ระนองจี้รัฐบาลใหม่ ลดอุปสรรคค้าชายแดน

นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานคณะกรรมการหอการค้า จ.ระนอง เปิดเผยว่าการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ยังมีอุปสรรคต่อการค้า ทางภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ ด้วยการลดขั้นตอนทางการค้าโดยเฉพาะระเบียบปฏิบัติในการนำเข้า-ส่งออก ที่ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายเมียนมาต่างมีกฏข้อระเบียบที่ซับซ้อนและยุ่งยากเป็นอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้การค้า การลงทุนระหว่างไทยกับเมียนมายังไม่ขยายตัวเท่าที่ควร จึงอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นและเข้ามาบริหารประเทศ ให้ศึกษาดูข้อปัญหาการค้าไทยกับเมียนมา จุดไหนที่ยังเป็นปัญหา หรือขวางกั้นการขยายตัวของการค้าทั้งสองประเทศให้รัฐบาลใหม่หาแนวทางแก้ไข ซึ่งจะส่งผลดีต่อตัวเลขการค้าส่งออกอย่างแน่นอน ซึ่งหากพูดถึงผลกระทบต่อการค้าขายตามแนวชายแดนมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปีที่ผ่านมาในหลายกลุ่มสินค้าและคาดว่าน่าจะมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าเท่าตัวทั้งในกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค รวมถึงสินค้าหมวดวัสดุก่อสร้าง และน้ำมัน เป็นผลมาจากการที่ประเทศเข้าร่วมกลุ่มประชาคมอาเซียน ทำให้การเดินทางเข้า-ออกทำได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการส่งออก-นำเข้าที่มีการลดกำแพงภาษีและเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้เอื้อต่อการขยายตัวของภาคการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/574152

ค้าชายแดนระนอง‘คึก’ ‘เมียนมา’ติดหล่มวิกฤติ เร่งสั่งสินค้าทะลัก

การค้าชายแดนไทย-เมียนมาด้านจังหวัดระนอง ที่ขนส่งกันทางเรือ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซบเซาลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากสงครามการค้า ต่อด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายหลังคุมการแพร่ระบาดได้ ทำให้การค้าชายแดนด้านจังหวัดระนองเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2563 กระทั่งเกิดเหตุรัฐประหารในเมียนมาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กลายเป็นวิกฤติรุนแรงยืดเยื้อ ที่หลายฝ่ายวิตกว่าจะกระทบถึงการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ทั้งนี้ นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วิกฤติการเมืองในประเทศเมียนมา และการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ไม่กระทบต่อบรรยากาศการค้าชายแดนด้านระนอง แต่กลับส่งผลให้มีความคึกคักมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมี.ค. 2564 ที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์ในเมียนมามีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งผู้ประท้วงมีการยกระดับการชุมนุม โดยเฉพาะการนัดหยุดงานในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าที่จำเป็น สินค้าในเมียนมาเกือบทุกรายการมีการปรับราคาขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันพืชและข้าวสาร ที่ปรับขึ้นถึง 20-30%

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/474656