กำลังซื้ออ่อนแอ อุปสรรคต่อการฟื้นตัวของธุรกิจ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานผลกระทบจากไวรัส COVID-19ต่อภาคธุรกิจไทย (เป็นผลการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เฉพาะกิจ ระหว่างวันที่ 1-24 มิถุนายน 2565) โดยในเดือนมิ.ย. 2565 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจโดยรวมปรับดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน โดยปัญหาการขนส่งและขาดแคลนชิ้นส่วนในภาคการผลิตบรรเทาลงบ้าง หลังจากที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนได้กลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง ส่วนการฟื้นตัวของภาคที่มิใช่การผลิต ปรับดีขึ้นจากนโยบายการเปิดประเทศที่ผ่อนคลายขึ้น และความกังวลต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่น้อยลง อย่างไรก็ตามการคาดการณ์การฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมมีแนวโน้มเร็วขึ้น และคาดว่าจะฟื้นตัวได้ภายในครึ่งหลังของปี 2565 นี้ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทั้งในภาคการผลิต และภาคที่มิใช่การผลิต ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มผลิตเหล็ก ผลิตยานยนต์ และผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนภาคการท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ ยังมีสัดส่วนของธุรกิจที่กลับเข้าสู่ระดับปกติอยู่ในระดับต่ำมาก

ที่มา: https://www.naewna.com/business/664384

‘ผู้ว่าธปท.’คาดเศรษฐกิจฟื้นเท่าก่อนโควิด อาจรอไตรมาสแรก’66

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผย สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสามตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา คาดเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาถึงไตรมาสแรกของปี 66 กว่าจะกลับมาสู่ระดับเดิม ขณะเดียวกันต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องของเอสเอ็มอี โดยรัฐและ ธปท ได้ออกมาตรการฟื้นฟู ส่วนสถาบันการเงิน มีบทบาทในการเชื่อมต่อข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ในการประสานความช่วยเหลือกับคู่ค้ารายย่อย และปรับแนวทางการปล่อยสินเชื่อ ทั้งนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีควรปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดและยกระดับการจัดการธุรกิจ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นเพราะนอกจากจะนำมาใช้บริหารต้นทุน กำไร ยังสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสถานะทางการเงินธุรกิจอีกด้วย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/846888

ธปท.คุยเศรษฐกิจไทยดี เปิดเมือง-มีวันหยุดยาว-รัฐกระตุ้นใช้จ่าย

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย. ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเกือบปกติในหลายภาคส่วน และจากปัจจัยชั่วคราวคือวันหยุดยาวพิเศษประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่ไตรมาส 3/63 เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากหดตัวสูงในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งจากการประกาศวันหยุดยาวพิเศษเพื่อชดเชยช่วงสงกรานต์ที่เลื่อนมา ด้านปัจจัยด้านรายได้และความเชื่อมั่นผู้บริโภคทยอยปรับดีขึ้น สำหรับปัจจัยที่ยังต้องติดตามในระยะต่อไป คือ การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในต่างประเทศ การฟื้นตัวของตลาดแรงงาน แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงมีความเปราะบาง ความยั่งยืนของการฟื้นตัวภาคยานยนต์ โดยมองว่า การฟื้นตัวอย่างช้าๆของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า จะเป็นปัจจัยกดดันภาคยานยนต์ในระยะต่อไป และความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นภาคเอกชนและอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า “แนวโน้มในไตรมาส 3 มองว่าจะปรับดีขึ้นและติดลบน้อยลงกว่าไตรมาส 2 อย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้จะต้องรอติดตามในรายละเอียดอีกครั้ง และในไตรมาส 4 มองว่าจะทยอยฟื้นตัวได้” นางสาวชญาวดีกล่าว.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/1965659