เวียดนามน่าจะยังคงความสามารถทางการแข่งขันไว้ได้ แม้ค่าเงินดองมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะข้างหน้า
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
รายงานว่าด้วยการบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า (Currency Manipulation) รอบล่าสุดที่เปิดเผยในเดือนธันวาคม 2563 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุให้เวียดนามเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐฯ ทั้ง 3 เกณฑ์ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากกระบวนการแทรกแซงค่าเงินดองของเวียดนามที่ทางสหรัฐฯ ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยสะท้อนได้จากยอดซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิของเวียดนามสูงถึงร้อยละ 5.1 ต่อ GDP[1] (สูงกว่าเกณฑ์ที่ร้อยละ 2.0 ต่อ GDP) นอกเหนือจาก 2 เกณฑ์หลักซึ่งได้แก่ มูลค่าการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งอยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด
ค่าเงินดองที่อ่อนค่าเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้การส่งออกสินค้าต่างๆ ของเวียดนามที่มีความได้เปรียบในการผลิตอยู่แล้วมีแรงดึงดูดการลงทุนมากกว่าคู่แข่งประเทศอื่น ทำให้เวียดนามสามารถผลิตและส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี การที่เวียดนามได้ถูกสหรัฐฯ กล่าวหาเรื่องบิดเบือนค่าเงิน จะมีผลให้การดำเนินการในการแทรกแซงค่าเงินในระยะข้างหน้าเป็นไปได้ยากขึ้น อีกทั้ง เมื่อพิจารณาโครงสร้างดุลการชำระเงินที่น่าจะอยู่ในทิศทางเกินดุลสูง เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศที่สูง อาจเป็นแรงกดดันที่ทำให้ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) จำเป็นต้องทยอยปรับค่าเงินดองให้แข็งค่าขึ้น (Revaluation) เพื่อลดทอนความเสี่ยงที่อาจจะถูกสหรัฐฯ ปรับใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าเพิ่มเติม
[1] เป็นการติดตามการแทรกแซงค่าเงินในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุดก่อนการรายงาน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/z3172-Veitnam.aspx